ม็อบโรย รัฐปรับตัว เปิดช่อง วัดใจ แกนนำ!!!


เพิ่มเพื่อน    

 

        การชุมนุมของกลุ่มราษฎร ข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ยังคงขับเคลื่อนเดินหน้าต่อ หากนับเวลามาถึงวันนี้ ผู้ชุมนุมจัดชุมนุมกินเวลายาวนานกว่า 5 เดือน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ท้องสนามหลวง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แยกราชประสงค์ แยกปทุมวัน ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 ถนนสีลม แยกเกษตรศาสตร์ แยกบางนา แยกอุดมสุข ถนนอุทยาน (อักษะ) ธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ ฯลฯ 

                สถานที่เชิงสัญลักษณ์ที่คณะราษฎรไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ปักหลักทำกิจกรรมการเมือง อ่านข้อเรียกร้อง ที่มีทั้งปักหลักพักค้าง และตั๋วเที่ยวเดียว วันเดียวเลิก ศูนย์ราชการ พื้นที่สาธารณะ ศูนย์การค้า ย่านเอกชน เรียกได้ว่าไปมาเกือบครบทุกสถานที่ บางสถานที่เกิดการกระทบกระทั่ง โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดน้ำผสมสี เจือแก๊สน้ำตา มีการขว้างปาสิ่งของ เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุม-เจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุม-ผู้ชุมนุมฝ่ายเดียวกัน ผู้ชุมนุม-ผู้ชุมนุมจากฝ่ายตรงข้าม ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่ายก็มีมาหมด ขาดแค่สังเวยชีวิต แต่เป็นสิ่งที่ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น 

                ข้อเรียกร้องตั้งแต่เรื่องการเมือง ไปถึงข้อเรียกร้องทะลุเพดาน การทำกิจกรรม แสดงออก นำอุปกรณ์มาประกอบการชุมนุม สร้างให้เป็นไฮไลต์แต่ละครั้งแต่ละสถานที่ การโหมประโคมเรียกแขก ด้วยเงื่อนไขใหม่ๆ ถูกงัดออกมาจนเกือบหมด ถูกตั้งคำถาม ต่อไปจะไปที่ไหนดี จะหากิมมิกอะไรใหม่ๆ ตรึงแนวร่วมให้ยังคงอยู่ดี 

                สิ่งที่ผู้ชุมนุมเคยทำผ่านมาหมดครบรส ผู้ชุมนุมที่เคยมาร่วมชุมนุม ก็มีทั้ อุดมไปด้วยนักเรียน นิสิต นักศึกษา อันถือเป็นจุดพีกก็ผ่านมาแล้ว การชุมนุมที่ถูกฉาบด้วยคนเสื้อแดงเป็นส่วนมากก็มีเหมือนกัน ผู้ชุมนุมมีขึ้นมีลงตามแต่สถานการณ์ จังหวะเป็นตัวกำหนด หลังการถูกสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจนำรถน้ำฉีดใส่ผู้ชุมนุม หลังเหตุการณ์ดังกล่าวผู้ชุมนุมก็จะหนาตามากกว่าปกติ แต่หากเป็นการชุมนุมธรรมดา ไม่มีไฮไลต์ ไม่มีเหตุการณ์อะไรใหม่ ผู้ชุมนุมคงที่ บ้างก็ว่าลดลงจนน่าตกใจ อยู่ที่จะเลือกมองเข้าไปจากฝั่งใด 

                ตลอดการชุมนุมที่ผ่านมา ในภาวะที่ยังคงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) บังคับใช้ หรือแม้แต่ตามกฎหมายปกติ กีดขวางการจราจร ชุมนุมโดยไม่ขออนุญาต ผิด พ.ร.บ.ความสะอาด ตลอดจนเนื้อหาสาระ ทนายอานนท์-อานนท์ นำภา รุ้ง-น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ไผ่ ดาวดิน-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์ ตลอดจนแกนนำนักปราศรัยคนอื่นๆ ต่างคุ้นชินกับการถูกตั้งข้อหา 

                แวะเวียนเข้าออกรับทราบข้อกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ เข้าเรือนจำ ออกเรือนจำ ออกมาปราศรัย ทำกิจกรรมการเมือง ถูกตั้งข้อหา ถูกจับดำเนินคดี ถูกคุมขัง แล้วก็ออกมาใหม่ วนเวียนอยู่อย่างนี้หลายต่อหลายรอบ ที่ในบางครั้งผู้เฝ้าติดตามการเมืองยากต่อการเข้าใจ 

                จับแล้วปล่อย ปล่อยแล้วจับ วนเวียนเช่นนี้ มันเกิดอะไรขึ้น เป็นยุทธวิธี ยุทธศาสตร์ หรือกลเกมอันสลับซับซ้อนอะไรหรือไม่ ที่ยังปล่อยให้ผู้ที่ทำความผิดซึ่งหน้าเป็นที่ประจักษ์ ยังได้ออกมาโลดแล่น ประเทศมหาอำนาจบางประเทศประกาศชัด ไม่เจรจาต่อรองกับผู้ก่อการร้าย บางประเทศเพียงแค่ลักทรัพย์ยังถูกแขวนคอ มิพักต้องพูดถึงการทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อต้านการปกครองของรัฐ โทษหนักเอาถึงตาย ประหารชีวิตสถานเดียว สะท้อนให้เห็นถึงกฎคือกฎ ไม่มีอะลุ่มอล่วย ก็สร้างความเกรงกลัว ยำเกรง ไม่ให้ใครกล้าละเมิดกฎหมาย 

                การเปลี่ยนแปลงปฏิรูป ไม่ต้องสรรค์สร้างทำสิ่งใหม่ เพียงแค่ทำกฎให้เป็นกฎก็เพียงพอแล้ว   

                มองอีกมิติ ทางสังคมไทยๆ ด้วยความสลับซับซ้อน มักมีอะไรซ่อนเงื่อนเอาไว้ จนยากแท้ต่อการหยั่งถึง 

                รูปแบบการชุมนุม ในระยะแรกผู้ชุมนุมอาจสนุกกับการปั่นหัวเจ้าหน้าที่เล่น หลอกล่อ สลับสับเปลี่ยนโยกย้ายสถานที่การชุมนุม อาศัยจุดแข็งของมวลชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ เข้าถึงโลกออนไลน์ พร้อมเคลื่อนที่เร็ว เพียงแค่ 1-2 ชั่วโมง ในการแจ้งสถานที่ พร้อมเคลื่อนไปยังจุดนัดหมายในทันใด 

                แต่ก็ต้องไม่ลืมเหมือนกันว่า เจ้าหน้าที่ในฐานะผู้ดูแลความมั่นคงได้ปรับตัว ปรับกลยุทธ์ จากผู้เฝ้าระวัง ตั้งรับ พอจับจุดจับเกมการเคลื่อนไหวได้ พลิกตำรา ปรับตัวให้เหมาะตามรูปแบบการชุมนุมแต่ละครั้ง การชุมนุมห้าแยกลาดพร้าวเมื่อวันที่ 27 พ.ย. เจ้าหน้าที่ไม่ไปตั้งจุดสกัด ล้อมรั้ว ขึงลวดหนาม ตั้งแนวป้องกันให้ดูน่ากลัว รู้ดีว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มาชุมนุมเพียงแค่ต้องมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ทำกิจกรรมตามตารางนัดหมาย เป็นม็อบชั่วคราว ถึงเวลาก็แยกย้ายกลับ แล้วคอยสัญญาณนัดสถานที่ชุมนุมกันใหม่ ซึ่งม็อบก็เป็นอย่างนี้มาหลายต่อหลายครั้ง 

                ตราบใดที่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีกองกำลังติดอาวุธเข้ามาผสม ไม่มีการทำร้ายบุคคล ทำลายทรัพย์สิน เผา ทุบ เข้ายึดสถานที่ ลำพังกฎหมายปกติก็เอาอยู่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐพลิกตำรา จากผู้ตาม ตั้งรับ เรียนรู้วิวัฒนาการม็อบ ปรับใช้ยุทธวิธีให้เข้ากับสถานการณ์ 

                ประกอบกับระยะหลัง ปัญหาภายใน รอยร้าว รอยแยก ปัญหากลุ่มอาชีวะตีกัน ปัญหาการ์ดผู้ชุมนุมกับการ์ดอาชีวะที่เห็นไม่ตรงกัน ปัญหาข้อเรียกร้องที่ผู้ชุมนุมเอาบางข้อ ไม่เอาบางข้อ ปัญหาภายในของแกนนำ การจัดกิจกรรมที่คนรุ่นใหม่ต่างมอง ประเมินออก การชุมนุม เทียบกันครั้งต่อครั้ง ใหม่-ไม่ใหม่ สิ่งเร้าใจ ควรค่าต่อการออกไปชุมนุมหรือไม่ คนรุ่นใหม่มีวิจารณญาณตัดสิน นึกคิดเองได้ 

                นอกจากนี้ในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง การทำกิจกรรม คำปราศรัยทั้งของแกนนำ ผู้มาร่วมชุมนุม ถูกบันทึกเอาไว้หมดชัดทุกคำพูด ทุกการกระทำ อยู่ที่ว่าจะเข้าองค์ประกอบความผิดทางข้อหาในเรื่องใดหรือไม่ 

                ไม่นานมานี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเรียกร้องการแยกตัวจากจีนแผ่นดินใหญ่ชาวฮ่องกงเผยกับหนังสือพิมพ์รายวัน Die Welt ของเยอรมนีผ่านจดหมายหลังถูกคุมขังบางช่วงบางตอนว่า “สบายดีแม้จะถูกแยกขังเดี่ยว และนอนไม่หลับเนื่องจากถูกแสงไฟแยงตาตลอด 24 ชั่วโมง ผมนอนไม่ค่อยหลับ เพราะแสงไฟในห้องขังเปิดสว่างจ้าตลอด 24 ชั่วโมง ผมต้องใช้หน้ากากอนามัยปิดตาถึงจะนอนหลับ”  

                 นักเคลื่อนไหววัย 24 ปี บอกอีกว่า เจ้าตัวไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากห้องขังเดี่ยวหรือพบปะกับผู้ต้องขังรายอื่น รวมทั้งถูกห้ามไม่ให้เล่นกีฬา  

                เวทีสภา การตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ที่ส่งเทียบเชิญ ให้มีตัวแทนจากทุกฝ่ายเข้าไปร่วมพูดคุยหาทางออก หากเวทีนี้ผู้ชุมนุมปฏิเสธไม่ส่งตัวแทนเข้าไป ถือว่าน่าเสียดาย อยากเห็นการปฏิรูป แต่กลับไม่ไปออกความเห็น ตั้งธงไม่ร่วมตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มต้น 

                พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกแถลงการณ์ยืนยัน ‘ใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา’ สะท้อนให้เห็นกลเกมรัฐบาล เมื่อประเมินจากการชุมนุมในระยะหลัง ไม่น่าเป็นห่วง ลำพังการใช้กฎหมายปกติเข้าจัดการ ในวันที่สถานการณ์เอื้ออำนวยก็เพียงพอ ด้วยความผิดเป็นที่ประจักษ์มาช้านาน ทำให้แกนนำผู้ชุมนุมบางคนได้รับหมายให้ไปรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 แล้ว 

                หากมองปรากฏการณ์ผู้ชุมนุมชาวฮ่องกง ชุมนุมยืดเยื้อนานนับปี มาถึงในไทย มีแนวโน้มจะเป็นในทิศทางเดียวกัน มีช่วงขาขึ้น มีช่วงทรงตัว และสุดท้ายก็หนีช่วงขาลงไม่พ้น ดังนั้นจึงไม่มีเหตุจำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะต้องตกไปในหลุมพรางอย่างที่คนบางฝ่ายอย่างให้เกิดขึ้น ไม่ตกอยู่ในเกมยั่วยุ ใช้กำลังเข้าจัดการ การประกาศกฎอัยการศึก นำทหารออกมา หรือแม้แต่การทำรัฐประหาร ที่จะสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายผู้ชุมนุม คนเบื้องหลัง   

                ลำพังกฎหมายปกติ รอวันผู้ชุมนุมอ่อนแรง ให้ขบวนการทำลายขบวนการตัวเองลงไปเรื่อยๆ ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายแบบไทยๆ จับแล้วปล่อย ปล่อยแล้วจับ สร้างพื้นที่ความชอบธรรมในสังคม แกนนำผู้ชุมนุมไม่สำนึกตัว ก่อความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

                การยกระดับ บังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา ถือเป็นอีกจุดวัดใจ แกนนำผู้ชุมนุมที่มีข้อหาติดตัว จะเลือกกำหนดเส้นทางชะตาชีวิตแบบ โจชัว หว่อง หรือเดินตามไอดอลในโลกโซเชียล ผู้ไม่ต้องรับผิดชอบทางสังคม แล้วไปสร้าง 112 วิลเลจ ในต่างแดน ด้วยกัน. 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"