เมื่อ 20 ปีก่อน หลายบริษัทในประเทศไทยเจ็บตัวไปไม่น้อย เมื่อรัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทในปี 2540 ในการแก้ปัญหาในช่วงนั้น หลายบริษัทต้องดึงเอาต่างชาติเข้ามาร่วมทุน แต่บัดนี้ซีพีสามารถซื้อหุ้นคืนมาได้ทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยมีบริษัทที่มีทรัพยากรและมีความสามารถในการบริหารค้าปลีกที่จะส่งผลให้สินค้าที่ผลิตโดยผู้ประกอบการไทยทุกขนาด ทั้งวิสาหกิจทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อมมีช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ขายให้กับคนไทย และขายให้กับต่างชาติ ทั้งนี้เพราะซีพีไม่ได้ถือครองหุ้นของเทสโก้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีอยู่ในมาเลเซีย และเชื่อว่าต่อไปจะต้องขยายไปในประเทศอื่นๆ ทั้งใน ASEAN และในประเทศอื่นๆ ในเอเชียด้วย
การดำเนินธุรกิจของซีพีในยุคประเทศไทย 4.0 เป็นไปตามแนวคิดของการทำธุรกิจแบบ Inclusive คือ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นการดำเนินธุรกิจที่ทุกคนได้ประโยชน์ เมื่อซีพีถือครองหุ้นของเทสโก้ และมีนโยบายใช้การค้าปลีกเป็นธุรกิจเรือธงที่จะออกไปบุกตลาดทั่วโลก สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยย่อมได้ก้าวสู่ตลาดโลกบนเรือลำที่ซีพีนำออกไปบุกตลาดโลกด้วย ถึงเวลาแล้วที่สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เป็นตราสินค้า (Brand) ของไทยต้องบุกไปตลาดโลก ก่อนผู้ประกอบการเจ้าของตราสินค้าระดับโลก (Global Brands) มาบุกตลาดไทยแต่เพียงข้างเดียว
การที่ซีพีใช้ธุรกิจค้าปลีกเป็นเรือธงในการบุกตลาดโลก ผู้ผลิตสินค้าที่สร้างตราสินค้าไทย (Thailand Brands) จะต้องร่วมมือกัน โดยทำธุรกิจด้วยสำนึกโลกาภิวัตน์ (Global Mindset) เราต้องผลิตสินค้าด้วยความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าไปทำตลาดที่ต่างประเทศด้วยความกล้าหาญ ขณะนี้ซีพีในฐานะผู้ถือครองค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่างเทสโก้จะกลายเป็นเรือลำใหญ่นำพาสินค้าภายใต้ตราสินค้าของไทยไปสู่อีกหลายประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคอื่นด้วยการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ
ในการถือครองหุ้นเทสโก้ของซีพีครั้งนี้ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค) มีเงื่อนไขถึง 7 อย่างอย่างที่ซีพีจะต้องดำเนินการให้เป็นผลดีกับ SME ของไทย เงื่อนไขทั้ง 7 ข้อนั้นถือว่าเป็นการยกระดับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ของไทยได้อย่างชัดเจน มาดูกันว่าทั้ง 7 เงื่อนไขนั้นมีอะไรบ้าง และถ้าทำได้จะเป็นผลดีอย่างไร และแต่ละเงื่อนไขทำได้ง่ายหรือยากเพียงใด
ประเด็นแรก การห้ามกระทำการรวมธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคเป็นระยะเวลา 3 ปี ทำให้สบายใจได้ว่า ที่ผ่านมาดำเนินธุรกิจมาเช่นไร ก็จะยังคงมีจำนวนผู้เล่นครบถ้วนแบบเดิม ไม่มีการควบรวมธุรกิจรายอื่น ดังนั้น การแข่งขันจะยังสมบูรณ์เช่นเดิม ไม่มีคำว่าผูกขาดอย่างแน่นอน
ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก นั่นคือ การระบุให้เพิ่มสัดส่วนของยอดขายสินค้าที่มาจาก SME ของไทยที่ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรชุมชน สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) ในอัตราเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งซีพีจะต้องไปพัฒนาชุมชนอย่างจริงจัง และข้อนี้จะเป็นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ และเกิดการจ้างงาน คาดว่าจะส่งผลบวกให้เกษตรกร และ SME ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน จะได้ประโยชน์จากการเพิ่มสัดส่วนยอดขายในตลาดค้าปลีกในครั้งนี้
ประเด็นที่สาม ห้ามมิให้หน่วยธุรกิจเดียวกัน ใช้ข้อมูลร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ โดยให้ถือว่าเป็นความลับทางการค้า การที่ซีพีเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ การดำเนินการตามหลักการดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะหากไม่ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวย่อมมีความผิดตามกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นทั้งคู่แข่ง คู่ค้า และผู้บริโภคก็สบายใจได้ว่าไม่มีบริษัทใดกล้าละเมิดเรื่องดังกล่าว
ประเด็นที่สี่ ซีพีจะต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบรายเดิมที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะสามารถทำธุรกิจได้เช่นเดิม ในเงื่อนไขเดิม เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นธรรมกับคู่ค้า และยังเปิดช่องให้คู่ค้า หากคู่ค้าร้องขอให้เปลี่ยนถ้าเป็นประโยชน์กว่าอีกด้วย ดังนั้นคู่ค้าก็ดี ผู้ผลิตที่เคยมีสินค้าจำหน่ายอยู่ในเทสโก้มาก่อนก็สบายใจได้
ประเด็นที่ห้า เป็นเรื่องของการเพิ่มสภาพคล่องให้ SME โดยมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่จะทำให้ SME ให้ได้เงินเร็วขึ้น มีสภาพคล่องมากขึ้น ด้วยการกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) เป็นระยะเวลา 30-45 วัน นับจากวันที่ยื่นเอกสารเรียกเก็บเงิน เป็นระยะเวลา 3 ปี ไม่ยาวนานถึง 90 หรือ 120 วัน
ประเด็นที่หก ซีพีจะต้องรายงานผลการประกอบธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เป็นรายไตรมาสหรือในระยะเวลาที่กำหนด ตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ากำหนด เป็นระยะเวลา 3 ปี ทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้
ประเด็นที่เจ็ด ให้ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ดี (Code of Conduct) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน และถือปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งทำให้ทุกคนสบายใจได้ว่า จะปฏิบัติตาม และเกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
การที่ซีพีใช้ธุรกิจค้าปลีกเป็นเรือธงบุกตลาดโลกครั้งนี้ นอกจากรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสให้สินค้าของ SME ก้าวไกลไปในโลกไร้พรมแดน และจะก่อให้เกิดความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชน ที่ก่อให้เกิดการจ้างงานอย่างมหาศาล เป็นการทำธุรกิจแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามแนวทางของประเทศไทย 4.0 อย่างแท้จริง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |