เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล/ ภาคีเครือข่ายภาครัฐ-ประชาสังคม-ชาวเล ร่วมจัดงานรวมญาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 11 ‘ส่งเสริมชีวิต สู่การผลักดันกฎหมายและเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล’ ระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายนนี้ ที่ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในระดับนโยบาย โดยเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อคุ้มครองเขตพื้นที่วัฒนธรรมและเอื้อต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ เผยชาวเล 5 จังหวัดมีปัญหาเรื่องที่ดิน 36 พื้นที่ โดนเอกชน-รัฐฟ้องขับไล่ที่ 28 คดี ด้านตัวแทนชาวเลยื่นหนังสือเรียกร้องให้ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ช่วยแก้ไขปัญหาที่ดินอุทยานฯ ทับที่อยู่อาศัย-ที่ทำกิน
ชาวเลเป็นกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิม แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ มอแกน มอแกลน และอูรัคลาโว้ย มีภาษาพูดเป็นของตนเอง แต่ไม่มีภาษาเขียน มีหลักฐานว่าพวกเขาอยู่อาศัยและหากินในท้องทะเลแถบอันดามันมานานไม่ต่ำกว่า 300 ปี ปัจจุบันมีชุมชนชาวเล 43 ชุมชนกระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล มีประชากรรวมประมาณ 12,241 คน
10 ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล : “เสียงที่หายไปกับสายลม”
เผยชาวเลมีปัญหาที่ดิน 36 พื้นที่ โดนฟ้องขับไล่ที่ 28 คดี
ชาวเลถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เปราะบาง เนื่องจากวิถีชีวิตดั้งเดิมจะทำมาหากินด้วยการทำประมงแบบโบราณ จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือง่ายๆ มีเรือลำเล็กเป็นบ้าน รอนแรมอยู่ในทะเล ยามมีคลื่นลมจะหลบเข้าไปอยู่ในเพิงพักที่ปลูกเอาไว้ตามชายหาดหรือบนเกาะต่างๆ แล้วปลูกมะพร้าวหรือพืชผลต่างๆ เอาไว้กิน ไม่ถือครองที่ดิน ไม่รู้หนังสือไทย แม้จะอยู่อาศัยบนผืนดินชายฝั่งทะเลมานาน โดยมีสุสานหรือที่ฝังศพบรรพบุรุษเป็นหลักฐาน มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี แต่ด้วยความไม่รู้หนังสือ ไม่รู้กฎหมาย ชาวเลส่วนใหญ่จึงไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน ทำให้ถูกขับไล่จากผู้ที่มาอยู่ทีหลัง
โดยเฉพาะนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องทะเลอันดามัน ประกอบกับชายหาดที่ขาวสะอาด น้ำทะเลเขียวใส ความงดงามตามธรรมชาติของท้องทะเลและเกาะแก่งต่างๆ ทำให้ชาวเลได้รับผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่ดินบริเวณชายหาดซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวเลในหลายจังหวัด ถูกนายทุน เจ้าของกิจการโรงแรม รีสอร์ท ฯลฯ อ้างเอกสารสิทธิ์ครอบครอง และขับไล่พวกเขาออกไป ไม่เว้นแม้แต่การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล ทำให้ชาวเลอยู่อาศัยและเข้าไปทำมาหากินในท้องทะเลไม่ได้
อย่างไรก็ตาม จากการผลักดันของภาคีหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาวเล คณะรัฐบาลในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามแนวทางจัดทำพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเล และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ
ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมง หาทรัพยากรตามเกาะต่างๆ โดยผ่อนปรนพิเศษในการให้ใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมของกลุ่มชาวเล การช่วยเหลือด้านสาธารณสุขเพื่อฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการดำน้ำทำประมงทำให้เกิดโรคน้ำหนีบ การแก้ปัญหาสัญชาติในกลุ่มชาวเลที่ไม่มีบัตรประชาชน การส่งเสริมด้านการศึกษาแก่เด็กและสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับจัดตั้งการศึกษาพิเศษ/หลักสูตรท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนชาวเล การแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเล การส่งเสริมชุมชนและเครือข่ายชาวเลให้เข้มแข็ง รวมทั้งให้มีงบประมาณส่งเสริมวันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล ฯลฯ
นางสาวแสงโสม หาญทะเล ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล บอกว่า แม้ว่าจะมีมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลออกมาตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันครบ 10 ปีแล้ว แต่มติ ครม.ดังกล่าวก็ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ มิหนำซ้ำปัญหากลับมีมากขึ้นกว่ากว่าเดิม โดยเฉพาะชุมชนชาวเลที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวทะเลอันดามัน
“10 ปีแล้วที่เสียงเรียกร้องของพวกเราหายไปกับสายลม วันนี้พวกเรายังถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง และถูกละเมิดสิทธิต่างๆ ถูกจับกุมดำเนินคดี เฉพาะที่เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ตอนนี้ชาวเลโดนคดีความเรื่องที่ดิน โดนเอกชนและอุทยานฯ ตะรุเตาฟ้องร้องขับไล่รวมแล้ว 9 คดี มีปัญหาที่ดิน 298 หลัง จากบ้านเรือนชาวเลทั้งหมดบนเกาะหลีเป๊ะ 309 หลัง” ตัวแทนชาวเลบอกเล่าปัญหา
นอกจากปัญหาที่ดินที่เกาะหลีเป๊ะแล้ว ชาวเลในจังหวัดต่างๆ ยังมีปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินรวม 36 พื้นที่ โดนฟ้องร้องรวม 28 คดี (โดนฟ้องที่เกาะหลีเป๊ะ 9 คดี และอีก 19 คดีโดนฟ้องในจังหวัดอื่น) โดย 31 พื้นที่อยู่ในที่ดินของรัฐ (ที่ดินเขตอุทยานฯ ป่าไม้ ป่าชายเลน กรมเจ้าท่า ราชพัสดุ ฯลฯ) อีก 5 พื้นที่เป็นที่ดินที่เอกชนแสดงสิทธิเหนือพื้นที่ มีการขับไล่ฟ้องร้องชาวเล เช่น ที่ดินบริเวณชายหาดราไวย์, เกาะสิเหร่ จ.ภูเก็ต มีปัญหาที่ดินเอกชนออกเอกสารสิทธิ์ทับที่อยู่อาศัย สุสานชุมชน พื้นที่ทางวัฒนธรรม ฯลฯ
ทะเลและที่ดินทุกตารางนิ้วมีเจ้าของ แม้แต่ทางเดินสาธารณะก็มีประกาศห้าม
‘วราวุธ’ รมว.กระทรวงทรัพยฯ ร่วมงานรวมญาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 11
จากปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่สะสมมายาวนาน ชาวเลและภาคีเครือข่ายจึงเริ่มจัดงานรวมญาติพันธุ์ชาวเลมาตั้งแต่ปี 2553 ที่บ้านน้ำเค็ม จ.พังงา เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย รณรงค์ให้สังคมได้รับรู้และตระหนักถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้แก่ชาวเลเกี่ยวกับมติ ครม. 2 มิถุนายน 2553 โดยจะหมุนเวียนจัดงานในจังหวัดต่างๆ ที่มีกลุ่มชาวเลตั้งถิ่นฐานอยู่
โดยในปีนี้มีการจัดงานรวมญาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 11 ชูประเด็นเรื่อง ‘ส่งเสริมชีวิต สู่การผลักดันกฎหมายและเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล’ ระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน บริเวณชายหาดหน้าโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ อ.เมือง จ.สตูล มีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ชาวมันนิ ชาวกะเหรี่ยงจากภาคเหนือ เครือข่ายภัยพิบัติชุมชน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ประชาสังคม ฯลฯ ประมาณ 600 คนเข้าร่วม พร้อมด้วยนายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมงาน เพื่อรับฟังปัญหาเรื่องที่ดิน-ปัญหาเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มชาวเลเกาะหลีเป๊ะ และรับมอบข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
นายวราวุธ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ผูกผ้าสีที่หัวเรือโทงเพื่อความเป็นมงคล
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่ทำกิน และจิตวิญญาณของชุมชนชาวเลและกะเหรี่ยง กล่าวว่า ปัญหาของกลุ่มชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง หลายกรม และค่อนข้างสลับซับซ้อน เป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน การแก้ไขปัญหาจึงต้องใช้เวลา และพี่น้องชาวเลอยู่อาศัยอยู่ที่นี่มานานหลายร้อยปี จนถึงวันนี้เมื่อเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพ ตนจึงเดินทางมารับฟังปัญหา ให้กำลังใจกับพี่น้อง และชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล
“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยพี่น้องประชาคนไทยทุกกลุ่ม ทุกชาติพันธุ์ การเดินทางมาเกาะหลีเป๊ะในวันนี้จึงเป็นสิ่งยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ ให้ความเป็นห่วง และการแก้ไขปัญหาของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ตอนนี้ต้องแก้ไขไปทีละเปลาะ อาจจะไม่เร็วนัก เพราะเป็นปัญหาที่สั่งสมมานานหลายสิบปี และมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ขอยืนยันว่ากระทรวงทรัพยากรฯ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันการแก้ไขปัญหา เช่น เรื่องที่ดินทำกิน และจะประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อให้พี่น้องชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงชีพและอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินศักดิ์นี้ได้” นายวราวุธกล่าว
ทั้งนี้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยของชาวเลเกาะหลีเป๊ะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นหลังจากธุรกิจการท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะเจริญเติบโต ทำให้มีกลุ่มนายทุนทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินบนเกาะทั้งที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องและไม่ถูกต้อง บางรายเดิมมีเอกสารครอบครองเป็น สค.1 เนื้อที่ 50 ไร่ ต่อมาเมื่อนำไปออกเอกสารสิทธิเนื้อที่เพิ่มเป็น 80 ไร่ และอ้างสิทธิครอบครองกว่า 140 ไร่ ทำให้ทับที่อยู่อาศัยของชาวเล จนนำไปสู่การฟ้องร้องขับไล่ชาวเล (ปัจจุบันชาวเลโดนฟ้องร้องแล้ว 9 คดี) บางพื้นที่ห้ามชาวเลนำเรือไปจอดหน้าชายหาด ฯลฯ
รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ รับมอบข้อเรียกร้องจากชาวมันนิ (ชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในเขตป่าภาคใต้)
เผย 7 ปัญหาหลักของชาวเล
นางสาวแสงโสม หาญทะเล ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ทะเล กล่าวว่า จากการรวบรวมปัญหาของชาวเลในพื้นที่ 5 จังหวัดชายทะเลอันดามัน พบปัญหาต่างๆ ดังนี้
ขบวนเรือชาวเลรณรงค์ปัญหา
นางสาวแสงโสมกล่าวด้วยว่า เนื่องจากปัญหาชาวเลเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานานและเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทำให้ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาไม่อาจจะแก้ปัญหาได้โดยใช้มติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 เพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถคุ้มครองเขตพื้นที่วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และเอื้อต่อการแก้ปัญหาที่สั่งสมมานาน ทั้งนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังตามนโยบายรัฐบาล
โดยในขณะนี้ภาคีเครือข่ายที่ทำงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ ‘ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ....’ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำมาจัดทำร่าง พ.ร.บ. โดยคาดว่าจะสามารถยื่นเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ภายในปี 2564
ชาวเลบนเกาะหลีเปะในวันที่ธุรกิจท่องเที่ยวกำลังเติบโต
9 ภาคีร่วม MoU.“ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์”
ในการจัดงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งนี้ 9 หน่วยงานภาคีได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ “ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์” ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง และเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยนายวราวุธ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ร่วมลงนามร่วมกับผู้แทนภาคีหน่วยงานต่างๆ มีเป้าหมาย 3 ประการ คือ
ประการแรก สนับสนุนและผลักดันให้เกิดกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่ม ชาติพันธุ์ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เครือข่าย การพัฒนาศักยภาพผู้นำ การเข้าถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
ประการที่สอง การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ในการจัดการและใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลบนฐานภูมิปัญญาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการพื้นที่และการจัดทำธรรมนูญชุมชนร่วมกับชุมชน เพื่อประกาศเป็น “พื้นที่ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์”
ประการที่สาม คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ทับซ้อนของรัฐและเอกชน และส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการสืบทอดวิถีภูมิปัญญาวัฒนธรรม
พี่น้องชาวกะเหรี่ยงจากภาคเหนือร่วมงานชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะ
พอช.พร้อมหนุนซ่อมสร้าง ‘บ้านพอเพียงชาวเล’ 150 ครัวเรือน
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ โดย พอช.มีภารกิจหลักในการเสริมสร้างชุมชนและขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศให้เกิดความเข้มแข้ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ดำเนินงานในปีนี้เป็นปีที่ 20 โดยมีโครงการต่างๆ เช่น การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ (บ้านมั่นคงเมือง-ชนบท บ้านพอเพียงชนบท ที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คนไร้บ้าน) การพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชนฯ
นายธนภณ เมืองเฉลิม ผู้อำนวยการภาค สำนักงานภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล พบว่า มีครัวเรือนทั้งหมดจำนวน 309 หลัง รวม 368 ครอบครัว ประชากรจำนวน 1,191 คน ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม ผุพัง ทางชุมชนชาวเลจึงร่วมกันสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนและจัดทำโครงการ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ ซึ่งเป็นโครงการซ่อมสร้างบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรม มีฐานะยากจน โดยเสนอขอรับการสนับสนุนจาก พอช. เพื่อซ่อมสร้างบ้านในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 150 หลัง โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณซ่อมสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท
สภาพบ้านเรือนของชาวเลบนเกาะหลีเปะ
“ส่วนการลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้ พอช.จะร่วมมือกับหน่วยงานภาคี และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เช่น พมจ.จังหวัดสตูล เพื่อร่วมกับชาวเล กำหนดแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเลในทุกด้าน รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการรวมกลุ่ม สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวเล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนชาวเลต่อไป” นายธนภณกล่าว
รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ถ่ายภาพร่วมกับชาวเล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |