"ชวน" เผยอดีตนายกฯ ทุกคนประสานเสียงอยากเห็นบ้านเมืองสงบ ขอเวลาสักนิด กก.สมานฉันท์ยังตั้งไข่ ด้าน “วิรัช”ยัน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญพิจารณาเสร็จ ม.ค.64 โหวตวาระ 3 ก.พ. ขณะที่ "รังสิมันต์" ตะเพิด "ไพบูลย์" โทษฐานห้ามแตะหมวด 1 และ 2
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการตอบรับเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ของอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่ายังไม่มีการตอบรับเข้ามา เพราะเพิ่งส่งหนังสือไปเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้เราไม่ได้กำหนดเวลาว่าจะต้องตอบรับในวันใด อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีมติตั้งนายคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาฯ เป็นเลขานุการของที่ประชุม
เมื่อถามว่า แม้จะมีการพูดคุยสมานฉันท์ แต่หลายฝ่ายกังวลในส่วนของการแก้รัฐธรรมนูญว่าการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)จะเสมือนเป็นการตีเช็คเปล่า ตรงนี้จะทำให้การทำงานสวนทางกันหรือไม่ ประธานรัฐสภาชี้แจงว่า คนละส่วนกัน อันนี้เป็นข้อเสนอของสภาที่สภารับมาทำ โดยเรื่องที่ต้องเดินต่อไปคือเรื่องรูปแบบที่ 2 ที่เคยบอกไว้ว่าจะมีคณะกรรมการขึ้นมาทำงานในระยะยาวนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายการเมือง แต่เป็นเรื่องที่เราจะมองอนาคต
"ปัญหาใดที่เราสามารถป้องกันได้ในอนาคต หรือสามารถพยากรณ์ได้โดยผู้รู้หรือเทคโนโลยี ที่ถ้าเราใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ เช่น วิทยุท้องถิ่น ที่ใช้เผยแพร่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็จะมีประโยชน์ต่อท้องถิ่น แต่หากใช้เพื่อโจมตี ด่าคนเพื่อการเมือง ก็จะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเราดูผลการศึกษาในอดีต เขามีตัวอย่างที่ดีหลายเรื่อง เราก็สามารถนำมาถอดบทเรียนได้ อะไรที่เรา สามารถทบทวนอดีตและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยเราก็ควรทำ"
เมื่อถามว่า รูปแบบที่ 2 ที่พูดถึงนี้ จะสามารถเคาะได้เมื่อไหร่ นายชวนตอบว่า จะให้ทางสถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้รับผิดชอบ โดยทำหน้าที่เป็นเลขานุการในกรณีนี้ แต่ขอเวลาสักนิด เพราะยังคุยกับคนได้ไม่ทั่ว เพราะเวลาไม่ค่อยมี
ถามถึงอดีตนายกฯ ที่ได้คุยมีความเห็นอย่างไรบ้าง ประธานรัฐสภาเผยว่า ทุกท่านก็สนับสนุนและเห็นดีกับการทำงานที่พยายามให้บ้านเมืองสงบ เพราะทุกคนก็ห่วงใยความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่หลายท่านก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่สามารถมานั่งประชุมทั้งวันทั้งคืนได้ จึงไม่สามารถเข้ามาเป็นกรรมการ แต่จะมีใครเข้ามาเป็นบ้างก็ยังบอกไม่ได้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรรมการชุดนี้ แม้บางฝ่ายมีความเห็นว่าไม่น่าจะนำไปสู่ข้อยุติที่จะเกิดความสมานฉันท์ แต่ก็คิดว่าไม่อยากเห็นการตีตนไปก่อนไข้ เพราะอย่างน้อยการมีกรรมการชุดนี้ยังดีกว่าไม่มี และก็ยังเป็นความหวังที่จะให้ประเทศมีทางออกได้ในช่วงระยะเวลาต่อสถานการณ์สั้นๆ นี้ ส่วนปัญหาไหนที่คิดว่ายังค้างคาและยังไม่สามารถหาความเห็นร่วมหรือฉันทามติร่วมกันได้ ก็จะมีกรรมการอีกชุด ก็จะตั้งขึ้น โดยให้สถาบันพระปกเกล้าไปออกแบบคณะทำงานชุดนี้ ดังนั้นปัญหาระยะกลาง ระยะยาว ก็สามารถยกยอดไปพูดในที่ประชุมนั้นได้อีก
ก.พ.64โหวตรธน.วาระ3
ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) รัฐบาล กล่าวว่า ส่วนตัวขอปฏิเสธไม่เข้าไปร่วมเป็นกรรมการ เนื่องจากมีภารกิจมากแล้ว เบื้องต้นจะคัดเลือกจาก ส.ส.ก่อน แต่ หากไม่ได้ก็จะพิจารณาจากบุคคลภายนอกต่อไป คาดว่าภายในวันพุธที่ 2 ธันวาคมนี้ จะได้รายชื่อในสัดส่วนของรัฐบาล ทั้ง ส.ส. และคณะรัฐมนตรีครบถ้วน
นายวิรัช ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ยืนยันว่าจะไม่ยอมให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตก ถึงแม้จะต้องหยุดพักบางช่วงแต่ก็เดินหน้ามาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ที่ผ่านวาระที่ 1 และหากตามกำหนดการกลางเดือนมกราคม 64 คาดว่าการพิจารณาจะเสร็จ ทั้งนี้ก็อยู่ที่ กมธ.ด้วยว่าจะให้ความร่วมมือมากน้อยเพียงใด หากไม่มีประเด็นอะไรมาก ก็คิดว่าจะจบ และสามารถเข้าสู่วาระที่ 2 ในการพิจารณาของรัฐสภาได้ก่อนสิ้นเดือนมกราคม 64 และเดือน กุมภาพันธ์ 64 ก็น่าจะโหวตวาระที่ 3 ซึ่งตนอยากให้จบเร็วที่สุด ไม่อยากเก็บไว้นาน
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม โฆษกคณะ กมธ. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณากรอบเวลาการพิจารณาเพื่อให้เสร็จทัน 45 วัน ซึ่งจากเดิมประชุมทุกวันศุกร์ จะเพิ่มวันประชุมเป็นวันพฤหัสบดี เวลา 09.30-12.00 น.อีกหนึ่งวัน โดยจะเริ่มวันที่ 3 ธ.ค.เป็นต้นไป และหากยังไม่เพียงพอ ก็จะเพิ่มวันประชุมอีก โดยจะต้องให้เสร็จในกรอบเวลาวันที่ 8 ม.ค. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้ลงในเนื้อหา เนื่องจากรอการแปรญัตติของสมาชิกอยู่ โดยขณะนี้เริ่มทยอยส่งเข้ามาแล้ว ซึ่งวันที่ 3 ธ.ค. จะเป็นวันสุดท้ายในการแปรญัตติ จากนั้นจะเชิญผู้แปรญัตติมาชี้แจงเหตุผลต่อที่กรรมาธิการต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการเสนอว่าหากมีความจำเป็นที่จะต้องมีที่ปรึกษาเข้ามาร่วมประชุมด้วย ก็จะมีการเชิญนักวิชาการ ผู้มีส่วนได้เสียมาให้ข้อคิดเห็นในการพิจารณา รวมทั้งมีการรับฟัง ความเห็นจากทุกภาคส่วน โดยกรรมาธิการได้เปิดรับฟังความคิดเห็นทุกช่องทาง อาทิ ตู้ ปณ.256 หรือส่งตรงมายังกรรมาธิการได้ และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 18 ธ.ค. เป็นต้นไป และยังได้อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นที่สนใจของสาธารณะ เนื่องจากกรรมาธิการยึดหลักเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงความเป็นอิสระและประสิทธิภาพในการทำงาน
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานกมธ. กล่าวว่า ในการพิจารณาคงต้องนำความเห็นของ ส.ว.อภิปราย และการแปรญัตติ แต่ก็ไม่ทิ้งของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และข้อเสนอของภาคประชาชน มาดูว่าอะไรเป็นข้อกังวล เช่น เรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ไม่ได้มีอยู่แต่หมวด 1 หมวด 2 เท่านั้น แต่มีอยู่ในอีก 38 มาตรา ถ้าไปแก้ไขทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ แล้วสังคมรับไม่ได้ ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้ง จึงจำเป็นต้องเขียนให้รัดกุม
ส่วนเรื่องสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็ต้องดูคุณสมบัติให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมา เขียน ส.ส.ร.แล้วตัวเองได้ประโยชน์ จากการกลับเข้ามาเป็น ส.ส.และ ส.ว. หรือองค์กรอิสระ แม้กระะทั่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังมีบทยกเว้นว่าควรจะเว้นวรรคกี่ปี ที่จะไม่เข้าไปเป็น ส.ส. ส.ว. หรือองค์กรอิสระ ดังนั้น คุณสมบัติ ส.ส.ร.ก็ควรจะมีจำกัดเหมือนกัน เพราะต้องไปเขียนรัฐธรรมนูญของประเทศ ไม่ใช่เป็นการเซ็นเช็คเปล่า หากไม่มีคุณสมบัติใดๆ เลยก็อาจจะเขียนรัฐธรรมนูญโอนอำนาจใดๆ ก็ได้เอื้อประโยชน์กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลัง
ไม่ใช่การตีเช็คเปล่า
นายสมชายกล่าวว่า ไม่ว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะให้ ส.ว.อยู่หรือไป ตนไม่ติดขัดอะไร เพราะในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ยังมีการเซตซีโรบางองค์กรอิสระ ดังนั้น ส.ว.ก็เหมือนกัน ถ้าจะให้ไปก็ไป ให้อยู่ก็อยู่ แต่อำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น เกิดขึ้นจากการทำประชามติของประชาชน หากจะแก้ไขตัดอำนาจ ส.ว.ในเรื่องนี้ จะทำอย่างไร ล้มไปเฉยๆ เลย หรืออาจจะต้องกลับไปถามประชาชนอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องหารือกัน
ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเป็นกระบวนการที่ไม่รู้จะจบอย่างไร มีหลายส่วนที่จะต้องพูดคุยกัน แต่ยอมรับว่ากังวลคณะ กมธ. จะทำให้ ส.ส.ร.ที่จะมีขึ้นในอนาคตทำงานยากขึ้น ตนยกตัวอย่างตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธาน กมธ.ให้สัมภาษณ์ไม่เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขปลดล็อกหมวด 1 หมวด 2 ที่ ส.ส.ร.จะเข้ามาแก้ไขได้ รวมถึงญัตติต่างๆ ที่เคยตกไปแล้ว ทั้งอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. หรือมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทบัญญัติรับรองคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สิ่งเหล่านี้หากเราล็อกไว้หมด ตกลงเรากำลังจะทำหน้าที่แทน ส.ส.ร.หรือไม่ ซึ่งจุดนี้ตนคิดว่าอันตราย การทำหน้าที่ของ ก มธ. สิ่งที่เราควรจะคิดให้มากที่สุดคือจะทำอย่างไรให้ ส.ส.ร.สามารถทำงานได้ง่าย และร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นของประชาชน
เขากล่าวว่า ไม่ใช่ว่า ส.ส.ร.ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้ แต่ควรทำเรื่องนี้เท่านั้น ถ้าเราทำแบบนี้แสดงว่าเราทำแทน ส.ส.ร. และคิดแทนประชาชน ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการตั้ง กมธ. การที่นายไพบูลย์ออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะนี้ เท่ากับว่านายไพบูลย์คิดเอาแต่ได้ ไม่สนใจว่ารัฐธรรมนูญของประชาชนจะเป็นอย่างไร ถ้านายไพบูลย์คิดเรื่องดังกล่าวมาก ขอเสนอว่านายไพบูลย์ควรทำ 2 อย่างคือ 1.ไปรณรงค์ในวันที่มี ส.ส.ร. เพื่อโน้มน้าวให้ ส.ส.ร.รับฟังเหตุผล และร่างรัฐธรรมนูญในสิ่งที่นายไพบูลย์ต้องการออกมา และ 2.นายไพบูลย์ลาออกไปเป็น ส.ส.ร.จะดีกว่าการที่จะมาใช้กลไกของ กมธ. เพราะเราอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่มาจาก ส.ส.ร.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน
"สรุปว่าประเทศนี้เราจะไม่ไว้ให้ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนใช่หรือไม่ ผมยืนยันว่าการที่มี ส.ส.ร. ไม่ใช่การตีเช็คเปล่า สิ่งที่เรากำลังทำคือเรากำลังออกแบบว่าเราต้องการเห็นการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน โดยพรรคก้าวไกลเราก็มีความเห็นในหลายเรื่องที่เราพร้อมที่จะรับฟัง และรณรงค์ผลักดันความคิด แต่ท้ายที่สุดเรามีความเห็นว่า ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนต้องเป็นคนหาข้อยุติด้วยกันเอง และถ้าเราต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาของประเทศที่ทุกคนสัมผัสได้ ว่าเรากำลังมีวิกฤติ อย่าซ้ำในกรณีที่เรากำลังมีปัญหาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มันไม่ชอบธรรมต่อประชาชน ดังนั้นผมขอให้กรรมาธิการทุกคนช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยการสร้างกระบวนการที่ ส.ส.ร. มีความเป็นประชาธิปไตย ยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด อย่าไปใช้กระบวนการแบบให้มี ส.ส.ร.แต่งตั้งแบบร่างรัฐบาลกำลังทำ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปก็ยังคงมีปัญหา และสุดท้ายประเทศชาติก็ไม่เกิดการพัฒนา" นายรังสิมันต์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |