ไทยปล่อย3นักโทษอิหร่าน แลกอิสรภาพสปายออสซี่


เพิ่มเพื่อน    

 

ไทยถูกโยงเอี่ยวการแลกเปลี่ยนนักโทษระหว่างอิหร่านกับออสเตรเลีย สื่อทางการอิหร่านปูดทางการไทยปล่อยตัวนักโทษอิหร่าน 3 คนโยงคดีระเบิดกรุงเทพฯ ปี 2555 ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากอิหร่านปล่อยตัวนักวิชาการสาวสัญชาติออสเตรเลีย-อังกฤษ ที่ถูกจำคุกฐานสปาย
    รายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2563 กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ของไทยยืนยันในวันเดียวกันว่า พลเมืองอิหร่าน 3 คนที่โดนตัดสินจำคุกคดีแผนวางระเบิดกรุงเทพฯ เมื่อปี 2555 ถูกส่งตัวกลับอิหร่านแล้ว
    โดยคำชี้แจงกล่าวว่า ชายชาวอิหร่าน 2 คน ได้แก่ มาซูด เซดากัตซาเดห์ และซาอิด โมราดี ถูกส่งตัวกลับอิหร่านในฐานะนักโทษ ส่วนชายคนที่สาม คือโมฮัมหมัด คาซาอี นั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อเดือนสิงหาคม ชาวอิหร่าน 3 คนนี้เกี่ยวโยงกับแผนการลอบสังหารนักการทูตอิสราเอลในไทย แผนการนี้ล้มเหลวและถูกเปิดโปงในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 เมื่อระเบิดที่ซุกซ่อนอยู่ในบ้านหลังหนึ่งในซอยปรีดีพนมยงค์กลางกรุงเทพฯ เกิดระเบิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ
     โมราดีซึ่งเป็นหนึ่งในคนร้ายหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุและได้ปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ระเบิดกลับโดนตัวเขาเองจนขาขาดทั้ง 2 ข้าง ส่วนคาซาอีหนีไปสนามบินแต่โดนควบคุมตัวไว้ได้
    ศาลไทยตัดสินเมื่อปี 2556 ลงโทษจำคุกโมราดีตลอดชีวิตฐานพยายามฆ่า ส่วนคาซาอีโดนตัดสินจำคุก 15 ปีฐานครอบครองวัตถุระเบิด ขณะที่เซดากัตซาเดห์หนีไปมาเลเซียก่อนจะถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน หลังจากนั้น ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับคำตัดสินของเขา เชื่อด้วยว่ามีผู้ต้องสงสัยอีก 2 คนหลบหนีกลับไปอิหร่านแล้ว
     แม้คำกล่าวของเจ้าหน้าที่ไทยจะไม่ได้เชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างการปล่อยตัวชาวอิหร่าน 3 คน กับการที่อิหร่านปล่อยตัวไคลี มัวร์-กิลเบิร์ต นักวิชาการด้านตะวันออกกลางวัย 33 ปี ที่ถูกจำคุกในอิหร่านนาน 2 ปีในความผิดฐานจารกรรม แต่โทรทัศน์ของทางการอิหร่านรายงานเมื่อคืนวันพุธว่า นักวิชาการหญิงสัญชาติออสเตรเลีย-อังกฤษผู้นี้ได้รับอิสรภาพเพื่อแลกกับชาวอิหร่านทั้ง 3 คน
     มัวร์-กิลเบิร์ตโดนกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่านจับกุมเมื่อปี 2561 หลังจากเธอมาเข้าร่วมการประชุมวิชาการที่เมืองกอม ภาคกลางของอิหร่าน ต่อมาเธอถูกตั้งข้อหาจารกรรมและถูกตัดสินจำคุก 10 ปี เธอยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ สถานีโทรทัศน์ของทางการอิหร่านเผยแพร่ภาพที่เธอได้รับอิสรภาพเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความยินดีปรีดาแก่ครอบครัวและญาติมิตรของเธอในออสเตรเลีย
     ในภาพข่าวจากสำนักข่าว IRIB ของอิหร่านที่ถ่ายจากสนามบินเตหะราน มัวร์-กิลเบิร์ตคลุมศีรษะและสวมหน้ากากอนามัยโดยมีเอกอัครราชทูตออสเตรเลียอยู่ด้วย เธอถอดหน้ากากอนามัยให้กล้องได้ถ่ายใบหน้าเพื่อยืนยันว่าเป็นตัวเธอ ขณะเดียวกัน สื่อของอิหร่านแห่งนี้ยังได้เผยแพร่ภาพเจ้าหน้าที่อิหร่านหลายคนกำลังให้การต้อนรับชายอิหร่าน 3 คนเยี่ยงวีรบุรุษ พวกเขามีธงชาติห่มคลุมและหนึ่งในนี้นั่งวีลแชร์ ผู้ที่มาต้อนรับนั้นรวมถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
     มาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย กล่าวถึงการปล่อยตัวมัวร์-กิลเบิร์ตว่าเกิดจากการทำงานด้วยความตั้งใจ และกล่าวถึงคดีนี้ว่า "ซับซ้อนและอ่อนไหว"
     กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐยินดีกับการปล่อยตัวเธอ แต่ขณะเดียวกันก็บอกว่า มัวร์-กิลเบิร์ตไม่ควรถูกจำคุกตั้งแต่แรก และกล่าวหาอิหร่านว่าใช้ "การทูตตัวประกัน" ส่วนโดมินิก ราบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ทวีตเรียกร้องให้อิหร่านปล่อยตัวชาวอังกฤษสองสัญชาติทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในอิหร่าน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"