ห่วงบาทแข็งเบรกศก.ฟื้น


เพิ่มเพื่อน    

 

       ประเด็นเรื่อง “สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท”  กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ ด้วยเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ต้องการปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงการใช้จ่าย การลงทุนของภาครัฐและเอกชนเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะเข้ามาประกอบกัน ดังนั้นหลายฝ่ายจึงกังวลว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทที่เป็นอยู่ในขณะนี้จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่เข้ามาเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจไทยหรือไม่

            โดยก่อนหน้านี้ “คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)”  ได้ระบุว่า ที่ประชุมมีความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเปราะบาง จึงเห็นควรให้ติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพร้อมพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

            ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วในช่วงนี้นั้น เป็นผลมาจากนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น ภายหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมไปถึงความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากขึ้น จึงได้ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย ช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ 1.เปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (Foreign Currency Deposit : FCD) และโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี จะช่วยให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น

            2.ปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งในมิติของวงเงินและผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับคนไทย และสนับสนุนให้มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้มากขึ้น ทั้งเพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากเดิม 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศ และ 3.การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Pre-trade Registration) ทำให้ ธปท.ระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด เป็นการยกระดับการติดตามข้อมูลและเอื้อให้ ธปท.สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างตรงจุดและทันการณ์

            แต่ก็ดูเหมือนสถานการณ์เงินบาทอาจจะยังไม่อยู่ในทิศทางที่ดีเพียงพอที่จะสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออก เพราะ “สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)” ได้เข้าหารือกับ รมว.การคลัง เพื่อเรียกร้องให้ช่วยดูแลเรื่องเงินบาทที่ปัจจุบันแข็งค่าขึ้น หลังจากนั้น สรท.ก็ได้ไปหารือในประเด็นเดียวกันนี้กับ ธปท.ด้วย

            “กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)” มองว่าหลัง กนง.มีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% โดยยังประเมินว่าแม้เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นเกินคาด แต่ก็มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่สภาพคล่องยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง ซึ่งเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ต่อปี จะยังถูกตรึงไว้ตลอดปี 2564 ส่วนกรณีที่ ธปท. แถลงมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลค่าเงินบาทนั้น มองว่าแม้ประสิทธิผลของมาตรการอาจจำกัด แต่ถือเป็นสัญญาณชัดเจนว่าทางการกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท และพร้อมใช้เครื่องมือดูแลอย่างตรงจุด

            ขณะที่ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า ยังต้องใช้เวลาอีกระยะเพื่อติดตามประสิทธิผลของมาตรการจาก ธปท.  ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานจากแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอาจหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น ส่วนเงินดอลลาร์ก็อาจอ่อนค่าลงในช่วงปีข้างหน้าตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ และสัญญาณการยืนดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำของเฟด ทำให้คาดว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าผ่านระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ในปี 2564 และ ธปท.อาจจำเป็นต้องเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดความผันผวนในระยะสั้น และประเมินความจำเป็นของการปรับใช้มาตรการดูแลเงินบาทเพิ่มเติมอีกในระยะต่อๆ ไป.

ครองขวัญ รอดหมวน

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"