ศรีษะอินทรชิต หัวโขนชั้นครู สร้างสมัยรัชกาลที่ 5
ประติมากรรมหัวโขนของครูช่างหลายรุ่นทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ประดิษฐ์ขึ้นตามรูปแบบจารีตของหัวโขนไทย ทั้งที่เป็นโบราณวัตถุ เก่าแก่สุดสร้างราวรัชกาลที่ 5 และหัวโขนวิจิตรงดงามที่ยังคงใช้ในการแสดง ส่วนใหญ่อยู่ในคอลเลคชั่นส่วนตัว ซึ่งหาชมได้ยากเกือบ 100 ผลงาน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) เสาะกาและรวบรวมผลงานหัวโขนมาจัดนิทรรศการ“หัวโขนชั้นครู” เพื่อแสดงให้เห็นถึงแบบอย่างของงานช่างฝีมืออันวิจิตรงดงามชั้นครู ให้ผู้เข้าชมร่วมภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมแขนงนี้
ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ นำชมผลงานประติมากรรมหัวโขนชั้นครู บอกเล่าคุณค่าหัวโขนงานช่างหัตถศิลป์ไทย
นิทรรศการ“หัวโขนชั้นครู” เป็นหนึ่งกิจกรรมในโครงการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม”โขน” เพื่อสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งยูเนสโกได้พิจารณาและประกาศให้ขึ้นบัญชีการแสดงโขนในประเทศไทย”Khon : masked dance drama in Thailand” เป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการซึ่งการขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนเพื่อการสงวนรักษาในครั้งนั้น ยังให้ความสำคัญกับช่างฝีมือสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแสดงโขน รวมถึงงานช่างหัวโขนที่เป็นองค์ประกอบหลักในการแสดงด้วย โดยนิทรรศการจัดขึ้นที่ชั้น 4 หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จนถึงวันที่ 20 ธ.ค. นี้
ประติมากรรมหัวโขนยักษ์ ฝีมือช่างโบราณและช่างรุ่นใหม่
ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า โขนเป็นนาฏกรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นรวมศาสตร์และศิลป์หลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งนาฏศิลป์ดนตรี วรรณกรรม พิธีกรรม ตลอดจนงานช่างฝีมือและประณีตศิลป์หลายสาขาทั้งการประดิษฐ์ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ การสร้างฉากและเครื่องโรง และที่ขาดไม่ได้ คือการประดิษฐ์หัวโขน เพราะหัวโขนเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ไทย จัดเป็นงานประติมากรรมที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหัวโขนผ่านนิทรรศการครั้งนี้ มุ่งหวังให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนได้รับความรู้และสัมผัสความงามของงานช่างฝีมือไทย
ภายในนิทรรศการนำเสนอหัวโขนจำนวน 93 ศรีษะ แบ่งการจัดแสดงหัวโขนเป็นหมวดศรีษะยักษ์,ศรีษะลิง,ศรีษะฤาษี,ศรีษะครู,ศรีษะพระพิราบฯลฯ ซึ่งการประดิษฐ์หัวโขนของไทยถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แม้จะมีรูปแบบที่เป็นจารีตแบบแผน แต่การประดิษฐ์หัวโขนของครูช่างแต่ละคนก็มีรายละเอียดเฉพาะตัวแตกต่างกันไป โดยไม่ออกนอกแบบแผน เป็นธรรมชาติของงานช่างฝีมือ
งานหัตถศิลป์หัวโขนฤาษีจัดแสดงในนิทรรศการ”หัวโขนชั้นครู”
นอกจากนี้ ยังเสนอร่องรอยที่มาของหัวโขน, ขั้นตอนการทำหัวโขนสืบทอดจากอดีตถึงปัจจุบันรวม 9 ขั้นตอน,รายชื่อสีหน้าโขน39 ,รายชื่อตัวอย่างสีหัวโขน เช่น ขาว,เหลืองอ่อน,เขียวกลาง,หงดินอ่อน,มอคราม,น้ำไหล,ฟ้าแลบ,เขียวในแค ฯลฯ มาศึกษาเรียนรู้กันได้ ทั้งยังมีมุมกระจกเกรียบช่างหัวโขนในอดีตนิยมนำมาประดับตามร่องพื้นลายและไส้ลายหัวโขนให้งดงามแพรวพราวยามต้องแสงไฟ เมื่อการผลิตกระจกเกรียบขาดการสืบทอด ช่างจึงใช้พลอยกระจกหรือเลื่อมพลาสติกประดับแทน แต่ปัจจุบันมีผู้ค้นคว้าผลิตกระจกเกรียบใกล้เคียงของโบราณทดลองใช้ประดับหัวโขนและศิราภรณ์สำเร็จ
ผลงานหัวโขนพระพิราพ ฝีมือครูชิต แก้วดวงใหญ่ ช่างทำหัวโขนระดับตำนาน
ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การแสดงโขนของประเทศไทยยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนปี2561 เป็นหน้าที่คนไทยทุกคนซึ่งเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมร่วมกันสืบทอดให้เห็นความต่อเนื่องงานช่างหัตถศิลป์หัวโขน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแสดงโขน อยากให้คนไทยได้ซาบซึ้งคุณค่าและความงาม เพราะประติมากรรมหัวโขนเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูงแขนงสำคัญที่ยังได้รับการโอบอุ้มโดยศิลปินแขนงนี้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่บรมครูทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และที่ล่วงลับไปแล้ว สร้างสรรค์ผลงานไว้ให้ประเทศชาติ
“ งานนิทรรศการหัวโขนชั้นครูรวบรวมประติมากรรมหัวโขนของครูช่างหลายรุ่นผลงานที่เก่าแก่ที่สุด คือ ศรีษะอินทรชิตไม่ทราบชื่อผู้สร้าง แต่พิจารณาจากรูปแบบและวัสดุ คาดว่าสร้างราวรัชกาลที่5 แล้วยังมีผลงานหัวโขนพระพิราพ พระปรคนธรรพ์ ยักษ์ หนุมาน ฤาษี ฝีมือครูชิต แก้วดวงใหญ่ ช่างทำหัวโขนฝีมือเยี่ยมที่เป็นตำนาน หัวโขนของท่านให้ความสำคัญกับสัดส่วนจะดูใกล้ ดูไกล ก็สวยงามลงตัว ท่านยังเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างรุ่นหลัง ผลงานครูถือเป็นหัวโขนชั้นครู รูปแบบสืบทอดมาจนทุกวันนี้ ส่วนช่างรุ่นใหม่ก็สร้างงานหัวโขนด้วยฝีมือ หลายสถาบันจัดการสอนทำหัวโขน ทั้งเพาะช่าง โรงเรียนช่างฝีมือในวังชายมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เกาะเกิด จ.อยุธยา สร้างช่างหัวโขนสืบสานมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม แล้วยังมีสกุลช่างทำหัวโขนเปิดบ้านสอนร่วมรักษาสืบทอด งานช่างแขนงนี้จะไม่มีวันสูญหาย“ ผศ.ดร.อนุชา ยืนยันหัวโขนไทยเป็นงานหัตถศิลป์ที่ยังคงมีชีวิตและมีลมหายใจไม่เคยหยุดพัฒนาการและมีการปรับปรุงอยู่เสมอภายใต้กรอบความงามตามจารีต