เคาะตั้งกก.สมานฉันท์21คน


เพิ่มเพื่อน    

 "ชวน" นั่งหัวโต๊ะถกรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-วุฒิสภา เคาะตั้งคกก.สมานฉันท์ 21 คน ดึงม็อบ 2 ฝ่ายร่วมหาทางออกประเทศ "สุทิน" เชื่อมีความหวังนำผู้เห็นต่างร่วมวง ไม่พลิก "วิรัช" นั่งประธานกมธ.แก้ รธน. นัดถกทุกวันศุกร์

    ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน เวลา 10.30 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมร่วมกันระหว่างประธานรัฐสภาและผู้แทนวิปสามฝ่าย เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา, นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล), นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน พร้อมด้วย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมประชุม
    จากนั้น เวลา 11.20 น. นายชวนพร้อมด้วยนายพรเพชร, นายสุทิน และนายวิรัช แถลงภายหลังการหารือร่วม 3 ฝ่าย ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบองค์ประกอบของกรรมการสมานฉันท์ ให้มีกรรมการทั้งสิ้น 21 คน ดังนี้ 1.ผู้แทนฝ่ายผู้ชุมนุม 2 คน (กลุ่มเรียกร้องเห็นต่างกับรัฐบาล) 2.ผู้แทนรัฐบาล 2 คน 3.ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน 4.ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน 5.ผู้แทนสมาชิกวุฒิสภา 2 คน 6.ผู้แทนฝ่ายที่มีความเห็นอื่น 2 คน (กลุ่มเรียกร้องเห็นด้วยกับรัฐบาล)
    7.ผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยบุคคลซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเสนอชื่อ 3 คน โดยคำนึงถึงตัวแทนให้ครอบคลุมถึงภูมิภาคต่างๆ บุคคลซึ่งที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเสนอ 1 คน บุคคลซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเสนอ 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 4 คน รองเลขาธิการสภาฯ เป็นเลขานุการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 4 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
    สำหรับการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ นายชวนกล่าวว่า มีหน้าที่ศึกษารูปแบบการสร้างความปรองดอง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบองค์ประกอบทั้งหมด 21 คน หลังจากนี้ให้ฝ่ายเลขาฯ แจ้งให้แต่ละฝ่ายได้รับทราบ เพื่อส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อเริ่มเดินหน้าทำงานได้ทันที ส่วนประธานขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์พิจารณาจากกรรมการสมานฉันท์ด้วยกันเอง ส่วนจะมีภาระหน้าที่และรูปแบบการพิจาณาแก้ไขปัญหาอย่างไรนั้น ให้กรรมการได้ประชุมปรึกษาหารือกันก่อน และจากการลงพื้นที่พบปะรับฟังความเห็นประชาชนในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ประชาชนต่างก็เห็นด้วยหากกรรมการสมานฉันท์สามารถทำให้บ้านเมืองเป็นไปอย่างสงบ     อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งและความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางเรื่องป้องกันได้โดยการสร้างเงื่อนไขไม่ให้เกิดขึ้นมาอีก เพราะฝ่ายการเมืองย่อมรู้ดีว่าบางเรื่องเกิดขึ้นเพราะอะไร ส่วนปัญหาในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราไม่มีทางรับรู้ได้เหมือนเทคโนโลยีโลกโซเชียลมีเดียยุคใหม่ แม้จะมีคุณค่ามากมาย แต่มีโทษอย่างร้ายแรง ทำให้เกิดความขัดแย้งหากใช้ไปในทางที่ผิด แต่หากใช้ในทางปรองดอง จะทำให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งเรื่องแบบนี้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้โดยตรงจะเข้ามามีส่วนร่วม
    ผู้สื่อข่าวถามว่า คาดหวังกับกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้ไว้อย่างไรบ้าง ประธานรัฐสภากล่าวว่า ได้แจ้งต่อที่ประชุมวิปทั้ง 3 ฝ่ายแล้วว่าไม่ได้เล็งผลเลิศว่าจะต้องเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนทันทีทันใด แต่หวังว่าการได้มีช่องทางได้พูดคุยกันในปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ หากผู้ร่วมชุมนุมไม่เข้าร่วมเป็นกรรมการ ก็ไม่มีปัญหา รัฐสภายังต้องทำหน้าที่ไปตามภารกิจต่อไป ทำหน้าที่เท่าที่มีอยู่ไปก่อน แต่พยายามจะให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และต้องให้เวลาแต่ละฝ่ายในการตัดสินใจ
    นายชวนกล่าวด้วยว่า คณะกรรมการชุดนี้เป็นชุดแรกจากทั้งหมด 2 ชุด ซึ่งชุดที่ 2 เป็นกรรมการสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด โดยมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าพิจารณา ซึ่งในรูปแบบที่ 2 นี้ได้มีการหารือกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว ทุกฝ่ายให้ความเห็นในทางที่เป็นบวก และสนับสนุนให้เดินหน้าแก้ไขปัญหานี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปเชิญมาร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งสัดส่วนกรรมการหลังจากนี้จะเป็นใครนั้น จะมีการหารือกันอีกครั้งกับองค์กรภาคส่วนต่างๆ
    ด้านนายสุทินกล่าวว่า กรรมการสมานฉันท์ชุดนี้พอมีความหวังอยู่บ้างที่จะแก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีการเชิญตัวแทนทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะฝ่ายผู้ชุมนุมและคนที่คิดต่างกับฝ่ายผู้ชุมนุม ซึ่งในอดีตโครงสร้างกรรมการปรองดองจะไม่มีส่วนนี้ ซึ่งหลังจากนี้เชื่อว่าผู้ชุมนุมคงจะได้มีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ แต่อยากให้ฟังดูก่อน เช่นเดียวกับฝ่ายค้านที่หลังจากนี้จะมีการหารือกันว่าจะส่งตัวแทนเข้าร่วมหรือไม่ แต่อย่างน้อยๆ   วันนี้ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.ได้ร่วมวางกรอบ สำหรับหน้าที่ของกรรมการชุดนี้ จะเน้นไปที่การศึกษาในปัญหาต่างๆ เพื่อเสนอแนะเป็นแนวทางให้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั้งหมดไปพิจารณาแก้ปัญหา ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต
    ในช่วงเช้าวันเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) นัดแรก โดยมีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีอาวุโสสูงสุด เป็นประธานชั่วคราว ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เลือกนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ. ด้วยเสียง 27 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านเสนอ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ชิงตำแหน่ง แต่ได้คะแนน 12 เสียง ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้นัดประชุม กมธ.เป็นประจำทุกวันศุกร์ เวลา 09.30 น.เป็นต้นไป โดยประชุมครั้งหน้าในวันที่ 27 พ.ย.นี้
    นายวิรัชกล่าวว่า จะทำหน้าที่ควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามร่างที่ทางรัฐสภาส่งมา โดยมีร่างของรัฐบาลเป็นหลัก แต่สามารถปรับยืดหยุ่นตามสถานการณ์และความเหมาะสมของการทำงานได้ ส่วนที่ฝ่ายค้านอยากให้พิจารณาเร็วขึ้นก่อน 45 วันนั้น อยู่ที่การทำงาน ถ้าลื่นไหลคงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากติดขัดอะไร และใช้เวลาประชุมสัปดาห์ละ 1 วันไม่เพียงพอ อาจจะต้องเพิ่มการประชุมในวันเสาร์ นอกจากนี้ได้เตรียมตั้งคณะอนุ กมธ.เพื่อมาดูแลในรายละเอียด เช่น เรื่องคุณสมบัติสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
    เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านเองอยากได้เนื้อหาในร่างของฝ่ายค้าน และเนื้อหาจากร่างที่ตกไป โดยเฉพาะร่างของประชาชนมารวมด้วย ประธาน กมธ.กล่าวว่า สามารถมาคุยกันในห้องประชุมได้ หากมีความคล้ายคลึงกันอยู่แล้ว โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจอีก 38 มาตรา
    นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่า ยืนยันว่าจะผลักดันข้อเสนอของภาคประชาชนให้ได้มากที่สุด เช่นที่มาและกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ร.  โดยหวังว่าการพิจารณาของ กมธ.จะเป็นการถกเถียงด้วยเหตุผลเป็นหลัก ทั้งนี้ หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ออกมานั้นไม่ได้มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยเลย ก็ยากที่ประชาชนจะยอมรับ แต่ไม่ได้หมายความว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นจะจบ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษ แต่เป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว และมีกระบวนการระยะสั้นที่ต้องแก้ด้วย เช่น มาตรา 272 ว่าด้วยการให้ ส.ว.ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ถ้าในอนาคตอันใกล้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นมา และยังให้ ส.ว.เลือกนายกฯ อีกครั้ง ประเทศลุกเป็นไฟแน่
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องให้กระชับเวลาพิจารณากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางขั้นตอนว่า การกระชับเวลากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับสภา จะให้รัฐบาลไปบอกคงไม่ได้ แต่เมื่อกฎหมายส่งมาจากสภาแล้ว จะเป็นขั้นตอนของรัฐบาลที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยมีกรอบเวลา 20 วัน ซึ่งรัฐบาลไม่เคยทำพ้นจากกรอบเวลาดังกล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"