ประเทศไทยแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาทางภัยพิบัติค่อยข้างน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของดิน ฟ้า อากาศ ทำให้ที่ผ่านมาประเทศไทยค่อนข้างที่จะมีความเป็นอยู่แบบง่ายดาย ไม่ต้องรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะปัญหาน้ำของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากยาวนาน ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด และแทบจะเป็นปัญหาเดียวเลยที่ยังหาทางแก้ไขไม่ได้
โดยที่ผ่านมาภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ชุมชน ก็พร้อมที่จะเดินหน้ารับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นมาอยู่แล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะแก้ไขได้โดยเร็ว แต่ในปัจจุบันทุกหน่วยงานที่กล่าวมานั้น รวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ ก็ยังตระหนักถึงปัญหานี้อยู่เรื่อยๆ จึงได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น ในงาน SD Symposium 2020“Circular Economy : Actions for Sustainable Future” ที่จัดขึ้นโดยเอสซีจี เพื่อหาทางออกแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาวิกฤติน้ำประเทศไทย ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี) พร้อมเสนอทางรอดและข้อสรุป ตลอดจนแนวทางให้เกิดการขยายผลนำไปปฏิบัติจริงได้
โดยเชื่อว่า การบริหารจัดการน้ำด้วย “ระบบน้ำหมุนเวียน” จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤติน้ำได้อย่างยั่งยืน จึงได้ชงข้อเสนอ “ระบบจัดการน้ำหมุนเวียน” ทางรอดวิกฤติภัยแล้ง การบริหารจัดการน้ำด้วยวิธีการดังกล่าวคือ การจัดการน้ำและการจัดรูปที่ดินให้สามารถใช้น้ำซ้ำได้หลายรอบ ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนได้ร่วมมือกันส่งเสริมชุมชนเรียนรู้การจัดการน้ำด้วยตัวเอง จนเกิดเป็นชุมชนยั่งยืนที่แก้ปัญหาสำเร็จ ช่วยเพิ่มผลผลิต การเกษตร สร้างอาชีพมั่นคง รายได้ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเอง และรอดพ้นวิกฤติภัยแล้งได้
โดยได้ถอดบทเรียนจากชุมชนต้นแบบใช้น้ำหมุนเวียน ได้แก่ ชุมชนดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี, ชุมชนศาลาดิน จ.นครปฐม, ชุมชนบ้านป่าภูถ้ำ จ.ขอนแก่น และชุมชนบ้านสาแพะ จ.ลำปาง เป็นกรณีศึกษา เพื่อเป็นต้นแบบและแนวทางให้เกิดการขยายผลต่อในชุมชนอื่นๆ
พร้อมข้อเสนอร่วมแก้ปัญหาด้วยระบบน้ำหมุนเวียน โดย 1.สนับสนุนให้คนไทยพึ่งพาตัวเอง เรียนรู้การจัดรูปที่ดินและใช้เทคโนโลยีสร้างระบบน้ำหมุนเวียนให้เพียงพอต่อความต้องการแต่ละชุมชน รวมทั้งเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด ด้วยการขุดลอกแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้การเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต และพัฒนาตลาดค้าส่งในท้องถิ่นให้แก่เกษตรกรและคนกลับคืนถิ่น จากพิษเศรษฐกิจโควิด-19 และ 2.เชิญชวนรัฐบาลร่วมขยายผลระบบน้ำหมุนเวียน ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ฟื้นคืนเศรษฐกิจชุมชน และส่งเสริมเพิ่มผลผลิตเกษตรให้ไทยเป็นครัวโลกในที่สุด
ขณะที่ทางรอดภาคเกษตร ที่เป็นภาคสำคัญที่ต้องใช้น้ำมากพอสมควร โดยจะต้องปรับการผลิตให้เหมาะสม ใช้ความรู้และเทคโนโลยีเสริม โดย นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า การใช้น้ำภาคเกษตรในแต่ละสาขาจะใช้ในปริมาณที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มที่ใช้น้ำมากที่สุดและมีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก คือ สาขาทำนา รองลงมาเป็นสาขาทำไร่ สาขาทำสวน และสาขาปศุสัตว์ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรมีน้ำในการใช้ยังชีพและประกอบกิจกรรมของตัวเอง ที่สำคัญมีวิธีจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งที่ต้องทำคือ ใช้น้ำทุกลิตรให้มีประสิทธิภาพทั้งกับชีวิตและการผลิต ห้ามใช้ฟุ่มเฟือย เพราะวันหนึ่งเราอาจขาดแคลนได้ แม่น้ำจะเป็นทรัพย์สินเปิดเข้าถึงได้เสรี แต่เป็นการใช้ร่วมกัน ถ้าขาดแคลนจะได้รับผลกระทบทุกคน สิ่งที่น่าห่วงสำหรับภาคเกษตรคือ การปรับตัวของเกษตรกร ต้องปรับการผลิตให้ตอบสนองทั่วโลกที่ต้องการอาหารปลอดภัยและมีคุณภาพมากขึ้น
หากเกษตรกรมีการบริหารจัดการที่ดี ปรับการผลิตปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จริง ภัยแล้งจะไม่เป็นปัญหาใหญ่ของภาคการเกษตร และจะไม่ใช่ปัญหาที่ภาครัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ ต้องเข้ามาเยียวยาเกษตรกรทุกปี และหากสามารถทำให้เกษตรกรมีความรู้นำไปปรับตัวสร้างเศรษฐกิจผสมผสาน มีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรก็จะสามารถอยู่รอดได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |