"สมศักดิ์" แจงจับยาเคล็อตมหึมาโอละพ่อ ขอเวลาตรวจสอบของ 3 หน่วยงาน คาดอาทิตย์หน้าได้ข้อสรุป ตั้งกรรมการสอบปมแคลงใจมีการเปลี่ยนของกลางระหว่างขนย้ายหรือไม่ ออกตัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อ้างแถลงข่าวตามหน้าที่ ขู่ฟ้อง "อัจฉริยะ" และนักเลงคีย์บอร์ด
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ที่หน้าห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม 1 ชั้น 9 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมแถลงข่าวชี้แจงกรณีการจับกุมยาเคตามีน 11.5 ตัน ใน จ.ฉะเชิงเทรา แต่ตรวจสอบภายหลังพบว่าเป็นสารไตรโซเดียมฟอสเฟต
นายสมศักดิ์กล่าวว่า การแถลงข่าวในวันจับกุมที่โกดัง จ.ฉะเชิงเทรา ตนขอยืนยันว่า เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นเคตามีน เพราะการใช้น้ำยาตรวจสอบปรากฏว่าเป็นสีม่วง แต่ผลจริงๆ ต้องรอจากห้องปฏิบัติการ และผลยืนยันเป็นสารไตรโซเดียมฟอสเฟต ทำให้ต้องมีการเก็บตัวอย่างร่วมกันของ 3 หน่วยงาน ทั้ง ป.ป.ส. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กองพิสูจน์หลักฐานและนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนหน่วยงานอื่นๆ จะมาช่วยตรวจสอบให้จบภายในสัปดาห์หน้าว่าของกลางทั้งหมดเป็นยาเสพติดหรือไม่ จำนวนมากน้อยเท่าใด จึงได้เสนอให้แบ่งตรวจสอบของกลางเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เบื้องต้นในสัปดาห์นี้ ส่วนที่เหลือค่อยทยอยตรวจสอบภายหลังให้ครบ รวมถึงการจัดสัมมนาทางวิชาการกับหน่วยงานอื่นเพื่อปรับความเข้าใจใหม่ และหาความรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารไตรโซเดียมฟอสเฟต ซึ่งที่ผ่านมา ป.ป.ส.ไม่เคยพบสารตัวนี้ ส่วนเครื่องมือเทสต์คิตที่เราใช้อยู่ในขณะนี้ เป็นมาตรฐานเดียวกับสากล
“ผมยอมรับว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับสารตัวนี้ เนื่องจากเป็นสารใหม่และไม่เคยปรากฏขึ้นในประเทศไทย ว่าหากเข้าเครื่องเทสต์คิตจะเป็นสีม่วงด้วย ซึ่ง UNODC บอกว่าประเทศอื่นเคยมีลักษณะนี้ แต่ในประเทศไทยถือเป็นครั้งแรก โดยจากนี้จะต้องมีการจัดเสวนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนด้วย ทั้งนี้ คำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ผมพร้อมน้อมรับ ซึ่งการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงยุติธรรม เราจะเร่งสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด” นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ข้อสงสัยเรื่องการขนส่ง จัดเก็บหลักฐานหรือเปลี่ยนของกลางนั้น ต้องมีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการขนย้าย และให้ชี้แจงโดยเร็วที่สุด ส่วนการจัดเก็บหลักฐาน ตนยืนยันว่ามีห้องเก็บหลักฐานหนาแน่น และระบบราชการ เรื่องการเก็บหลักฐานต่างๆ รัฐมนตรีไม่มีอำนาจเกี่ยวข้องเลย วันที่ไปแถลงการจับกุม ตนต้องไปตามหน้าที่ หากไม่ไปคนจะหาว่าเราละเลยหน้าที่ ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าตนไม่เคยไปร่วมแถลงข่าวการจับกุมยาเสพติดเลย โดยตนจะเน้นการยึดทรัพย์ตัดวงจรเครือข่ายยาเสพติดมากกว่า
รมว.ยุติธรรมกล่าวด้วยว่า กรณีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เข้าแจ้งความตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) กล่าวโทษตนแถลงข่าวอันเป็นเท็จนั้น ขณะนี้ได้ให้นักกฎหมายตรวจสอบ หากประเด็นไหนทำให้เกิดความเสียหายฟ้องได้ก็ต้องฟ้อง เพื่อให้ปรากฏข้อเท็จจริง ซึ่งตนพร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ต้องมีผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้อยู่แล้ว เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่ขณะนี้ต้องเร่งหาข้อเท็จจริงว่าสารที่เรายึดมาได้ทั้งหมดนั้นมีการซุกซ่อนยาเสพติดไว้หรือไม่
“ผมได้สั่งให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีปลัด ยธ.เป็นประธาน และมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เพื่อเร่งกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ และยืนยันว่าการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งใคร เพราะการวิพากษ์วิจารณ์หากกระทบผมหรือ ป.ป.ส. ที่เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรงนี้ ยอมรับได้ แต่ห่วงที่จะกระทบผู้อื่นที่ทำให้เกิดความเสียหาย ต้องถูกดำเนินคดี ตรงนี้ไม่ควรเกิดการบิดเบือนข้อเท็จจริง”
ด้านนายวิชัยกล่าวว่า สังคมสงสัยว่าทำไมขั้นตอนการดำเนินคดีถึงได้ล่าช้า ตนขอชี้แจงว่า คดีนี้เรายึดของกลางได้โดยไม่มีผู้ต้องหา ไม่เหมือนกับการจับกุมของกลางพร้อมผู้ต้องหาที่เป็นความผิดซึ่งหน้า และคดีนี้เป็นคดีระหว่างประเทศ เป็นการประสานงานมาจากประเทศไต้หวัน ดังนั้น อำนาจในการสั่งสอบสวนจะอยู่ที่อัยการสูงสุด ทางตำรวจไม่มีอำนาจ ขั้นตอนคือ เมื่อ ป.ป.ส.รวบรวมหลักฐานให้กับตำรวจ ทางตำรวจจะทำเอกสารให้อัยการสูงสุดเพื่อสั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา ถึงจะมีอำนาจในการสอบสวนคดีนี้ ซึ่งในส่วนของผู้ต้องสงสัยนั้น เรามีข้อมูลแล้ว แต่เรากำลังสืบไปให้ถึงผู้ร่วมกระบวนการในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นผู้ร่วมขบวนการกับผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมที่ไต้หวัน
ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง อดีตเลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่า กรณีการจับยาเค สังคมเกิดความคลางแคลงใจว่าของกลางมูลค่าสูงหายไปได้จริงหรือไม่ อย่างไร เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบต้องทำให้สังคมเข้าใจและเชื่อมั่นในกระบวนการของการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่การได้เบาะแส จนกระทั่งเข้าตรวจยึดของกลาง กระบวนการตรวจนับ จัดเก็บ กระบวนการส่งพิสูจน์ เพื่อในทุกขั้นตอนมีความชัดเจนถูกต้องด้วยความรอบคอบ ว่าจะไม่มีการสูญหาย หรือเปลี่ยนของกลางเป็นอย่างอื่นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติหน้าที่ต้องเป็นไปโดยสุจริต ชอบด้วยกฎหมายในทุกขั้นตอน เพราะหากในที่สุดของกลางที่ตรวจยึดได้นั้นไม่ใช่ยาเสพติดดังที่แถลงข่าวไปนั้น ผู้ต้องหาในเบื้องต้นอาจตกเป็นผู้เสียหาย ที่จะใช้สิทธิทางกฎหมายกับเจ้าพนักงานได้เช่นกัน
ที่ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร, พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร. กับพวก แถลงว่า เจ้าหน้าที่ศุลกากร กองสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบสินค้าที่จะส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย สำแดงชนิดสินค้าเป็นเศษอะลูมิเนียม ผลการตรวจสอบสินค้าดังกล่าวเป็นเครื่องยนต์เก่าสภาพชำรุด 74 เครื่อง พบไอซ์ 62 กิโลกรัม บรรจุอยู่ในถุงชาจีนแบบสุญญากาศในช่องว่างของเครื่องยนต์เก่า 33 เครื่อง มูลค่ายาเสพติดประมาณ 37 ล้านบาท ก่อนติดตามจับกุมผู้ส่งออกและผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย
นายพชรกล่าวว่า เครื่องเอกซเรย์สามารถเห็นสิ่งผิดปกติได้ แต่เนื่องจากของกลางนั้นซุกซ่อนในเครื่องยนต์โดยห่อหุ้มด้วยกระดาษฟอยล์ และใส่น้ำมันเป็นของเหลวทำให้เครื่องยนต์ใช้การได้ จึงต้องใช้วิธีชำแหละเพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดด้วย ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมา กรมศุลกากรมีสถิติการตรวจยึดยาเสพติดทั่วประเทศ รวม 143 คดี มูลค่ายาเสพติดประมาณ 5,488,151,748 บาท ซึ่งไอซ์ในไทยมีมูลค่าประมาณกิโลกรัมละ 1 แสนบาท แต่หากส่งออกแล้วจะมีค่าสูงขึ้นอีก 10 เท่า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |