๒๕ พฤศจิกายน
ชาว ๓ นิ้วเขาจะไป สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
เห็นบอกว่าจะไปปราศรัย เรื่องภาษีกู
ถ้ายึดเอาตามที่ "เพนกวิน" บอกก็ตามนี้....
"ชัยชนะของพวกเรามาถึงจุดหนึ่งแล้ว นั่นคือการสร้างบรรทัดฐานว่าการพูดถึงพระมหากษัตริย์สามารถทำได้ ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ อย่าว่าแต่พูดเลยแค่คิดก็กลัวแล้ว แต่วันนี้ชัดเจนแล้วว่าใครก็ตามที่ใช้อำนาจประชาชน ใช้ภาษีประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้"
ตีเกราะเคาะกะลากันไป
ภาษีของประชาชน คืองบประมาณแผ่นดิน
ฉะนั้นที่เกี่ยวข้องกับภาษีประชาชนคืองบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
ก้าวไกล เพื่อไทย เป็นรัฐบาล ก็ต้องตั้งงบประมาณ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เอาไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี
และผ่านการตรวจสอบโดยสภา เหมือนที่ ก้าวไกล-เพื่อไทย ทำกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ๒๕๖๔
ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
ก่อนจะชู ๓ นิ้ว หาความรู้สักนิด
ทำความเข้าใจข้อมูลเบื้องต้นนี้ก่อน
"สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์" จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.๒๕๖๑ มีฐานะเป็นนิติบุคคล
เป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์
มีหน้าที่จัดการ ดูแลรักษา จัดหาผลประโยชน์ และดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามที่จะทรงมอบหมาย
โดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.๒๕๖๑ ได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๔พฤศจิกายน ๒๕๖๑
จุดเริ่มของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาจาก "กรมพระคลังข้างที่" ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)
ได้มีการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ตามความในพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๗๙
ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขและยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์อีก ๓ ครั้ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสม
คือ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๘๔
พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๑
และพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๐
เปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น "สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์" ตามความในพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๑
การบริหารจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการปกครองในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มีวิวัฒนาการเคียงคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทยมาโดยตลอด นับตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยยังปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทรัพย์สินในราชอาณาจักรเป็นของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงอยู่ในฐานะ "พระเจ้าแผ่นดิน" แต่เพียงพระองค์เดียว
อย่างไรก็ตามพระมหากษัตริย์ได้ทรงพยายามแยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินของแผ่นดิน
โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) การค้าขายกับต่างประเทศเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก
จึงได้ทรงเก็บสะสมกำไรที่ได้จากการค้าสำเภาซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไว้ในถุงผ้าสีแดงซึ่งเรียกกันว่า
"เงินถุงแดง"
ไว้ข้างพระแท่นที่บรรทม
เรียกว่า "เงินข้างที่"
ต่อมามีจำนวนมากขึ้นก็เก็บไว้ในห้องข้างๆ ที่บรรทม
จึงเรียกว่า "คลังข้างที่"
โดยได้พระราชทานไว้เป็นทุนสำรองแก่แผ่นดินสำหรับใช้ในยามบ้านเมืองเกิดภาวะคับขัน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้เกิดเหตุวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๒๖) ที่สยามเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสจึงได้นำเงินถุงแดงมาสมทบเพื่อเป็นการชดใช้ค่าเสียหายและค่าประกันแก่ฝรั่งเศส
จนสามารถรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติไว้ได้
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เป็นยุคแห่งการปฏิรูปและการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน
โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูประบบการคลังใหม่และมีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินเป็นครั้งแรก เพื่อให้รายรับและรายจ่ายของแผ่นดินเป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผน
ซึ่งการจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ได้มีการแยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินของแผ่นดินอย่างเด็ดขาด โดยทรงมอบหมายให้ "กรมพระคลังข้างที่" เป็นผู้จัดการดูแลพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
เมื่อรายได้ของแผ่นดินมากขึ้นอันเนื่องมาจากการปฏิรูปทางการเงิน ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ ซึ่งมีการจัดตั้งกระทรวงการคลังขึ้นมาเป็นครั้งแรก ส่งผลให้จำนวนเงินที่ได้รับการจัดสรรของกรมพระคลังข้างที่ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ในช่วงแรกรายได้ของกรมพระคลังข้างที่นำไปเป็นค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาพระราชวัง และค่าใช้จ่ายในการเสด็จไปทรงศึกษาต่อยังต่างประเทศของพระราชโอรสเป็นหลัก
เมื่อรายได้เพิ่มมากขึ้นจึงมีเงินเหลือจ่ายจากค่าใช้จ่ายดังกล่าว จึงเกิดการริเริ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้างอาคารพาณิชย์
เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน
และให้โอกาสในการทำการค้าขาย
นอกจากนี้เมืองสำคัญในต่างจังหวัดยังได้มีการสร้างตลาดขึ้น เพื่อนำค่าบำรุงตลาดไปใช้ในการพัฒนาระบบสุขาภิบาลและสาธารณูปโภคพื้นฐานในเขตศูนย์กลางเมืองใหม่เหล่านี้ควบคู่พร้อมไปกับการตัดถนนของกระทรวงโยธาธิการ
ดังที่กล่าวข้างต้นนี้ ถือได้ว่าเป็นรากฐานของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน.....
นี่คือข้อมูลพื้นฐาน มีให้อ่านในเว็บไซต์ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือสมบัติส่วนพระองค์ ของราชวงศ์จักรี
ไม่ใช่สมบัติของแผ่นดิน
แต่ถูกเล่นแร่แปรธาตุโดยคณะราษฎร ๒๔๗๕
คนรุ่นใหม่ยุคไอที เข้าไปแสวงหาความรู้กันบ้างหรือเปล่า?
ประเด็นถัดมา ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต้องเสียภาษีหรือไม่?
กฎหมายเดิม เขียนว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ย่อมได้รับความยกเว้นจากการเก็บภาษีอากร เช่นเดียวกับทรัพย์สินของแผ่นดิน แต่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ย่อมไม่อยู่ในข่ายแห่งความยกเว้น
หมายความว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นได้รับการยกเว้นภาษีทั้งหมด แต่ทรัพย์สินส่วนพระองค์โดยหลัก ต้องเสียภาษี ยกเว้นจะมีกฎหมายใดมายกเว้นเป็นการเฉพาะ
กฎหมายใหม่บัญญัติว่า ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ทุกประเภทจะต้องเสียภาษีอากรหรือได้รับยกเว้นภาษีอากรย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
หมายถึงหลักการเดิมที่ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องเสียภาษีเป็นหลัก ทรัพย์สินส่วนพระองค์ต้องเสียภาษีเป็นหลัก ถูกยกเลิกไป โดยเรื่องใดจะต้องเสียภาษีหรือไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สรุปคือมีทั้งเสียและไม่เสีย
แต่แกนนำม็อบ ๓ นิ้วไม่ยอมเบิกเนตร ป้อนข้อมูลผิดๆ ให้มวลชน พระมหากษัตริย์ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งผิดถนัด!
ก็ต้องถามกลับไปว่ามีเจตนาอะไร?
รวมทั้งการไปชุมนุมที่ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แกนนำ ๓ นิ้ว หวังผลอะไร?
ที่ตั้งของ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ อาจบอกอะไรบางอย่างได้
เพราะตั้งในเขตพระราชฐาน
เป็นพื้นที่อยู่ภายใต้การดูแลกองกำลังรักษาเขตพระราชฐาน ของกองทัพภาคที่ ๑
พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ มาตรา ๗ บัญญัติว่า....การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวังพระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตําหนักหรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พํานักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทํามิได้
ถ้าม็อบ ๓ นิ้วล้ำเข้าไปในรัศมี ๑๕๐ เมตร จะเกิดอะไรขึ้น
แม้จะอ้างว่าชุมนุมโดยสันติ
แต่ละเมิดกฎหมาย
ซ้ำยังเป็นเขตพระราชฐาน
จึงเป็นไปได้หรือไม่ที่แกนนำม็อบ ๓ นิ้ว จะเซตสถานการณ์บางอย่างขึ้นมา
แล้วโยนความผิดไปให้ฝ่ายรัฐ!
ข่าวเบิ้มๆ จากฮ่องกง "โจชัว หว่อง" ยอมรับผิดต่อศาลฐานยุยง และจัดการชุมนุมอย่างผิดกฎหมายใกล้กองบัญชาการตำรวจระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว
อยู่ระหว่างรอศาลพิพากษาโทษต้นเดือนหน้า
มีโทษสูงสุดจำคุก ๓ ปี
นั่นคือจุดจบแรกๆ ของฮ่องกงโมเดล
ชุมนุมเขตพระราชฐาน เบาะๆ จําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
แต่ระวังปากพาไปละเมิดมาตรา ๑๑๒
คุกเบิ้มๆ ๑๕ ปี.
ผักกาดหอม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |