ฝ่ายค้านขวางยื้อแก้ รธน. ลั่น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ไม่ต้องใช้เวลาเต็มกรอบ 45 วันก็ทำเสร็จก่อนได้ ทวงสัญญาบิ๊กตู่ทำจบหมดก่อนสิ้นปี เพื่อไทยเตรียมดันคนนอกเข้ามาเป็นที่ปรึกษา กมธ. "จุรินทร์" ทำขึงขังจ่อเรียก ส.ส.แหกมติพรรคเข้าห้องเย็น
ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้านประชุมเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 พ.ย. ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกของคณะกรรมาธิการที่มีตัวแทนจากทั้ง ส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา
โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานฝ่ายกฎหมายพรรค แถลงภายหลังการประชุมว่า สำหรับแนวทางการทำงานของกรรมาธิการในสัดส่วนของฝ่ายค้าน คือ 1.การคัดเลือกตำแหน่งต่างๆ ในกรรมาธิการ ควรคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามานั่งในตำแหน่งนั้นๆ แม้เสียงของฝ่ายค้านสู้เสียงของฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ แต่เราก็เห็นว่าควรมีการเสนอ 2.เวลาที่กำหนดไว้ 45 วันอาจจะมากเกินไป เราจะเสนอให้ใช้เวลาน้อยกว่านี้ โดยพยายามให้เรื่องสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 3 โดยเร็ว
3.เมื่อพิจารณาร่างของฝ่ายค้านและร่างของรัฐบาลแล้ว เห็นว่ามีความแตกต่างกันในสาระสำคัญ 2 เรื่อง คือ ที่มาของ ส.ส.ร.ที่ฝ่ายค้านมองว่าควรมาจากการเลือกตั้ง 100% แต่ญัตติของรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งโดยตรง การคัดเลือกจากรัฐสภา จากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ และจากที่ประชุมกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งกระบวนการที่มาจากการคัดเลือกมีปัญหาหมิ่นเหม่ที่อาจได้คนมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้การได้มาไม่เป็นธรรม เรามองว่าญัตติของฝ่ายค้านมีความเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า
นายชูศักดิ์กล่าวว่า ประเด็นต่อมาคือเรื่องการทำประชามติ ฝ่ายค้านมองว่าเมื่อ ส.ส.ร.ร่างเสร็จแล้ว ควรนำร่างไปทำประชามติก่อนนำมาประกาศใช้ ขณะที่ญัตติของรัฐบาลนั้นเมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา หากที่ประชุมเห็นชอบให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้ ซึ่งมีปัญหาหมิ่นเหม่เช่นกัน เพราะประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้รับทราบว่า ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญมาอย่างไร 4.เรามีร่างรัฐธรรมนูญฉบับของพี่น้องประชาชนที่ตกไป ซึ่งมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายค้านจึงเห็นว่าต้องไปศึกษาร่างที่ตกไปว่ามีประเด็นใดที่สำคัญ เพื่อนำเรื่องนั้นๆ มาพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ และ 5.ให้แต่ละพรรคการเมืองในฝ่ายค้านไปพิจารณาเพื่อมอบหมายให้ ส.ส.แต่ละพรรคร่วมแปรญัตติในประเด็นสำคัญ
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันยึดในหลักการและเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยจะเสนอให้เชิญบุคคลภายนอก ทั้งตัวแทนภาคประชาชน หรือนักวิชาการเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและร่วมให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ และเห็นว่าการพิจารณาของคณะกรรมาธิการควรมีกรอบระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน โดยได้ยึดถือคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่ได้กล่าวในการประชุมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า จะพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งหวังไว้ว่านายกรัฐมนตรีจะรักษาคำพูดคำสัญญาที่ได้ให้ไว้ต่อรัฐสภาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
ขณะที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวในวันที่ 24 พ.ย.จะพิจารณาแต่งตั้งประธาน กมธ. โดยคาดว่าน่าจะเป็นนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภาตั้งแต่แรก ส่วนกรอบการพิจารณาของคณะ กมธ.จะดำเนินการให้เสร็จภายใน 45 วัน ก่อนเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป ทั้งนี้คิดว่าเวลา 45 วันน่าจะเพียงพอ เพราะในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาลงมติรับหลักการไปนั้นมีเพียงสองหลักการสำคัญ
"การประชุมคณะ กมธ.นัดแรกในวันที่ 24 พ.ย.จะมีการหารือด้วยกัน 4 ประเด็นที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาลและฝ่ายค้านมีความแตกต่างกัน ประกอบด้วย 1.สัดส่วนของจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2.กรอบเวลาการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ ส.ส.ร. ระหว่าง 120 วัน หรือ 210 วัน 3.การไม่แก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ที่จะทำอย่างไรไม่ให้กระทบต่อพระราชอำนาจ และ 4.กระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้เกิดความโปร่งใส" นายชินวรณ์กล่าวและย้ำว่า จากกรอบเวลาทั้งหมดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จสิ้นก่อนอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้อย่างแน่นอน
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวเช่นกันว่า คณะ กมธ.จะดูแลและแก้ไขเฉพาะในส่วนของการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญจะใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก ยืนยันว่าจะไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ส่วนที่ผู้ชุมนุมมองว่าคนที่แก้รัฐธรรมนูญเป็นคู่ขัดแย้งของผู้ชุมนุมนั้น ตนมองว่าอย่าเพิ่งติเรือทั้งโกลน ขอให้รอดูการทำงาน ส่วนการพิจารณาจะแล้วเสร็จภายใน 45 วันตามกรอบระยะเวลาหรือไม่นั้น จะพยายามทำให้เร็วที่สุด ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีขั้นตอนก่อนจะผ่านเข้าสู่วาระที่ 2 และวาระที่ 3 ต่อไป ซึ่งกรรมาธิการไม่สามารถทำงานนอกเหนือจากที่สภาส่งมาให้ได้
เมื่อถามประเด็นพรรคเพื่อไทยจะขอให้มีคนนอกมาเป็นที่ปรึกษาในกรรมาธิการนั้น นายวิรัชกล่าวว่า จะต้องเป็นความเห็นพ้องของกรรมาธิการทั้ง 45 คน จะเป็นความเห็นของคนใดคนหนึ่งหรือพรรคใดพรรคหนึ่งไม่ได้ ถ้าทั้ง 45 คนเห็นพ้องต้องกันก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้
ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ส.ส.ของพรรคโหวตไม่รับร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับว่า วันที่ 24 พ.ย.จะเรียกมาเตือนสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมติพรรค โดยมอบให้ผู้อำนวยการพรรคไปประสานงานแล้ว เพราะถือว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติพรรค เพราะก่อนมีมติได้มีการพูดคุยกันอย่างชัดเจนในที่ประชุม ส.ส.ของพรรค จนกระทั่งออกมาเป็นมติ เพราะผู้แทนราษฎรก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่ภายใต้ข้อบังคับพรรคด้วยประกอบกัน
เมื่อถามย้ำว่าจะมีการยื่นคำขาดหรือไม่ ถ้าฝ่าฝืนมติพรรคจะมีบทลงโทษอย่างไร นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นเรื่องภายในที่ต้องมีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของพรรค
ถามถึงกรณี ส.ส.ของพรรคอ้างว่าเป็นแนวทางของ กปปส.เดิม จะมีการจัดการตรงนี้อย่างไร นายจุรินทร์ กล่าวว่า "พรุ่งนี้จะคุย"
สำหรับ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมติพรรคในการโหวตร่างแก้ไข รธน.สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอดีตแนวร่วม กปปส. คือ นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร ประชาธิปัตย์
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวถึงเรื่องที่มาของสมาชิกสภาร่าง รธน.ด้วยว่า เรื่องนี้ได้ระบุไว้ชัดในร่างของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว ซึ่งได้กำหนดว่าให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 150 คน และอีก 50 คนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกบุคคลที่มาจากการสรรหา จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 10 คน วุฒิสภา 10 คน มาจากอธิการบดี 20 คน และตัวแทนของเยาวชน นักศึกษา 10 คน โดยเป็นไปตามแนวทางร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรค ปชป.ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนด้วย แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นจะเป็นผู้เคาะว่ารูปแบบจะออกมาเป็นแบบไหน
เมื่อถามว่ามีความกังวลหรือไม่ว่า ส.ส.ร.สัดส่วน 50 คนจะมีการล็อกสเปกหรือไม่ นายจุรินทร์ให้ความเห็นว่า ไม่คิดว่าจะทำได้ เช่นอธิการบดีไม่คิดว่ามีใครไปล็อกสเปกได้ เพราะทุกคนเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติ สามารถใช้ดุลยพินิจของตัวเองได้ว่าจะทำอย่างไร
นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวถึงการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ 7 ฝ่ายว่า ขณะนี้ค่อนข้างมีความชัดเจนว่าจะมีการตั้งขึ้นมา 2 คณะ คณะแรกจะเป็นคณะที่ประกอบด้วย 7 ฝ่ายตามที่ตนและพรรค ปชป.ได้เสนอ รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบตั้งแต่เบื้องต้นเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ว่าจะออกมาอย่างไร ส่วนอีกคณะเป็นคณะที่จะดูปัญหาในระยะกลางและระยะยาว
ทั้งนี้ พรรค ปชป.จะเสนอแนวทางการดำเนินการในลักษณะให้ใช้มติที่เป็นเอกฉันท์ประกอบการที่จะให้แต่ละฝ่ายรับไปดำเนินการ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสเข้าร่วมได้โดยไม่ต้องกังวลว่าเสียงข้างน้อยจะถูกเสียงข้างมากบังคับให้เป็นไปตามนั้น แต่ถ้าใช้มติเอกฉันท์เป็นการแสดงว่าจะต้องเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด แต่ละฝ่ายก็รับไปดำเนินการ ส่วนประเด็นไหนที่ยังไม่สามารถเป็นเอกฉันท์ได้ อาจจะยกยอดไปให้คณะกรรมการชุดสองที่จะดำเนินการในระยะกลางและระยะยาวรับไปดำเนินการพิจารณาต่อไป ซึ่งเป็นหลักที่ตนจะมอบให้ผู้แทนของพรรคเป็นผู้รับไปเสนอที่ประชุมต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |