“ประยุทธ์” ลั่นไม่มีปฏิวัติ-ประกาศกฎอัยการศึก ซัดเป็นแค่ข้ออ้างระดมคน เตือนรัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ทุกกลุ่มสงบเรียบร้อย ไม่ดึงม็อบชนม็อบเพราะไม่ต้องการให้มีการฆ่าแกงกันอีกแล้ว ชี้เอกสาร สมช.สกัดผู้ชุมนุมเป็นงานรูทีนด้านความมั่นคง “ประวิตร” เชื่อชุมนุม 25 พ.ย.ไม่บานปลาย “นครบาล” จัด 10 กองร้อยรับมือ เริ่มประเดิมติดป้ายห้าม ขึงรั้วลวดหนาม แกนนำเตรียมหนาว! บช.น.เตรียมถกมาตรา 112 "เสี่ยหนู" ยันพรรคร่วมรัฐบาลเหนียวแน่นยังจับมือหนุน “ลุงตู่”
เมื่อวันจันทร์ที่ 23 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตอบข้อถามถึงการนัดชุมนุมในวันที่ 25 พ.ย.ที่คาดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมสองฝ่ายจะเผชิญหน้ากัน รัฐบาลจะกำชับดูแลอย่างไรไม่ให้ตีกัน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าพยายามห้ามไม่ให้ตีกันอยู่แล้ว ไม่ว่าใครก็ต้องเคารพกฎหมาย จะตีจะขว้างจะยิงกันหรือไม่-ไม่รู้ ทั้งคู่เก็บจากกล้องทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกฎหมายทั้งสองฝ่าย เพราะไม่ต้องการให้มีการตีกันอยู่แล้ว ไม่เคยเลือกปฏิบัติ เป็นการชุมนุมที่บอกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ ฉะนั้นสิทธิเสรีภาพไม่ใช่ต้องสงวนไว้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สามารถชุมนุมได้ทั้งสองฝ่ายสามฝ่าย อะไรก็แล้วแต่ แต่ต้องไม่ตีกัน หากตีกันก็ผิดทั้งหมด
"รัฐบาลพยายามให้เกิดความสงบมากที่สุด ต้องคำนึงถึงและห่วงเจ้าหน้าที่เขาบ้าง เพราะถูกกระทำเยอะเหมือนกัน เขามีครอบครัวมีชีวิตจิตใจเหมือนกัน เขาถึงไม่ทำอะไร เว้นแต่ถ้าฝ่าฝืนมากๆ เขาก็รับไม่ได้ยอมไม่ได้เหมือนกัน เขาจำเป็นต้องรักษากฎหมาย ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ทำอะไรก็ผิดไปเสียหมด ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ไม่มีตำรวจทำงาน แล้วใครจะทำใช่หรือไม่” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่าคำสั่งของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ระมัดระวังการระดมมวลชนจากพื้นที่ต่างจังหวัดเข้ามาร่วมชุมนุม มีรายงานด้านการข่าวหรือไม่และมีมาตรการเฝ้าระวังอย่างไร นายกฯ กล่าวว่าคงไม่ต้องสั่ง เป็นเรื่องการทำงานปกติอยู่แล้ว ทุกคนทุกหน่วยงานต้องประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคง ไม่ใช่ประเมินเพื่อใคร เพื่อตนเอง-ไม่ใช่ แต่เพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองและประชาชนโดยรวมทั่วไป ฉะนั้นเรื่องการระดมคนอะไรเข้ามาทำนองนี้ หลายๆ อย่างเป็นการใส่ข้อมูลมาทางโซเชียล ดังนั้นกรุณาดูก่อนว่าน่าเชื่อไม่น่าเชื่ออย่างไร วันนี้เห็นโซเชียลอีกฝ่ายหนึ่งเข้ามาเต็มไปหมด เปิดดูเฟซบุ๊กก็แล้วกัน และหลายอย่างบิดเบือนเกือบทั้งหมด ถามว่าแล้วมันเกิดอะไรขึ้น เป็นการสร้างความขัดแย้งไปเรื่อยๆ และสร้างอีกคนมาต่อต้านมาสู้กัน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับเรื่องเหล่านี้เลย ฉะนั้นขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วย เป็นการติดตามสถานการณ์เฉยๆ และหามาตรการทำอย่างไรไม่ให้ปะทะกัน คือบางครั้งเหมือนกับต้องการปะทะ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ไม่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ก็ปะทะกับคนสองฝ่าย มันเคยมีบทเรียนมาแล้ว ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นอีก ฉะนั้นใครเป็นแกนนำก็ต้องรับผิดชอบด้วย ต้องดูแลควบคุมให้ได้แล้วกัน
เมื่อถามว่า มีการวิเคราะห์ว่ามีความพยายามนำคนเสื้อเหลืองออกมาเคลื่อนไหวม็อบชนม็อบ เพื่อสร้างเงื่อนไขนำไปสู่รัฐประหาร จะให้ความเชื่อมั่นอย่างไรว่าจะไม่เกิดรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า คำถามที่ว่าพยายามนำคนเสื้อเหลืองออกมาเคลื่อนไหว คิดว่าไม่ต้องพยายาม คนเขาคิดเองก็ได้ เราจะสงวนไว้อย่างเดียวว่ากลุ่มนี้ได้ กลุ่มนั้นไม่ได้ กลุ่มนั้นมาได้ กลุ่มนี้มาไม่ได้ ต้องไปดูแล้วกัน หลายอย่างที่ออกมาก็ดูได้ว่ามาได้อย่างไร และสิ่งของข้าวของที่มาแสดงออกมาอย่างไร ไม่ว่าเรื่องการใช้เครื่องเสียง แสงสี ตีกรอบมาอย่างไร ซึ่งก็ดูทั้งสองฝ่าย ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น
ลั่นต้องไม่ฆ่าแกงกันอีก
“ที่คิดว่าเอาม็อบชนม็อบเพื่อสร้างเงื่อนไขนั้น ผมเป็นรัฐบาล ผมเป็นนายกฯ ผมไม่อยากให้คนไทยต้องมาฆ่าแกงกันอีก ไม่อยากให้การใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิดในขณะนี้ เศรษฐกิจก็มีปัญหาอยู่แล้ว หลายอย่างกำลังขับเคลื่อนอยู่ คนส่วนใหญ่เขาก็ยังประกอบอาชีพของเขาอยู่ แต่คนที่แก้ปัญหาทางการเมืองก็อีกกลุ่มหนึ่ง คนไทยก็เป็นแบบนี้ มีหลายกลุ่ม รัฐบาลก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้ทุกกลุ่มมีความสงบเรียบร้อย พึงพอใจในการทำงาน รัฐบาลจะคิดเอาเองไม่ได้ ต้องอาศัยกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในปัจจุบัน ว่าจะทำอย่างไรตามกฎหมายเหล่านั้น จะคิดเองไม่ได้หรอก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า แกนนำราษฎรประกาศชัดเจนว่าจะเข้าไปใกล้ที่สุดที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในการชุมนุมวันที่ 25 พ.ย. เมื่อสถานการณ์บีบบังคับฝ่ายรัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการสูงสุดเพื่อป้องกันก่อนไปสู่การปะทะกันจนเกิดความรุนแรงหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ฝากสื่อไปถามแกนนำราษฎรทำไมถึงต้องไปชุมนุมใกล้สำนักงานทรัพย์สินฯ ฝากถามกลับไปแล้วกัน ไม่ขอตอบ ก็รู้ว่าจุดประสงค์เขาทำอะไรเพื่ออะไร ก็ไปดูแล้วกัน มาถามตนเองก็เท่านั้น
ถามอีกว่าจะประกาศกฎอัยการศึกเพื่อไม่ให้เกิดการชุมนุมของกลุ่มราษฎรในวันที่ 25 พ.ย.หรือไม่ และนายกฯ จะยอมให้มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีกหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องปฏิวัติ เรื่องกฎอัยการศึก มีใครประกาศบ้างได้หรือไม่ตรงนี้ หรือใครประกาศได้ ในเมื่อตนเองไม่ประกาศแล้วใครจะประกาศ เธอ (ผู้สื่อข่าว) ประกาศเองได้หรือไม่ หรือคนที่มากล่าวอ้างประกาศเองได้ ก็ไม่เห็นมีใครเขาจะประกาศ ชอบแต่หาเรื่องให้ระดมคนกันอยู่นั้น
“วันนี้อยากให้ทุกคนช่วยกันทำให้บ้านเมืองมีความสงบสุข ทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญอะไรก็แล้วแต่ มันอยู่ในกระบวนการหมดอยู่แล้ว” นายกฯ ระบุ
สำหรับการแถลงข่าวของนายกฯ ในช่วงตอบคำถามสื่อ ที่ต้องส่งคำถามผ่านทีมงานไปให้นายกฯ ทราบประเด็นก่อน เป็นที่น่าสังเกตว่านายกฯ ตอบทุกคำถาม แต่มีการให้ผู้สื่อข่าวที่ถามคำถามแสดงตัว โดยนายกฯ ให้เหตุผลว่าจะได้รู้จักและจำหน้ากันได้ เพราะบางครั้งนักข่าวเยอะตนก็จำได้ไม่หมด
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐประหารที่พูดหนาหูในช่วงนี้ว่า "ไม่มีๆ" และเมื่อถามย้ำว่านายอานนท์ นำภา และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำผู้ชุมนุมออกมาระบุว่าได้กลิ่นทำรัฐประหารรุนแรง พล.อ.ประวิตรตอบกลับว่า "ไปถามเขาสิ"
พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงกรณีการเผยแพร่เอกสาร สมช.สกัดผู้ชุมนุมเข้า กทม.ในวันที่ 25 พ.ย. ว่าไม่รู้ ส่วนการตั้งด่านเพื่อดูแลอะไรเป็นพิเศษหรือไม่นั้น ฝ่ายความมั่นคงก็ทำหน้าที่ดูแลอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าวันที่ 25 พ.ย.กังวลอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ เพราะแกนนำประกาศว่าจะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่รู้ว่าบิ๊กเซอร์ไพรส์คืออะไร และไม่รู้ว่าอะไรคือพิเศษ ส่วนที่ผู้ชุมนุมยืนยันว่าจะเข้าไปใกล้พื้นที่ชั้นในให้มากที่สุดนั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ห้ามเข้าใกล้เขตพระราชฐานและพื้นที่ราชการเกิน 150 เมตร ส่วนพื้นที่ชุมชนโดยรอบเจ้าหน้าที่จะต้องดูแลตามกฎหมายเช่นกัน
เมื่อถามถึงกรณีที่มีความเป็นห่วงเรื่องมือที่สาม ที่อาจเข้ามาสร้างความปั่นป่วนระหว่างการชุมนุม พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เราก็ต้องระมัดระวัง เพราะเรื่องมือที่สามเป็นเรื่องที่สำคัญ
ถามอีกว่าหากจำเป็นต้องสลายการชุมนุมได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างไรบ้าง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำตามกฎหมายและทุกอย่างต้องเป็นไปตามหลักสากล เราก็กำชับตำรวจไปตามนั้น
เชื่อไม่บานปลาย
เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ไม่ให้สูญเสียอยู่แล้ว และเชื่อว่าจะไม่เกิดการปะทะจนบานปลาย
รายงานข่าวจากฝ่ายความมั่นคงแจ้งถึงกระแสรัฐประหารว่า เป็นการสร้างกระแสขึ้นมาของกลุ่มผู้ชุมนุมราษฎร ซึ่งไม่มีเหตุผลและไม่มีความเชื่อมโยงที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ไปถึงขนาดที่ต้องใช้กำลังทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์ ตำรวจยังทำหน้าที่ดูแลรักษาความเรียบร้อยได้ตามกฎหมายปกติ
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงฝ่ายความมั่นคงแจ้งถึงเอกสารลับของ สมช.ถึงกระทรวงมหาดไทย ที่ให้ดูแลเรื่องการระดมมวลชนร่วมชุมนุมในพื้นที่ กทม.ระหว่างวันที่ 23-27 พ.ย.ว่าเป็นฉบับจริง และมีเจตนาคือไม่อยากให้ทั้งสองฝ่ายเดินทางเข้ามาใน กทม.เป็นม็อบชนม็อบ โดยหวังให้มีการชุมนุมในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งก็ไม่ได้มีการสกัดกั้นแต่อย่างใด
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไม่มีการสั่งการจาก มท. แต่กระทรวงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยตามปกติโดยไม่ต้องสั่ง และไม่เลือกปฏิบัติ ให้เท่าเทียมกันทุกฝ่าย และให้เป็นไปตามกฎหมาย ขอย้ำว่ากระทรวงไม่ได้สั่งการเรื่องนี้ ไปดูได้ไม่มีเอกสารอะไร
“ผมทำตามปกติคือ ทำให้ประเทศชาติสงบเรียบร้อย และไม่เลือกปฏิบัติและทำตามกฎหมาย" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยที่กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในวันที่ 25 พ.ย.ว่า ขอให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนคำถามที่ว่าหวั่นจะเกิดความรุนแรงหรือไม่ เพราะวันดังกล่าวมีกลุ่มผู้ชุมนุม 2 ฝ่ายในบริเวณเดียวกันนั้น เรื่องความรุนแรงไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่แน่ ต้องถามผู้ชุมนุม อย่างที่ขอความร่วมมือกับผู้ชุมนุมว่าต้องปฏิบัติตามกฎหมาย พยายามไม่ให้ทั้ง 2 กลุ่มกระทบกระทั่งกัน วันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมาที่บริเวณแยกเกียกกาย เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปล่อยปละ เจ้าหน้าที่ได้นำรถกำลังพลของ ตชด.ไปขวางและพบว่าถูกยิง พบรอยกระสุนหลายรอยซึ่งกำลังดำเนินคดีอยู่ เจ้าหน้าที่พยายามป้องกันแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่ผ่านมาไม่มีอาวุธ เพราะผู้บังคับบัญชากำชับมาไม่ให้ใช้อาวุธ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันที่ 25 พ.ย.การชุมนุมซึ่งเป็นเขตพื้นที่พระราชฐาน เจ้าหน้าที่มีมาตรการป้องกันอย่างไร พล.ต.ท.ภัคพงศ์เผยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมให้อำนาจเท่าไหร่ก็ใช้ตามนั้น ถ้าการข่าวพบว่าจะทำให้ทรัพย์สินเสียหายเราอาจออกข้อกำหนด ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินและจะแจ้งให้รับทราบอีกครั้ง แต่เบื้องต้นยังไม่มีการแจ้งการชุมนุมแต่อย่างใด
ถามอีกว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ มีการประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มเติมหรือไม่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของตำรวจ ไม่ต้องประสาน ส่วนกำลังก็ใช้ตามสัดส่วนสถานการณ์ ถ้ามาน้อยก็จัดน้อย ถ้ามาเป็นหมื่นก็จัดตามสัดส่วน ส่วนที่แกนนำระบุว่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ไม่ได้กังวล ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเท่านั้น เราไม่ใช่คู่ขัดแย้ง มีหน้าที่รักษาความสงบ คนจะมากจะน้อยมันอยู่ที่ผู้ชุมนุมจะชุมนุมโดยสงบหรือเปล่า หรือชุมนุมแล้วเกิดความรุนแรงมันอยู่ที่ผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่มีมาตรการในการคัดกรองผู้เข้าร่วมชุมนุมตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคยังไม่ได้ยกเลิก
จ่อส่งฟ้องอีก 9 คดี
ถามถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมวันที่ 17-18 พ.ย.ที่ผ่านมา ผบช.น.ตอบว่า จริงๆ แล้วการดำเนินคดีตั้งแต่เดือน ม.ค. มีการดำเนินคดีชุมนุมแล้วทั้งสิ้นในพื้นที่นครบาล 107 คดี ได้ส่งอัยการไปแล้ว 24 คดี และในสัปดาห์นี้จะส่งอีก 9 คดี
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.กล่าวว่า ตำรวจเตรียมกำลังไว้ดูแลความสงบเรียบร้อยในวันที่ 25 พ.ย.รวม 9 กองร้อย 3 ผลัด ตลอด 24 ชั่วโมง และกองร้อยควบคุมฝูงชนหญิงอีก 1 กองร้อย เบื้องต้นมีการพูดคุยกับผู้บริหารสำนักงานทรัพย์สินฯ แล้ว มีการประสานให้เจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยสถานที่ทั่วไป เพราะบริเวณจุดดังกล่าวมีความละเอียดอ่อน ใกล้เขตพระราชฐานและสถานที่สำคัญ เช่น ทำเนียบรัฐบาล ส่วนจะปิดกั้นพื้นที่ 150 เมตรหรือไม่อยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ เช่นเดียวกับการปิดการจราจร
มีรายงานว่า ที่แนวกำแพงรั้วสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ถ.พิษณุโลก มีการนำลวดหนามมาวางขึงโดยรอบ ทั้งด้าน ถ.พิษณุโลก ถ.ราชสีมา และ ถ.ลูกหลวง นอกจากนี้ยังติดตั้งเครื่องหมายจราจรของกรุงเทพมหานคร โดยนำเสาและป้ายมีคำว่าเขตพระราชฐานมาติดตั้งด้านหน้าริมถนนพิษณุโลก 3 ป้าย และถนนลูกหลวงอีก 3 ป้าย รายงานแจ้งอีกว่า ในวันอังคารที่ 24 พ.ย. เวลา 10.00 น. พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร.จะเรียกประชุมพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ บช.น. โดยในที่ประชุมจะพูดคุยถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม.เพื่อพิจารณาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับแกนนำกลุ่มราษฎร ในความผิดฐานหมิ่นสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ส่วนจะเป็นแกนนำรายใดบ้าง จำนวนกี่ราย ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบในแต่ละสำนวนนั้นเป็นผู้รวบรวมเสนอมา
ด้าน น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.จังหวัดราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความระบุว่า "ไม่ยกเลิก 112 การอาฆาตมาดร้ายคือผิดกฎหมาย วันนี้มาดำเนินคดีครูใหญ่ หรือนายอรรถพล บัวพัฒน์ ตามมาตรา 112 ตามคลิปที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในโซเชียล สภ.โพธาราม"
ขณะเดียวกัน ที่ตึกเฉลิมพระเกียรติ ร.9 โรงพยาบาลตำรวจ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร.มาตรวจเยี่ยมและมอบขวัญกำลังใจ และสิ่งของบำรุงขวัญแก่ข้าราชการตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชน
ส่วน นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้นำผู้บาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พ.ย.มาแถลงข่าว โดยระบุว่าได้รับการร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาและบาดเจ็บจากการชุมนุม 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่โดนยิงด้วยอาวุธปืน มีรายที่ถูกยิงขาสองคน ส่วนท้องและสีข้างหนึ่งคน 2.กลุ่มที่หายใจเอาแก๊สและสารเคมีเข้าไป และ 3.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ผสมสารเคมีแผลเหมือนถูกไฟไหม้
"ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมติดต่อพรรคเพื่อไทยได้ที่เบอร์ 0-2653-4000 และ 0-2653-4001 ก่อนจะนำเหตุการณ์ดังกล่าวเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและผลักดันผ่านกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์รู้อยู่แล้วว่าปัญหาคือตัวท่านเองที่ไม่ยอมลาออก ขอเรียกร้องพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย หากท่านถอนตัว พล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่ไม่ได้ ปล่อยให้สภาเลือกตั้งนายกฯ คนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างแท้จริง” นพ.ทศพรกล่าว
ส่วนที่ สน.บางโพ นายคริส โปตระนันทน์ นักกฎหมาย อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคอนาคตใหม่ พา 3 ผู้ชุมนุมที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดน้ำขับไล่ผู้ชุมนุมที่รัฐสภาและแยกเกียกกายเมื่อวันที่ 17 พ.ย.มาแจ้งความเพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐในฐานความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดฐานทำร้ายร่างกาย พร้อมนำตัวอย่างน้ำที่ใช้ฉีดและใบรับรองแพทย์มาประกอบเป็นหลักฐาน
ด้านสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 8 ข้อ คือ 1.ขอให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการเปิดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้เจรจาหารือในรายละเอียดการเรียกร้อง 2.ไม่มองเยาวชนและผู้ที่มาชุมนุมเป็นอาชญากรที่ต้องจัดการด้วยกฎหมายเสมอไป 3.ต้องยุติการข่มขู่คุกคามและการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้ชุมนุม 4.ขอให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถชุมนุมได้อย่างสงบ สันติและปลอดภัย 5.ขอให้ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายไม่ใช้วาจาหยาบคาย ดูถูก เหยียดหยาม ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ทำลายทรัพย์สิน หรือใช้ความรุนแรง 6.ขอให้รัฐบาลดำเนินการทางกฎหมายและทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหายแก่กายหรือจิตใจ 7.ขอให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะพนักงานสอบสวน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม สมเหตุสมผล และ 8.ขอวิงวอนให้ศาลในฐานะที่เป็นกลไกอิสระทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติธรรม และไม่ยินยอมให้รัฐบาลแทรกแซง หรือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
สำหรับความคิดเห็นของนักการเมืองนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทำนายว่า พล.อ.ประยุทธ์จะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในวันที่ 2 ธ.ค.กรณีเรื่องบ้านพักหลวง และผู้ที่จะได้ส้มหล่นมาเป็นนายกฯ คนต่อไปคือ นายอนุทินว่า ทุเรียนหล่น โดนขาเจ็บหมดแล้ว
ยังหนุน 'บิ๊กตู่' แน่น
เมื่อถามว่า คำทำนายของนายจตุพรมีแนวโน้มจะเป็นจริงได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มีแนวโน้มอะไรเลย นายกฯ คนปัจจุบันคือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งท่านได้ทำหน้าที่อย่างทุ่มเทและเสียสละ เป็นผู้นำรัฐบาลที่ทำงานตลอดเวลา และรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม ซึ่งทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลต้องสนับสนุนหัวหน้ารัฐบาลให้ทำงานต่อไปให้ได้ ซึ่งการวิเคราะห์ของนายจตุพรคงวิเคราะห์ตามประสบการณ์ของตัวเขาเอง ซึ่งทุกคนก็วิเคราะห์ได้ แต่ความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรนั้น วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ทำงานตามปกติอยู่ ไม่มีเรื่องใดที่ควบคุมไม่ได้
เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังเหนียวแน่นอยู่เหมือนเดิมใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เหนียวแน่น เหนียวแน่นมาก ไม่มีส้มหล่น กลัวแต่ทุเรียนหล่นใส่ขา เดี๋ยวขาเจ็บ ขาแหก ไม่ไหว เดินไม่ได้ ยืนยันว่าไม่มีอะไร ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ พรรคภูมิใจไทยยังให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
ส่วนนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกเพื่อทำให้บรรยากาศคลี่คลายว่า อยากถามนายปิยบุตรว่าคณะราษฎรจาบจ้วงสถาบันแบบนี้ยังคิดว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องและชอบธรรมหรือ ที่สำคัญนายปิยบุตรอย่าแกล้งไม่รู้ว่าแม้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก แต่ปัญหาจะยังไม่คลี่คลาย เพราะข้อเรียกร้องของคณะราษฎรเลยจุดนั้นไปจนสุดซอยแล้ว โดยเฉพาะการปฏิรูปสถาบันที่คนไทยทั้งประเทศไม่ยอมแน่นอน หากคณะราษฎรยังคงเดินหน้า ประชาชนทั่วประเทศก็จะออกมา ทางที่ดีอยากให้นายปิยบุตรช่วยทำความเข้าใจกับแกนนำให้ยกเลิกข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน เพราะสถาบันอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และอยู่เหนือการเมือง ไม่มีความจำเป็นต้องปฏิรูป
“การเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกครั้งมีเกิดและมีจบ ไม่ว่าใครจะแพ้หรือชนะ แต่หากทำผิดกฎหมาย คดีมันไม่จบด้วย ที่ผ่านมาแกนนำทุกม็อบจุดจบอยู่ที่การขึ้นศาลและอยู่ในคุก หรือหนีออกนอกประเทศ ซึ่งหลายคนจะถูกลืม ผมอยากให้น้องๆ เข้าใจ วันนี้สิ่งที่แกนนำคณะราษฎรกระทำนั้นผิดกฎหมายชัดเจน ผมไม่อยากเห็นคนที่ถูกชักจูงต้องไปรับกรรมด้วย” นายธนกรกล่าว
นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ แนะนำกลุ่มราษฎรไปชุมนุมที่บ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ดีกว่าไปชุมนุมที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ว่า ใครที่มีส่วนเกี่ยวข้องยุยงให้คนไปกระทำความผิดต้องรับผิดชอบด้วย ยิ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติควรห้ามปราม ไม่ใช่ยุยงให้เขากระทำความผิด รบกวนสิทธิของคนอื่น ละเมิดกฎหมาย ให้สังคมพิจารณาว่าคนเป็นผู้แทนราษฎรยุให้คนกระทำความผิดเสียเองรับได้ไหม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |