23 พ.ย.63 - นางสาวเพชรชมพู กิจบูรณะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) โพสต์เฟซบุ๊กเขียนบทความหัวข้อ "ปฏิรูปนักการเมือง - หน้าที่ ส.ส. และ หน้าที่ประชาชน" มีเนื้อหาดังนี้ การปฏิรูปการเมือง และการปฏิรูปนักการเมือง เป็นเรื่องที่เราพูดกันมาทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างเต็มรูปแบบสักที เมื่อวันก่อนมีผู้มาแสดงความเห็นในโพสต์ของเพชร ขอให้เพชรพูดถึงเรื่องนี้ วันนี้เลยขออนุญาตมาอธิบายถึงหน้าที่ของ ส.ส. การปฏิรูปนักการเมือง และ การมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงค่ะ
อันดับแรก ก่อนที่เราจะปฏิรูปนักการเมืองได้ เราต้องรู้ก่อนว่า สิ่งไหนและอะไรคือหน้าที่ที่แท้จริงของคนที่เราเลือกมาเป็นผู้แทนของเรา เมื่อไหร่ก็ตามที่ความเข้าใจในส่วนนี้คลุมเครือ เราก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
รัฐสภา เป็นองค์กรนิติบัญญัติ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เสาหลักในประชาธิปไตยที่คอยถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน (อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และ อำนาจตุลาการ) คำว่า นิติบัญญัติ หากแปลตรงตัว คือ การตรากฎหมาย เพราะฉะนั้นจริงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ในต่างประเทศ นอกจากการเรียกสมาชิกรัฐสภาว่า Member of Parliament แล้ว ยังใช้คำว่า Lawmaker หรือผู้ตรากฎหมายนั่นเองค่ะ
อำนาจและหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน คือ การพิจารณา/เสนอกฎหมาย และ การกำกับควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร โดยเพชรจะขออธิบายเป็นรายละเอียดย่อยๆ ดังนี้ค่ะ
1. ส.ส. มีหน้าที่เสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพชรเคยเขียนเรื่องกระบวนการการตรากฎหมายอย่างละเอียดไว้แล้วในโพสต์นี้ค่ะ https://facebook.com/story.php?story_fbid=3464183183650390&id=608898795845524
2. ส.ส. มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่ออกโดยฝ่ายบริหาร พ.ร.ก. นั้นต่างกับ พ.ร.บ. ตรงที่ถูกตราขึ้นในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ใช้ในกรณีที่หากรอต้องรอสภาฯ ตรากฎหมายขึ้นมาอาจจะไม่ทันการ พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้ทันที แล้วจึงเป็นหน้าที่ของสภาฯ ในภายหลังที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ถ้าอนุมัติ พ.ร.ก. ก็มีผลเหมือนเป็น พ.ร.บ. ฉบับหนึ่ง ถ้าไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ฉบับนั้นก็ตกไป และถือว่าไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่สภาฯ มีมติไม่อนุมัติ
3. ส.ส. มีหน้าที่พิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ซึ่งถือเป็น พ.ร.บ. ที่มีความสำคัญมากที่สุด พ.ร.บ. หนึ่งในแต่ละปี เพราะเป็นเรื่องงบประมาณแผ่นดินในปีนั้นๆ และมีผลเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
4. หน้าที่ของ ส.ส. ในการกำกับควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร สามารถทำได้ในหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีเรื่องการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี หรือ การเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นต้น
5. อำนาจของ ส.ส. ในการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ ถือเป็นเรื่องอีกเรื่องที่ไม่สามารถละเลยได้ เพราะเป็นการตั้งคณะบุคคลมาทำงานเฉพาะเรื่อง เพื่อสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ตามที่สภาฯ มอบหมาย จริงเป็นที่สังเกตุได้ว่า เรื่องที่จำเป็นต้องลงลึก ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการมาให้ข้อมูลประกอบ หลังจากอภิปรายกันพอสมควรในสภาฯ แล้ว ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อเจาะให้ถึงแกนกลางของปัญหา และเสนอวิธีแก้ไขที่ชัดเจนและครอบคลุมค่ะ
6. การเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เป็นสิ่งที่ ส.ส. พึงทำได้ โดยจะมีกระบวนการในการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภา หรือ ให้ศาลฎีกามีการตั้งผู้ไต่สวนอิสระในกรณีที่มีกรรมการ ป.ป.ช. มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อกฎหมาย
7. เรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้เด็ดขาด คือ อำนาจของรัฐสภาในการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ไทยเป็นประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา ประชาชนเป็นคนเลือกผู้แทน และผู้แทนจึงไปเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่เหมือนระบบประธานาธิบดีที่ประชาชนเลือกผู้นำรัฐบาลโดยตรง เพราะฉะนั้น ในระบบรัฐสภา ผู้แทนจึงมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อประชาชน และ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารจึงมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อสภาฯ นั่นเอง
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ สรุปภาพรวมอำนาจหน้าที่ของ ส.ส. จะเห็นได้ว่า ส.ส. ไม่ได้มีหน้าที่ทำโครงการสร้างถนน สะพาน หรือ สาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ได้มีหน้าที่แจกข้าวของเครื่องใช้ เครื่องอุปโภคบริโภค นั่นคือหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง หน้าที่ของฝ่ายบริหาร และ หน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ถ้าเราอยากปฏิรูปนักการเมือง อยากปฏิรูปการเมือง เราก็จำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องอำนาจหน้าที่ของ ส.ส. ที่ถูกต้อง ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือ หัวใจของการเปลี่ยนแปลงนี้ ถ้าอยากเห็นการเมืองที่ดี อยากได้นักการเมืองที่ดี ก็ต้องเริ่มจากการเลือกผู้แทนที่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ผู้แทนที่ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก การเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ไม่สามารถทำได้ในวันสองวัน แม้จะเห็นผลช้า แต่นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนที่สุดค่ะ
เพชรชมพู กิจบูรณะ
23 พฤศจิกายน 2563
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |