เรากำลังเห็นภาพ การฟื้นตัวรูป K


เพิ่มเพื่อน    

          การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบอันรุนแรงของโควิด-19 จะมาในรูปแบบไหน ไม่มีใครกล้าฟันธงจริงๆ

                เพราะปัจจัยความไม่แน่นอนยังมีสูงมาก

                และระหว่างทางจากนี้ไปจะเจอกับ “สิ่งที่คาดไม่ถึง” ยังจะมีอะไรบ้างก็ไม่มีใครบอกได้

                วิกฤติของบ้านเมืองวันนี้ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องโรคระบาดและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง, ความปริแยกระหว่างวัย และพฤติกรรมแปลกแยกอันเกิดจากสังคมเทคโนโลยีที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะนำไปสู่อะไร

                จึงมีนักวิเคราะห์บางสำนึกเชื่อว่าเราจะไม่ฟื้นแบบตัว V หรือ U หรือ W

                แต่จะเป็นการเคลื่อนที่แบบตัว K

                นั่นหมายความว่า คนบางกลุ่มจะฟื้นเร็ว แต่คนอีกบางกลุ่มจะไม่ฟื้น หรืออาจจะมีอันต้องล่มสลายหายไปด้วยซ้ำ

                นั่นคือภาวะของการแบ่งแยกในสังคมที่น่ากลัว

                เพราะเป็นการตอกย้ำว่าการฟื้นครั้งนี้จะไม่เหมือนเรือในน้ำ เมื่อระดับน้ำลดเรือก็ลดตัวลงทั้งลำ และหากน้ำขึ้น เรือก็ควรจะขยับขึ้นทั้งลำ

                ปรากฏการณ์ที่เราเห็นอยู่ขณะนี้จะไม่เป็นลักษณะนั้น แต่จะมีกลุ่มคนบางกลุ่มฟื้น อีกบางกลุ่มจมดิ่งลงไป

                ยิ่งเมื่อมีรายงานล่าสุดว่า แม้อัตราหดตัวของเศรษฐกิจไตรมาสสามจะหดตัวน้อยกว่าที่คาด แปลว่าเป็นสัญญาณทางบวก แต่คนจำนวนมากก็ยากจนลง เป็นหนี้สินหนักขึ้น

                นี่คือภาพแห่งตัว K ที่เห็นได้ชัดขึ้นทุกที

                สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงานว่า ค่าใช้จ่ายรายคน ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น 33%

                สวนทางกับรายได้ลดลง 54%

                ขณะที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.8% ของจีดีพี

                เป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก

                คุณจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ แถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าด้วยภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 3 ในหัวข้อ “ผลกระทบของโควิด-19 ต่อความยากจนคนไทย”

                การสำรวจของสภาพัฒน์พบว่า ค่าใช้จ่ายของคนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น 33% สวนทางกับรายได้ที่ลดลงมากถึง 54%

                สิ่งที่ตามมาคือ ทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยเป็นหนี้ในระบบ 14% และ 9% เป็นหนี้นอกระบบ

                ขณะที่หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% คิดเป็น 83.8% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

                นั่นเป็นผลจากการหดตัวของเศรษฐกิจรุนแรง สะท้อนความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

                ณ สิ้นไตรมาส 2 พบหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์มีมูลค่า 152,501 ล้านบาท ขยายตัว 19.7% มีสัดส่วน 3.12% ต่อสินเชื่อรวม

                แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 คาดว่าความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

                ไม่ต้องสงสัยว่าเอ็นพีแอลมีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว

                อีกทั้งสัญญาณการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจน

                แม้เราจะเคยรับรู้ถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของคนไทยมาเป็นระยะๆ แต่โควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงความเปราะบางทางการเงินและปัญหาเชิงโครงสร้างครัวเรือนไทย

                นั่นคือการขาดหลักประกันและภูมิคุ้มกันในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

                แม้ภาครัฐและสถาบันการเงินมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ แต่เมื่อระยะเวลาช่วยเหลือสิ้นสุดลง และเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ก็เสี่ยงเกิดหนี้เสียจำนวนมาก

                ครัวเรือนจะก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น

                “ผลสำรวจคนจนเมืองของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พบว่า คนจนเมือง 60% รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด อีก 31% ลดลงครึ่งหนึ่ง โดยคนจนเมืองต้องพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐและภาคเอกชนที่แจกจ่ายอาหารและของอุปโภค และมีอีกจำนวนมากต้องกู้หนี้ยืมสิน หรือนำของใช้ในบ้านไปจำนำ”

                ที่ต้องจับตาก็คือ กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง เสี่ยงต่อการตกเป็นครัวเรือนยากจน

                โควิด-19 ทำให้จำนวนครัวเรือน 1.14 ล้านครัวเรือน ที่ครัวเรือนเปราะบางนี้เป็นครัวเรือนที่ไม่ใช่ครัวเรือนยากจน แต่มีสถานะความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับครัวเรือนยากจนมาก

                สภาพัฒน์เห็นว่าจะต้องมีมาตรการเข้าไปรองรับ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเร่งด่วน อาจทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง ส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชน อัตราการว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้น

                ก็จะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่เดิมยากจนอยู่แล้ว และครัวเรือนกลุ่มที่อ่อนไหวต่อปัจจัยกระทบและอาจตกเป็นครัวเรือนยากจนที่ปัจจุบันมีคนยากจนอยู่ 4.3 ล้านคน หรือ 1.31 ล้านครัวเรือน

                “ไตรมาส 3 มีผู้ว่างงาน 740,000 คน คิดเป็นอัตราว่างงานเท่ากับ 1.9% ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 2 ที่มีอัตรา 1.95% เพราะเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรง และแรงงานอายุน้อยและการศึกษาสูงมีปัญหาการว่างงานมากกว่าคนกลุ่มอื่น เพราะการศึกษาไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน”

                ความกังวลมีมากมายหลายด้าน การบริหารวิกฤติอย่าง “ปราดเปรียว, คล่องตัว, ยืดหยุ่นและโปร่งใส” เท่านั้นที่จะทำให้เราฝ่าข้ามไปได้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"