ชายวัย62ปี ขึ้นภูกระดึง หัวใจวายดับ


เพิ่มเพื่อน    


    ชายวัย 62 ปีขึ้นภูกระดึง หัวใจวายเฉียบพลันเสียชีวิต คาดมีโรคประจำตัวแต่ไม่บอกใครเพราะเคยขึ้นไปแล้วครั้งหนึ่ง เตือนผู้ที่จะขึ้นดอยขึ้นภูสัมผัสอากาศหนาวในช่วงนี้ต้องมีความพร้อมด้านร่างกายและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่  
    นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า นายสำเร็จ ภูแสนศรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา นายมนู วงษ์ขันเมือง อายุ 62 ปี และคณะรวม 3 คน ทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวจาก จ.สมุทรสาคร เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว โดยเดินขึ้นยอดภูกระดึง เวลา 10.30 น. มีความประสงค์จะพักค้างแรม ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวางเป็นเวลา 1 คืน ต่อมาเวลา 14.20 น. วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ซำกกโดนได้รับแจ้งเหตุมีนักท่องเที่ยวเป็นลมหมดสติ ห่างจากซำกกโดนประมาณ 300 เมตร 
    หลังจากนั้น 10 นาที มีแพทย์ที่มากับนักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่เข้าไปประเมินผู้ป่วย ดำเนินการทำ CPR และใช้เครื่อง AED เพื่อกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจกลับคืนมาได้ จึงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยลงเขาได้ประมาณ 300 เมตร จึงหยุดเพื่อเช็กชีพจร นำ Ambu bag พร้อมถังออกซิเจนช่วยเหลือผู้ป่วยที่นำขึ้นมาสมทบและนำลงเขา ส่ง รพ.ภูกระดึง เวลา 17.50 น. แพทย์และพยาบาลได้ทำ CPR จนถึงเวลา 18.15 น. ไม่สามารถกู้ชีพจรนายมนูกลับคืนมาได้ จึงแจ้งญาติว่าเสียชีวิต แพทย์ลงสาเหตุการเสียชีวิตว่าภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน อาจเกิดจากโรคประจำตัวที่ผู้เสียชีวิตมีอยู่แต่ไม่บอกคนอื่น ซึ่งเกิดจากการที่มีสภาวะหัวใจเต้นเร็วและทำงานหนักเกินขีดความสามารถของตัวผู้เสียชีวิต
    นายจงคล้ายกล่าวว่า จากการสอบถามผู้ติดตามที่ร่วมเดินทางทราบว่า ผู้เสียชีวิตเคยเดินขึ้นภูกระดึงมาแล้ว จึงมีความมั่นใจในสุขภาพของตัวเอง ขณะนี้ญาติกำลังรอลูกชายของผู้เสียชีวิตเดินทางนั่งเครื่องไปลงที่สนามบิน จ.เลย เมื่อพร้อมแล้วก็จะเดินทางกลับ จ.สมุทรสาคร ค่าใช้จ่ายในการเดินทางนำร่างผู้เสียชีวิตกลับบ้านเกิดเพื่อไปบำเพ็ญกุศล ทางอุทยานแห่งชาติภูกระดึงเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด โดยได้แจ้งให้ญาติผู้เสียชีวิตได้รับทราบแล้ว และในวันที่ 24 พ.ย.นี้จะไปร่วมฟังสวดพระอภิธรรมที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร
    ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จึงอนุญาตให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวขึ้นไปบนอุทยานฯ ภูกระดึง นายจงคล้ายกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้สอบถามนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเดินทางขึ้นภูกระดึงแล้วว่า มีปัญหาทางด้านสุขภาพและมีความพร้อมหรือไม่ นักท่องเที่ยวยืนยันว่าไม่มีปัญหาใดๆ ซึ่งกรมอุทยานฯ ขอแสดงความเสียใจกับทางครอบครัวของผู้เสียชีวิตมา ณ ที่นี้ด้วย
    "ต้องยอมรับว่า เวลานี้ พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีอากาศหนาว โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวตามภูหรือดอยต่างๆ มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวจำนวนมาก หลายๆ คนอาจจะมีปัญหาสุขภาพ แต่ไม่ยอมบอกความจริงกับเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ซึ่งอาจจะมีปัญหาตามมาได้ ดังนั้น การเดินทางเข้าไปท่องเที่ยว โดยเฉพาะขึ้นเขา ขึ้นภู จะต้องมีความพร้อมทางด้านร่างกายพอสมควร และจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด" นายจงคล้ายกล่าว
    ขณะที่นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อกู้ภัยและปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่นักท่องเที่ยวที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุในขณะที่เข้าไปเที่ยวในอุทยานฯ อยู่แล้ว สำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงก็เช่นเดียวกัน มีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่เป็นจุดๆ เพื่อดูแลนักท่องเที่ยว ซึ่งบริเวณที่เกิดเหตุคือซำกกโดน อยู่ค่อนข้างไกลจากบริเวณที่จะต้องนำผู้ป่วยขึ้นรถเพื่อนำไป รพ. แม้ว่าก่อนหน้านี้ทั้งเจ้าหน้าที่และแพทย์ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่ในตอนนั้นด้วย ได้ช่วยกันปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วก็ตาม 
    ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว โดยต้นปีที่ผ่านมาตนได้เดินทางไปที่ภูกระดึง และได้กำชับเรื่องการใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (AED) ยืนยันว่าเรามีเครื่องดังกล่าวอยู่และสามารถใช้การได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่อุทยานฯ โดยเฉพาะที่ภูกระดึงมีความสามารถในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจกะทันหัน (CPR)  ดังนั้น เหตุที่เกิดขึ้นต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต 
    "ขอฝากเตือนนักท่องเที่ยวว่า การจะไปท่องเที่ยวในสถานที่ใดก็แล้วแต่ ขอให้ดูสุขภาพตัวเองว่าไหวหรือไม่ หากเดินขึ้นไปบนเขาแล้วมีสภาพอากาศเบาบาง ขอให้พักเหนื่อยเป็นระยะ อย่าฝืนตัวเอง เจ้าหน้าที่อุทยานฯ พร้อมดูแลและให้ความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวทุกคน และผมมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว" 
    นายวราวุธยังกล่าวถึงกระแสเรียกร้องให้สร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงว่า ต้องถามว่าทำเพื่ออะไร ถ้าทำให้กับผู้พิการ ผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถเดินขึ้นไปสะดวก คำถามต่อมาคือ แม้ขึ้นกระเช้าไปได้ แต่จะเดินไปแต่ละจุดอย่างไร เพราะแต่ละจุดห่างกันหลายกิโลเมตรและใช้เวลาเกือบชั่วโมง จึงไม่สามารถพิจารณาได้เฉพาะเรื่องการสร้างกระเช้าขึ้น ต้องดูว่าเมื่อสร้างกระเช้าแล้ว การบริหารจัดการข้างบนเป็นอย่างไร เช่น ปู่ ย่าต้องนั่งรถเข็น ถามว่าจะเข็นรถเข็นไปหลายกิโลเมตรหรือไม่ ดังนั้นจะต้องบริหารจัดการอย่างไร ต้องมาพูดคุยในรายละเอียดต่อไป เพราะไม่ใช่เรื่องการสร้างกระเช้าอย่างเดียว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"