23พ.ย.63-นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า นโยบายดูแลผู้ป่วยโดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว นับเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่จะช่วยดูแลและเพิ่มความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยระบบมีขนาดใหญ่ ทำให้ต้องค่อยๆ เริ่มจากพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน คือเขตสุขภาพที่ 9 (นครชัยบุรินทร์) อันประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์
นายอนุทิน กล่าวว่า ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับเขต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ไปจนถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ ที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 9 ได้ยืนยันถึงความพร้อมในการดำเนินนโยบาย และเริ่มนำร่องบริการดูแลผู้ป่วยในโดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 เป็นต้นมา ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะให้การสนับสนุนและร่วมมือกับเขต 9 ในการเป็นพื้นที่นำร่อง ก่อนนำเอาจุดอ่อนจุดแข็งที่ได้กลับไปพัฒนาปรับปรุงและขยายผลต่อไป
“จากเดิมประชาชนที่ต้องไปประกอบอาชีพ ทำงานอยู่ต่างพื้นที่ จะเข้ารักษาที่ไหนก็ต้องลำบากกลับไปขอใบจากต้นสังกัด แต่จากนี้ไปจะสามารถรับบริการได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว เกิดความสะดวกสบาย ประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาเดินทาง ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2565 ระบบทุกอย่างจะต้องสมบูรณ์เรียบร้อยทั่วประเทศ หากพบปัญหาระหว่างทางก็จะต้องแก้ไข โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน” นายอนุทิน ระบุ
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ จ.นครราชสีมา นอกจากจะมีความพร้อมทั้งในเรื่องของเครือข่ายหน่วยบริการ และความเข้าใจของประชาชนแล้ว ยังมีเรื่องของระบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวนมากในพื้นที่ ที่ช่วยให้โครงการเหล่านี้สามารถเดินไปได้ ตอบสนองต่อจุดเดือดร้อนของชาวบ้านเรื่องค่าใช้จ่ายและระยะเวลาการเดินทาง สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน
พญ.ลลิตยา กองคำ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา กล่าวว่า นอกจากการนำร่องนโยบายดูแลผู้ป่วยในโดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวแล้ว ในพื้นที่ขณะนี้ยังมีการเตรียมการในนโยบายส่วนที่เหลือ ทั้งการรักษาในเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ และมะเร็งส่งตรงถึงโรงพยาบาลเฉพาะด้าน ซึ่งเตรียมการให้มีความพร้อมไว้ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการจริงในวันที่ 1 ม.ค. 2564
พญ.ลลิตยา กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินนโยบายนี้ ตัวระบบอาจยังมีความไม่พร้อมเต็มร้อย จึงต้องมีการสื่อสารภายในระหว่างหน่วยบริการให้มีความชัดเจน และลดข้อขัดข้องหน้างาน โดยในส่วนประเด็นของค่าใช้จ่ายที่อาจเกินกว่าระบบที่มีการวางเอาไว้ สปสช.ก็พร้อมเตรียมการดูแลในกรณีดังกล่าว ซึ่ง สปสช.เขต จะมีการเสนอเข้าไปที่ส่วนกลางเพื่อดูว่าจะมีการสนับสนุนงบประมาณเข้ามาป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในตัวระบบบริการได้อย่างไร
“ในส่วนของการจัดระบบบริการ ก็เป็นหน้าที่ของ สธ. ที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ซึ่งส่วนของผลตอบรับในขณะนี้พบว่าประชาชนค่อนข้างพึงพอใจ เพราะการขอใบส่งตัวนั้น นอกจากจะเป็นปัญหาทั้งเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่ายแล้ว ในบางครั้งเมื่อเกิดการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ยังทำให้ประชาชนรู้สึกเหมือนถูกลดทอนศักดิ์ศรีลงไปด้วย” พญ.ลลิตยา ระบุ
ด้าน นางดวงเนตร ทองสุข หนึ่งในญาติผู้ป่วยซึ่งเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า เดิมสามีซึ่งป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมและมีต้นสังกัดอยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หนองไผ่ เมื่อแพทย์นัดผ่าตัดและต้องเข้ามาที่โรงพยาบาลฯ นั้น นับว่ามีความยากลำบากและยุ่งยากที่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวทุกครั้ง ขณะที่ผู้ป่วยก็ต้องรอใบส่งตัวจึงจะได้รับการรักษา
“ดีใจมากที่มีนโยบายนี้ เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะไม่ต้องยุ่งยากวิ่งไปวิ่งมาเหมือนเมื่อก่อน มีเพียงบัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถเข้ารับบริการได้ เวลาหมอนัดมาไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ขณะที่คนไข้ก็มีอาการดีขึ้นมาก เมื่อมาถึงก็ได้รับการดูแลอย่างดี รวมถึงการทำกายภาพบำบัดก็ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว จึงฝากถึงทุกคนว่าขณะนี้ระบบริการสะดวกสบายกว่าเมื่อก่อนเยอะ และทุกคนชอบมาก” นางดวงเนตร ระบุ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |