3 องค์กรสื่อฯ จี้ คสช.ปลดล็อก! โละ เลิก ล้าง ประกาศหรือคำสั่ง คสช.ที่ลิดรอนเสรีภาพสื่อ คืนเสรีภาพประชาชน บี้ กสทช.อย่าให้ถูกครอบงำ วอนสื่อทุกแขนงยึดหลักจริยธรรม วงเสวนาซัด คสช.ยังคงอำนาจคุมสื่อและประชาชน หวั่นรัฐคุมจ้องสื่อออนไลน์ จับตาร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ขยายขอบเขตคุมเนื้อหาละเมิดสิทธิ ปชช. หวั่นซ้ำรอย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน เวลา 10.00 น. วันที่ 3 พฤษภาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดกิจกรรมรณรงค์ “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World press freedom day) เพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ภายใต้สโลแกน "ปลดล็อกคำสั่ง คสช. คืนเสรีภาพประชาชน"
โดยนายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวไว้อาลัยสื่อมวลชนทั่วโลกที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ว่า ในปี 2560 มีสื่อมวลชนเสียชีวิต 46 ราย เนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการรายงานข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบและความขัดแย้ง นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ดาฟเน คารัวนา กาลิเซีย ผู้สื่อข่าวอิสระสายสืบสวน และบล็อกเกอร์ ซึ่งรายงานเกี่ยวกับการทุจริตของรัฐบาล ความเห็นเกี่ยวกับนักการเมือง และกรณีปานามา เปเปอร์ (Panama Papers) ที่สั่นสะเทือนผู้มีอิทธิพลทั่วโลก เสียชีวิตจากระเบิดรีโมตคอนโทรลขณะขับรถไปมอลตาใกล้กับบ้านพัก
จากนั้นทั้งหมดได้ลุกขึ้นยืนสงบนิ่งเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้เพื่อนร่วมวิชาชีพเป็นเวลา 1 นาที
หลังจากนั้น นายปราเมศ เหล็กเพชร์ นายสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตัวแทน 3 องค์กรสื่อ อ่านแถลงการณ์ระบุว่า สถานการณ์ด้านเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยอยู่ในภาวะไม่ปกติ ยังอยู่ภายใต้ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายฉบับ เปิดทางให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง ควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเป็นระยะๆ เข้าข่ายปิดกั้น ลิดรอนสิทธิการรับรู้ข่าวสาร และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และอยู่ในช่วงขับเคลื่อนตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ รวมถึงแผนปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้จะมีกฎหมายอีกหลายฉบับออกมาบังคับใช้ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่มีความสุ่มเสี่ยงจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน
3 องค์กรสื่อฯ จึงเรียกร้องดังนี้ 1.ให้รัฐบาลโดยคสช.ต้องระมัดระวังการออกกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน พร้อมกับ “โละ เลิก ล้าง” ประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ที่ลิดรอนเสรีภาพสื่อ ซึ่งก็คือเสรีภาพของประชาชนนั่นเอง เพื่อให้การดำเนินงานของสื่อสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกำลังเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้งตามโรดแมป 2.ให้ คสช.และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดยปราศจากการครอบงำ 3.เรียกร้องให้ประชาชนและผู้ใช้สื่อในทุกแพลตฟอร์ม ระมัดระวังในการเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ข่าวปลอม (Fake News) ที่ไหลทะลักบนสื่อออนไลน์ และขอให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ ควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้อยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ 4. เรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทุกแพลตฟอร์ม พึงตระหนักการทำหน้าที่ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อมวลชน และขอยืนหยัดพร้อมที่จะรับการถูกตรวจสอบจากสังคม ด้วยวิถีทางอันถูกต้อง ชอบธรรมด้วยกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย
ต่อจากนั้นมีการเสวนาหัวข้อ "ปลดคำสั่ง 0.4 เดินหน้าเสรีภาพประชาชน” โดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความและหัวหน้าฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ช่วงระยะเวลา 4 ปี สถานการณ์ที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน หลังรัฐประหาร มีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร หลังจากนั้นแทนที่ด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งยังมีบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ทหารมีอำนาจในการควบคุมตัวบุคคล ทำให้พลเรือนสามารถขึ้นศาลทหารได้ เป็นสถานการณ์ที่คนในช่วงอายุ 20-30 ปีจะไม่เคยเจอมาก่อน ปัจจุบันมีคนอย่างน้อยกว่า 2,000 คน ถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร แม้จะมีการยกเลิกไปแล้ว แต่คดีที่เกิดในช่วงที่ประกาศใช้ศาลทหารก็ยังถูกดำเนินคดีในศาลทหารอยู่
น.ส.พูนสุขกล่าวว่า อำนาจที่สำคัญอีกอย่าง และยังคงมีการใช้จนถึงทุกวันนี้ คือการควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน และห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป ซึ่งล่าสุดออกเป็นคำสั่งที่ 3/2558 ไม่มีการให้นิยามที่ชัดเจน เมื่อนำมาบังคับใช้เจ้าหน้าที่ทหารก็บังคับใช้อย่างกว้างขวาง สถานการณ์ที่กระทบสิทธิและเสรีภาพที่เกิดขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีประกาศคำสั่งหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการที่ คสช.ออกมาควบคุมสื่อ
"เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน และอีกทาง เสรีภาพประชาชนคือเสรีภาพสื่อ แม้ปีหน้าจะมีเลือกตั้ง มี ครม.ชุดใหม่ แต่ในระยะยาวมีเรื่องที่เราต้องจัดการ คือกลไกต่างๆ ที่ คสช.ตั้งขึ้นมา เพื่อควบคุมนโยบาย เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะกินระยะเวลา 20 ปีเป็นอย่างน้อย รวมกับกฎหมายที่ตราผ่านสภามากกว่า 800 ฉบับ เราไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น เพราะกฎหมายออกมาจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นอกจากสื่อจะพยายามที่จะปลดล็อกสิทธิเสรีภาพของตัวเองแล้ว สื่อก็ต้องช่วยปลดล็อกสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยเช่นกัน” น.ส.พูนสุขกล่าว
ด้านนายก้าวโรจน์ สุตาภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มองว่า ปัจจุบันสื่อออนไลน์มีบทบาทมากขึ้นในสังคม ต่างกับในอดีต แต่ไม่ว่าจะเป็นสื่อเก่า สื่อใหม่ สื่อออนไลน์ หรือสื่อออฟไลน์ ปลายทางจะถูกบังคับให้มีคุณภาพและความรับผิดชอบต่องานนั้นๆ อยู่แล้ว รวมถึงกฎหมายที่นำมาควบคุมเป็นตัวเดียวกัน โดยเฉพาะออนไลน์ที่จะมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาควบคุมด้วย
“พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ต้องถูกวางโครงสร้างให้มีข้อมูลที่ดีเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชน ต่อไปโซเชียลมีเดียจะมีผลต่อการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่ากลุ่มการเมืองเริ่มมีความเคลื่อนไหวอยู่เนืองๆ ตอนนี้เพียงแค่บอกว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็มีการทำดาต้า ทำข้อมูลต่างๆ เพราะโซเชียลมีเดียสามารถบอกได้ทุกอย่าง ความสนใจ ความพอใจของประชาชน ทุกอย่างที่เป็นออนไลน์จะมีผลต่อประเทศไทย เทคโนโลยีทำให้คนเสพข่าวได้รวดเร็วยิ่งขึ้นผิดกับสมัยก่อน ขณะที่รัฐบาลเองก็มีความพยายามให้การตรวจสอบการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น” นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์กล่าว
ขณะที่ น.ส.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงมุมมองในประเด็นกฎหมายดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในปัจจุบันว่า สื่อจะต้องถูกกำกับควบคุมให้มีคุณภาพ ไม่ว่าจะกฎหมายเดิมหรือกฎหมายที่เกิดขึ้นมาใหม่ แต่การกำกับควบคุมตรงนี้ไม่จำเป็นต้องมาจากฎหมายอย่างเดียว เพราะสื่อไม่จำเป็นต้องให้ใครมาบอก หรือชี้ซ้ายชี้ขวาว่าควรเป็นอย่างไร กลไกของผู้เสพสื่อจะเป็นสิ่งที่บอกเองว่าสื่อต้องเป็นอย่างไร
“สิ่งที่ควรจับตามองในปัจจุบันคือกฎหมายที่ควบคุมผู้ให้บริการออนไลน์ ทั้งอำนาจ กสทช. อำนาจคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 12/2557 และ 17/2557 รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการสื่อหรือผู้ให้บริการดิจิทัล มาตรา 15 ที่พูดถึงการเปิดให้ผู้ใช้บริการเข้ามาแสดงความเห็น และผู้ให้บริการต้องคอยตรวจสอบเนื้อหาว่ามีโอกาสที่จะขัดต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 หรือไม่ เป็นการให้อำนาจดุลยพินิจกับผู้ให้บริการออนไลน์ที่เป็นตัวกลางในการควบคุมเนื้อหาบนโลกดิจิทัล กฎหมายไม่ระบุให้ชัดเจน ทำให้ผู้ให้บริการที่เป็นคนกลางต้องใช้วิจารณญาณคิดเอาเองว่าเนื้อหาแบบนี้มี ทำให้คนที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนคงไม่มีใครอยากรับความเสี่ยงตรงนี้ ทำให้เห็นว่ากำลังพยายามโยนอำนาจในการควบคุมจากรัฐไปที่สื่อตัวกลาง”
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่น่าจับตาคือร่างกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ ร่าง แรกที่ออกมาระบุให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลได้ในกรณีที่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินหรือภัยคุกคาม โดยไม่ต้องผ่านวิจารณญาณของใคร แต่ไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่าภัยคุกคาม ทำให้หลายคนกังวลและพยายามที่จะต่อต้านกฎหมายนี้ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีความพยายามที่จะแก้ร่างกฎหมายนี้ให้มีถ้อยคำที่รัดกุมมากขึ้น ไม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ 100% แต่ต้องมีหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยพิจารณาด้วย
“กฎหมายไซเบอร์มีไว้เพื่อควบคุมความมั่นคงระบบของโครงสร้าง ไม่ใช่ความมั่นคงเชิงเนื้อหา และไม่มีกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ของประเทศใดในโลก ขยายขอบเขตของกฎหมายให้ครอบคลุมในเรื่องเนื้อหา จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องช่วยกันระมัดระวัง เพราะไม่เช่นนั้นเราจะได้กฎหมายที่มีเจตนารมณ์ที่ดี แต่ออกมาแล้วถูกนำไปใช้อีกแบบหนึ่งเหมือน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หวังว่าประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยกับร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์”
น.สฐิติรัตน์กล่าวด้วยว่า ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ก่อนจะมีการจัดทำกฎหมายต่างๆ โดยการลดขั้นตอนให้คนแสดงความคิดเห็นและเปิดช่องทางให้มากขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |