“ประวิตร” ลั่นไม่ห่วงม็อบ 5 พ.ค. เผยคู่มือสกัดมีรายละเอียดปฏิบัติชัดแจ้ง “สมคิด” เดือดซัดนิ่มๆ “หญิงหน่อย” ต้องพัฒนาไม่ใช่ปากเก่งอย่างเดียว โต้ดูดเรื่องไร้สาระ ชี้เหตุต้องย้ายบ้านเพราะไม่มีความสุข แนะพรรคการเมืองมุ่งทาบคนดี สร้างสรรค์นโยบายดีกว่า “อนุทิน” กลัวข้อครหาไม่ปิดห้องคุยลุงตู่ แต่โชว์เพาเวอร์ขนคน 3 หมื่นต้อนรับ เพื่อแม้วได้ทีเย้ย ปชป.น่าห่วงเรื่องย้ายพรรคมากกว่า เคาะแล้วว่าที่ 5 กกต.จาก 33 รายชื่อ
เมื่อวันพฤหัสบดี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมรับมือการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 5 พ.ค.ว่า ได้มีการทำคู่มือของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานตามหลักกฎหมายและไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งคู่มือนี้จะระบุว่า หากเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมเจอกันต้องดำเนินการกันอย่างไร และมีการกำหนดขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตาม 7 หัวข้อ ทั้งนี้ ไม่ได้ประเมินการชุมนุมว่าจะเกิดสถานการณ์อะไร และจำนวนผู้ชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเองก็มีไม่มาก ซึ่งไม่ได้เป็นห่วงอะไร
“ที่ระบุว่าจะนำกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ มาเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น สื่อว่ากันไปเอง ผมเข้าใจถึงเหตุผลในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพีมูฟ เนื่องจากความยากจน ก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่เรื่องการเมือง สื่อจะเอาไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองอยู่เรื่อย” พล.อ.ประวิตรกล่าว
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม อธิบายถึงการจัดทำคู่มือการปฏิบัติในการรักษาความสงบเรียบร้อยในสถานการณ์การชุมนุมว่า มีขั้นตอนการปฏิบัติอยู่แล้ว 7 ขั้นตอน โดย พล.อ.ประวิตรได้สั่งการในที่ประชุมสภากลาโหมให้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปตั้งคณะทำงาน เพื่อจัดทำเป็นคู่มือในการดูแลผู้ชุมนุม โดยให้มีรายละเอียดขั้นตอนอย่างไรไม่ให้เกิดการขยายตัวในลักษณะที่เกิดการเผชิญหน้าจนเกิดความรุนแรง เป็นลักษณะของการเตือน พูดคุย ทำความเข้าใจในกรอบกฎหมาย ว่าสิ่งใดทำได้บ้าง และสิ่งใดทำไม่ได้ รวมทั้งการปฏิบัติต้องไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อไม่ให้เกิดการกล่าวอ้างได้ เช่น การไปล็อกคอ หรือการปฏิบัติอื่นๆ ที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
“ไม่ได้เป็นความลับ สามารถเปิดเผยได้ เป็นการทำความเข้าใจร่วมกันกับประชาชน หลักการคือต้องการออกเป็นคู่มือเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ไปศึกษารายละเอียด เพราะเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติมีทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งนายกฯ ไม่อยากให้เกิดข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ผลัดเปลี่ยนเข้ามาตลอดเวลา เพราะจะเป็นเงื่อนไขให้มีการนำไปขยายผลได้ ตรงไหนเป็นช่องว่างหรือการปฏิบัติสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหากระทบกระทั่งก็จะระบุเป็นข้อห้ามไว้ ท่านจึงได้มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคงไปจัดทำสิ่งนี้ขึ้นมา”พล.ท.คงชีพระบุ
สำหรับความเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กล่าวถึงกระแสข่าวนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ และนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม จะเข้าพบนายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ เพื่อทาบทามให้มาร่วมงานรัฐบาลว่า ต้องไปถามนายสนธิรัตน์และนายอุตตมเอง เรื่องการเมืองต้องพูดน้อยๆ บ้านเมืองจึงเจริญ เพราะตัวหลักในการขับเคลื่อนการเมืองคือพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองมีคุณภาพ เอาเวลาส่วนใหญ่ไปคิดเรื่องนโยบายดีๆ ไปดึงคนเก่ง คนดีมีความสามารถมาร่วมทำงาน ไม่ว่าจะพรรคใด เมื่อได้รับเลือกตั้งไปแล้ว ก็สามารถเอานโยบายเหล่านั้นมาใช้ในการพัฒนาประเทศได้
“เฮียกวง”อบรม”เจ๊หน่อย”
นายสมคิดกล่าวต่อว่า ถ้ามีแต่พรรคการเมืองที่คิดแต่เรื่องการตีอีกฝ่ายหนึ่ง ด่าคนโน้นด่าคนนี้ แบบนี้ไม่ใช่การเมือง ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น คนก็จะเบื่อหน่าย อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เคยพูดไว้ ว่าเห็นหรือไม่ใครไปดูดใคร ไม่มีเลย แต่ทำไมคนอยากจะย้ายบ้าน เพราะว่าบ้านอยู่แล้วไม่มีความสุขหรือไม่ มันจึงต้องพัฒนาบ้านให้เป็นบ้านที่คนไทยฝากความหวังไว้ได้
“ผมแนะนำว่าพรรคการเมืองในขณะนี้ที่มีอยู่กว่าจะถึงเลือกตั้ง พยายามคัดสรรคนดีๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการคิดนโยบายเตรียมเอาไว้ เมื่อเลือกตั้งแล้วถ้าใครได้เป็นรัฐบาลหรือเข้าร่วมรัฐบาลจะได้ไปช่วยกันทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้น นี่คือสิ่งที่ต้องสื่อความออกไป ไม่ใช่มาดูดนั่นดูดนี่ ไร้สาระ 10 ปีก็อยู่กันแค่นี้ แล้วคนที่บอกว่าดูดส้วม ผมรู้จักดี ต้องพัฒนามากกว่านี้” นายสมคิดกล่าว
เมื่อถามว่า เพราะเหตุผลนี้หรือไม่จึงต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสานต่องานที่รัฐบาลได้ทำ นายสมคิด กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะดูสถานการณ์ในขณะนี้และอนาคต ความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนประเทศ ความสงบของบ้านเมืองเป็นสิ่งจำเป็น ที่ผ่านมาก็เห็นอยู่แล้วว่าผลงานของรัฐบาลเป็นอย่างไร ซึ่งไปได้ดีเพียงพอ แต่ถ้าใครทำได้ดีกว่าก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะประชาชนมีสิทธิเลือก แต่ที่จะบอกว่าใครจะมีพรรคหนุนคนนั้นคนนี้ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับตนเอง และไม่เคยตอบโต้ เพราะทุกคนรู้จักกันดี เป็นเพื่อนกันทั้งนั้น วันหนึ่งข้างหน้าต้องทำงานร่วมกัน ดังนั้นเอาเวลาส่วนใหญ่ไปทำสิ่งดีๆ ดีกว่า
ถามอีกว่า นักการเมืองขณะนี้ยังไม่เสียสละเพื่อประเทศชาติเพียงพอใช่หรือไม่ นายสมคิดปฏิเสธว่าไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น แต่เมืองไทยต้องค่อยๆ เปลี่ยน ต้องมีคนใหม่ๆ เข้ามาทำงานร่วมกับคนเก่า สิ่งสำคัญคือต้องมีไอเดียเป็นตัวนำ ส่วนใครจะเป็นผู้นำเป็นเรื่องที่จะตามมาทีหลัง ทั้งนี้ ถ้าประเทศไทยมีคนอายุกว่าสี่สิบเป็นรัฐมนตรี จะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ แล้วให้คนที่มีอาวุโสคอยเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเหมือนสิงคโปร์ ซึ่งเห็นแล้วก็ทึ่ง
“ผมไม่เคยเจอพวกเขาเลย ผมไม่มีเวลาจริงๆ พอไปต่างประเทศ เมื่อเห็นข่าวก็รู้สึกแปลกใจ แต่ก็ไม่เป็นอะไร เมื่อมาอยู่การเมือง หน้าที่คือทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าเท่านั้นเอง และไม่เคยพูดว่าผมจะไปตั้งพรรคการเมือง ผมบอกแค่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ทำงานต่อ ถ้าท่านต้องการทำงาน ส่วนพรรคไหนจะสนับสนุนหรือทำอะไรก็แล้วแต่เขา ทุกกลุ่มเพื่อนกันทั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็รู้จักกัน พรรคเพื่อไทยก็มีคนดีเยอะ ต้องคิดอนาคตข้างหน้าว่า ถ้าต้องทำงานร่วมกัน แล้วจะทำอย่างไร เราต้องก้าวข้ามความขัดแย้งทั้งหลาย เอาบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง” นายสมคิดตอบข้อถามว่าช่วงนี้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักการเมืองหรือไม่
นายสมคิดยังกล่าวถึงการลงพื้นที่ไปประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่จังหวัดบุรีรัมย์-สุรินทร์ว่า สมควรแล้วที่นายกฯ ต้องไป เพราะ จ.ศรีสะเกษซึ่งอยู่ในกลุ่มจังหวัดดังกล่าวยากจนที่สุดในประเทศ ส่วนจะต้อนรับอย่างไร หรือมีปัญหาอะไร ก็นำเสนอมาเช่นเดียวกับหลายจังหวัดที่ผ่านมา ไม่มีอะไรพิเศษ
เมื่อถามว่า คนจะมองว่ารัฐบาลไปดูดคนของพรรคภูมิใจไทยหรือก๊วนบุรีรัมย์ นายสมคิดสวนกลับว่า ดูดเนวินหรือ การเมืองในเมืองไทย ทุกคนรู้จักกันหมด ทุกพรรครู้จักกันหมด ต้องคิดไปข้างหน้า ช่วยกันทำให้ประเทศเจริญได้อย่างไร อย่าไปคิดว่ามุ้งนั้นมุ้งนี้ ดูดไปดูดมาจะได้มามีอำนาจ คิดอย่างนั้นเป็นความคิดที่เก่ามาก จะไม่เจริญ คิดให้ใหม่ๆ ขอให้คิดถึงอนาคตให้มากๆ ทุกคนต้องทำงานเพื่อประเทศทั้งนั้น ตนขอแค่นี้
หวั่นถูกด่า!เสี่ยหนูงดปิดห้อง
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ในฐานะเจ้าบ้าน เมื่อแขกระดับนายกฯ มาเยือน ตนเองและนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จะไปให้การต้อนรับที่สนามช้าง อารีน่า ก่อนมอบพื้นที่ให้นายกฯ และคณะได้พบปะประชาชนประมาณ 3 หมื่นคน
“การมาครั้งนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ผมและนายเนวินจะไม่ปิดห้องพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์เหมือนในหลายพื้นที่ที่ผ่านมา เพราะเกรงถูกข้อครหาจากคู่แข่งทางการเมือง แค่หายไป 5 นาทีก็ถูกจับมาตั้งข้อสังเกตแล้ว" นายอนุทินระบุ
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ปฏิเสธแสดงความเห็นเรื่องการดูด โดยระบุเพียงว่า ไม่อยากจะพูดอะไรเพิ่มเติม แต่ทุกสิ่งที่พูดไปเป็นข้อเท็จจริงทั้งนั้น และมีพฤติกรรมมากกว่านี้ ซึ่งการพูดเรื่องการดูดไม่ได้พูดเรื่องปัญหาการดูดในมุมมองที่ว่ามันมากระทบกับพรรค แต่พูดเรื่องในมุมมองที่ว่าพฤติกรรมแบบนี้สมควรหรือไม่สำหรับระบบการเมืองที่เราอยากเห็น
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กในเรื่องนี้ว่า พรรคการเมืองเมื่อจะลงสนามแข่ง ทุกพรรคต้องพร้อมสู้ทุกรูปแบบ แต่ควรถามใจประชาชนมากกว่าว่าอยากได้หรือพรรคที่ดูดกันมาโดยเอาตำแหน่งและผลประโยชน์กลุ่มตัวเองเป็นตัวตั้ง แล้วมันจะต่างอะไรกับการมีกลุ่มนายทุนซื้อตำแหน่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นพฤติกรรมดันทุรังแบบไม่แคร์
“การอ้างว่าที่ผ่านมาใครๆ ก็ทำนั้นเป็นตรรกะวิบัติ ถ้าเขาทำในสิ่งที่ไม่ถูกเราต้องไม่ทำ เหมือนทิ้งขยะลงคลอง การแซงคิว ใครๆ ก็ทำ แล้วเราควรทำหรือ ลองทบทวนให้ดี พรรคที่ก่อร่างจากวิถีดูดจุดจบเป็นอย่างไร บ้านเมืองประสบปัญหาอะไร ที่สำคัญประชาชนควรถามเขาว่าดูดมารวมกันเพื่อมีแนวทางแก้ปัญหาบ้านเมืองยังไงบ้าง ไม่เห็นมีใครบอกเลย” น.ส.รัชดากล่าว
ส่วนนายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางมายังสิงคโปร์ในวันที่ 5 พ.ค. โดยจะมีสมาชิกของพรรคเดินทางไปหาเพื่อหารือรับมือการดูด ส.ส.ว่า ได้ยินข่าวนายทักษิณจะเดินทางมาตามคำเชิญของนักธุรกิจที่ให้มาบรรยายเรื่องสกุลเงินดิจิทัลและบิตคอยน์ และคงไม่มีอดีต ส.ส.เดินทางไปพบ เพราะหลายคนได้พบแล้วช่วงตรุษจีนที่ฮ่องกง ดังนั้นคงมีเพียงกลุ่มลูกหลาน ญาติสนิทเท่านั้น และคงไม่มีการหารือเรื่องการเมืองหรือเรื่องการดูด เพราะนายทักษิณเคยบอกกับอดีต ส.ส.ที่เดินทางไปพบช่วงตรุษจีนว่าจะไปยุ่งเรื่องการเมืองไม่ได้ เดี๋ยวเป็นช่องทางให้คนไม่หวังดีนำไปร้อง แล้วทำให้พรรคถูกลงโทษทางการเมืองได้
"การเดินทางมายังสิงค์โปร์หรือประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย ถือเป็นเรื่องปกติ 5-6 เดือนจะเดินทางมาหารือทางธุรกิจ ครั้งนี้ก็เช่นกัน และคงถือโอกาสตรวจสุขภาพด้วย เพราะท่านมีแพทย์ประจำตัวอยู่ที่นี่" นายสมคิดระบุ
นายสมคิดยังกล่าวถึงกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคระบุอดีต ส.ส.กทม.ถูกทาบทามให้ไปร่วมงานกับบางพรรคการเมืองว่า เป็นเรื่องปกติที่มีความพยายามทาบทาม เชื่อว่าสุดท้ายแล้วคงไม่มีใครไป 3-4 เดือนก่อนหน้าพื้นที่อีสาน สมาชิกหลายคนถูกทาบทามเหมือนกัน แต่วันนี้เงียบไปแล้ว เพราะรู้ว่ามาชวนแล้วไม่มีใครไป ยืนยันว่าสมาชิกในพรรคเพื่อไทยยังเหนียวแน่น โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสานไม่ไปไหน มีเพียงข่าวกลุ่มนครปฐมกลุ่มเดียวเท่านั้น สถานการณ์พรรคไม่น่าห่วง แต่ ปชป.น่าห่วง นับแต่ กปปส.ที่ถือเป็นแนวร่วมแยกตัวไป หากจะเป็นปัญหาคงเป็นในส่วนของ ปชป.มากกว่า
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.กทม.อาจย้ายพรรค ว่าเป็นการตัดสินใจของเขา แต่นายณัฏฐพลไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค เนื่องจากเคยไปบวช แต่ยังไม่ได้แจ้งว่าจะออกไปอยู่พรรคอื่น มีเพียงการมาปรารภว่าเคยพูดคุยกับนายสมคิดที่ชักชวนให้ไปทำงานด้วย แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะอยู่ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ หลังจากกลับมาถึงเมืองไทยแล้วนายณัฏฐพลจะมาพูดคุยอีกครั้ง ส่วนคนที่ขอย้ายออกจากพรรคแล้วมีเพียงนายสกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.กทม.ที่ถูกทาบทามไปเป็นรองผู้ว่าฯ กทม., นายชื่นชอบ คงอุดม อดีต ส.ส.กทม. เพราะบิดาไปเป็นบุคลากรหลักของพรรคท้องถิ่นไท และนายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี ที่เคยไปบวช และไม่ได้มายืนยันการเป็นสมาชิกพรรค
ได้แล้ว 5 ว่าที่ กกต.
ขณะที่สำนักงาน กกต. พรรคประชาภิวัฒน์ได้มาขอจัดตั้งพรรคต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง หลังจากที่ทางกลุ่มได้ขอจดจองชื่อพรรคและขออนุญาต คสช.จัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคเสร็จสิ้นไปแล้ว เมื่อช่วงกลางเดือน เม.ย. โดยมีนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ อดีต ส.ว.นครสวรรค์ เป็นหัวหน้าพรรค และมีนางนันทนา สงฆ์ประชา อดีต ส.ส.ชัยนาท เป็นเลขาธิการพรรค ทั้งนี้ มีกลุ่มการเมืองต่างๆ ทยอยเดินทางมาขอรับการจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง 100 กลุ่มแล้ว หลังเปิดให้ยื่นตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. และนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ออกหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง หรือแบบ พ.ก.7/2 จำนวน 36 กลุ่ม
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการประเมินคำวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ส.ส.และ ส.ว.จะออกมาแบบไหนว่า ไม่ควรไปเดาคำวินิจฉัยศาล หากเป็นไปสภากาแฟทำได้ แต่ถ้ารัฐบาลเดาเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนที่ศาลนัดลงมติเรื่อง ส.ว.ในวันที่ 23 พ.ค. แต่เรื่อง ส.ส.ยังไม่มีการนัดนั้น หากมองวันนี้ก็ไม่มีผลกระทบต่อโรดแมปแต่อย่างใด
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน เรียกผู้สมัคร กกต.ที่ผ่านคุณสมบัติ 24 คน จาก 33 คน เข้าสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์รายบุคคล ก่อนที่ที่ประชุมจะสรรหาเหลือ 5 คน ประกอบด้วย 1.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3.นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และอดีตเอกอัครราชทูตกรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา และกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ 4.นายพีรศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์, ปทุมธานี, ระนอง, ชุมพร และนครศรีธรรมราช และ 5.นายธวัชชัย เทิดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ส่วนบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน ได้แก่ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นรายเดิมที่ สนช. เคยลงมติไม่ให้ความเห็นชอบในการเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต.รอบที่ผ่านมา
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะกรรมการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงขั้นตอนต่อไปว่า จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ก่อนบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุม สนช.เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบประวัติ และตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต. ได้ประมาณกลางเดือน พ.ค.นี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |