กมธ.พิจารณาร่างแก้ไข รธน.ยังหวังสภาร่าง รธน.จะนำประเด็นที่อยู่ในร่างแก้ไข รธน.รายมาตราของฝ่ายค้านซึ่งถูกตีตกไป ไปเขียนไว้ใน รธน.ฉบับใหม่ งานนี้มีลากยาว แค่ผลการพิจารณา กมธ. กว่าจะเสร็จก็ต้นปีหน้า
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ.…. ของรัฐสภา จะมีการประชุมกันนัดแรกวันที่ 24 พ.ย.นี้ เพื่อเลือกตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมาธิการฯ
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ….. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการเสนอชื่อให้ตัวเองเป็นประธาน กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยและฝ่ายค้านเสนอก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ แต่ก็รู้ว่าเสียงข้างมากไม่รับ แต่อย่างไรก็ตาม ตรงนี้เป็นกติกาการเมืองที่ทุกคนมีสิทธิ โดยหาก กมธ.คิดถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การให้ฝ่ายค้านขึ้นมาทำหน้าที่จะถือเป็นสิ่งที่ดี
เมื่อถามว่าเนื้อหาในร่างแก้ไข รธน.รายมาตรา ในร่างแก้ไขรธน.ร่างที่ 3-7 ซึ่งรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบจนตกไป จะสามารถผลักดันให้ถูกนำมาบรรจุได้หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า 1.ตัว กมธ.ต้องหยิบเอามาเสนอในที่ประชุม แต่ประเด็นที่หยิบขึ้นมาเสนอจะต้องอยู่ในหลักการ จะต้องไม่ขัดกับหลักการเดิม 2.สมาชิกที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมาธิการ สามารถยื่นคำแปลญัตติเข้ามายัง กมธ.ได้ 3.แต่ตั้งที่ปรึกษาที่มาจากภาคประชาชน และ 4.ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่าน จะเข้าสู่กระบวนการตั้ง ส.ส.ร. และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดย ส.ส.ร.สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้
เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่จะเป็นประเด็นในการถกกันในชั้น กมธ. นพ.ชลน่านกล่าวว่า แตกต่างกันในรายละเอียดที่ต้องแก้ไขเท่านั้น เช่น ที่มาของ ส.ส.ร. ร่างของรัฐบาลให้มาจากการแต่งตั้ง แต่ร่างของฝ่ายค้านและความต้องการของภาคประชาชนต้องการให้มาจากการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด ประเด็นต่อมาคือเรื่องประชามติ โดยรัฐบาลมองว่าเมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญแล้วส่งให้สภาพิจารณา เมื่อผ่านสภาแล้วก็นำทูลเกล้าฯ ถวาย แล้วบังคับใช้ได้เลย แต่ฝ่ายค้านมองว่าเมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ส่งเรื่องไปที่ประธานสภาฯ รับทราบ จากนั้นนำไปเข้ากระบวนการประชามติก่อนประกาศใช้
เมื่อถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญยังสามารถเป็นทางออกให้กับประเทศได้อยู่หรือไม่ เพราะด้านนายกฯ เองก็ประกาศใช้กฎหมายทุกมาตราในการเอาผิดผู้ชุมนุม นพ.ชลน่านกล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญคือทางออกของประเทศทางหนึ่ง และเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม แม้สิ่งที่ภาคประชาชนเสนอขึ้นมาวันนี้จะแก้ไม่ได้ทั้งหมด ท่าทีของนายกฯ ที่ประกาศใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับผู้ชุมนุม เสมือนเป็นการปิดทางออกที่ทุกคนจะหันหน้าเข้ามาคุยกัน และอาจจะทำให้สถานการณ์ลุกโชนขึ้นไปเรื่อยๆ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การตั้ง กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเสร็จภายใน 45 วันนั้นเป็นเรื่องฝ่ายค้านพูดถึง จริงๆ กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระสองไม่ได้มีการกำหนดเวลา ซึ่งก็จะดำเนินการโดยเร็ว แต่ก็จะมีช่วงเวลาให้แปรญัตติ 15 วัน คือให้สมาชิกรัฐสภาทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเสนอคำแปรญัตติมาที่กรรมาธิการภายใน 15 วัน แล้วกรรมาธิการก็จะนำไปพิจารณาว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และก็จะมีการเชิญผู้เสนอคำแปรญัตติมาชี้แจง ซึ่งจะใช้เวลาในช่วงเดือนธันวาคม เนื่องจากมีวันหยุดเยอะ น่าจะจบรายงานของกรรมาธิการภายในประมาณต้นเดือนมกราคม
เมื่อถามถึงประเด็นของการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หากฝ่ายค้านจะเสนอที่มาของ ส.ส.ร. จะเป็นไปได้หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ร่างที่จะพิจารณา สมาชิกรัฐสภามีสิทธิ์เสนอแปรญัตติตามที่ตนเองเห็นว่าควรจะเป็นอย่างไร ก็เสนอเป็นคำแปรญัตติมา ดังนั้นอยู่ที่จะแปรญัตติมาอย่างไร แล้วกรรมาธิการก็จะมาพิจารณาอีกทีว่าจะแก้ไขให้เป็นไปตามที่แปรญัตติมาหรือไม่ หรือจะยืนตามร่างเดิม ซึ่งเป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการที่จะต้องพิจารณา เพราะกรรมาธิการจะใช้เสียงข้างมาก
ปชป.หวังโมเดลไอลอว์ได้ไปต่อ
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า จากผลการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีมติให้ผ่านความเห็นชอบ 2 ฉบับ และไม่ผ่าน 5 ฉบับนั้น เป็นที่น่าเสียดายสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ไม่ผ่านมติขั้นรับหลักการ ซึ่งเป็นการปฏิเสธกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองภาคประชาชน แม้สาระในร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนฉบับดังกล่าวอาจมีข้อบกพร่องบ้าง แต่ยังมีจุดที่น่าสนใจหลายประเด็น ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเพิ่มเติม ควรจะนำรายละเอียดที่เป็นจุดเด่นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไปศึกษา ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ 1.ยกเลิกช่องทางนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 2.ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขียน และกดทับรัฐบาลทุกชุด 3.ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศที่คนของ คสช. เป็นคนเขียน
นายเทพไทกล่าวอีกว่า 4.ยกเลิกที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นแบบพิเศษที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง 5.ยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช.ที่ช่วยให้ คสช.พ้นผิด 6.แก้ไขที่มานายกฯ ยกเลิกบัญชีว่าที่นายกฯ และให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ปิดช่องทางให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ 7.แก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้ง และลดอำนาจพิเศษของ ส.ว. 8.แก้ไขที่มาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญพร้อมสรรหาใหม่ยกชุด 9.แก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่าย ใช้แค่เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา 10.แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการร่างใหม่ทั้งฉบับโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้ง
"ทั้ง 10 ข้อนี้ตรงกับหลักการประชาธิปไตยสากล จึงขอเสนอให้กมธ.พิจารณารัฐธรรมนูญฯ และสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในอนาคต รับข้อเสนอและสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน นำไปศึกษาและบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย เพื่อไม่ให้เจตนารมณ์ของประชาชนสูญเปล่าไปอย่างไร้ความหมายทางการเมือง" นายเทพไทระบุ
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคและ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ แสดงทัศนะว่า แม้รัฐสภาเสียงข้างมากจะมีมติไม่รับร่างแก้ไขเพิ่มเติม รธน.60 ของประชาชนที่ร่วมลงชื่อจำนวน 100,732 คน ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชื่อย่อว่า “5 ยกเลิก 5 แก้ไข” และเปิดทางให้เกิดการ "ร่าง" รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากการมีส่วนร่วมของประชาชน คือยกเลิก 1 ช่องทางนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง, ยกเลิก 2 แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ คสช. เขียนขึ้น คิดแทนอนาคต กดทับรัฐบาลทุกชุด, ยกเลิก 3 แผนปฏิรูปประเทศที่ คสช.เขียนขึ้น, ยกเลิก 4 ท้องถิ่นพิเศษ ที่เปิดช่องผู้บริหารไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง, ยกเลิก 5 นิรโทษกรรม คสช. ที่ช่วยคนทำรัฐประหาร ทำอะไรไว้ไม่มีทางผิด
เลขาธิการพรรคประชาชาติให้ทัศนะอีกว่า นอกจากนี้ยังเสนอแก้ไข 1 แก้ระบบบัญชีว่าที่นายกฯ เขียนให้ชัด นายกฯ ต้องเป็น ส.ส., แก้ไข 2 เปลี่ยน ส.ว.ชุดพิเศษคนของเขา เป็น ส.ว. จากการเลือกตั้งของประชาชน, แก้ไข 3 เปลี่ยนที่มาองค์กรที่ไม่ทำงาน สร้างระบบสรรหาองค์กรอิสระแบบใหม่ ให้คนที่นั่งอยู่พ้นจากตำแหน่ง, แก้ไข 4 ปลดล็อกวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เสียงครึ่งหนึ่งของสภา ไม่ต้องมีอำนาจพิเศษของ ส.ว., แก้ไข 5 ตั้ง ส.ส.ร.ชุดใหม่จากการเลือกตั้งทั้งหมด เปิดทางสร้างการเมืองแบบใหม่ สังคมแบบใหม่ และสุดท้าย เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง 100% ใช้ประเทศเป็นเลขเลือกตั้งร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นมาใช้บังคับ
“ข้อเสนอของประชาชนด้วยความหวังจะมีอนาคตที่ดี สร้างยุคสมัยที่คนต้องเท่ากับคน ด้วยการมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรี ความยุติธรรม การไม่รับร่าง “กฎหมายเข้าชื่อ” ของประชาชน จึงเหมือนการทำให้ 'สายลมประชาธิปไตยเปลี่ยนเป็นพายุประชาธิปไตย' ที่ไม่อาจหยุดประชาชนได้ เนื่องจากโอกาส ความหวังที่จะการมีอนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนสังคมไทยสามารถทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาอื่นได้" พ.ต.อ.ทวีระบุ
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา และหนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ กล่าวเช่นกันว่า การประชุมกรรมาธิการนัดแรกในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ จะมีการเลือกตำแหน่งต่างๆ และพิจารณากรอบการทำงานในเบื้องต้น แต่ว่ากรอบการพิจารณาก็จะต้องใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลัก เนื่องจากเป็นมติของรัฐสภา
เมื่อถามว่า กรอบการพิจารณาสามารถนำร่างที่ตกไปขึ้นมาหารือได้อีกครั้งหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า เฉพาะประเด็นการแก้ไขมาตรา 256 กับการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็น่าจะเปิดกว้าง คือ 1.จะต้องมีคำแปรญัตติของสมาชิกเข้ามาอยู่แล้วภายใน 15 วัน 2.กมธ.สามารถหารือกันได้ เพราะ กมธ.สามารถปรับแก้ได้ตลอด แต่ว่าในส่วนที่แก้ไขรายประเด็นคงจะไม่เกี่ยว เพราะ 2 ร่างที่รับหลักการ เป็นหลักการแก้ไขมาตรา 256 กับการตั้ง ส.ส.ร.
เมื่อถามว่า ตำแหน่งประธานและรองประธาน กมธ.ควรจะต้องมีสัดส่วนของ ส.ว.ด้วยหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ยังไม่ได้มีการหารือกัน แต่ว่าโดยปกติ กมธ.ร่วมฯ จะใช่วิธีการพูดคุยและทำความเข้าใจกันมากกว่า ซึ่งเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด
จอน-ไอลอว์ขอบคุณทิ้งทวน
นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ผู้ก่อตั้งไอลอว์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ถึงแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขของประชาชนกว่าหนึ่งแสนคนจะถูกรัฐสภาตีตกโดยที่ ส.ว.แต่งตั้งและส.ส.พรรคพลังประชารัฐหลายคนเลือกที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจไอลอว์มากกว่าที่จะวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาของร่างของประชาชน
"อย่างไรก็ตาม พวกผม (ผม เป๋า และจิ๋ว) ที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอร่างของประชาชนในฐานะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายได้รับแต่ความร่วมมือ การอำนวยความสะดวก การต้อนรับที่อบอุ่น และกำลังใจจากเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง
เริ่มต้น ผมอยากขอขอบคุณท่านประธานรัฐสภา คุณชวน หลีกภัย ที่ทำให้ร่างของประชาชนสามารถเข้ารับการพิจารณาพร้อมกับร่างของพรรคการเมืองและสมาชิกรัฐสภาอีกหกฉบับ ทั้งนี้ โดยที่ท่านได้สั่งเร่งการตรวจสอบการลงชื่อทั้งหมดให้เสร็จในระยะเวลาที่สั้นที่สุด โดยผ่านขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดครบทุกประการ
ขอขอบคุณสินี ส้มมี ผู้อำนวยการสำนักการประชุม ที่ให้การต้อนรับและเอื้ออำนวยการให้ทีมงานเจ้าหน้าที่ของไอลอว์สามารถใช้ห้องประชุมของสำนักฯ เพื่อติดตามการอภิปราย
และที่ต้องขอขอบคุณอย่างยิ่งคือบรรดาเจ้าหน้าที่ของกลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย นำโดยคุณสมพงษ์ รัตนวรรณ ผู้อำนวยการ รวมถึงคุณศักรินทร์ และคุณศักดา ซึ่งได้ต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่น และอำนวยความสะดวกทุกประการ รวมถึงการเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนการหาแท็กซี่สำหรับกลับบ้าน
สุดท้ายขอขอบคุณเจ้าหน้าที่แลกบัตรที่กระซิบให้กำลังใจหลังจากที่พวกเราถูกอภิปรายอย่างหนัก."
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |