เรือด่วนเจ้าพระยาสมัยนี้ไม่ว่าลำเล็ก ลำใหญ่ ประเภทธงส้ม ธงเหลือง ธงเขียว และล่าสุดธงแดงที่ใช้เรือแบบคาตามารันล้วนมีจอทีวีติดตั้งอยู่ในตัวเรือ จำนวนมาก-น้อยขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ
จอทีวีไม่ได้เปิดข่าวหรือละครให้ผู้โดยสารดู เพราะมีไว้สำหรับฉายโฆษณาสปอนเซอร์ของบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา ฉายวีดิทัศน์แนะนำองค์กร และหน้าที่สำคัญสุดคือแจ้งตำแหน่งของท่าเรืออย่างน้อย 3-4 แห่งก่อนเรือจะเทียบท่า ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจึงสบายใจได้ว่าจะไม่มึนงง หลง และขึ้นผิดท่าอีกต่อไป
ไม่กี่วันก่อน ผมลงเรือจากท่าน้ำนนท์ ล่องมาจนถึงท่าเรือบางโพ ในจอแสดงภาษาอังกฤษว่า Bang Po ผมดีใจอย่างบอกไม่ถูกที่มันไม่ได้เขียน “Bang Pho” เพราะฝรั่งจะอ่านว่า “บาง โฟ” และหากเป็นชาวเวียดนามก็จะอ่านว่า “บาง เฝอ”
ผมขึ้นจากเรือ ป้ายท่าเรือก็เขียนว่า Bang Po Pier อยู่ด้านล่างภาษาไทยที่เขียน “ท่าเรือบางโพ” เดินไปต่อรถไฟฟ้า MRT สถานีบางโพ แต่ป้ายภาษาอังกฤษเขียน Bang Pho อีกจนได้
วันนี้ไม่ได้จะเล่าเรื่องเรือหรือรถราใดๆ นะครับ แต่จะขออนุญาตอธิบายมุมมองการเขียนคำไทย (โดยเฉพาะสถานที่) ในการทับศัพท์ด้วยภาษาอังกฤษ (อักษรโรมัน) อันรบกวนจิตใจของผมมาเป็นเวลานานแสนนาน
สาบานว่าเคยได้ยินฝรั่งคนหนึ่งพูดว่าจะไปจังหวัด “ชุมฝน” ผมแย้งว่าไม่มีหรอกจังหวัดชุมฝน แม้ว่าจังหวัดนี้ฝนจะตกชุกก็ตาม จังหวัดนี้มีชื่อว่า “ชุมพร”
Chumphon คือคำเขียนภาษาอังกฤษที่ปรากฏในไกด์บุ๊กของเขา (เช่นเดียวกับป้ายของกรมทางหลวงและทุกหน่วยงานราชการไทย) ซึ่งจะไปโทษฝรั่งคนนี้ไม่ได้ เขาอ่าน “ชุมฝน” หรือ “ชุมฟน” เพราะ Ph ในภาษาอังกฤษออกเสียง “ฟ” หรือ “ฝ” เหมือนกับอักษร F
ตัวอย่างมีอยู่มากมาย Telephone ไม่ได้อ่านว่า “เทเลโพน”, Philadelphia ไม่ได้อ่านว่า “พิลาเดลเพีย” เช่นเดียวกับ Philippines ไม่ได้อ่านว่า “พิลิปปินส์”
หลักการเขียนที่ราชบัณฑิตยสภาให้ใช้ P แทนพยัญชนะต้น “ป” และ Ph แทน “พ” มีมานมนาน เพราะคิดว่าการใส่ตัว h เข้าไปหลัง p จะทำให้เสียงเข้มขึ้นเป็น “พ”
ในภาษาอังกฤษนั้นพยัญชนะต้น P จะไม่ออกเสียง “ป” เช่น People ไม่ได้อ่านว่า “ปีเปิล”, Public ไม่ได้อ่านว่า “ปั๊บหลิก”, Put ไม่ได้อ่านว่า “ปุ๊ด”
แต่ในกลุ่มภาษาละตินจะออกเสียงพยัญชนะต้น P เป็น “ป” เช่น เปาโล, ปิแยร์, ปาโบล, นาโปลี, ปิซา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การ Ph ไม่ได้ออกเสียง “พ” อย่างแน่นอน
(หากไม่ใส่ h ที่ Khiri และ Khan ก็อาจไม่ต้องเขียนเบียดกัน)
กรณีคล้ายๆ กับจังหวัดชุมพรคงเคยเกิดขึ้นแล้วกับเกาะพีพี (Phi Phi), จังหวัดภูเก็ต (Phuket), จังหวัดพังงา (Phang Nga) ที่เพี้ยนเป็น ฟีฟี, ฟูเก็ต, ฟังงา เพียงแต่ว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักพักชาวต่างชาติก็ออกเสียงถูกต้องได้เองเนื่องจากความคุ้นเคย
อย่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หากไม่ได้รับการพระราชทานนามจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเขียนอักษรโรมันว่า Suvarnabhumi ตามหลักการเทียบเสียงแบบบาลีสันสกฤต ไม่เช่นนั้นอาจถูกเขียนว่า Suwannaphum (เช่นเดียวกับจังหวัดชัยภูมิ ที่เขียนว่า Chaiyaphum) ตามการถอดเสียงเป็นอักษรโรมันของราชบัณฑิตยสภา และในช่วงแรกๆ ฝรั่งก็คงออกเสียง “สุ-วัน-นะ-ฟูม” กว่าจะเข้าใจในเวลาต่อมาว่าไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกับ “ชุมฝน” และ “ฟีฟี”
หลักการเขียนสากลของชาติที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก น่าจะมีอยู่ว่าเขียนด้วยอักษรโรมันเพื่ออ่านออกเสียงในภาษาอังกฤษ จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ที่อ่านภาษาท้องถิ่นไม่ได้ สามารถออกเสียงบรรดาชื่อเฉพาะ ได้แก่ สถานที่ อาหาร เป็นต้น ได้ถูกต้องหรือไม่ผิดเพี้ยนจนเกินไป
สรุปก็คือ เขียนเพื่อผู้อ่าน ไม่ใช่เขียนเพื่อผู้เขียน หากเขียนโดยไม่คำนึงถึงผู้อ่าน เวลาเขาอ่านไม่ตรงใจก็จะไปโทษเขาไม่ได้
เมื่อวิจารณ์เสียขนาดนี้แล้วก็ขอเสนอแนวทางการเขียนใหม่ หากจะไม่เขียน Phuket ก็ควรเขียนว่า Puket ฝรั่งออกเสียงได้ตรงแน่นอน ส่วนคนไทยจะอ่าน “ปูเก็ต” ก็ให้มันรู้ไป เช่นเดียวกับคงไม่อ่านว่า “ชุมปอน” เพราะรู้ดีว่าประเทศไทยไม่มีจังหวัดปูเก็ตเช่นเดียวกับไม่มีจังหวัดชุมปอน รวมทั้งจังหวัดเป๊ดชบุรี, เป๊ดชบูรณ์, กำแพงเป๊ด, ปั๊ดทลุง และปังงา
สัปดาห์ที่แล้ว ผมไปร่วมงานแต่งรุ่นน้องผู้เป็นอาจารย์สอนภาษาไทยอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี เธอชื่อ “พรนภัส” เขียนป้ายในงานว่า Pornnapat ผมถามเธอว่า “ทำไมไม่เขียน Phonnaphat ล่ะ?” เธอตอบว่า “เมื่อก่อนเขียน แต่เพื่อนฝรั่งอ่านออกเสียงว่า ‘ฟนนะฟัต’ ก็เลยเปลี่ยน” ถามต่อว่า “Porn แปลว่าหนังโป๊ ไม่กลัวฝรั่งจะคิดว่าเธอเล่นหนังโป๊หรือ” คำตอบคือ “ฝรั่งไม่เข้าใจผิดเพราะภาษาอังกฤษเขียนแยก เช่น I watch a porn movie แต่ชื่อ Pornnapat เขียนติดกัน เขารู้ว่าเป็นการเทียบเสียงให้ตรงเท่านั้น”
ก็จริงของเธอ ทีจังหวัดอ่างทองยังเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Ang Thong ทั้งๆ ที่ Thong สามารถแปลได้ว่า “กางเกงชั้นในชนิดหนึ่ง” แต่ฝรั่งไม่ถือ และไม่คิดว่าเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อด้านกางเกงใน แม้ว่าจะเขียนแยกพยางค์กันก็ตาม
(สถานี MRT กำแพงเพชร ฝรั่งอาจออกเสียงเป็น“กำ-แฟง-เฟ็ต”)
ดังนั้นเราคงสามารถเขียนจังหวัดชุมพรเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Chumporn หรือไม่ก็ Chumpohn เพราะหากเขียน Chumpon ฝรั่งก็จะออกเสียง “ชุมพน” (อันไปพ้องกับชื่ออำเภอ “ชุมพลบุรี” ในจังหวัดสุรินทร์) Chumpohn นี้ผมได้ไอเดียมาจากดาราสาวสวย “แต้ว ณฐพร” บัญชีโซเชียลมีเดียของเธอใช้ชื่อ “Natapohn” ยอมรับว่าเธอฉลาดมากที่หลีกเลี่ยงไม่ใช่ทั้ง Phon, Pon และ Porn เพราะในเมื่อ John อ่านว่า “จอน” แล้วทำไม Pohn จะอ่านว่า “พอน” ไม่ได้
เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมามีพายุไซโคลนลูกหนึ่งพัดถล่มอินเดีย บังกลาเทศ และศรีลังกา สร้างความเสียหายอย่างหนักถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต 128 ราย พายุนี้เป็นชื่อที่ตั้งโดยไทยเราเอง คือพายุ “อำพัน” เขียนอักษรโรมันว่า “Amphan” ผู้ประกาศข่าวทีวีช่องต่างประเทศจึงอ่านออกเสียงว่า “อำฟัน” เสียเป็นส่วนใหญ่ รถไฟฟ้า MRT จากสถานีบางโพนำผู้โดยสารไปทางทิศตะวันออก ผมลงจาก MRT สถานีจตุจักรแล้วเดินไปขึ้นรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีหมอชิต โดยสารต่อไปทางทิศใต้ ผ่านสถานีสะพานควาย ภาษาอังกฤษเขียนไว้ว่า Saphan Khwai
ขอให้ลืมเรื่อง “สะพาน” หรือ “สะฟาน” ไปเสีย เรามาพูดถึง “ควาย” กันดีกว่าครับ
คู่มือการถอดเสียงอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง พ.ศ.2542 ของราชบัณฑิตยสภา กำหนดให้พยัญชนะต้น “ก” แทนด้วย “K” ที่ท่านไม่ใช้อักษร G คงเพราะ G นั้นออกเสียงได้ทั้ง “ก” และ “จ”
ทีนี้พอแทน “ก” ด้วย K แล้วเสียง “ค” จะทำอย่างไร เมื่อคิดไม่ออกก็ต้องบอกอักษร H เพื่อนซี้ผู้เป็นคำตอบของทุกสิ่ง ทำให้ “Kh” เท่ากับ “ค” ในบัดดล
Kh = ค, w = ว, a = า, i = ย รวมกันเป็น “ควาย” สมดังใจ
ทว่าหากย้อนไปยังประเด็นที่ว่าจุดประสงค์คือต้องการเขียนให้ชาวต่างชาติอ่านออกเสียงไม่ผิดเพี้ยน ข้อกำหนดดังกล่าวนี้ตอบโจทย์ได้ถูกต้องหรือไม่ เพราะการใช้ K และ Kh จะไม่ต่างกัน คือออกเสียง “ค” เหมือนเดิม และส่วนมากฝรั่งจะไม่ออกเสียง K เป็น “ก”
ผมได้ยินมาแล้ว Khon Kaen ฝรั่งอ่าน “คอนแคน”, Kanchanaburi อ่าน “คันชะนะบุรี”, Krabi อ่าน “คราบี” และที่คลาสสิกมากคือ “บางกอก” ที่เขียน Bangkok ฝรั่งออกเสียง “แบงค็อก” คนไทยไม่น้อยก็ “แบงค็อก” ตามฝรั่งไป
แต่ผมรู้สึกใจคอไม่ดีตอนสาวๆ ชาวไทยออกเสียง “ไอ เลิฟ แบงค็อก” ให้หนุ่มฝรั่งตาน้ำข้าวฟัง กลัวเขาจะแกล้งไม่ได้ยินพยางค์ “แบง” น่ะสิครับ ยิ่งถ้าบ้านเจ้าหล่อนอยู่เขตบางกอกน้อยหรือบางกอกใหญ่ หวั่นว่าฝรั่งจะได้ยินเป็น “สมอลค็อก” หรือ “บิ๊กค็อก” แล้วมันจะยุ่งนะครับ
ขอยกตัวอย่างสนุกๆ อีกสักตัวอย่างครับ หากคุณเป็นสุภาพสตรีชื่อ “กิ่ง” คุณจะเขียนชื่อด้วยอักษรโรมันว่าอย่างไร เพราะถ้าเทียบตามตารางของราชบัณฑิตยสภา จะต้องเขียนว่า King ที่นี้เพื่อนต่างชาติก็อาจเข้าใจผิดไปหลายประการเลยนะครับ
(สถานีบางพลู พอใส่ตัว H ชาวต่างชาติอ่าน “บางฟลู”ถ้าไม่ใส่ก็คงไม่มีใครอ่านว่า “บางปลู”)
รถไฟฟ้า BTS วิ่งสู่ทิศใต้ต่อไป ผ่านสถานีอารีย์ สนามเป้า อนุสาวรีย์ชัยฯ พญาไท และราชเทวี ที่สถานีราชเทวี ป้ายภาษาอังกฤษเขียนไว้ว่า Ratchathewi
ใช่ครับ ผมจะพูดถึงการใช้ Th หน่วยงานการใช้ภาษาของเราให้แทน “ต” ด้วย “T” และแทน “ท” ด้วย “Th” ก็เพราะเชื่อว่าใส่ h เข้าไปแล้วอะไรๆ มันก็จะเข้มขึ้น จากเสียง “ต” เป็นเสียง “ท” ทันที
แต่หากเทียบกับการออกเสียงในภาษาอังกฤษแล้วมันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
เพราะ Team อ่านว่า “ทีม”, Tank อ่านว่า “แท็งก์”, Tom อ่านว่า “ทอม”, To อ่านว่า “ทู”
ส่วน Theme ออกเสียงไปทาง “ตีม”, Think ออกเสียงไปทาง “ติง”, Thank ออกเสียงไปทาง “แต็ง”
และ Think tank ออกเสียง “ติง แท็ง” แปลว่าคณะทำงานระดับมันสมอง อะไรทำนองนั้น
หากเป็นเช่นนี้ จังหวัดนครปฐมที่ถูกกำหนดให้เขียนว่า Nakhon Pathom, จังหวัดปทุมธานี เขียนว่า Pathum Thani, จังหวัดพัทลุง เขียนว่า Phatthalung ชาวต่างชาติจะออกเสียงได้ตรงกว่าไหมหากเขียนว่า Nakorn Patom, Patum Tani และ Pattalung ตามลำดับ นั่นคือให้ P แทนทั้ง “ป” และ “พ” และ T แทนทั้ง “ต” และ “ท”
กรณีคล้ายๆ กันนี้ อินเดียทำได้อย่างน่าสนใจด้วยการใช้ Bh แทนเสียง “พ” และ Dh แทนเสียง “ท” เช่นเดียวกับในราชสำนักของไทย
ผมไม่แปลกใจที่โดนัลด์ ทรัมป์ ออกเสียงชื่อประเทศไทย เป็น “ไตแลน” นอกจากความเป็นทรัมป์แล้ว ก็เพราะทรัมป์เอา Thai ไปเทียบกับคำว่า Thigh (อ่านออกเสียงไปทาง “ไต” เพราะพยัญชนะต้นคือ Th) ที่แปลว่า “ต้นขา” และผมก็เคยได้ยินทรัมป์ออกเสียง Taiwan เป็น “ไทวาน” ซึ่งอันนี้เป็นการออกเสียงเหมือนกับคนส่วนใหญ่ในโลก
เรื่องนี้อาจไม่เป็นปัญหาหากเรายังใช้ชื่อประเทศว่า “สยาม” (Siam) แต่จอมพล ป.พิบูลสงครามก็ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “ไทย” เขียนด้วยอักษรโรมันว่า Thailand เป็นหนึ่งในไม่กี่ชาติในโลกที่ใช้คำว่า “แลนด์” นอกจากอิงแลนด์, ไอร์แลนด์, สกอตแลนด์, เนเธอร์แลนด์, โปแลนด์, สวิตเซอร์แลนด์, ไอซ์แลนด์, นิวซีแลนด์ และสวาซิแลนด์
ประมาณห้าหกปีที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่าเพราะกำลังจะมีทีวีดิจิตอล หรือตอนที่กำลังจะเปลี่ยนชื่อ “กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” เป็น “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” เมื่อกันยายน 2559 (มีราชบัณฑิตฯ เคยค้านการใช้คำว่า “ดิจิทัล” ในชื่อกระทรวง แต่ด้วยเหตุผลเรื่องความหมาย ไม่ใช่เหตุผลด้านการออกเสียง) หน่วยงานการใช้ภาษาของเราก็ให้เขียน Digital เป็นภาษาไทยว่า “ดิจิทัล” (ทีอย่างนี้ ท = T) จากที่เราคุ้นชินกันมานานกับคำว่า “ดิจิตอล” (เพราะท่านกำหนดไว้เองว่า ต = T และ ท = Th)
สมัยที่ยังเขียน “ดิจิตอล” มีคนออกเสียงไป 2 ทาง คือ “ดิ-จิ-ต้อน” และ “ดิ-จิ-ต้อว” พอกลายร่างเป็น “ดิจิทัล” ดิจิต้อนและดิจิต้อวยังคงอยู่ บวกเข้ามาใหม่ด้วย “ดิ-จิ-ทัน”, “ดิ-จิ-ทั่น”, ดิ-จิ-ท่อน”, ดิ-จิ-เท่า” และ “ดิ-จิ-โท่ว” สำเริงสำราญกันยกใหญ่
ความเห็นของผมคือ ใช้ “ดิจิตอล” ก็ดีอยู่แล้ว แม้ว่าจะออกเสียงไม่ตรงเสียทีเดียว เพราะคำบางคำมีเล่ห์เหลี่ยมมากจริงๆ
ในโฆษณาที่เกี่ยวกับกระทรวงดิจิทัลฯ มีการออกเสียงว่า “ดิจิทั่น” จึงทราบว่าเขาตั้งใจให้ออกเสียงอย่างนี้ ทั้งที่ Digital ไม่ได้อ่านออกเสียงในภาษาอังกฤษใกล้เคียงกับ “ดิจิทั่น” เลยสักนิด เชื่อว่าหลายคนคงตั้งคำถามกันอยู่บ้างในใจ มันกลายเป็นดิจิทั่นไปได้อย่างไร เป็นคำอ่านออกเสียงเดียวกับคำว่า “ท่าน” หรือ Sir ในภาษาอังกฤษ
ผมดูรายการ Tech Reports ทางช่อง TNN16 เมื่อค่ำวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ดำเนินรายการโดยคุณชล วจนานนท์ มีรายงานชิ้นหนึ่งที่สคริปต์มีคำว่า Digital อยู่หลายสิบครั้ง เธอออกเสียงทั้งดิจิทั่น ดิจิเท่า ดิจิต้อว และดิจิต้อนในรายงานชิ้นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าการใช้ T และ Th นี้ (ยกเว้นกรณี “ดิจิทัล”) รวมถึง K และ Kh อาจไม่ก่อให้เกิดความสับสนมากระดับเดียวกับ P และ Ph เพียงแต่รู้สึกว่าหากเราใส่อักษร H มากเกินไป ทำให้รกรุงรังและกินเนื้อที่โดยไม่จำเป็น
ที่กล่าวถึงไปทั้งหมดไม่ขอวิจารณ์เรื่องการเขียนชื่อเล่น ชื่อจริง และนามสกุลของแต่ละบุคคลนะครับ ให้ถือเป็นรสนิยมส่วนตัว เพียงแต่อยากแซวหน่วยงานผู้กำหนดการใช้ภาษาแบบขำๆ เท่านั้น เพราะพวกท่านคงไม่เปลี่ยนแปลงตามใจของเราง่ายๆ อย่างวัน Halloween ท่านยังคงกำหนดให้ใช้ “ฮาโลวีน”
จึงต้อง “ฮา” กันตอนไป ฮากันวันหยุดนะครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |