บางคนก็ไม่แน่ อาจติดคุกก็มี อาจโดนลงโทษหรืออาจถึงขั้นถูกลอบทำร้าย อุ้มหายแบบความรุนแรงในอดีต เด็กนักศึกษาเหล่านี้มีสิทธิ์ได้รับ เพราะพวกเขาเข้าไปสู้ในหัวใจของปัญหาที่มีผลประโยชน์มหาศาล
หากใช้ 112 จะเกิดผลต่อสถาบัน
เป็นไปได้อาจเกิด 'รัฐประหาร'
การเคลื่อนไหวทางการเมืองของม็อบสามนิ้วโดยการนำของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยสัปดาห์ก่อนหน้านี้ได้มีการนัดหมายวันที่ 25 พ.ย.จะเคลื่อนไหวรวมตัวกันบริเวณหน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์เมื่อ 19 พ.ย. ระบุว่าจะมีการเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมาย
จากข้อมูลข้างต้นทำให้คาดได้ว่า สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองนับจากนี้จะทวีความร้อนแรงต่อเนื่อง และจุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เส้นทางคดี-ชะตากรรมของแกนนำม็อบ โดยเฉพาะแกนนำที่ยังเป็นนักศึกษาซึ่งมีอยู่หลายคนจะเป็นอย่างไร ประเด็นนี้ กฤษฎางค์ นุตจรัส-ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความของแกนนำม็อบคณะราษฎร 2563 จะมาสรุปทิศทางคดีให้รับรู้ โดยทนายกฤษฎางค์รับผิดชอบเป็นทนายความให้นักศึกษาและนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่ยุค คสช. เช่น กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ จนถึงปัจจุบัน
กฤษฎางค์ สรุปภาพรวมคดีของแกนนำม็อบและผู้ชุมนุมทางการเมืองม็อบสามนิ้วจนถึงปัจจุบันว่า ตั้งแต่ 13 ต.ค.63 เป็นต้นมา ตามข้อมูลพบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีอยู่ประมาณ 90 กว่าราย โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีอยู่ในชั้นตำรวจประมาณแปดสิบกว่าคดีทั่วประเทศ ทั้งหมดอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ความผิดส่วนใหญ่โทษสูงสุดที่เป็นข้อหาหนักก็คือ คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 เรื่องการประทุษร้ายต่อสมเด็จพระราชินีฯ ที่เสด็จฯ ผ่านผู้ชุมนุม ส่วนโทษพื้นฐานที่แกนนำโดนก็คือ การเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เป็นเรื่องการแสดงความคิดเห็น ที่ทำให้ประชาชนก่อความวุ่นวายตามกฎหมายความมั่นคง ที่เหลือพบว่าส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องการแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.รักษาความสะอาด, พ.ร.บ.จราจร โดยผู้ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา เยาวชน ซึ่งตอนนี้ได้รับการประกันตัวทั้งหมดแล้ว
ส่วนกรณีนายกฯ ออกแถลงการณ์จะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่เอาผิดกับผู้ชุมนุมที่กระทำความผิดนั้น ในความเป็นจริงรัฐบาลก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเขาก็ใช้กฎหมายทุกมาตราอยู่แล้ว จึงมองว่าเป็นเรื่องของการขู่มากกว่า เพราะเดิมปกติรัฐบาลมักจะทำมากกว่ากฎหมายด้วยซ้ำไป มองว่าเป็นการกำชับบทบาทของตำรวจให้รุนแรงมากขึ้นเท่านั้นเอง เพราะตอนนี้ตำรวจก็ใช้กฎหมายทุกมาตราอยู่แล้ว แม้แต่เรื่อง พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ที่เด็กนักศึกษาเอาผ้าขาวไปผูกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังใช้เลย ผมเลยไม่แปลกใจ
-มองกันว่าอาจมีการนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เอาผิดผู้ชุมนุม?
ก็มีการให้ความเห็นกันโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย แต่ผมมองว่ามาตรา 112 ถ้านำมาใช้ คดีก็ต้องไปสู้กันในชั้นศาล แล้วจะเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เองมากกว่า เพราะตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านก็ทรงมีความเห็นชัดเจนว่าไม่ควรมีการดำเนินคดีในมาตรานี้ เพราะว่าผู้เสียหายก็คือพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ตำรวจ ผมก็คิดว่ารัฐบาลคงไม่กล้าที่จะมาทำ ถ้าทำก็เป็นการขัดต่อพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เอง จึงไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล และผลร้ายก็จะเกิดแก่องค์พระมหากษัตริย์มากกว่า เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงเคยให้ความเห็นไว้ ซึ่งที่ผ่านมาจากการรับผิดชอบว่าความคดีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง 4-5 ปีมานี้ ก็พบว่ายังไม่เคยมีใครโดนเอาผิดเรื่อง 112 โดยคดีสุดท้ายที่ผมว่าความก็คือคดีของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน
-ที่ผ่านมาการสอบสวนดำเนินคดีต่อแกนนำม็อบของพนักงานสอบสวน มีความผิดปกติอะไรหรือไม่?
คดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองที่นำโดยกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรในขณะนี้มันมีอยู่ 2 มิติ โดยมิติแรกก็คือ การดำเนินคดีโดยใช้กฎหมายต่างๆ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแบบทั่วๆ ไป เช่น การตั้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือความผิดตามมาตรา 116
ส่วนมิติที่สอง ทั้งหมดพูดได้เลยว่ามันเป็นคดีทางการเมืองทั้งสิ้น เนื่องจากผู้ถูกดำเนินคดีถูกแจ้งข้อกล่าวหา คือผู้ชุมนุมคัดค้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เรียกร้องให้แก้ไข รธน.และปฏิรูปสถาบัน ซึ่งทั้งหมดตามคำนิยามของสากลโลก มันคือ คดีทางการเมือง อันมีผลทำให้การดำเนินคดีค่อนข้างที่จะมีการเอนอิงไปกับอำนาจทางการเมืองเพื่อบีบคั้นผู้ชุมนุม ยกตัวอย่างเช่น ปล่อยแล้วจับ จับแล้วปล่อย หรือแม้กระทั่งการตั้งข้อกล่าวหาที่หนักเกินกว่าความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น การแสดงความคิดเห็นก็โดนเอาผิดมาตรา 116 ที่มันเป็นเรื่องตลกมาก ขณะที่ฝ่ายอื่นเดินขบวนหรือมาเรียกร้องให้ทำรัฐประหาร แต่ก็ไม่มีใครโดนมาตรา 116
"การที่มีมิติของการเป็นคดีทางการเมือง ทำให้เราหนักใจ เพราะหากให้วิจารณ์กันจริงๆ ก็คือ ฝ่ายการเมืองใช้อำนาจทางกระบวนการยุติธรรม เช่นตำรวจมาบีบคั้นผู้ชุมนุม เพื่อหวังผลในการทำให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม"
ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้อย่างหนึ่งว่า การดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนในคดีทางการเมืองที่ผมรับผิดชอบเข้าไปช่วยนักศึกษา การดำเนินการของพนักงานสอบสวนไม่เป็นอิสระ เพราะกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีการออกแบบโครงสร้างให้มี คณะพนักงานสอบสวนและสืบสวน ที่มีตั้งแต่ยุคพลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ในยุค คสช.จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมันตลกมากเพราะโดยหลักต้องแบ่งการสืบสวนกับการสอบสวนออกเป็นคนละส่วนกัน ฝ่ายสืบสวนไม่มีสิทธิ์มาสอบสวน เพราะเท่ากับไปจับแล้วก็มาสอบเอง แต่เมื่อทำเป็นรูปคณะก็มาอ้างว่าการดำเนินการตัดสินใจต่างๆ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งในทางกฎหมายเขาตั้งได้ แต่มันจะขัดกับอำนาจหน้าที่หรือไม่ เพราะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต้องแยกการสืบสวนกับการสอบสวนออกจากกัน เอามารวมกันไม่ได้ อีกทั้งบางคดีไม่สมควรไปขอออกหมายจับ เพราะต้องออกหมายเรียกก่อน แล้วพอผมในฐานะทนายความถามตำรวจ เขาก็จะบอกแต่ว่า ผู้ใหญ่สั่ง จนระยะหลังศาลอาญาไม่ออกหมายจับให้ แม้ตำรวจไปขอออกหมายจับ เช่น ขอออกหมายจับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล เลยต้องออกหมายเรียกแทน
-จากรูปคดีทั้งหมดมีโอกาสหรือไม่ที่จะสู้คดีจนทำให้อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องแกนนำและผู้ชุมนุม?
เท่าที่ผมดูมาในพฤติการณ์แห่งคดี ทุกคดีเป็นการแสดงความคิดเห็นตามจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นกรณีอย่างเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออก อันเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะเรียกร้องได้ ส่วนข้อเรียกร้องที่สามที่หลายคนบอกว่าอ่อนไหว แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติ คือเรื่องการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการเรียกร้องผ่านระบบรัฐสภา ยกตัวอย่างเช่น การเรียกร้องให้รัฐสภานำ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ที่รัฐสภาเคยให้ความเห็นชอบ ให้นำกลับมาพิจารณาใหม่ ผมก็มองว่าพวกเขาก็เรียกร้องตามกฎหมาย
"แนวทางต่อสู้คดีต่อจากนี้โดยเฉพาะในชั้นอัยการและศาล เราคงต้องขอความเป็นธรรม ให้ทั้งอัยการและศาล เห็นว่าการกระทำของเด็กนักศึกษาไม่ได้ทำผิดตามข้อกล่าวหา และมีการตั้งข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงเกินความเป็นจริง ที่อาจจะต้องพิจารณาดำเนินคดีลงโทษพนักงานสอบสวนด้วยซ้ำไป"
ส่วนความเป็นไปได้หรือไม่ที่ตำรวจจะสั่งไม่ฟ้องแกนนำ ก็ตอบว่าเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเขาต้องการจะยื่นฟ้อง เราอย่าไปหวังความเป็นธรรมว่าเขาจะให้ ผมไม่เห็น อย่างผมพูดแทนลูกความผม เขาก็ไม่หวังว่าตำรวจจะสั่งไม่ฟ้อง เพราะตำรวจก็ไม่ฟังพวกเขา ก็ต้องไปหวังในชั้นอัยการและชั้นศาล
ผมก็มองว่าที่ผ่านมาเขาดำเนินคดีอาญากับคนโดยไม่มีเหตุผล เพราะหากจะมาบอกว่าพวกเขาชุมนุมโดยผิดตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ คือชุมนุมโดยไม่แจ้งก่อน แบบนี้ถือว่ามีเหตุผล แต่เขาก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วย คือต้องไปแจ้งให้เขาเลิก โดยหากไม่เลิกก็ต้องไปฟ้องศาลแพ่ง เพราะการชุมนุมในที่สาธารณะไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งให้ตำรวจทราบ โดยหากตำรวจเห็นว่าชุมนุมไม่ได้ ตำรวจถึงต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้เลิกชุมนุม ไม่ใช่เอากำลังมาสลาย ผมก็มองว่าก็มีการกระทำที่เกินไป หรืออย่างเอา พ.ร.บ.รักษาความสะอาดมาดำเนินคดีกับเพนกวิน ที่เอาโบขาวไปผูกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งจริงๆ มันเป็นคดีลหุโทษ ไม่มีสิทธิ์ไปจับเขา อีกทั้งไม่มีสิทธิ์ไปห้าม จะไปบอกให้เขาเลิกไม่ได้ ต้องไปดำเนินคดีสืบพยานกัน อันนี้พูดถึงคดีที่มีข้อหาเบาๆ ก็ยังมีการแกล้งกันเลย
"คือผมว่าคดีแบบนี้ที่เป็นคดีการเมือง การจบซึ่งคดีแบบนี้มันเป็นเรื่องรกโรงรกศาล ก็เห็นมี ส.ว.บางส่วนเสนอให้นิรโทษกรรมไปเลย แล้วเปิดโอกาสให้เขาแสดงความคิดเห็น ก็ไม่เกิดความขัดแย้งกัน คือทางจบมันมีเยอะแยะ เพียงแต่ฝ่ายเขาจะเลือกหรือไม่"
โดยรูปคดีแล้วผมไม่กังวลใจแกนนำใครสักคน เพราะผมเชื่อว่าพวกเขาบริสุทธิ์ แต่ถ้าโดยฐานะก็พวกแกนนำที่เขาต้องการหมายหัว ก็คงพวกอานนท์ นำภา, รุ้ง, เพนกวิน ซึ่งเขาไม่ได้กังวลเรื่องคดี แต่ผมมองว่าเขาควรดูแลความปลอดภัยของตัวเอง เพราะพลังในระบบเก่ามันโหดร้าย เพราะผมผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มา ผมเข้าใจว่าไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล มันเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างความคิดใหม่กับระบอบเก่า คือเราอยากบอกความจริงว่า เราไม่ได้บอกว่าความคิดนักศึกษาถูก หรือความคิดระบอบเก่าผิด แต่การต่อสู้เมื่อโลกมันเปลี่ยนมาขนาดนี้แล้ว ผมก็เป็นคนเก่า แต่ทำไมผมเห็นด้วยกับเด็กนักศึกษา เพราะผมเห็นว่าอนาคตทั้งโลกเป็นของพวกเขาอยู่แล้ว แล้วสิ่งที่เขาเสนอโอเค มันใช่ แต่เรายังเวียนว่ายตายเกิดแบบความคิดเก่าๆ ที่ไม่ได้พาประเทศไปไหนเลย
-ในฐานะมีประสบการณ์เป็นอดีตนักศึกษาช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มองที่บางฝ่ายออกมาต่อต้านการชุมนุมทางการเมือง มีการเรียกแกนนำม็อบว่าพวกชังชาติ จ้องล้มสถาบัน ให้ออกไปอยู่นอกประเทศ อย่างไรบ้าง?
ในยุคผมตอนปี 2519 การกล่าวร้ายป้ายสีมีพลังมาก เพราะตอนนั้นสังคมยังปิดอยู่ ผมอยู่ในเหตุการณ์ปี 2519 ผมรู้มันน่ากลัว แต่พอมาวันนี้ผมเห็นว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้มันไม่แหลมคมแล้ว โดยโอกาสที่จะทำให้ผู้คนมาเป็นปฏิปักษ์ต่อกันมันยาก แถมยังจะทำให้คนเข้าใจด้วยซ้ำว่าควรจะมีการปฏิรูปสถาบัน ที่สังเกตดูเขาใช้แน่ เป็นหนทางเดียวที่จะเอามาต่อต้านนักศึกษา เอาแบบตอน 6 ตุลาคม 2519 ว่าล้มเจ้า ชังชาติ แล้วถามว่ามีใครฟังเขาบ้าง ก็อาจจะมี แต่ไม่เป็นพลังเพียงพอเพราะในสังคม เราสู้กันด้วยเหตุผล ถ้าเหตุผลยังชัดเจนอยู่ ผมว่าอีกฝ่ายหนึ่งเขาจะมาร่วมกับเด็กๆ เอง ผมมองว่า อาวุธเขาที่จะเอาเรื่องพวกนี้มาใช้คงไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าเด็กนักศึกษายืนหยัดอธิบายได้ด้วยท่าทีแบบทุกวันนี้ ผมเชื่อว่าต่อไปคนจะเข้าใจ
-จะไปถึงขั้นสุดท้ายเกิดกระแสขวาจัดแบบช่วง 6 ตุลาคม 2519 ได้หรือไม่?
อาจจะเกิด ผมเคยพยากรณ์ไว้แล้วว่าจะเกิดหรือไม่เกิดอยู่ที่อำนาจรัฐ อำนาจเก่า ไม่ได้อยู่ที่อาชีวะ หรือกระทิงแดงมาถือปืนมายิง 6 ตุลาคม 2519 เกิดเพราะผู้มีอำนาจสั่งให้มาทำ ไม่ใช่พวกนั้นรักชาติจนมาฆ่าคน เพราะฉะนั้นจะเกิดหรือไม่เกิดในวันนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลทหาร คือพลเอกประยุทธ์จะเอาอย่างไร จะสั่งให้กลุ่มคนเหล่านี้บุกลุยตีไหม ผมเชื่ออย่างนั้น ไม่ใช่ว่าคนเหล่านั้นจะรักชาติจนคว้ามีดมาฟันคนเสียเมื่อไหร่ เพราะคนเหล่านั้นหากไม่มีพลังอำนาจมาหนุน เขาไม่กล้ามาทำขนาดนี้หรอก
...การจะเกิดเหตุวุ่นวายแบบที่เคยเกิดขึ้นที่รามคำแหงจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าก็อาจเกิดขึ้นได้ถ้าผู้มีอำนาจสนับสนุน แต่ถ้าผู้มีอำนาจไม่สนับสนุนคนพวกนั้นไม่ทำหรอก ผมก็คิดว่าเหตุการณ์แบบ 6 ตุลาคม 2519 น่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะหากมันเกิดขึ้น มันขึ้นอยู่กับรัฐบาลต้องการให้เกิด ซึ่งหากว่าเกิดแล้วจะอยู่ยังไงบนโลกนี้ เพราะมันไม่เหมือนในอดีต เพราะหากมีกระสุนปืนเกิดขึ้นแล้วนักศึกษาล้มตาย รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ ก็ยังหวังว่าเขาจะฉลาดพอที่จะไม่ทำ แต่ก็ไม่แน่หากเขาโง่ทำก็จะไม่มีที่ยืน แล้วเขาจะก็ไม่ชนะด้วย จะอยู่ไม่ได้ตั้งแต่วินาทีต่อไป จะไม่เหมือน 6 ตุลาคม 2519 อีกแล้ว
กฤษฎางค์-ทนายความแกนนำม็อบปลดแอก ยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการตั้งวงพูดคุยเพื่อหาทางออกจากสถานการณ์ในเวลานี้ด้วยว่า คงคุยได้ การคุยกันก็คือเอารัฐบาลมานั่งคุยกันกับตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมว่าตกลงจะเอายังไงกัน ก็คุยกันถึงปัญหาต่างๆ เลย นักศึกษาเขาก็อาจจะถามทำไม นายกฯ ไม่ลาออก ทางพลเอกประยุทธ์ก็อาจบอกไม่ได้ทำผิดอะไร แต่นักศึกษาบอกคุณผิด แบบนี้ก็มาคุยกัน มันจะได้เข้าประเด็นเพราะประเด็นมันมีอยู่แค่นี้
ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบัน มันเป็นกระบวนการที่ต้องผ่านรัฐสภา เช่น เรื่องของพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลฯ ก็ต้องมาทำผ่านรัฐสภาอยู่แล้ว แต่ต้องเกิดหลังผ่านกระบวนการพูดคุยกันในเรื่องข้อเรียกร้องที่ให้นายกฯ ลาออกกับเรื่องแก้ไข รธน.ก่อน
..ส่วนเรื่องข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ทำผ่านกระบวนการรัฐสภา ยกตัวอย่าง พอรัฐบาลปัจจุบันที่เข้ามาหลังเลือกตั้ง แล้วมีการออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 และต่อมามีการนำเข้าไปให้รัฐสภาเห็นชอบ อันนี้เรายอมรับได้ แต่เราบอกว่ากฎหมายนี้ไม่ถูกต้อง ควรยกเลิก การทำก็ต้องผ่านกระบวนการรัฐสภา คือต้องออกกฎหมายมายกเลิก พ.ร.ก.ดังกล่าว ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปล้มได้ยังไง
....ข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันก็เป็นผลพลอยมาจากการที่คนเขาไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่มีอยู่ จึงเสนอให้ใช้กระบวนการรัฐสภาแก้ไข แต่การแก้ไขได้มันต้องผ่านการแก้ไข รธน.ก่อน เพราะตราบใดที่ยังมี ส.ว.อยู่ มันแก้ตรงนี้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะกฎหมายมันต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วย หรืออีกกรณีคือ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 ที่มีการแก้ไขในยุคปลายๆ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติยุค คสช. ซึ่งเดิมไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะตั้งแต่หลัง 2475 สำนักงานทรัพย์สินฯ ก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง เราใช้มา 80 ปีแล้ว พอ คสช.ทำรัฐประหาร สนช.ก็ผ่านกฎหมายนี้ ทางนักศึกษาก็เรียกร้องให้ยกเลิก วิธีการก็คือออกกฎหมายอีกฉบับมายกเลิกผ่านกระบวนการรัฐสภา
เมื่อถามถึงการประเมินสถานการณ์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป กฤษฎางค์ ให้ทัศนะว่า ยังคาดเดาไม่ออก แต่เท่าที่ติดตามดูผมว่าพวกเด็กนักศึกษาเขาไม่หยุด เพราะเขามองว่าตอนนี้รัฐบาลไม่ได้คุยกับเขาเลย เอาแต่ปราบปรามจับกุม แทนที่จะมาพูดถึงปัญหา ทำให้เด็กก็จะไม่หยุด ผมเดาไม่ออกมันจะจบอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าถ้ามีใครกระตุกรัฐบาลผ่านช่องทางต่างๆ เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ มันก็อาจมาคุยกันแล้วมาพบกันครึ่งทางได้ แล้วประเทศก็จะได้เดินต่อไปในแนวทางที่ค่อยๆ ปฏิรูปไป แต่หากรัฐบาลยังแข็งขืนแบบนี้ ก็อาจจะกลับไปสู่กรณีแบบที่ประเทศอาจกลับไปสู่การรัฐประหาร โดยทหาร หรือรัฐบาลนี้ล้มไป แล้วมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งที่ดีขึ้นมา ก็มีสองทางเท่านั้นเอง
ถามย้ำว่ายังเชื่อว่าอาจจะมีรัฐประหาร ทนายความแกนนำม็อบคณะราษฎร 2563 ตอบกลับมาว่า ยังเชื่ออาจจะมี เพราะว่าพลังอำนาจเก่าที่จะเอาชนะในปัจจุบันใช้ได้แต่กำลังอย่างเดียว ถ้าจะมาต่อสู้ทางความคิด เพราะเขาจะปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้ เขาก็ต้องสร้างสถานการณ์ คือจริงๆ เขาใฝ่ฝันอยากเอาอำนาจกลับคืนอยู่แล้ว ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปัจจุบัน แต่พลังของเราเติบโตขึ้นมา ผมเชื่อว่าเขาจะก่อการรัฐประหาร แต่การทำก็ต้องสร้างเงื่อนไข เงื่อนไขแบบที่ถามก็คือ เอาคนมาปะทะนักศึกษา เพื่อให้เกิดความวุ่นวายแล้วทหารก็ออกมาทำรัฐประหาร นี่คือละครฉากเก่าๆ ทำมาทุกครั้ง เพราะเขาคิดแบบอื่นไม่เป็น จะชนะได้ทางเดียวเพื่อจะควบคุมได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือรัฐประหาร เพื่อเอาอำนาจมา แต่อาจจะหลอก เช่นบอกว่าจะให้เลือกตั้งภายในหนึ่งปี แล้วบอกคนไม่อยากให้มี ส.ว.ใช่ไหม ก็ยอม แต่ขอให้มี ส.ส.สองประเภท ประเภทหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง ก็มาหลอกกันไป
ถึงตอนนี้ผมพูดตรงๆ ไม่ได้เข้าข้างใคร ก็ควรหันหน้ามาคุยกัน แล้วรัฐบาลก็ยอมรับข้อเสนอของผู้ชุมนุมเขาเท่าที่รับได้ก่อน แล้วหยุดคุกคามประชาชน ถอยหลังคนละก้าวก็ได้ เช่นประกาศยกเลิกคดีเลย เพราะคดีพวกนี้ (คดีเอาผิดผู้ชุมนุม) เป็นคดีทางการเมือง คดีทางความคิด นิรโทษไปหมดเลย แล้วมานั่งคุยกัน นิรโทษก็เป็นการแสดงความจริงใจแล้ว จากนั้นก็มาคุยกันแต่ละประเด็นไปเลย เช่นที่ให้นายกฯ ลาออก ก็คุยกันจะลาออกหรือไม่ลาออกก็ให้บอกเหตุผล แต่นายกฯ ต้องจริงใจ ส่วนพวกแกนนำผมก็คิดว่าพวกเขาก็พร้อมจะคุย ซึ่งผมก็ไม่ได้ถามพวกเขาหรอก แต่ผมเป็นทนายให้เขา เคยเห็นนิสัยใจคอ การเจรจาความในศาล ผมก็คิดว่าเขาพร้อมจะคุย
-แต่บางเรื่องอย่าง ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จะคุยกันได้ด้วยหรือ?
ก็ต้องมานั่งคุยกันจริงจัง หากเด็กไม่มีเหตุผล เช่นบอกว่าทำแบบนี้ไม่ได้ เขาก็ต้องยอมรับ แต่สิ่งที่เขาพูดมาอย่างเรื่อง พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ เดิมก็ไม่เคยมีมา แล้วตอนนี้มี การที่เขาเห็นต่างทำไมจะทำไม่ได้ โดยหากรัฐบาลบอกว่าต้องออกกฎหมายดังกล่าว ทางนักศึกษาก็อาจถามกลับว่าแล้วรัฐบาลไม่มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยหรือ การที่โอนไปแบบนี้เท่ากับไปเพิ่มภาระให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เกิดสมมุติทหารในสังกัดไปทำร้ายประชาชนก็จะเกิดเป็นคดีทางแพ่ง อันนี้คือการไม่ปกป้องสถาบัน เพราะความจริง (กำลังพล) ต้องอยู่กับรัฐบาล เพราะมีหน้าที่ถวายความปลอดภัย เรื่องนี้เด็กนักศึกษามีเหตุผลชัด เพราะไปเพิ่มภาระให้สถาบันด้วยซ้ำไป เพราะเด็กเขาพูดถึงเรื่องสถาบันที่ต้องยืนยงต่อไปอีกเป็นร้อยปี แต่คนที่ออกมาต่อต้านไม่เคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพราะพระมหากษัตริย์ไทยท่านทรงปฏิรูปมาตลอดตั้งแต่สมัยอยุธยาฯ อย่างสมัยรัชกาลที่ 6 ท่านทรงประกาศให้ใช้กฎหมายมุสลิมในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านก้าวหน้าไหม แต่ทุกวันนี้พอมีการเรียกร้องให้ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปกครองตัวเอง คนกลับมาบอกจะมาแบ่งประเทศ พวกนั้นมันเหมือนพวกคลั่งเวทมนต์ ไสยศาสตร์ เดรัจฉานวิชา ยืนยันว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ท่านปฏิรูปเยอะ ดังนั้นที่เด็กออกมาเรียกร้องจึงพูดกันได้ง่าย ผมว่าจริงๆ ไม่มีใครคัดค้านหรอก เพียงแต่พวกเขาไม่กล้ามาพูดเพราะเขามีผลประโยชน์
เราถามปิดท้ายว่า สุดท้ายแล้วในฐานะทนายความของแกนนำม็อบโดยเฉพาะพวกกลุ่มนักศึกษา ชะตากรรมของแกนนำแต่ละคนสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร กฤษฎางค์-ทนายความแกนนำม็อบคณะราษฎร 2563 ตอบชัดๆ ว่า อนาคตของพวกเขาก็คงต่อสู้ต่อไปเต็มที่ ผมก็หวังว่าอนาคตของพวกเขา จะไม่เหมือนนักเคลื่อนไหวรุ่นพี่ๆ ที่ภายหลังขายอุดมการณ์ไปรับใช้ฝ่ายตรงข้าม ผมเชื่อว่าคนเหล่านี้หนักแน่นเพียงพอ ก็เคยมีคนพูดกับพวกเขาว่าเป็นนักต่อสู้ต้องมีบาดแผล ซึ่งความหมายมันลึกซึ้ง เพราะสิ่งที่พวกเขาไปต่อสู้แล้วได้รับ มันอาจเป็นวิบากจากผลการต่อสู้ เพราะเป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่มันไม่ใช่การเล่นหมากเก็บ เป็นเรื่องจริงจัง
“บางคนก็ไม่แน่ อาจติดคุกก็มี อาจโดนลงโทษหรืออาจถึงขั้นถูกลอบทำร้าย อุ้มหายแบบความรุนแรงในอดีต เด็กนักศึกษาเหล่านี้มีสิทธิ์ได้รับ เพราะพวกเขาเข้าไปสู้ในหัวใจของปัญหาที่มีผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งเด็กพวกนี้เขาก็พร้อมเสียสละต่อสู้”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |