Harvard Business School มหาวิทยาลัยดังของโลกเสนอแนะให้ไทยใช้ธุรกิจค้าปลีกเป็นเรือธง (National Champion) เพื่อแข่งข้ามชาติ เพราะเป็นพื้นที่สำหรับระบายสินค้าจากผู้ผลิตของไทยทั้งระดับใหญ่ (Large Enterprise) ระดับกลาง และระดับย่อย (Small and Medium Enterprise--SME) ดังนั้นเมื่อบริษัทในเครือซีพีสามารถซื้อหุ้นโลตัสคืนจากอังกฤษได้ ทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย จึงถือได้ว่าปรากฏการณ์ครั้งนี้คือประตูที่จะพาสินค้าของผู้ผลิตไทยในระดับ SME ก้าวไกลสู่อีกหลายประเทศในเอเชีย
การแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์ทุกประเทศควรมีธุรกิจเรือธง (National Champion) เพื่อแข่งขันข้ามชาติไปจนถึงสนามแข่งขันระดับโลกาภิวัตน์ (Global Arena) ดังนั้นในกรณีที่ซีพีเข้าซื้อเทสโก้ โลตัส กลับจากผู้ถือหุ้นชาวอังกฤษได้นั้น ซีพีโลตัสก็จะกลายเป็นเรือธงให้ประเทศไทยแข่งกับต่างชาติในตลาดค้าปลีก และการใช้ธุรกิจค้าปลีกเป็นเรือธงของเศรษฐกิจนั้น เป็นการเดินหน้าที่ถูกทางอย่างเป็นที่สุด ดังคำกล่าวที่ว่า “ใครครองธุรกิจค้าปลีก คนนั้นครองโลก” ดังนั้นเมื่อซีพีหันมาให้ความสนใจในการขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีกให้เป็นเรือธงของไทย (National Champion) เข้าแข่งขันแบบข้ามชาติ ย่อมทำให้ซีพีโลตัสจะเป็นพื้นที่สำหรับระบายสินค้า (Outlet) ที่ผลิตโดยบริษัทอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไกลไปทั่วโลก
โลตัสของกลุ่มซีพี มีที่ไทย มาเลเซีย จีน จะครอบคลุมประชากรกว่า 1,500 ล้านคน และเชื่อว่าด้วยวิสัยทัศน์ (Vision) ความสามารถ (Competency) และทรัพยากร (Resources) ของซีพี ธุรกิจค้าปลีกของซีพีจะต้องมีการต่อขยายออกไปที่เวียดนาม เขมร ลาว และอินเดีย ถึงเวลานั้นสินค้าของไทยที่ผลิตโดยโรงงานอุตสาหกรรมไทยทุกขนาดจะมีฐานตลาดมากกว่า 3,000 ล้านคน นั่นคือพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยที่ก้าวไปด้วยกันระหว่างบริษัทผู้ผลิต และบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีก โดยหลักการของการทำธุรกิจของเครือซีพีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าผู้บริหารของเครือซีพีให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เมื่อลงมือทำแล้วต้องติดตามผล ต่อยอดด้วยหลักการของความมุ่งมั่นสู่ความเติบโต (Growth Concept) และปรากฏการณ์ครั้งนี้ สิ่งที่เราจะได้เห็นคือการเติบโตไปด้วยกันทั้งผู้ผลิต ผู้ทำธุรกิจค้าปลีก ที่จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานจำนวนไม่น้อย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการพัฒนาสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
Harvard Business School ได้ศึกษาธุรกิจของเครือซีพี และเขียนวิเคราะห์ว่าประเทศไทยต้องมีองค์กรขนาดใหญ่อย่างซีพีเพื่อแข่งกับระดับโลกได้ เพราะประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียต่างก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่ ทุนหนาเป็นตัวแทนของประเทศในการแข่งขันในระดับโลกภิวัตน์ เช่น เกาหลีใต้ มีซัมซุง แอลจี และฮุนได ในขณะที่ญี่ปุ่นมี โตโยต้า ฮอนด้า และจีนมี หัวเว่ย อาลีบาบา เป็นผู้เล่นระดับโลกไปเปิดตลาดนำสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศตนไปผงาดในต่างประเทศ หากไม่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีขนาดของธุรกิจและทรัพยากรที่เพียงพอ ก็เป็นการยากที่จะไปต่อรองกับคู่ค้าทั้งหลายในตลาดโลก และก็ไม่อาจจะพาสินค้าที่ผลิตโรงงานระดับ SME ไปขยายตลาดในต่างแดนได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็คงจะเป็นการยากที่จะสร้างโอกาสให้ SME มีความมั่งคั่งและยั่งยืน บางครั้งอาจจะไม่ต้องพูดถึงความมั่งคั่ง แค่เอาให้อยู่รอดก็ยากแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้อย่างไร เรื่องของธุรกิจโลกาภิวัตน์นั้น เราจะปล่อยให้ธุรกิจของประเทศอื่นบุกประเทศไทยอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องมีธุรกิจเรือธงของเราออกไปบุกในประเทศอื่นด้วย เราจึงจะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
หลายคนอาจจะมองซีพีด้วยมิติว่าเป็นบริษัทใหญ่ ที่กินรวบ ผูกขาด ลองมองความเป็นจริงในทุกธุรกิจของซีพี ไม่มีธุรกิจใดเลยที่ซีพีผูกขาด เพราะทุกธุรกิจของซีพีมีคู่แข่งทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ธุรกิจโทรทัศน์ ธุรกิจโทรศัพท์ รวมทั้งธุรกิจค้าปลีก ทุกธุรกิจของซีพีอยู่ในสภาพของการแข่งขันทั้งนั้น และบางธุรกิจของการแข่งขันก็เข้มข้น รุนแรง ยุคนี้เป็นยุคของ "ความเร็ว” ที่ทำให้ชนะ ไม่ใช่ “ความใหญ่” ที่จะทำให้เป็นผู้ชนะ ตำราการจัดการธุรกิจบอกชัดเจนว่าการดำเนินธุรกิจในยุคนี้ “It’s speed, not size that leads to a victory” หมายความว่า “สิ่งที่ทำให้เดินสู่ชัยชนะคือความเร็วไม่ใช่ขนาดใหญ่” การที่ใครจะเร็วได้ต้องเป็นคนมองเห็นโอกาสได้ก่อนคนอื่น และมีวิสัยทัศน์ในการจะมองเห็นอนาคตได้ชัดเจนกว่าคนอื่นตามความหมายของคำว่าวิสัยทัศน์ (Vision) คือ “The ability to see the invisible of the future” หมายความว่า คนมีวิสัยทัศน์คือ คนมองเห็นสิ่งที่ยังไม่มีให้เห็นในอนาคตได้ก่อนคนอื่น ซึ่งน่าเป็นคุณสมบัติหนึ่งของผู้บริหารของเครือซีพี จึงสามารถเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ก่อนคนอื่น รวมทั้งการตัดสินใจซื้อหุ้นของโลตัสเพื่อใช้ธุรกิจเป็นเรือธงของประเทศไทยในการไปผงาดในต่างแดน พร้อมกับการสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตไทยที่จะได้ก้าวไกลไปในตลาดโลก
วิสัยทัศน์อย่างหนึ่งที่ผู้บริหารซีพีมีอย่างชัดเจนคือการมองเห็นยุทธศาสตร์ของชัยชนะ คือ การทำธุรกิจแบบบูรณาการ (Integration) บางเรื่องธุรกิจเดิมเป็นธุรกิจกลางน้ำ ซีพีก็จะมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องทำธุรกิจต้นน้ำ เพื่อให้เป็นการบูรณาการแบบย้อนกลับไปที่ต้นน้ำ (Backward Integration) บางอย่างเมื่อทำธุรกิจต้นน้ำแล้ว (ผลิตวัตถุดิบ) ทำธุรกิจกลางน้ำแล้ว (แปรรูปวัตถุดิบเป็นสินค้า) แต่ยังต้องอาศัยช่องทางการจัดจำหน่าย (Outlet) ของคนอื่น ก็หันมาทำธุรกิจค้าปลีกเพื่อเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่ตนเองผลิต เป็นการบูรณาการแบบก้าวไปข้างหน้า (Forward Integration) แต่ธุรกิจค้าปลีกสมัยนี้มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า (Shopping Mall) ห้างสรรพสินค้า (Department Store) ตลาดขนาดใหญ่ (Hyper Market หรือ Superstore) ร้านขายสินค้าราคาถูก (Discount Store) ตลาดสินค้าอาหารและของใช้ในครัวเรือน (Super Market) ร้านขายของเฉพาะประเภท (Specialty Store) และร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) ใครที่ต้องการประสบความสำเร็จในธุรกิจค้าปลีกควรจะบูรณาการธุรกิจค้าปลีกทุกประเภทเป็นการบูรณาการเชิงระนาบ (Horizontal Integration) ถ้าหากลองสังเกตดูกลุ่มธุรกิจค้าปลีกอย่างเช่นกลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มเดอะมอลล์ ก็จะมีการบูรณาการแนวระนาบเช่นเดียวกัน และทุกประเภทค้าปลีกก็มีส่วนสร้างความมั่งคั่งให้ผู้ผลิตของไทยทุกขนาด ทั้งขนาดใหญ่และขนาด SME
การได้เป็นเจ้าของโลตัสที่เป็นธุรกิจเรือธงในเวทีโลก ซีพีจะช่วยสร้างความมั่งคั่งให้ SME ไทยอย่างไร ขอติดเอาไว้ไปต่อสัปดาห์หน้าก็แล้วกันนะคะ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |