สาวเป็นศพอืด! ส่อกินยาลดอ้วน


เพิ่มเพื่อน    

    สาวฟรีแลนซ์ตายปริศนาคาคอนโดฯ พบยาตกเกลื่อน ขณะที่พยานยันผู้ตายเคยบอกกินยาลดอ้วน เร่งส่งพิสูจน์ ด้าน กสทช.จับมือ อย.เร่งระงับการโฆษณาผิด กม. โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือเครื่องสำอางที่มีการโฆษณาเกินจริง ปรับการทำงานส่งทีม อย.ประจำ กสทช.ตรวจสอบวันต่อวัน
    บ่ายวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ พล.ต.ต.สมพงษ์ ชิงดวง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วย พ.ต.อ.อภิวัชร์ ไชยศรีสุทธิ์ ผกก.สน.โคกคราม แพทย์นิติเวช และกองพิสูจน์หลักฐาน เข้าตรวจสอบห้องพักเลขที่  779/153 ชั้น 6 คอนโดฯ ส่วนบุคคลแห่งหนึ่งย่านถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม. หลังได้รับแจ้งพบผู้เสียชีวิตตายผิดธรรมชาติ โดยทางคอนโดฯ ไม่อนุญาตให้สื่อและผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไป ทราบชื่อผู้เสียชีวิตคือ น.ส.บุษยา การุญ อายุ 27 ปี อยู่บ้านเลขที่ 23/1 ซอยเมธีนิเวศน์ แขวงคลองตัน เขตคลองเตย นอนเสียชีวิตอยู่บนตียง สภาพเปลือย คาดเสียชีวิตมาประมาณ 10 วัน
    พล.ต.ต.สมพงษ์เปิดเผยว่า ภายในห้องไม่พบร่องรอยการต่อสู้ ในที่เกิดเหตุพบยาบางชนิดตกอยู่ ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นยาลดน้ำหนักหรือไม่ ซึ่งจะส่งให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ และเท่าที่สอบถาม ผู้ตายเป็นคนค่อนข้างใหญ่ แต่ตอนนี้ตัวเล็ก อาศัยอยู่เพียงลำพัง ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ และเป็นโรคซึมเศร้าหลังมารดาเสียชีวิต ประกอบกับตกงาน มักเก็บตัวอยู่แต่ภายในห้องพัก จนถูกตัดไฟตั้งแต่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทั่งมาพบศพ
    ด้านผู้ที่พักอยู่ใกล้ห้องเกิดเหตุเปิดเผยว่า ผู้ตายเคยบอกว่าอยู่ระหว่างลดน้ำหนักโดยกินยาลดความอ้วน
    วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการแถลงข่าวหลังการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางระงับการออกอากาศผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ไม่ผ่าน อย.และไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ ระหว่าง กสทช. อย. และผู้ประกอบการโทรทัศน์ โดยมีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช., นพ.ธเนศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. ร่วมกันแถลงข่าว
    นายฐากรกล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการทำงานร่วมกัน โดยทาง อย.จะส่งทีมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญมาประจำที่ กสทช.วันละ 6 คน เพื่อทำการตรวจสอบเนื้อหาวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย โดยการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ไม่ผ่าน อย. หากพบว่ามีการโฆษณาลักษณะดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจาก อย.จะทำหนังสือแจ้งมาเพื่อให้เลขาธิการ กสทช.ทำการแจ้งระงับโฆษณานั้นเป็นการชั่วคราวทันที ซึ่งการโฆษณาหลอกลวง หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับวันละ 1 แสนบาท
    “การหารือดังกล่าวเพื่อให้การควบคุมการโฆษณาเกินจริงผ่านทางโทรทัศน์ วิทยุ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในการส่งทีมผู้เชี่ยวชาญจาก อย.มาประจำที่ กสทช.นั้นมีกรอบเวลาทดสอบ 90 วัน เนื่องจากปัจจุบันมีการควบคุมโทรทัศน์ วิทยุ ทั้งหมดจำนวนมาก ประกอบด้วย ช่องทีวีพื้นฐานจำนวน 27 ช่อง ช่องทีวีดาวเทียวประมาณกว่า 400 ช่อง และสถานีวิทยุกระจายเสียงอีกประมาณ 6-7 พันสถานี ซึ่งก็พบว่าในสถานีวิทยุนั้นยังขาดองค์ความรู้ในเรื่องการทำการโฆษณาอยู่ แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่คอยไปให้คำปรึกษา ดังนั้นจึงต้องหาทางใช้เทคนิคช่วยต่อไป ในส่วนของช่องโทรทัศน์ ทีวีดาวเทียมต่างๆ นั้นค่อนข้างมีความพร้อม เนื่องจากกระทบคนส่วนมาก จึงมีการเรียกทางสถานีเข้ามาคุยบ่อยครั้ง จึงค่อนข้างมีเทคนิคในการนำเสนอ” นายฐากรกล่าว
    ขณะที่ นพ.ธเนศกล่าวว่า กระบวนการใหม่ที่ได้มีการหารือนั้นจะเป็นการลดขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นจึงขอให้ทางผู้ประกอบการวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงผู้ที่จะว่าจ้างลงโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางผ่านสื่อดังกล่าว โปรดตรวจสอบเนื้อหา รวมถึงต้องนำเนื้อหาการออกอากาศมาขออนุญาตตามที่กฎหมาย อย.และ สสจ.กำกับดูแลอยู่ให้ถูกต้อง เพื่อเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค
    ส่วน นพ.วันชัยกล่าวว่า การโฆษณาที่ผ่านมานั้นมีสื่อที่ดีจำนวนมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีสื่อที่ปล่อยปละละเลยเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาการระงับโฆษณากับสื่อที่ปล่อยปละละเลยนั้นไม่ทันใจผู้บริโภคที่มีการแจ้งเข้ามา ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้ก็เพื่อให้ขั้นตอนรวดเร็วยิ่งขึ้น อันไหนส่อว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคสามารถระงับได้ทันที อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสื่อออนไลน์มีความรวมเร็วขึ้น ผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าวก็มีการขึ้นทะเบียนกันมากยิ่งขึ้น ปีๆ หนึ่งมีเป็นแสนรายการ ดังนั้นในการแก้ปัญหาควรมีการสร้างเครือข่ายสังคมทั้งภาครัฐ ประชาชน และผู้บริโภค ช่วยตรวจตราพิจารณาสิ่งที่ผิดกฎหมายร่วมกัน
    ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมวิดีโอทางไกลนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และหัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุขทั่วประเทศ เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดย นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภูมิภาค เพื่อสะท้อนว่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางทันหรือไม่ โดยคาดว่าจะมีโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ขึ้นทะเบียน 1-2 หมื่นราย ทั้งนี้ พื้นที่ที่เป็นห่วงต้องตรวจสอบเป็นพิเศษคือปริมณฑล อย่างนครปฐม สมุทรปราการ ปทุมธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตจำนวนมาก.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"