เมื่อทูต 5 ประเทศจากซีก "ประชาธิปไตย" ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเพื่อกระตุ้นรัฐบาลไทย 10 ข้อ ในการดึงนักลงทุนต่างชาติเพื่อช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นหลังโควิด เราควรจะต้องถามตัวเองดังๆ ว่า
เราไม่รู้ตัวเองว่าเราต้องทำอะไรหรือ?
ไม่ได้แปลว่าผู้แทนทูตของต่างชาติจะเสนอความคิดเห็นแนะนำรัฐบาลไทยไม่ได้
แต่การที่เอกอัครราชทูตของสหรัฐฯ, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, เยอรมนี และญี่ปุ่นแถลงข่าวพร้อมกันอย่างขึงขังเพื่อเสนอ "คาถา 10 ข้อ" ให้รัฐบาลไทยนั้น แปลว่าเขาคงจะพยายามวิธีการอื่นแล้ว...รู้สึกว่าไม่ได้ผล
จึงต้องสร้าง event ที่มี "ดรามา" เพื่อดึงดูดความสนใจของคนไทยและรัฐบาลไทย
ถามว่าที่เขาเสนอ 10 ข้อนั้น รัฐบาลไทยและคนไทยรู้ว่าเป็นปัญหาหรือเปล่า และได้พยายามแก้ปัญหาเหล่านั้นไปอย่างไรบ้าง
ประเด็นส่วนใหญ่ที่นำเสนอนั้นล้วนแล้วแต่เป็น "ปัญหาคาราคาซัง" ของรัฐบาลไทยทั้งสิ้น
เมื่อมันเป็นปัญหาที่ "แก้ไม่ได้สักที" และเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของทูตทั้งหลายในการดึงเอาเงินลงทุนมาจากประเทศของพวกเขา จึงกลายเป็นที่มาของการตั้งโต๊ะแถลงข่าว
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายไมเคิล ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เปิดทำเนียบเอกอัครราชทูต ถนนวิทยุ กทม. ต้อนรับนายอัลลัน แมคคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย, นายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย, นายเกออร์ก ชมิดต์ เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และนายคาซุยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
ทั้ง 5 ท่านร่วมกันออกแถลงการณ์เสนอแนะรัฐบาลไทย 10 มาตรการ เพื่อปฏิรูปและยกระดับไทยสู่ 10 อันดับประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด ตามดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก "เวิลด์แบงก์" ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที
ข้อเสนอทั้ง 10 ข้อนั้นไม่น่าจะมีอะไรใหม่ที่รัฐบาลไทยหรือคนไทยไม่เคยรับรู้มาก่อน เช่น
1.ให้ลดขั้นตอนพิธีการศุลกากรการค้าผ่านแดนสู่ระบบดิจิทัล
2.จัดตั้งพิธีการศุลกากรตามระบบบัญชี ที่สามารถระบุความเสี่ยง และทำให้ระบบประมวลภาษีศุลกากรทันสมัย
3.ดำเนินโครงการทบทวนการอนุญาตของทางราชการ ทบทวนกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำจัดความซ้ำซ้อน
4.เพิ่มแพลตฟอร์มรูปแบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้กระบวนการทำงานอยู่บนระบบออนไลน์ภายในปี 2568
5.ให้ลดความซับซ้อนในการสมัครขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ
6.สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเดินหน้าสู่การค้าดิจิทัล
7.ปฏิรูปข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับแรงงานฝีมือชาวต่างชาติ และลดขั้นตอนขอวีซ่าสำหรับแรงงานฝีมือ
8.เน้นความสำคัญของความโปร่งใสเพื่อคลี่คลายข้อพิพาท
9.ปรับปรุงกระบวนบังคับคดีล้มละลาย รวมทั้งตีพิมพ์และจัดทำดัชนีกฎหมายว่าด้วยการล้มละลายทั้งหมด
10.เพิ่มกระบวนการดิจิทัลในการอนุมัติขององค์การอาหารและยา ออกเอกสารแบบดิจิทัล และรับลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์
คณะทูตบอกว่าถ้าทำได้ทั้งหมดนี้ เชื่อว่าไทยจะมีค่าดัชนีชี้วัดของธนาคารโลกที่ดีขึ้น และนักลงทุนก็จะหันมาสนใจยิ่งกว่าชาติอื่นๆ ในภูมิภาค
ท่านทูตทั้ง 5 บอกว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไต่อันดับดัชนีของเวิลด์แบงก์ได้อย่างรวดเร็ว โดยจากอันดับที่ 46 สู่อันดับที่ 26 และ 21 ในช่วงไม่กี่ปี
และหากไทยนำมาตรการ 10 ข้อมาบังคับใช้ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะขึ้นสู่ 10 อันดับแรกในมิติของประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด
ทูตสหรัฐฯ บอกว่า "ไทยมีเวลาคว้าช่วงโอกาสนี้ภายในกรอบเวลา 3-6 เดือน"
เป็นการกดดันรัฐบาลไทยแบบเบาๆ แต่จริงจัง
ทูตเยอรมันชมิดต์เสริมว่า ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว แต่ควรเตรียมตัวว่าไทยอยากจะอยู่จุดไหนในอีก 10 ปีข้างหน้า
เข้าใจว่าต้องรับมือสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมา แต่ถ้าตัดสินใจได้ดีจะช่วยให้ไทยยกระดับในเรื่องห่วงโซ่อุปทานได้
ท่านยังเสนอให้พัฒนาระบบการศึกษา การฝึกภาษา เรื่องการคิดเชิงวิพากษ์ Critical Thinking และวางแผนระยะยาว ไม่ใช่คิดกันเพียงปีสองปี
และอยากให้ประเทศไทยใช้หลักมาตรฐานแบบเปิดกว้าง Open Standard เพื่อจะได้ไม่ยึดติดกับมาตรฐานเดียว
พอเห็น "Event ท่านทูต" ที่สถานทูตอเมริกันอย่างนี้ ก็น่าสรุปได้ว่าประเด็นจริงๆ มีข้อเดียว
ส่งข้อเสนอไปหลายครั้ง ผ่านหลายช่องทางมาหลายปีแล้ว....แต่ดูเหมือนจะเงียบสนิท
จึงต้องส่งสารกันในเวทีเปิดอย่างนี้แหละ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |