'เพชรชมพู' อบรมม็อบต้องรู้ 'พรบ.ชุมนุม' ข้ออ้างไม่รู้กฎหมายก็ไม่ทำให้พ้นผิด


เพิ่มเพื่อน    

20 พ.ย.63 - นางสาวเพชรชมพู กิจบูรณะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) โพสต์เฟซบุ๊กเขียนบทความเรื่อง "ความไม่รู้กฎหมายใช้อ้างกันไม่ได้​ -​ การชุมนุม​สาธารณะ​ และหน้าที่ของแต่ละฝ่าย" มีเนื้อหาดังนี้ เมื่อวาน​นี้ เพชรได้เกริ่นเรื่องสิทธิ​ในการชุมนุมสาธารณะ​ตาม​ พ.ร.บ. การชุมนุม​สาธารณะ​ พ.ศ. 2558 ไว้​ โดยมีตอนหนึ่งพูดถึงหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมในการแจ้งการชุมนุมให้เจ้าพนักงาน​ทราบล่วงหน้า​ วันนี้เลยขอมาขยายความถึงหน้าที่ทั้งของผู้จัดการชุมนุม​ ผู้ชุมนุม​ และ​ เจ้าพนักงาน​อย่างละเอียด​ค่ะ

ท่านใดยังไม่ได้อ่านตอนแรก​ ติดตามได้ที่นี่ค่ะ​ https://facebook.com/story.php?story_fbid=3472086899526685&id=608898795845524)

หน้าที่แรกของผู้จัดการชุมนุม​ คือ​ การแจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำร​วจ​ประจำท้องที่ที่จะจัดการชุมนุมก่อน​ไม่น้อยกว่า​ 24​ ชั่วโมง​ โดยต้องระบุวัตถุประสงค์​ วัน​ ระยะเวลา​ และสถานที่​ชุมนุม​ให้ครบ​ถ้วน​ หากมีการใช้เครื่องขยายเสียงก็ต้องขออนุญาต​ด้วย​ ถ้ามีเหตุฉุกเฉิน​ทำให้ไม่สามารถ​แจ้งการชุมนุมก่อน​ 24​ ชั่วโมง​ได้​ พ.ร.บ. นี้ก็ยืดหยุ่น​ให้แจ้งการชุมนุม​พร้อมแนบคำผ่อนผัน​กำหนดเวลา​ให้กับผู้บังคับการตำรวจในพื้นที่นั้นๆ​ ได้

เมื่อถึงวันและเวลาชุมนุม​ ผู้จัดการ​ชุมนุมมีหน้าที่รับผิดชอบ​หลายประการมาก​ คือ​ 1. ต้องดูแลรับผิดชอบ​ให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบปราศจาก​อาวุธ​ และต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิ​เสรีภาพ​ตามรัฐธรรมนูญ​ 2. ต้องไม่ให้เกิดการขัดขวาง​เกินสมควร​ต่อประชาชน​ที่ใช้ที่สาธารณะ​นั้น​ 3. แจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบถึงหน้าที่ของผู้ชุมนุม​ และปฏิบัติ​ตามเงื่อนไข​และคำสั่งของเจ้าพนักงาน​ 4. ให้ความร่วมมือ​แก่เจ้าพนักงาน​ 5. ไม่ยุยงส่งเสริมหรือชักจูงผู้ชุมนุมให้ไม่ปฏิบัติตาม​เงื่อนไข​และคำสั่งของเจ้าพนักงาน​ และ​ 6. ไม่ปราศรัยหรือใช้เครื่อง​ขยายเสียงที่เกินขนาด​ หรือ​ในระหว่างเวลา​ 24.00 น.​ ถึง​ 6.00 น.​ ของวันรุ่งขึ้น

ในส่วนของผู้ชุมนุม​ มีหน้าที่ปฏิบัติ​ดังนี้​ 1. ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ​นั้น​ หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน​เกินสมควร​ 2. ไม่ปิดบังอำพรางตัวเอง​ เพื่อจงใจให้ไม่สามารถ​ระบุตัวบุคคล​ที่ถูกต้อง​ได้​ 3. ไม่นำอาวุธ​ ดอกไม้เพลิง​ ปืนเทียม​ หรือสิ่งใดที่นำมาใช้เป็นอาวุธ​ได้​ เข้าไปในที่ชุมนุม​ 4. ไม่บุกรุก​ ทำลาย​ หรือทำให้ทรัพย์สิน​ของผู้อื่นเสียหาย​ 5. ไม่ทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตราย​ต่อชีวิต​ ร่างกาย​ ทรัพย์สิน​ หรือเสรีภาพ​ 6. ไม่ใช้กำลัง​ประทุษร้าย​ หรือขู่เข็นว่าจะประทุษร้าย​ผู้อื่น​ 7.​ ไม่ขัดขวางหรือกระทำการใดๆ​ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ​หน้าที่ของเจ้าพนักงาน​ 8.​ ไม่เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่าง​เวลา​ 18.00​ น.​ ถึง​ 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น​ เว้นแต่เจ้าพนักงาน​จะอนุญาต​ และ​ 9.​ ปฏิบัติ​ตามเงื่อนไข​หรือคำสั่งของเจ้าพนักงาน

ทั้งนี้ ถ้าจะมีการเดินขบวน​ หรือ​ เคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม​ ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสภานีตำรวจในพื้นที่​ และเมื่อถึงเวลาเลิกชุมนุม​ตามที่ได้แจ้งไว้​ ต้องยุติ​การชุมนุม​ เว้นแต่จะมีการแจ้งขอขยายระยะเวลาการชุมนุมต่อไว้ก่อนล่วงหน้า​ 24​ ชั่วโมง​ ก่อนเวลาที่แจ้งว่าจะยุติการชุมนุม​ในครั้งแรก

ทางด้านของเจ้าพนักงาน​ หน้าที่รับผิดชอบ​หลักคือ​ การคุ้มครอง​ความสะดวกของประชาชนส่วนรวม และ​ การดูแลการชุมนุมสาธารณะ​ให้เป็นไปโดยสงบ​เรียบร้อย​ ดังนั้นเจ้าพนักงาน​จึงมีอำนาจกำหนดเงื่อนไข​ หรือมีคำสั่งให้ผู้จัดการชุมนุม​และผู้ชุมนุมปฏิบัติ​ตาม​

หากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย​ (ไม่สงบปราศจาก​อาวุธ​ มีการกระทำเกินขอบเขต​ของกฎหมาย​ ชุมนุมในรัศมี​หรือสถานที่ที่ห้ามชุมนุม​ ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า​ ไม่ยุติการชุมนุม​ตามเวลาที่แจ้งไว้ ไม่ปฏิบัติตาม​เงื่อนไข​หรือคำสั่งของเจ้าพนักงาน)​ ให้เจ้าพนักงานประกาศ​ให้ผู้ชุมนุมแก้ไข​ หรือเลิกการชุมนุมในระยะเวลาที่กำหนด​ แล้วแต่กรณีไป​

ถ้าผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม​ ให้เจ้าพนักงานร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัด​ เพื่อให้มีคำสั่งให้ยุติการชุมนุม​ ในกรณีที่ผู้ชุมนุม​ไม่เลิกชุมนุมตามคำสั่งศาล​ พื้นที่บริเวณที่มีการชุมนุมจะเป็นที่ควบคุม​ ถ้าผู้ชุมนุมยังไม่ออกจากพื้นที่หลังพ้นกำหนดเวลาตามที่ประกาศแล้ว​ เจ้าพนักงาน​มีอำนาจที่จะ​ 1. จับผู้ซึ่งอยู่ในพื้นที่ควบคุม​ 2. ค้น​ ยึด​ อายัด​ หรือรื้อถอนทรัพย์สิน​ที่ใช้ในการชุมนุม​ 3. กระทำการจำเป็นตามแผนการดูแลการชุมนุม​ และ​ 4. มีคำสั่งห้ามกระทำการใดๆ​ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้มีการเลิกชุมนุม

จากเนื้อหา​ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้​ ทำให้เห็นภาพใหญ่​ว่า​ ทุกอย่างมีขั้นมีตอน​ มีกระบวนการ​ด้วยกันทั้งสิ้น​ ผู้ที่ศึกษา​กฎหมาย​จะคุ้นเคยกับหลักที่ว่าด้วย​ความไม่รู้​กฎหมาย​ หรือ​ Ignorantia juris non excusat (Ignorance of the law excuses no one) แปลว่า​ ความไม่รู้กฎหมาย​ไม่อาจเป็นขออ้างหรือข้อแก้ตัวได้​ ความไม่รู้นั้น​ ไม่อาจทำให้เขาพ้นความรับผิดจากการฝ่าฝืน​กฎหมาย​ได้

เพราะฉะนั้น​ ไม่ว่าจะในทางกฎหมาย​หรือในการใช้ชีวิต​ประจำวัน​ ก่อนที่เราจะตัดสินใจ​กระทำบางสิ่งบางอย่างไป เราควรศึกษา​ประเด็นนั้นๆ​ ให้ถ่องแท้เสียก่อน​ ประเมิน​ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น​ และทำใจ​พร้อมยอมรับผลแห่งการกระทำที่เราเป็นคนก่อขึ้นเองค่ะ

เพชร​ชมพู​ กิจ​บูรณะ

20 พฤศจิกายน​ 2563


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"