20 พ.ย.63 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้มีคำพิพากษาคดีทุจริตจัดสรรเงินงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนวนแรก คดีหมายเลขดำ อท.253/2561 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 เป็นโจทก์ฟ้อง นายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ.,นายวสวัสตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ อดีต ผอ.ส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ กองพุทธศาสนสถาน พศ., นายเจษฎา วงศ์เมฆ ฆราวาส ทำหน้าที่ติดต่อหาวัด, นายชรินทร์ มิ่งขวัญ ฆราวาส ทำหน้าที่ติดต่อหาวัด เป็นจำเลยที่ 1 - 4 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กรณีเบียดบังเอาเงินของ พศ. ไปเป็นประโยชน์ของตน โดยใช้วัดเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดรับโอนเงินงบประมาณที่มีการเบียดบังไป
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 4 เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน และให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 12,000,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมคืนเงินจำนวน 3 ล้านบาท แก่ผู้เสียหาย ต่อมามีการยื่นอุทธรณ์คดี
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เมื่อพิจารณาตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกเป็นผู้ร่วมคบคิดกันการกระทำความผิด เพราะได้กระทำการดังกล่าวเป็นเครือข่ายระหว่างข้าราชการของ พศ. กับบุคคลภายนอกในลักษณะกระทำการใดๆ เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือหรือให้ได้รับความสะดวกในการกระทำความผิดและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กัน ทั้งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันของจำเลยทั้งสี่กับพวก เป็นเครือข่ายและขบวนการในการกระทำความผิด เบียดบังยักยอกเงินเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดของ พศ. ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตฯ เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1- 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1-2 ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเฉพาะการพิจารณาลงนามอนุมัติเงินอุดหนุนจำนวน 9 วัดเป็นเงิน 21,300,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดจำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี จึงไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าได้ทำหนังสือขออนุมัติเงินอุดหนุนเพียงครั้งเดียว และมีการจ่ายเงินให้แก่วัดต่างๆ ตามบัญชีรายชื่อแนบท้ายเป็นการกระทำความผิดเพียงกรรมเดียวนั้น เห็นว่า โดยสภาพพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคน ซึ่งอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ การที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้เกิดผลต่อ พศ. วัดมุขธาราราม วัดท่าพญา วัดนาวง วัดปากเจาพัฒนาราม หรือผู้หนึ่งผู้ใด การลงมือกระทำเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้งไม่ได้พิจารณาจากจำนวนครั้งที่จำเลยที่ 2 ทำหนังสือเสนอเพื่ออนุมัติและจำเลยที่ 1 อนุมัติหนังสือดังกล่าวเพียงครั้งเดียวคราวเดียว แต่เพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยทั้งสี่กับพวก ดังที่จำเลยที่ 1 - 2 อุทธรณ์
เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกใช้วัดดังกล่าว เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดรับโอนเงินงบประมาณรัฐ แล้วเบียดบังไปจาก พศ. อีกทั้งเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบพบมูลทุจริตในกลอุบายหลอกลวง พศ. วัดมุขธาราราม วัดท่าพญา วัดนาวง และวัดปากเจาพัฒนาราม คนละวันเวลาและในสถานที่แตกต่างกัน เพียงพอนับว่าเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1-2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 4 กระทง นั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 - 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันจำเลยทั้งสี่ยังคงถูกคุมขังรับโทษในเรือนจำ อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีนี้หากจำเลยจะยื่นฎีกาก็จะต้องเป็นการยื่นฎีกาในลักษณะขออนุญาตฎีกาตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ซึ่งมาตรา 42 กำหนดว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุด หากคู่ความประสงค์จะฎีกาต้องปฏิบัติตามมาตรา 44 ที่กำหนดให้การฎีกาผู้ฎีกาต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณาพร้อมกับคำฟ้องฎีกาด้วย
ซึ่งเหตุที่ศาลฎีกาจะพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้ ระบุไว้ในมาตรา 46 คือต้องเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยซึ่งรวมถึงปัญหาดังต่อไปนี้ (1) ปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ (2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา (3) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน (4) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขัดกับคำพิพากษา หรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น (5) เมื่อจำเลยต้องคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต (6) เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วอาจมีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ (7) ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
โดยข้อบังคับของประธานศาลฎีกาได้กำหนดปัญหาสำคัญอื่นเพิ่มเติมอีก 2 กรณีคือ (1) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีความเห็นแย้งในสาระสำคัญ (2) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยข้อกฎหมายสำคัญที่ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย ส่วนเรื่องการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกาก็เป็นสิทธิที่จำเลยพึงกระทำได้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |