หนุนเอกชนแกนนำใช้ESG ผู้ว่าธปท.ยันคุมค่าบาทแข็ง


เพิ่มเพื่อน    

 ผู้ว่าฯ ธปท.หนุนเอกชนเป็นแกนนำใช้ ESG แนะปรับตัวเด้งรับอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ชี้ไทยติดกับดักมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เน้นกู้ใช้จ่ายหวังตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตดีแต่ประชาชนเป็นหนี้ท่วม ยันไม่ได้เฉยหลังบาทแข็งต่อเนื่อง เตรียมพร้อมออกมาตรการดูแลค่าเงิน รับ 5 ปีขาดทุนยับหลังควักเนื้อ 1 แสนล้านดอลลาร์แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน

    เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ESG : Empowering Sustainable Thailand’s Growth” ในงานสัมมนา ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่คำนึงถึงเรื่อง ESG  (E = Environment สิ่งแวดล้อม, S = Social สังคม, G = Governance ธรรมาภิบาล) โดยเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ในระยะสั้นเป็นหลัก เช่น ในภาคการท่องเที่ยว ที่เน้นเชิงตัวเลข เน้นจำนวนคนเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงผลข้างเคียงหรือต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม หรือการเน้นกระตุ้นการบริโภค เน้นให้เกิดการกู้ยืมเพื่อให้เกิดการใช้จ่าย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตได้ดี แต่ก็ไม่ได้คำนึงถึงผลข้างเคียงในเรื่องการก่อหนี้ครัวเรือน ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง และยังเป็นความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย
    นายเศรษฐพุฒิมองว่า หากประเทศไทยต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน จะต้องเปลี่ยนแนวทางในการขับเคลื่อนโดยคำนึงถึงเรื่อง ESG มากขึ้น โดยต้องให้ ESG เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ โดยภาคอุตสาหกรรมที่มองหาโอกาสในการเติบโตในอนาคตต้องหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ด้วยการปรับตัวเพื่อตอบรับกับเรื่อง ESG เพราะในอนาคตหากอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นเรื่องดังกล่าวจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและสนับสนุนการเติบโตในอนาคตได้ อาทิ อุตสาหกรรมที่เน้นเรื่องสุขภาพ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ อุตสาหกรรมอาหารที่เน้นเรื่องออร์แกนิกเป็นหลัก
    “ประเทศไทยเคยถูกจัดให้เป็นประเทศที่เสี่ยงจะถูกน้ำท่วมเป็นอันดับ 7 ของโลก นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเคยเจอปัญหาภัยแล้ง  ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหายไปกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาครัฐเองยังมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชันจนถูกจัดให้อยู่ในประเทศที่มีการคอร์รัปชันอันดับ 100 ของโลก ขณะที่สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 4ของโลก ตรงนี้ผมรับไม่ได้ ดังนั้นหากประเทศไทยจะเดินไปยังอนาคตโดยไม่คำนึงถึงเรื่อง ESG คงไม่ได้ เพราะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงที่ไทยจะถูกกระทบรออยู่ เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะ IUU ที่มีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งหลังจากการเลือกตั้งสหรัฐเสร็จสิ้น ทั้งหมดถือเป็นความเสี่ยงที่จะถูกหยิบมาเป็นประเด็นในอนาคตทั้งสิ้น” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
    ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวอีกว่า ภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะเดินหน้าเรื่อง ESG ได้เลย โดยไม่ต้องรอภาครัฐเป็นกลไกในการขับเคลื่อน เนื่องจากเอกชนเองมีศักยภาพเพียงพอ ขณะที่ภาครัฐเองบางส่วนยังขาดข้อมูลที่จะสะท้อนสภาพตลาดอย่างครบถ้วน ดังนั้นการให้ภาครัฐเป็นตัวนำเรื่องนี้อาจไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา ESG เพื่อสนับสนุนการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด
    ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในหัวข้อ "ถอดรหัสผู้นำ : บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน" ว่า ธนาคารออมสินกำลังขับเคลื่อนไปสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคม ซึ่งการไปสู่จุดนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากนัก เนื่องจากธนาคารมีเป้าหมายหลักในการดูแลประชาชนรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มฐานรากอยู่แล้ว แนวทางการดำเนินงานของธนาคารจึงไม่ได้มุ่งแสวงผลกำไรเป็นหลัก แต่ต้องสามารถช่วยดูแลประชาชนรายย่อย และช่วยเหลือสังคมอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
    "การเป็นธนาคารเพื่อสังคมต้องไม่มุ่งหวังที่จะมีกำไรมากเสมอไป กำไรอาจจะน้อยลงหน่อย แต่จะต้องทำอะไรที่มีผลต่อสังคม ต้องช่วยเหลือคนได้ สามารถจับต้องได้อย่างชัดเจน" นายวิทัย กล่าว
     นายวิทัยกล่าวว่า การเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องเริ่มต้นจากภายในที่เข้มแข็ง มีการบริหารงานที่ดี มีเงินทุนสำรองเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงต่างๆ มีพนักงานที่เข้มแข็ง รวมถึงการมีพันธมิตรที่เข้มแข็งด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ชุมชน ผู้ค้ารายย่อย เป็นต้น จากสถานการณ์โควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วยการจัดทำโครงการต่างๆ รวมทั้งหมด 16 โครงการ เพื่อช่วยให้ประชาชนในกลุ่มฐานราก และผู้ค้ารายย่อยกว่า 5 ล้านราย ในการเพิ่มสภาพคล่องและให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้นผ่านโครงการต่างๆ กว่า 1.7 แสนล้านบาท
    นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. เปิดเผยด้วยว่า ธปท.อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณามาตรการที่เหมาะสมในการเข้าไปดูแลสถานการณ์ค่าเงินบาท ซึ่งจะต้องเป็นมาตรการที่ดูในภาพรวม ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อดูเงินบาทที่แข็งค่าเร็วเพียงอย่างเดียว แต่ยังบอกไม่ได้กำหนดเวลาว่ามาตรการดังกล่าวจะออกมาเมื่อไหร่ ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ความกังวลในเรื่องของเงินบาทที่แข็งค่าเร็วเกินไป เพราะหากเป็นสถานการณ์ปกติ การแข็งค่าของเงินบาทไม่ได้ส่งผลต่อภาคการส่งออก แต่จากสถานการณ์ตอนนี้ ที่มีผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ผู้ประกอบการในภาคส่งออกที่สายป่านสั้นก็จะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อในระยะต่อไป
    นายเศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า ธปท.เข้าใจความลำบาก และความกังวลของประชาชนและภาคธุรกิจที่มีต่อสถานการณ์ค่าเงินบาท โดยยืนยันว่า ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ บางช่วงที่เห็นเงินบาทแข็งค่า แต่เหมือน ธปท.ไม่ได้ทำอะไรนั้น ไม่ได้ชี้แจง หรือแถลง ไม่ได้หมายความว่า ธปท.ไม่ได้ทำอะไร
    ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาดูแลใน 2 เรื่อง คือ 1.การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.50% ต่อปี ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ และ 2.การเข้าไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สะท้อนได้จากปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะ ธปท.เข้าไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่อยากทำ เพราะเมื่อตีมูลค่าแล้ว ทำให้ ธปท.ขาดทุนในปริมาณดังกล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"