ไทยควรจะร่วม CPTPP หรือไม่ ยังมีมิติทางด้านเศรษฐกิจ, การค้าและการลงทุน
เอกชนด้านนี้หลายส่วนเห็นว่าไทยควรจะเข้าร่วม เพราะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย
แต่กรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรที่ศึกษาเรื่องนี้ก็สรุปว่ายังมีการบ้านที่ต้องทำอีกไม่น้อย
ข้อสรุปของรายการสรุปว่า การตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศ
ไทยยังจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในหลายด้าน ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องมีนโยบาย มีโครงการที่ชัดเจนและจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อเตรียมพร้อมและปรับโครงสร้างภายในประเทศ โดยสามารถแยกออกเป็น 11 ประเด็น ดังนี้
- ภาพรวมการประเมินผลกระทบ และโลกหลังโควิด พบว่าผลการศึกษาโดยแบบจำลอง ยังไม่ได้คำนึงบริบททางสังคม และบทบาทของคนที่ไม่ใช่รัฐ
ทั้งนี้ การตั้งสมติฐานการเปิดเสรีการค้าทันที ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งนี้ ผลการศึกษาดำเนินการเสร็จเมื่อปี 2562 จึงไม่ครอบคลุมสถานการณ์โควิด และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
- เรื่องการค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และเขตปลอดอากร รัฐบาลต้องปรับโครงสร้างอัตราอากรขาเข้า, จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือผู้ประกอบการ, จัดทำกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า
ส่วนกฎถิ่นกำเนิดสินค้าในความตกลง CPTPP มีความซับซ้อน มีทั้งได้และเสียประโยชน์ จำเป็นต้องเร่งให้ความรู้กับผู้ประกอบการที่ผลิตและส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP
- การค้า บริการ และการลงทุน ภาครัฐต้องหารือกับผู้ประกอบการ เพื่อประเมินความพร้อม และวิเคราะห์ถึงสาขาบริการที่จะได้รับผลกระทบ รวมถึงกำหนดแนวทางการอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจที่เข้ามาทำการค้าการลงทุน
- การคุ้มครองสิทธิแรงงาน ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518
ต้องไม่กีดกันต่างด้าวในการก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และควรศึกษาเพิ่มเติมว่าสมาชิก CPTPP ใดมีกฎหมายอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวสามารถก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการจัดทำท่าทีของไทยต่อไป
- เรื่องอีคอมเมิร์ซ
ภาครัฐควรให้ความสำคัญและแสดงข้อเรียกร้องของไทยในทุกเวที เกี่ยวกับการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเหมาะสมของผู้ประกอบการด้านดิจิทัลที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศและในประเทศ, ควรดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าด้านดิจิทัล และควรมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้
- ประเด็นกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐ
การมีกลไกดังกล่าวเป็นการเพิ่มช่องทางสำหรับนักลงทุนในการฟ้องรัฐ แต่ไม่ใช่การเพิ่มความเสี่ยงสำหรับรัฐ หากไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP จะต้องเน้นย้ำสิทธิในการกำกับดูแลของรัฐ ว่าครอบคลุมทุกมิติ รวมทั้งด้านความมั่นคง โดยอาจเจรจาเพื่อจัดทำภาคผนวกของข้อบทลงทุนที่ไทยมีสิทธิ์ในการเจรจาข้อสงวน
- ประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
ควรศึกษากฎหมายจัดซื้อจัดจ้างของไทยที่ไม่สอดคล้องกับ CPTPP รวมถึงกฎหมายหรือข้อบังคับอื่นๆ ที่กรมบัญชีกลางเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ เช่น บัญชีนวัตกรรม การกำหนดเงื่อนไขให้นักลงทุนปฏิบัติ รวมถึงควรมีกระบวนการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้มาโดยเงินบริจาคเพื่อความโปร่งใส และป้องกันการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุน
- รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ ไทยสามารถเจรจาเพื่อขอสงวนรัฐวิสาหกิจที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อบทของ CPTPP ในเรื่องการห้ามเลือกปฏิบัติและการห้ามอุดหนุนหรือช่วยเหลือได้
- ด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT)
ไทยมีสิทธิ์ขอเจรจาเพื่อยกเว้นการปฏิบัติได้เช่นเดียวกับประเทศภาคีอื่น โดยมีประเด็นที่อาจพิจารณายกเว้น เช่น ผลิตภัณฑ์ยา, รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณปรับปรุงกฎระเบียบและการจัดทำมาตรฐานสินค้า, ควรพิจารณากำหนดภาษีสิ่งแวดล้อมนอกเหนือจากการเรียกเก็บภาษีแบบเดิม ซึ่งจะเกี่ยวกับการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต
- มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช
การกำหนดให้เผยแพร่ข้อมูลความเห็นที่ได้รับต่อสาธารณะที่ไทยไม่เคยดำเนินการมาก่อน แท้จริงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะผู้บริโภคจะได้รับข้อมูลครบถ้วน และแสดงความโปร่งใสของไทย ส่วนการตรวจประเมิน (Audits) ไทยควรพัฒนาผู้ตรวจสอบให้มีความเชี่ยวชาญ
ส่วนข้อกังวลกรณีเปิดให้นำเข้าเนื้อสุกร อาจส่งผลกระทบต่อราคาภายในประเทศ ไทยสามารถพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนได้ ตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว
- สินค้าขยะอันตราย
รัฐต้องเร่งศึกษาประโยชน์และผลกระทบในการให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลเพื่อห้ามการส่งออก โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยจากการห้ามส่งออกของเสียอันตรายไปรีไซเคิลยังประเทศปลายทาง, การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทยอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ รัฐควรเร่งออกกฎหมาย Environmental Monitoring Law โดยเร็ว เพื่อให้การกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิมากยิ่งขึ้น
ทั้งหมดเป็นข้อเสนอ 3 ด้าน 22 ประเด็นจาก กมธ.ที่จะถูกส่งต่อให้กับรัฐบาลพิจารณา
รัฐบาลรรับลูกไปแล้วจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องเกาะติดและประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา
ขอย้ำว่าถ้าเรายังรีรอ เชื่องช้า อ้างเหตุผลและกฎเกณฑ์คร่ำครึ หันมาอีกที เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจริงๆ!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |