ดัน 8 ข้อฟื้น ศก.ตีปี๊บจุดแข็ง รักษาบรรยากาศการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

      หลังไทยผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 มาเป็นระยะเวลาพอสมควร จนเข้าสู่โหมดการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ขึ้นมาช่วยขับเคลื่อนและออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่หลายมาตรการ โครงการเช่น โครงการชิมช้อปใช้ และล่าสุด "คนละครึ่ง" ที่ได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี

และด้วยหลายมาตรการที่รัฐบาลผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.4 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 12.1 ในไตรมาสก่อนหน้า

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ประเมิน “แนวโน้มเศรษฐกิจไทย” ในปี 2564 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานต่อที่ประชุม ครม. โดยคาดว่าในปี 2564 เศรษฐกิจจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีแรงสนับสนุนจาก 1.การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ 2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 3.แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจ และ 4.ฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 2.4 และร้อยละ 6.6 ตามลำดับ

ส่วนการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 ในด้านต่างๆ เช่น การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.4 ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 การดำเนินมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นผู้บริโภคตามความสามารถในการควบคุมการระบาดภายในประเทศ รวมทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของฐานรายได้จากภาคการส่งออก ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในปี 2563 รวมถึงการเบิกจ่ายภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2564 รวม 403,249 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 34.8

ด้านการลงทุนรวม คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 โดยการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 12.4 ต่อเนื่องจากร้อยละ 13.7 ในปี 2563 ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 ฟื้นตัวจากการลดลงร้อยละ 8.9 ในปี 2563 สอดคล้องกับแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนมากขึ้น

ทั้งนี้ ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563 และปี 2564 รัฐบาลได้วางแนวทางใน 8 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.การป้องกันการกลับมาระบาดระลอกที่สองของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศ 2.การดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว เช่น การช่วยเหลือและดูแลแรงงาน การรณรงค์ให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคอย่างรัดกุม 3.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 94.4 งบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70

4.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน เช่น การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด-19 การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า 5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เช่น การประชาสัมพันธ์จุดแข็งของประเทศไทย การขับเคลื่อนมาตรการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง

6.การดูแลราคาสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด และการเตรียมการรองรับปัญหาภัยแล้ง 7.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ และ 8.การเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก และการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ หากในปี 2564 สามารถดำเนิน 8 ข้อสำคัญที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศให้ได้ ก็คาดว่าในปีหน้าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวจากพิษโควิด-19 ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"