7 ร่างแก้ไขรธน.ได้ไปต่อแค่ 2 'ไอลอว์' ฝันสลาย


เพิ่มเพื่อน    

18 พ.ย.63 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาลงมติรับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อที่ประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่างเสร็จสิ้น ได้เริ่มลงมติตั้งแต่เวลา 13.00 น. โดยเลขาธิการรัฐสภา เริ่มขานชื่อสมาชิกรัฐสภาเรียงลำดับตามตัวอักษร ก่อนที่สมาชิกแต่ละคนจะขานมติว่า รับ-ไม่รับ-งดออกเสียง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละร่าง ตั้งแต่ร่างที่ 1 - 7        

เมื่อการลงมติผ่านไปได้ 200 คน ปรากฎว่า สมาชิกรัฐสภา ซีกรัฐบาล และส.ว. ส่วนใหญ่ ลงมติรับหลักการ ร่างที่ 1 - 2 ตามที่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ และลงมติงดออกเสียงในร่างที่เหลือ ขณะที่ ส.ส.ซีกฝ่ายค้าน ลงมติรับหลักการทั้ง 7 ร่างตามที่ได้แสดงจุดยืนร่วมกันก่อนหน้านี้   

แต่ก็ยังพบสมาชิกรัฐสภาบางส่วนลงมติคนละแนวทางกับพรรค เช่น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ รมว.ศึกษาธิการ ลงมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และรมว.ดีอีเอส งดออกเสียงในร่างที่1-2 และไม่รับหลักการร่าง3-7 ซึ่งเป็นการแหกมติวิปรัฐบาล นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ อดีตแกนนำกกปส. ได้ลงมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ซึ่งเป็นการลงมติเหมือนกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) เป็นการแหกมติพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงมติรับหลักการในร่างที่ 1และ 2 ส่วนร่างที่ 3-7 งดออกเสียง แต่นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และรมช.คมนาคม. อดีตแกนนำ กปปส. ลงมติตามมติพรรคประชาธิปัตย์ นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ที่ลงมติไม่รับร่างทั้ง 7ฉบับเช่นกัน ขณะที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศิวิไลย์ ในซีกรัฐบาล ได้ลงมติรับหลักการทั้ง 7 ฉบับ ส่วนส.ส.พรรคภูมิใจไทย ก็ลงมติไปในทิศทางเดียวกัน ต่างเพียงตรงร่างที่7 ที่ส.ส.ลงมติทั้งงดออกเสียง และไม่รับหลักการ  นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ได้ลงมติไม่รับหลักการร่างไอลอว์  

ในซีกของพรรคฝ่ายค้าน ลงไปในทิศทางเดียวกัน ไม่มีใครแหกมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีเพียงนางพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ที่เคยลงมติสวนกับแนวทางฝ่ายค้าน ครั้งนี้ไม่ได้เข้าห้องประชุม และไม่ได้แจ้งลา ส่วนนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ช่วงขานมติรับหลักการทั้ง 7 ร่าง ได้ชูสัญลักษณ์ 3 นิ้วขณะที่ขานรับหลักการร่างที่ 7 ของไอลอว์  

ส่วนของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) พบว่า นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ส.ว.ลงมติ รับหลักการร่าง 1,2,4และ 7 หรือร่างไอลอว์  นอกจากนั้นยังมีนายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว.รับร่างไอลอว์ นายพิศาล มาณวพัฒน์ รับร่างไอลอว์เช่นกัน ส่วนพล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ส.ว. ลงมติ  ไม่รับทั้ง 7 ร่าง  

หลังจากสมาชิกรัฐสภาอภิปรายญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครบถ้วนทุกคนแล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติจะรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7ฉบับหรือไม่ ประกอบด้วย 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ  มาตรา 256 ที่ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ตามที่พรรคฝ่ายค้านเสนอ  2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา256 ให้ตั้งส.ส.ร.ตามที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ 3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 270-271 ตัดอำนาจส.ว.พิจารณากฎหมายปฏิรูปประเทศ 4.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี 5.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ยกเลิกรับรองประกาศคำสั่งคสช. 6.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งส.ส.ให้ใช้ระบบบัตร 2 ใบ  7.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอ หรือร่างไอลอว์ โดยการลงมติใช้วิธีให้สมาชิกรัฐสภาขานชื่อเป็นรายบุคคลว่าจะรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับที่1-7 ไปในคราวเดียวกัน ใช้เวลาขานชื่อลงมติกันยาวนานเกือบ 5 ชั่วโมง จนเกือบถึงเวลา 18.00น.  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  จากนั้นเวลา 19.05 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แจ้งผลการลงมติปรากฏว่า มีร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบในการรับหลักการ เพียง 2ร่างคือ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้งส.ส.ร.ของฝ่ายค้าน ได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการด้วยคะแนน  576 ต่อ 21เสียง งดออกเสียง 123  โดยมีเสียงส.ว.รับหลักการ 127 เสียง  และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของฝ่ายรัฐบาล ได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการด้วยคะแนน  647 ต่อ 17 งดออกเสียง 55 โดยมีเสียงส.ว.รับหลักการ 176 เสียง ทำให้ทั้งสองร่างได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ในขณะนี้จำนวน 732 คน หรือ366 เสียงขึ้นไป และในจำนวนกึ่งหนึ่งที่มีเสียงเห็นชอบนั้น ยังมีคะแนนเสียงของส.ว.เกิน 1ใน3 จึงถือว่าได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการ  

ส่วนอีก 4ร่างที่เหลือมีคะแนนเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ได้แก่  ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 270-271 มีเสียงเห็นชอบด้วยคะแนน 213ต่อ 35 งดออกเสียง 472  โดยมีเสียงส.ว.รับหลักการ 4 เสียง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 มีเสียงเห็นชอบ 268  ต่อ 20 งดออกเสียง 432 โดยมีเสียงส.ว.รับหลักการ 56 เสียง  ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ยกเลิกรับรองประกาศคำสั่งคสช. มีเสียงเห็นชอบ 209ต่อ 51 งดอกเสียง 460 โดยในร่างนี้ไม่มีเสียงส.ว.ให้ความเห็นชอบในวาระรับหลักการเลยแม้แต่เสียงเดียว  ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งส.ส.ให้ใช้ระบบบัตร 2 ใบ  มีคะแนนเสียงเห็นชอบ 209 ต่อ 19 งดออกเสียง 432  มีส.ว.รับหลักการ 59 เสียง และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน มีเสียงเห็นชอบ 212ต่อ 139 งดออกเสียง 369 มีเสียงส.ว.รับหลักการ 3 เสียง แต่ทั้ง 5ร่างดังกล่าว มีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ในขณะนี้ถือว่า ไม่ได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการ  

จากนั้นที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน แบ่งเป็นส.ว. 15 คน ส.ส. 30 คน แยกเป็นพรรคเพื่อไทย  พรรคพลังประชารัฐ พรรคละ 8คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคละ 3คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 1คน สำหรับกรรมการชุดดังกล่าวมีกรอบทำงาน45วัน และมีการนัดประชุมครั้งแรกวันที่ 24พ.ย. เวลา9.30น.ห้อง307 อาคารรัฐสภา จากนั้นนายชวน ได้สั่งปิดประชุมเวลา 19.30น.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"