ช่วงต้นเดือน โลกทั้งโลกจับจ้องอยู่ที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐว่าจะออกมาอย่างไร ระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีในตำแหน่งที่เข้าแข่งขันเพื่อเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง กับนายโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงพรรคเดโมเครต อดีตรองประธานาธิบดีแปดปี สองสมัย สมัยประธานาธิบดีโอบามา การเลือกตั้งคราวนี้เป็นการเลือกตั้งที่สำคัญทั้งต่อสหรัฐและประเทศทั่วโลก เพราะจะกำหนดท่าทีและทิศทางของสหรัฐในฐานะผู้นำโลก สำหรับประชาชนอเมริกันการเลือกตั้งคราวนี้สำคัญอย่างไม่เคยมีมาก่อน จากปัญหาความขัดแย้งและสถานการณ์หลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐ
หนึ่ง เป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ประชาชนสหรัฐมีความแตกแยกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ความแตกแยกนี้ปรากฏให้เห็นชัดในสังคมอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม การสื่อสาร และชีวิตความเป็นอยู่ เราเห็นความแตกแยกในเรื่องความเชื่อทางการเมือง สีผิว ความเหลื่อมล้ำในชีวิตความเป็นอยู่ โอกาสในสังคม เรื่องภาวะโลกร้อน และท่าทีของคนอเมริกันต่อผู้อพยพ นักศึกษา และคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในสหรัฐ สะท้อนให้เห็นจากการประท้วงที่เกิดขึ้น การจราจลที่รุนแรง และความไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ไปใช้สิทธิมากในการเลือกตั้งคราวนี้ และถ้าผลการเลือกตั้งออกมาสูสีก็อาจจะไม่ยอมรับกัน นำไปสู่ความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นตามมา
สอง การเลือกตั้งเกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สงบในสหรัฐ และช่วงเลือกตั้งก็มีการระบาดประทุขึ้นอีกครั้งทั่วประเทศเป็นรอบที่สาม ล่าสุด สหรัฐมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในโลก คือ มีผู้ติดเชื้อ 10.8 ล้านคน และผู้เสียชีวิต 0.247 ล้านคน ที่สำคัญจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นระดับ 140,000 คนต่อวันซึ่งสูงมาก สถานการณ์ดังกล่าวกระทบชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจสหรัฐอย่างไม่เคยมีมาก่อนในช่วง 90 ปี ที่น่าผิดหวัง คือ การระบาดและความสูญเสียเกิดขึ้นทั้งที่สหรัฐเป็นประเทศที่มีความรู้และความพร้อมทางการแพทย์มากที่สุดในโลกรวมถึงความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ดังนั้น คำถามจึงชี้ไปที่ความสามารถของรัฐบาลในการบริหารประเทศและแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะความจริงใจของรัฐบาลทรัมป์ที่จะแก้ไขปัญหาที่กระทบคนส่วนล่างของสังคมมากที่สุด มีการวิเคราะห์ว่า สถานการณ์โควิดอาจเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งคราวนี้ที่จะทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์หลุดจากตำแหน่ง
การระบาดที่รุนแรงทำให้หลายรัฐในสหรัฐต้องออกมาตรการรักษาระยะห่าง และล็อกดาวน์เพื่อหยุดการระบาด ทำให้ประชาชนไม่มีความสะดวกที่จะออกจากบ้านในวันเลือกตั้ง การลงคะแนนล่วงหน้าและลงคะแนนทางไปรษณีย์ จึงกลายเป็นทางเลือกที่ประชาชนจำนวนมากใช้ โดยเฉพาะผู้สนับสนุนพรรคเดโมเครตที่พรรคได้แนะนำให้สมาชิกและผู้สนับสนุนลงคะแนนล่วงหน้าหรือทางไปรษณีย์เพื่อป้องกันความไม่สะดวกในวันเลือกตั้ง ซึ่งทางเลือกนี้ก็ส่งผลอย่างสำคัญต่อผลการเลือกตั้งคราวนี้
สาม ในแง่เศรษฐกิจและต่างประเทศ การเลือกตั้งคราวนี้จะมีผลต่อทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐและนโยบายด้านต่างประเทศที่จะกระทบประเทศทั่วโลก ชัดเจนว่าสี่ปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารของทรัมป์ สหรัฐได้ทำทุกอย่างให้เกิดขึ้นตามที่ทรัมป์หาเสียงไว้ คือ นโยบายเศรษฐกิจเอาใจธุรกิจขนาดใหญ่ ชนชั้นนำ และตลาดการเงิน ลดจำนวนผู้อพยพเข้าสหรัฐจากต่างประเทศ เปลี่ยนข้อตกลงทางการค้าจากระบบพหุภาคีเป็นทวิภาคี ประกาศสงครามการค้ากับจีน และทำให้ประชาคมโลกรู้สึกว่าจีนเป็นคู่ปรับหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ ดังนั้น ถ้าทรัมป์ชนะเลือกตั้ง แนวนโยบายเหล่านี้คงจะเดินหน้าต่อไปอีกสี่ปีและอาจจะยิ่งหนักมือขึ้น
แต่ไบเดนมองปัญหาที่สหรัฐอเมริกามีตรงข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้น และต้องการให้ความสำคัญทันทีกับการแก้ปัญหาในประเทศ คือ หยุดการระบาดของโควิดโดยใช้ความรู้ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ แก้วิกฤติเศรษฐกิจ โดยทุ่มทรัพยากรไปช่วยเหลือคนส่วนล่างของสังคมที่ถูกกระทบ ชดเชยโดยการขึ้นภาษีภาคธุรกิจและคนรวย และต้องการนำสหรัฐกลับไปสู่ฐานะความเป็นประเทศผู้นำที่ทั่วโลกเคารพและให้การยอมรับ เป็นทิศทางนโยบายที่แตกต่างจากทรัมป์อย่างสิ้นเชิง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญทั้งต่อสหรัฐและเศรษฐกิจโลก
นี่คือบริบทของการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น และเมื่อวันเลือกตั้งมาถึงก็ไม่ผิดคาด ประชาชนอเมริกันเกือบ 160 ล้านคนลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 66.9 ของผู้มีสิทธิลงคะแนน สูงสุดในรอบ 120 ปี และคะแนนเลือกตั้งก็สูสีกันมากตั้งแต่เริ่มต้นนับคะแนน โดยทรัมป์มีคะแนนเลือกตั้ง (Electoral votes) นำในช่วงต้น จนการนับคะแนนมาถึงโค้งสุดท้าย คือ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนที่เหลือต้องนับ ที่ไบเดนเริ่มมีคะแนนผู้เลือกตั้งนำจนเกินจำนวน 270 ที่ถือเป็นเส้นชัย ล่าสุด ไบเดนได้ 290 คะแนนผู้เลือกตั้งเทียบกับทรัมป์ที่ได้ 217 เหลืออีกสามรัฐ คือ จอร์เจีย นอร์ทแคโรไลนา และอลาสก้า ที่การนับคะแนนยังไม่ยุติในช่วงที่ผมเขียนต้นฉบับเพราะสูสีกันมาก สามรัฐนี้มีคะแนนผู้เลือกตั้งรวมกัน 34 คะแนน ดังนั้นแม้จะมีการนับคะแนนใหม่ซึ่งทำได้ตามกฏหมายของแต่ละรัฐถ้าคะแนนห่างกันไม่มาก คือ ต่ำกว่าร้อยละ 0.5 แต่ทุกรัฐจะต้องสรุปผลคะแนนให้ได้สิ้นเดือนนี้ ทำให้มีโอกาสสูงมากที่ โจ ไบเดน จะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐ
เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้ง และระบบประชาธิปไตยที่สหรัฐถือเป็นต้นแบบ ผมว่ามีสามประเด็นที่สรุปได้ชัดเจนจากสิ่งที่เกิดขึ้น
หนึ่ง ผลการเลือกตั้งสะท้อนชัดเจนถึงความแตกแยกที่มีอยู่ในสังคมสหรัฐ เป็นความแตกแยกที่มาจากวัฒนธรรมในสังคมสหรัฐที่ฝังรากอยู่บนความแตกต่างระหว่างสีผิว ความรวยความจน ศาสนา และระบบการศึกษา นำไปสู่ความขัดแย้งและความไม่ไว้วางใจระหว่างคนในสังคม ที่กำลังขับเคลื่อนการเมืองสหรัฐอยู่ขณะนี้ นำไปสู่ความเห็นที่แตกต่างของคนในสังคม ในเรื่องภาวะโลกร้อน สิทธิในการทำแท้ง และการมีอาวุธปืนในครอบครอง ชัดเจนว่าการเลือกตั้งคราวนี้ คนอเมริกันผิวขาวรวมถึงผู้ที่อยู่ในชนชั้นแรงงานส่วนใหญ่จะลงคะแนนให้พรรครีพับลิกันและเลือกทรัมป์ และช่วงสี่ปีที่ผ่านมาชนชั้นผู้นำพรรครีพับลิกันก็ค่อนข้างจะยะโสในอำนาจและฐานะทางสังคมที่มี ใช้โอกาสนี้หาประโยชน์โดยใช้อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีสร้างความมั่งคั่งให้กับกลุ่มและชนชั้นของตน ทำให้โอกาสไต่เต้าของคนส่วนล่างของสังคม หรือผู้ที่มาใหม่เหมือนถูกปิดกั้นมากขึ้น สร้างความไม่พอใจและความผิดหวังต่อระบบทุนนิยม การเมืองในสหรัฐ และระบบประชาธิปไตย
ในการเลือกตั้งคราวนี้ เราจึงเห็นกลุ่มแรงงานผิวสี และผู้ด้อยโอกาสในสังคมลงคะแนนให้พรรคเดโมเครตอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อน มองว่าพรรคเดโมเครตให้ความสำคัญในเรื่องความเป็นธรรมในสังคม ขณะที่พรรครีพับลิกันยิ่งนับวันจะยิ่งอนุรักษ์นิยมหนักขึ้น จนถึงเน้นความสำคัญเรื่องจารีตนิยม คือ ความเป็นสังคมอเมริกาดั้งเดิมที่ผู้เข้ามาใหม่ที่อพยพเข้ามาอยู่อเมริกาในช่วง 70 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถเชื่อมต่อได้ และเริ่มรู้สึกว่าอเมริกาไม่ได้เป็นดินแดนแห่งโอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัวเหมือนแต่ก่อน ความรู้สึกนี้ถ้าไม่แก้ไขก็จะมีอยู่ต่อไปแม้ทรัมป์จะไม่อยู่และพรรคเดโมเครตกลับมาเป็นรัฐบาล
สอง เราเห็นความเป็นสถาบันของกลไกในระบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งที่ประชาชนให้ความเชื่อถือ นับตั้งแต่ระบบการเลือกตั้ง ระบบการลงคะแนน แม้จะมีหลายวิธีก็ชัดเจนและประชาชนปฏิบัติตาม ระบบการนับคะแนน แม้จะแตกต่างกันในแต่ละรัฐ แต่ทุกรัฐก็มีวิธีการของตนเองที่โปร่งใสชัดเจนและยึดถือปฏิบัติ การประกาศคะแนน การโต้แย้งคะแนน และการนับคะแนนใหม่ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนที่วางไว้โดยแต่ละรัฐและมีเงื่อนเวลาแน่นอน ทำให้ประชาชนสหรัฐมีความมั่นใจว่า ทุกเสียงที่ลงคะแนนจะถูกนับและการนับคะแนนจะตรงไปตรงมา เพื่อให้ผู้ชนะที่จะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปเป็นคนที่ประชาชนเลือก ไม่มีใครจะแทรกแซงได้ แม้แต่ประธานาธิบดีในตำแหน่ง
ความเข้มแข็งนี้เป็นตัวอย่างของสิ่งที่ประเทศไทยไม่มี และต้องพยายามทำให้เกิดขึ้น ไม่มีคณะกรรมการเลือกตั้งจากส่วนกลางที่คอยสั่งการ มีแต่กรรมการของท้องถิ่นที่สะท้อนการกระจายอำนาจทำให้ระบบการตรวจสอบ หรือ Check and balance เข้มแข็ง มีการนับคะแนนอย่างเป็นระบบ เป็นมาตรฐาน ไม่มีบัตรเขย่ง ผลการเลือกตั้งระดับรัฐไม่ต้องมารวมผลในส่วนกลาง สามารถประกาศได้เลย และเมื่อรวมคะแนนเสร็จ ผู้ที่มีคะแนนผู้เลือกตั้งเกินครึ่งก็จะถูกยอมรับว่าเป็นประธานาธิบดีที่ประชาชนเลือก ไม่ต้องมี สว. 250 คนเข้ามาแทรกแซงการตัดสินใจของประชาชนอย่างบ้านเรา ทำให้ผู้นำประเทศเข้ามาด้วยความภูมิใจ ด้วยความชอบธรรม และด้วยความถูกต้อง
สาม ท่ามกลางความแตกแยกในสังคมที่มีมาก ปัจจัยสำคัญที่ตัดสินผลการเลือกตั้งคราวนี้ก็คือ เรื่องเศรษฐกิจและความสามารถของรัฐบาลในการทำหน้าที่เพื่อประชาชนและส่วนรวม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของโควิด-19 ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ และความไม่สามารถของรัฐบาลในการแก้ปัญหาได้ทำให้ความเชื่อมั่นในความจริงใจและในฝีมือการบริหารประเทศของรัฐบาลทรัมป์ลดลงอย่างมาก จริงอยู่ในรัฐที่มีการระบาดมากและเป็นพื้นที่สีแดงของพรรครีพับลิกัน คะแนนเสียงที่ทรัมป์ได้ก็ยังเหนียวแน่น แต่ในพื้นที่ที่พรรคเดโมเครตเคยเสียคะแนนให้กับพรรครีพับลีกันในการเลือกตั้งคราวที่แล้วและส่งให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เช่น เพนซิลเวเนีย มิชิแกน และวิสคอนธิน คราวนี้ก็กลับมาเป็นพื้นที่สีน้ำเงินเหมือนเดิม แม้จะเป็นรัฐที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิดมาก ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ลำบากโดยเฉพาะอัตราการว่างงานที่สูงถึง 14.7 เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมามีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งคราวนี้ ชี้ว่าสิ่งที่ประชาชนหวังจากรัฐบาลคือ ความสามารถที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น และถ้าสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้น ประชาชนก็จะไม่พอใจและพร้อมที่จะปฏิเสธความเป็นผู้นำของของรัฐบาล
วันที่ 19 มกราคมปีหน้าจะเป็นวันที่ประธานาธิบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง ดังนั้นจากวันนี้ถึงวันนั้น ซึ่งนานเกือบสองเดือนสหรัฐก็จะไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ช่องว่างนี้จะทำให้ทั้งสถานการณ์ เศรษฐกิจ และการระบาดของโควิดจะยิ่งแย่ลงอีก ทำให้จะเป็นความท้าทายอย่างมากต่อรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา ดังนั้น การบ้านที่รัฐบาลไบเดนจะต้องให้ความสำคัญทันทีจะมีสามเรื่อง
หนึ่ง ยุติการระบาดของโควิดให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยและควบคุมได้โดยเร็ว
สอง เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและฟื้นเศรษฐกิจโดยใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มี
สาม เยียวยาความแตกแยกในสังคม โดยนโยบายและท่าทีของรัฐบาลที่ต้องเป็นรัฐบาลของประชาชน เพื่อประชาชน และโดยประชาชนอย่างแท้จริง
การบ้านเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ และอยู่ในวิสัยที่ประเทศอย่างสหรัฐจะทำได้ แต่ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ ดังนั้น การเปลี่ยนผู้นำจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของรัฐบาลในระบบประชาธิปไตย ที่จะต้องตามมา คือ คนในสังคมต้องให้ความร่วมมือและเห็นด้วยในสิ่งที่รัฐบาลจะทำ เชื่อมั่น และ Trust ในภาวะผู้นำของรัฐบาล นี่คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ได้สร้างประเทศสหรัฐอเมริกาในอดีต และเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกประเทศในระบบประชาธิปไตย.
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |