ประชุมวันแรกรื้อรัฐธรรมนูญ รุมสับรายงานคณะกรรมาธิการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญเสียเวลาเปล่า “เพื่อไทย” เล่นสองหน้า ยึกยักรับร่างไอลอว์ “จอน” ชี้เป็นฉบับประชาชน ปูดกลางสภารับเงินต่างชาติแต่สั่งไม่ได้ อ้าง ส.ส.ร.ปี 2540-2550 ก็ไม่ตีเส้นเรื่องแก้หมวด 1-2 “ยิ่งชีพ” ฟุ้งเป็นความฝัน 5 ข้อ อึ้ง!บอกให้รับไปก่อนค่อยไปแก้ทีหลัง “สภาสูง” จัดหนักชี้หากรับหลักการก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ผวา! ส.ส.ร.สอดไส้ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง รับเงินฝรั่งเปลี่ยนชาติไทย เด็ก พปชร.ซัดฉบับชักศึกเข้าบ้าน
เมื่อวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน ได้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เพื่อพิจารณารายงานการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช.... ก่อนรับหลักการ จำนวน 6 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... 7 ฉบับ โดยเฉพาะฉบับที่ 7 ที่นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 78,041 คน เป็นผู้เสนอ
โดยก่อนประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามที่สื่อมวลชนได้ส่งไปสอบถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า นายกฯ อยากชี้แจงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใด อย่างไรให้เป็นดุลยพินิจของ ส.ส.และ ส.ว.
ขณะที่นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พรรค พปชร.ยืนยันว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญร่าง 1 และ 2 ในวาระรับหลักการ และเชื่อว่าน่าจะเรียบร้อยดี ส่วนจะลงมติฉบับไหนอย่างไรก็ต้องไปว่ากัน ส่วนร่างฉบับไอลอว์นั้นต้องไปฟังถึงเหตุผลกันในรัฐสภา
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ปชป.ยังยืนยันจุดยืนเดิมในการรับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน 2 ฉบับ ส่วนร่างของไอลอว์ต้องรอให้นำเสนอร่างนี้ต่อรัฐสภา โดยเราขอฟังเหตุผล ก่อนนำมาประกอบการพิจารณาอีกครั้ง
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ว่า ขอรอฟังคำอภิปรายก่อน ว่าจะตีความเป็นการแก้ทั้งฉบับหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็คงลงมติรับหลักการ เพราะร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอให้ตั้ง ส.ส.ร.นั้นมีการยกเว้นหมวด 1 และ 2 แต่ร่างของไอลอว์ไม่มีข้อยกเว้น ก็อาจตีความได้ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาหลักการ 11 ข้อในร่างของไอลอว์ด้วยว่าเมื่อเข้าสู่ชั้น กมธ.จะปรับได้หรือไม่ ซึ่งยังไม่ปฏิเสธร่างของไอลอว์ ส่วนจะเป็นการหักมติของพรรคร่วมหรือไม่นั้น มติพรรคร่วมเราก็เคารพ อะไรที่ไปกันได้ก็ไปกัน แต่มีหลายเหตุผล บางเรื่องเป็นนโยบายของพรรค ก็ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน
นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ร่างรัฐธรรมนูญจากทุกภาคส่วนต้องได้รับการพิจารณา โดยเฉพาะร่างของประชาชน โดยหวังว่าจะได้เห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกร่างถูกนำไปร่วมกันเพื่อพิจารณา โดยไม่มีฉบับใดถูกกีดกันตีตกไป
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า พรรคจะลงมติรับทั้ง 7 ร่าง ส่วนที่วิปรัฐบาลจะรับเพียง 2 ร่างนั้น เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย อยากให้ทุกท่านมองเห็นถึงการทางออกให้ประเทศ เพราะร่างของไอลอว์ครอบคลุมเเละครบถ้วน เเละที่สำคัญที่สุดคือเป็นร่างจากร้องประชาชนโดยแท้จริง
บี้เพื่อไทยทบทวนท่าที
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อจดหมายเปิดผนึกถึงพรรคเพื่อไทย ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการ เพื่อให้มี ส.ส.ร.มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทุกหมวด ทุกมาตราภายใต้กรอบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นทำได้ไม่มีความผิดฐานล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด
“การถอยครั้งนี้จะสร้างบรรทัดฐานที่ผิดไปตลอดกาลว่า ราชอาณาจักรไทยไม่สามารถเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญตามระบบได้ จะสร้างบรรทัดฐานที่ผิดไปตลอดกาลว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกหมวด ทุกมาตรา รวมถึงหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ การถอยครั้งนี้จะปิดประตูปฏิรูปทุกสถาบันโดยวิถีทางสันติตามกลไกรัฐสภา การถอยครั้งนี้ ทำให้หนทางการประนีประนอมปิดตายลง จนราชอาณาจักรไทยไม่อาจเป็น The Land of Compromise ได้ และการถอยครั้งนี้จะทำให้ประชาชนต้องลงมือทำกันเอง ไม่มีอะไรหยุดยั้งได้ และไม่มีใครคาดหมาย ควบคุมได้ด้วย” นายปิยบุตรกล่าว และว่า ยังพอมีเวลาอีก 1 วันเต็ม อยากขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ แกนนำ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ทบทวนอีกครั้ง ร่วมกันลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของไอลอว์
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์เฟซบุ๊กในประเด็นนี้ว่า การไม่รับร่างของประชาชนฉบับไอลอว์ จะปิดโอกาสการนำข้อเสนอของประชาชนเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะทำให้การเคลื่อนไหวนอกสภากับการทำหน้าที่ของรัฐสภาจะกลายเป็นเส้นขนานสองเส้นที่ไม่อาจพบกันอีกเลย
ในช่วงค่ำ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยยังมีจุดยืนชัดเจนที่จะรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ แล้วจะใช้มติพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรครับร่างนี้ และทิศทางการโหวตในวันที่ 18 พ.ย. จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนอะไรต่างๆ จะเกิดขึ้นก็อยู่ที่การพิจารณาวาระสอง ซึ่งก็อยู่ที่ กมธ.
ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยและการเดินทางเข้า-ออกอาคารรัฐสภาว่ารัฐสภายินดีต้อนรับผู้ที่มาเยือน แต่ขอให้อยู่กันโดยสงบ อย่าไปคุกคามกันด้วยวาจา ขอให้สมาชิกพิจารณาวาระกันตามปกติ เพราะเป็นการประชุมนัดพิเศษ มีแต่เรื่องรัฐธรรมนูญ คิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมจะปักหลักค้างคืนได้ขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยดูแลแล้ว
เมื่อถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการพิจารณาได้ต้องได้เสียงสนับสนุนจำนวนเท่าใด นายชวนกล่าวว่า ส.ว.มี 250 คน แต่ตอนนี้ไม่ครบ ดังนั้น 1 ใน 3 ขณะนี้ต้องได้ 82 เสียง ส่วนกระแสข่าวว่าจะตีตกร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์นั้น ยังไม่ทราบ ต้องรอการพิจารณา ดุลพินิจให้สิทธิ์กับสมาชิกรัฐสภา
ถามย้ำว่า มีการเรียกร้องให้รับร่างของประชาชนจะเป็นการกดดันการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า มีสิทธิเรียกร้อง แต่อย่าไปทำอะไรที่เป็นการกดดันหรือคุกคาม ไม่ว่าด้วยวาจาหรืออะไรก็ตาม ซึ่งผู้เรียกร้องก็เรียกร้องอยู่เหมือนกันว่าอย่าให้รัฐบาลมาคุกคาม ดังนั้นเห็นว่าแต่ละฝ่ายอย่าไปคุกคามกัน
และเมื่อเวลา 09.50 น. ได้เริ่มประชุมร่วมรัฐสภา โดยก่อนประชุมได้มีการหารือถึงกรอบเวลาว่าน่าจะอภิปรายจบหลังเที่ยงคืน แล้วอภิปรายต่อในวันที่ 18 พ.ย. ไม่เกิน 14.00 น. และลงมติจบไม่เกิน 18.00 น.
รุมสับรายงาน กมธ.
ต่อมาได้เริ่มเข้าสู่การอภิปรายรายงานของ กมธ. ซึ่งนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. อภิปรายว่า ค่อนข้างผิดหวังกับรายงาน เพราะไม่มีคำตอบทางออกในการพิจารณาญัตติทั้ง 6 ญัตติว่าความหมายของคำว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญมีขอบเขตเพียงใด
ทั้งนี้ ในการอภิปรายของ ส.ว.ยังมีทิศทางเดียวกันในเรื่องอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ที่ทำได้เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติม เป็นรายมาตรา หรือแก้ไขด้วยร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้อำนาจ ส.ส.ร. ดำเนินการ
ขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปรายเช่นกันว่า ไม่มีสาระสำคัญเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาตัดสินใจ เป็นเพียงการรวบรวมความคิดเห็นจากแต่ละคนเท่านั้น ไม่มีแม้แต่ข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ จึงเป็นรายงานที่ไม่ได้ศึกษา
ด้านนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก.อภิปรายว่า ชัดเจนว่าการตั้ง กมธ.ชุดนี้มีเจตนาประวิงเวลาไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วยังเอาข้อมูลไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อถ่วงเวลาอีกต่อหนึ่งอีก
ต่อมาเวลา 12.20 น. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. ในฐานะรองประธาน กมธ. กล่าวว่า จากการวิพากษ์วิจารณ์ของสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับรายงานไม่มีทางออกนั้น กมธ.ได้พูดคุยกันมาก และเห็นว่าเพื่อให้เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิก ดังนั้น การเสนอข้อมูลทางกฎหมาย และองค์ความรู้ที่ถูกต้องชัดเจน เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าความคิดเห็นที่เป็นมติ
ทั้งนี้ หลังการอภิปรายมาหลายชั่วโมง ก็ได้เข้าสู่การพิจารณาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของกลุ่มไอลอว์ แต่ปรากฏว่ามี ส.ส.ฝ่ายค้านได้ขอหารือถึงสถานการณ์การควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมภายนอกอาคารรัฐสภา ก่อนนายพรเพชร วิชิตชลชัย ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้มอบหมายให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่าให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น และได้ดำเนินการตามระเบียบวาระต่อไป
จากนั้น เวลา 15.30 น. นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้แทนริเริ่มเสนอกฎหมายชี้แจงว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ร่างของไอลอว์ แต่เป็นร่างของประชาชนกว่า 1 แสนคน จึงหวังว่าสมาชิกรัฐสภาจะให้ความสำคัญ ไม่ใช่ปฏิเสธตั้งแต่วาระแรก แต่ควรให้ข้อดีๆ ของร่างฉบับนี้เข้าไปพิจารณาร่วมกับร่างของพรรคการเมืองต่างๆ
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้ชี้แจงอภิปรายเสริมว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเรานั้น เรามีความฝัน 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.เราฝันว่าจะมีการปกครองที่ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีและผู้นำประเทศได้ อย่างน้อยด้วยการเลือกทางอ้อมผ่านสมาชิกรัฐสภาที่มาจากประชาชน 2.เราฝันว่าจะได้อยู่ในประเทศที่รัฐบาลโปร่งใสและถูกตรวจสอบได้ โดยมีองค์กรเข้ามาตรวจสอบโดยตรง ซึ่งมีที่มาเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร 3.เราฝันว่าจะอยู่ในประเทศที่ประชาชนกำหนดอนาคตของตัวเอง ผู้สมัครเลือกตั้งต้องแถลงนโยบายว่าจะพาประเทศไปทางไหนและให้ประชาชนเลือก 4.เราฝันว่าจะอยู่ในประเทศที่กระบวนการยุติธรรมเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการยกเว้นความผิดให้กับใคร และ 5.เราฝันว่าจะอยู่ในกติกาสูงสุดที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขียนขึ้นโดยประชาชน โดยคนที่จะมาทำจะยึดโยงจากประชาชนทุกคนภายใต้บรรยากาศที่ปลอดภัย
"หากรัฐสภาลงมติรับหลักการก็เป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาประชาธิปไตย และทำให้ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนถนนได้มีพื้นที่พูดคุยอย่างมีเหตุผล หากรัฐสภาไม่รับไว้พิจารณาในขั้นตอนต่อไป สมาชิกรัฐสภาต้องอธิบายต่อประชาชนนับแสนคน รวมทั้งประชาชนอีกหลายคนที่รอฟังคำอธิบายต่อไป" นายยิ่งชีพกล่าว
รับหลักการแก้ไม่ได้
ในเวลา 16.17 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. อภิปรายร่างไลอว์ ว่าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนกับธรรมนูญการปกครองของคณะรัฐประหารที่มีการให้จัดทำกฎหมายและร่างกฎหมายใหม่ไปในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะการยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ได้รับการประกาศใช้โดยสมบูรณ์แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่จะกระทำไม่ได้ นอกจากนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน มีการจาบจ้วงไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งที่พระมหากษัตริย์จะถูกล่วงละเมิดไม่ได้ จึงสงสัยว่าการไม่กำหนดห้ามแก้ไขหมวด 1 และ 2 มีเจตนาอย่างไร
“ข้อบังคับสภาเมื่อรับหลักการร่างที่ท่านเสนอมา ซึ่งมีหลายประเด็นด้วยกันแล้ว ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ สมาชิกรัฐสภาต้องยึดตามนั้น นอกจากนี้การเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองเข้ามาควบคุมการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญผ่านการส่งบุคคลลงเลือกตั้ง ส.ส.ร.”
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พลังประชารัฐ อภิปรายว่า เมื่อผู้รวบรวมรายชื่อคือกลุ่มไอลอว์ ที่ได้รับทุนจากต่างชาติ ทำให้คนไทยไม่สบายใจ เพราะการที่องค์กรที่ต่างชาติสนับสนุนไม่โดยเฉพาะเรื่องการเมืองถือว่าไม่เหมาะสม และเชื่อว่าผู้ลงชื่อร่างดังกล่าวมีแกนนำและผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรรวมอยู่ด้วย ร่างนี้จึงสอดคล้องกับหลักการของผู้ชุมนุมที่ต้องการปฏิรูปสถาบัน ถ้าเป็นเรื่องอื่นพอรับได้ การเปิดให้แก้หมวด 1 หมวด 2 ถือเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน อีกทั้งยังเตรียมวางตัวบุคคลมาเป็น ส.ส.ร. ใครกลุ่มใดก็ชัดเจน เพราะไม่ห้ามบุคคลที่ญัตติอื่นห้ามมาเป็น ส.ส.ร.ได้ เช่น คนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง กรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์ก็เตรียมมาเป็น ส.ส.ร.
“ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านและรัฐบาลก็ครอบคลุมความต้องการของประชาชนแล้ว แต่ถ้าใครจะสนับสนุนร่างที่เป็นปฏิปักษ์สถาบัน ก็ขอให้รับร่างของไอลอว์ แต่ถ้าอยากปกป้องสถาบัน ขอให้พิจารณาโหวตเหมือนผม เป็นตัวแทนประชาชนโหวตคว่ำร่างไอลอว์ที่เป็นปฏิปักษ์ของสถาบัน” นายไพบูลย์ระบุ
ต่อมา ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ลุกขึ้นอภิปรายหลายคน โดยมีทิศทางเดียวกันที่ระบุว่าสนับสนุนและเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ อาทิ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย
พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายตั้งคำถามว่าการให้ยกเลิก ส.ว.ชุดปัจจุบัน รวมถึงให้ยกเลิกกรรมการองค์กรอิสระอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะทำให้เกิดหายนะของการปฏิบัติงาน กรณีที่กำหนดให้มี ส.ส.ร. หลังเลือกตั้ง กกต. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ขณะเดียวกันให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ใช้บังคับคำถามที่เกิดขึ้นคือ หากรัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับ ข้อกำหนดให้เลือก ส.ส.ร. หลังจากมี กกต. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ จะใช้องค์กรใดดำเนินการ
นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. พรรค พปชร. อภิปรายว่า ทราบกันดีว่าไอลอว์กับม็อบคณะราษฎรมีส่วนเกี่ยวข้องกันทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่ง 3 ข้อเรียกร้องของม็อบคณะราษฎรมีเรื่องการปฏิรูปสถาบันด้วย ถ้าเรารับหลักการจะกระทบต่อสถาบันหลักของชาติ จึงจำเป็นต้องตัดไฟแต่ต้นลม อย่าเอาความมั่นคงของชาติไปแลกกับความพึงพอใจแค่กลุ่มเดียว ดังนั้นจะแก้หมวดไหนก็แก้ไป แต่ห้ามเตะหมวด 1 หมวด 2 เด็ดขาด
ฉะฉบับชักศึกเข้าบ้าน
“ไอลอว์เป็นองค์กรรับทุนจากต่างชาติ รับเงินจอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินชาวยิวผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีค่าเงินบาทของไทยในปี 2540 ไอลอว์คือองค์กรที่รับทุนจากผู้ทุบค่าเงินบาทจนทำให้เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งที่ผ่านมา แม้การรับทุนทำกิจกรรมไม่ผิด แต่สิ่งที่ไอลอว์ทำเป็นกิจกรรมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาล สนับสนุนข้อเสนอให้ปฏิรูปสถาบัน เสนอร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่ ความเจ็บปวดในปี 40 ยังเป็นฝันร้ายในหลายครอบครัว เราต้องไม่ชักน้ำเข้าลึก อย่าชักศึกเข้าบ้าน ไม่มีใครที่รักประเทศไทยเท่ากับคนไทย ดังนั้นต้องไม่ให้ต่างชาติเข้ามาครอบงำเรา”
ต่อจากนั้น เวลา 18.55 น. นายจอนตอบการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้น โดยปกติไม่ได้ห้าม ส.ส.ร.แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ร.ปี 2540 หรือปี 2550 เรามีความเชื่อมั่นอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แล้วจะไปกำหนดประชาชนว่าห้ามแตะตรงนี้ ห้ามแตะตรงนั้น มันขัดแย้งกัน เราต้องเชื่อในระบอบประชาธิปไตย เชื่อว่า ส.ส.ร. ที่จะได้รับเลือกในประเทศไทยนั้น จะมีความหลากหลาย ไม่ต่างกับรัฐสภาแห่งนี้ไม่ต่างกับ ส.ส.จะมีหลายลักษณะ
“เรารับเงินต่างประเทศ จริงๆ ไม่อยากจะพูดมาก คือมันเป็นธรรมดาที่องค์กรพัฒนาเอกชนในไทย รวมถึงสถาบันที่มีชื่อหลายสถาบันรับทุนจากหน่วยงานในต่างประเทศ ไม่ได้แปลว่าถูกชี้นำ ไม่ได้แปลว่าถูกบงการ และเรารับรองได้ ในฐานะเป็นผู้ก่อตั้งไอลอว์ว่าไม่เคยมีใครสามารถมาบงการการทำงานของไอลอว์ได้ ผมขอพูดแค่นี้” นายจอนกล่าว
ขณะที่นายยิ่งชีพชี้แจงว่า ดีใจที่ไม่เห็นค้านหลักการ 5 เสนอที่เป็นความฝัน ซึ่งไอลอว์ไม่เคยทำงานในวงงานนิติบัญญัติ และกฤษฎีกา มีเพียงหลักการที่จะนำเสนอ ดังนั้นหากเห็นด้วยขอให้รับหลักการ ส่วนรายละเอียดเชิงเทคนิคนั้น ขอใช้ประสบการณ์ของสมาชิกรัฐสภาอุดรอยรั่วบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น การยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อาจเปิดโอกาสหรือถูกตีความเพื่อนิรโทษกรรมคดีทุจริตนั้น ขอให้ช่วยแก้ไขในวาระสองและวาระสาม
"เราเป็นภาคประชาชน ไม่สามารถแยกเสนอรายประเด็นได้ เพราะเป็นภาระกับภาคประชาชน จำเป็นรวบรวมหลักการที่อยากเห็นเสนอทีเดียว หากไม่เห็นค้านในหลักการน่าจะรับกันได้ ส่วนการยกเลิกการปฏิรูปประเทศนั้นไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ต้องทำให้การปฏิรูปนั้นเกิดขึ้นโดยมีส่วนร่วม ส่วนที่กังวลว่าร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนจะทำให้เกิดสุญญากาศ ขอรบกวนให้รับเพื่อช่วยแก้ปัญหาในวาระสอง" นายยิ่งชีพชี้แจง
ในเวลา 19.20 น. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า การรับเงินถ้าเป็นเรื่องธรรมดามาดูแลสังคม ประชาชน รับไปเถอะ แต่รับมาแล้วเข้ามายุ่งเกี่ยวกับความมั่นคงประเทศ ซึ่งข้อเสนอไอลอว์ เมื่อดูแต่ละมาตรามีการยกเลิกล้วนเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศทั้งนั้น องค์กรที่ให้เงินไอลอว์ ถ้าเป็นองค์กรทั่วไป ไม่เป็นอะไร แต่เป็นองค์กรที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยมาแล้วเมื่อปี 2540 แม้ท่านจะบอกว่ารับเงินเขามาแล้วเราสุจริตใจไม่เกี่ยวกัน แต่ 11 ข้อของท่านเกี่ยวความมั่นคงประเทศทั้งนั้น จะให้เราไว้ใจ ไปรับร่างได้อย่างไร
“ถ้าอ้างคำว่าประชาชนคนทั้งประเทศก็รู้สึกคนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยก็มีเยอะ ร่างไอลอว์เป็นความไม่ไว้วางใจ ผมรักสถาบัน ห่วงถ้าไปตั้งคนมาเป็น ส.ส.ร.ที่ใครก็ได้มาเป็น ไม่คำนึงคุณสมบัติ ทำให้พวกเรากังวลใจ เพราะร่างนี้ทำให้ประเทศเสียหาย ประชาชนได้รับผลกระทบ เราให้ความสำคัญกับประชาชนเสมอ แต่ขณะเดียวกันก็ปกป้องผลประโยชน์ประชาชนทั้งประเทศ เลยไม่รับร่างฉบับนี้” นายเสรีระบุ
จากนั้น นายคํานูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไอลอว์ฉบับนี้ถือเป็นร่างลูกผสม มีทั้งหลักการแก้มาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร. กับหลักการให้แก้ไขรายประเด็นรวมทั้งสิ้น 10 ประเด็น ถ้ารับหลักการต้องรับทั้งหมด และยังมีประเด็นเรื่องหลักการข้อ 9 ที่ยกเลิกกระบวนการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระ และตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 7 ฉบับ ขอเน้น 2 ฉบับใหญ่ คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน นี่เป็นเสมือนการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดฐานทุจริต ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ทั้งหมดหรือไม่
นายยิ่งชีพชี้แจงว่า ร่างที่เสนอไม่ต้องการยกเลิกคดีความหรือนิรโทษกรรมให้ใคร วันนี้เรามีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีแก้กฎหมายประกอบแก้รัฐธรรมนูญ เราจึงเสนอให้ครอบคลุมไปก่อน ถ้าถามว่าผ่านวาระสองไปแล้วมีเจตนารมณ์อย่างไร เราไม่มีเจตนานิรโทษกรรมให้ใคร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |