"โจ ไบเดน" จะให้สหรัฐฯ กลับมาเข้าเขตการค้าเสรี CPTPP หรือไม่ เป็นคำถามที่หลายคนต้องการคำตอบ
มีแนววิเคราะห์กันไปหลายทาง แต่ที่แน่ๆ คือรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ จะกลับมาสู่ทิศทางของ "พหุภาคี" หรือ multilateralism แทนที่จะใช้วิถีทาง "ทวิภาคี" หรือ bilateralism อย่างที่ทรัมป์ใช้มาตลอด
ทรัมป์ใช้วิธี "สองต่อสอง" เพราะเชื่อว่าเขาสามารถต่อรองและกดดันอีกฝ่ายหนึ่งได้ง่ายกว่า
เขาจึงเอาสหรัฐฯ ออกจาก CPTPP และ Paris Agreement และปรับเปลี่ยนข้อตกลงการค้ากับแคนาดาและเม็กซิโก
เมื่อไบเดนทำท่าจะปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินนโยบายการค้าและการลงทุน ไทยเราก็ต้องปรับยุทธศาสตร์ด้านนี้เหมือนกัน
ตรงกับรายงานในรัฐสภาที่ทำการศึกษาของกรรมาธิการในสภาเรื่อง CPTPP ที่สรุปว่า "ไทยยังไม่พร้อม"
เกิดคำถามต่อมาว่า หากสหรัฐฯ กลับมาเล่นเกมการค้าพหุภาคี เราจะปรับตัวอย่างไร
การเป็นสมาชิก RCEP ที่ไทยเราเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ที่มีจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และอาเซียน 10 ประเทศ เพียงพอที่จะตอบโจทย์ทั้งหมดของเราหรือไม่
ผมเชื่อของผมว่าเมื่อไบเดนหรือทีมงานเห็นข่าวการลงนาม RCEP ของผู้นำ 15 ประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จะต้องมีการวิเคราะห์ทิศทางของสหรัฐฯ ในเรื่อง CPTPP ไปทางใดทางหนึ่งแน่นอน
เพราะไบเดนจะยอมให้จีนมีบทบาทโดดเด่นในเรื่องนี้แต่เพียงผู้เดียวไม่ได้
หลายคนอยากเห็นไทยเข้า CPTPP แต่อีกหลายฝ่ายก็มีข้อแย้ง
รายงานชิ้นนี้จึงมีรายละเอียดที่น่าสนใจ
เช่นสรุปว่ามีข้อเสนอ 3 ด้าน 22 ประเด็นจากรายงาน กมธ.CPTPP สิ่งที่ไทยควรพร้อมก่อนตัดสินใจเข้าร่วม
"...ดังนั้นไทยยังไม่พร้อมจะเข้าเจรจาความตกลง CPTPP จนกว่าจะมีการทำความเข้าใจให้เกษตรกรยอมรับ การเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกร ซึ่งยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองและไม่สามารถสู้ได้ในเวทีโลก โดยการสนับสนุนเชิงนโยบาย และเพิ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชและขยายพันธุ์พืช..."
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 12 พ.ย.63 ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายเรื่อง จนปรากฏทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง
หลังใช้เวลานานกว่า 120 วัน กมธ.ชุดนี้ได้พิจารณาทั้งโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นใน 3 ด้านสำคัญ คือ
การเกษตร สาธารณสุข และเศรษฐกิจการค้า
ในภาพรวมมีความเห็นว่า ไทยยังไม่สมควรที่จะเข้าร่วมในความตกลง CPTPP
เพราะไทยยังไม่มีความพร้อมในหลากหลายด้าน พร้อมมีความเห็นให้รัฐดำเนินการในภาพใหญ่ 4 ประเด็น ดังนี้
1.ไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุน
2.รัฐบาลต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งด้านบวก ภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาผลกระทบด้านลบ
3.การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว หากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง
4.รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า
ข้อเสนอเหล่านี้ควรจะได้รับความสนใจที่นำไปสู่แผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม
ต้องไม่ลืมว่าขณะที่เรากำลังศึกษาและหาทางออกอยู่นี้ โลกไม่ได้หยุดนิ่ง
สหรัฐฯ ภายใต้ไบเดนจะขับเคลื่อนเรื่องการค้าอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะต่อจีน
สงครามการค้าระหว่างสองยักษ์จะไม่หายไป แต่จะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นอย่างไรย่อมอยู่ที่การต่อรองของทั้งสองฝ่าย
แต่ไม่ว่าสหรัฐฯ กับจีนจะหาทางออกร่วมกันได้หรือไม่อย่างไร ไทยเราก็ต้องปรับตัวเองอย่างจริงจัง
โลกอาจจะไม่รอให้เราทำอะไร "ทีละขั้นทีละตอน"
ความร้อนแรงของการแข่งขันจะไม่รอให้เราตกลงกันเองระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่นำเสนอ
และสหรัฐฯ อาจจะตั้งกลุ่มก้อนใหม่ที่เขาจะเป็นคนกำหนดกติกาใหม่
กติกาใหม่ที่ว่านี้อาจจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของไทยเราทุกเรื่อง
แต่หากเราจะไม่ตกขบวน นั่นแปลว่าเราต้องมีกระบวนการหาข้อสรุปของเราเองที่รวดเร็วและชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้
พรุ่งนี้ดูรายละเอียดของรายงานฉบับนี้ต่อครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |