'ส.ว.สุรชัย' ผิดหวังรายงาน กมธ.พิจารณาร่าง รธน. ไร้ทางออกลงมติ ขู่โหวตคว่ำ


เพิ่มเพื่อน    

17 พ.ย.63 - เวลา 10.40 น. ที่ประชุมรัฐสภา ภายหลังคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายงานเรียบร้อยแล้ว นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. อภิปรายว่า ได้อ่านรายงานของกมธ.แล้วค่อนข้างผิดหวัง เพราะหวังว่าจะใช้รายงานนี้เป็นคำตอบทางออกในการพิจารณาญัตติทั้ง 6 ญัตติ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่เป็นที่ถกเถียงกันคือ ความหมายของคำว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญมีขอบเขตเพียงใด เช่น แก้ทุกมาตรา แล้วยกเว้นหมวดหนึ่ง หมวดสอง เหมือนที่ร่างของรัฐบาลเสนอ เพราะฉะนั้นจึงไม่ถือเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ให้ถือว่าเป็นการแก้ไข

นายสุรชัย กล่าวว่า ถ้าสมมุติว่าตนเห็นด้วยกับกมธ. ว่าร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ชื่อหมวด 15/1 ที่เพิ่มไว้ในร่างทั้งสองฝ่ายจะมีชื่อว่าจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็ตาม ตนก็มีคำถามว่า เมื่อถือว่าเป็นการแก้ไขรายมาตรา เหตุใดจึงไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่าด้วยกระบวนการและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขเป็นอำนาจของรัฐสภา และเมื่อถือเช่นนั้นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้ง ส.ส.ร. ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดคำถามว่าตกลงแล้วร่างของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเป็นการจัดทำหรือเป็นการแก้ไขกันแน่ ถ้าเห็นว่าเป็นการแก้ไขก็เป็นอำนาจของรัฐสภาที่ได้รับมอบอำนาจแก้ไขจากรัฐธรรมนูญ ถ้าหากบอกว่าเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนอยากถามว่าสภาแห่งนี้มีอำนาจจัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่

นายสุรชัย กล่าวอีกว่า อยากถามกมธ.ว่าคำตอบที่จะใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจ ว่ากระบวนการในการทำงานของพวกเราเป็นกระบวนการที่ชอบหรือไม่ชอบรัฐธรรมนูญ คำตอบคืออะไร อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญทุกฉบับต้องมีหลักการ ถ้าวันหนึ่งเราตีความว่าแก้ไขได้ ทั้งที่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่าถ้าจะแก้ต้องแก้ไขเป็นรายมาตรา ถ้าจะจัดทำใหม่ต้องทำประชามติเสียก่อน ซึ่งก็มีบางคนตีความว่าการทำประชามติทำตอนผ่านวาระสามก็ได้ เพราะมาตรา 256 (8) ก็เขียนให้ทำประชามติอยู่แล้ว แต่เมื่ออ่านในมาตราดังกล่าว กลับพบว่าเป็นการทำประชามติเฉพาะมีการแก้ไขเรื่องสำคัญๆตามที่กำหนดไว้ในมาตราดังกล่าว (8) เท่านั้น เป็นหลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ทำประชามติสำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“หากคำตอบของกมธ.ยังไม่สามารถทำให้มีความกระจ่างชัดเพียงพอ ขอกราบเรียนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องโหวตให้ความเห็นชอบสำหรับการแก้ไขรายมาตรา และเพื่อแสดงให้เห็นว่าในฐานะสว.คนหนึ่งของรัฐสภาแห่งนี้ ยินดีสำหรับเสนอแก้ไขรายมาตราในญัตติที่ 3-6 ยินดีให้ความเห็นชอบหลายมาตราที่เสนอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจของวุฒิสภา ผมยินดีที่จะปิดสวิตซ์ตัวเอง ผมก็ประเมินผลมาโดยตลอดตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เข้าใจเจตนารมณ์ในการมีมาตรา 272 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศ

นั่นคือเหตุผลที่ทำไม ส.ว.จึงยอมรับ เพราะเราถือเป้าหมายประเทศ ที่ต้องการก้าวพ้นปัญหาเดิมๆ ผ่านกระบวนการปฏิรูปในช่วงบทเฉพาะกาลห้าปี ดังนั้น หากที่ประชุมคิดว่าบทบัญญัติไม่จำเป็น ผมยินดีที่จะสละอำนาจส่วนตัวในฐานะ ส.ว. เกี่ยวกับอำนาจในมาตรา 270 มาตรา 272 หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เสนอเลือกตั้งใบเดียว เพียงแต่ขอให้ทุกคนยึดหลักประเทศชาติ จะกลับไปเลือกตั้งแบบเดิม สองใบ ก็ไม่ขัดข้อง” นายสุรชัย กล่าว

นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า ตนขอความอิสระ อย่ากดดัน คุกคาม ข่มขู่ และขอเสนอคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งเป็นคนสถาปนารัฐธรรมนูญ อย่าเสียดายงบประมาณที่จะทำประชามติเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง ดีกว่าปล่อยให้อึมครึมปล่อยเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเสียหายกว่าเสียงบทำประชามติ ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เข้าสภาเรียบร้อยแล้ว จึงอยากจะขอให้พวกเราในที่นี้ช่วยกันผลักดัน แล้วให้สภาแห่งนี้เรียบเรียงคำถามในการทำประชามติ นี่คือทางออก ไม่ใช่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกดดันต้องรับหรือไม่รับ ให้ประชาชนเจ้าของอำนาจตัดสินเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ขณะเดียวกันระหว่างเส้นทางคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อหยุดทุกอย่าง เราก็สามารถแก้รายมาตราควบคู่กันไป


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"