จ่อโหวตผ่านตั้งสสร. รัฐบาลรับร่างแก้รธน.2ฉบับม็อบขู่ไม่ให้ออกจากรัฐสภา


เพิ่มเพื่อน    

  จับตาอนาคตรัฐธรรมนูญไทย 17 พ.ย.ประเดิมถก 7 ร่างแก้ไข ฝ่ายรัฐบาลส่งสัญญาณรับหลักการแค่ 2 ฉบับ ส่วนอีก 5 ตีตกโดยเฉพาะฉบับไอลอว์ ส่วนฝ่ายค้านออกฉันทานุมัติหนุนทั้ง 7 ฉบับ “ก้าวไกล” แบไต๋จะดันร่างไอลอว์เป็นร่างหลัก “บิ๊กตู่” อารมณ์ดีย้ำจะทำหน้าที่จนกว่าไม่ได้ทำ ขน  18 กองร้อยดูแลความสงบ ตร.ประกาศชัดห้ามปิ้งย่างผิดกฎหมาย แต่คณะราษฎรอ้างพื้นที่ราษฎร เปิดจองชุดหมูกระทะ 599 แล้ว    

    ในวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายนนี้ มีระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) โดยมีเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว คือ รายงานการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ก่อนรับหลักการ  จำนวน 6 ฉบับ และเรื่องด่วนร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... จำนวน 7 ฉบับ
    โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยหลังกลุ่มผู้ชุมนุม 2 ฝ่ายนัดชุมนุมใหญ่หน้ารัฐสภา เพื่อจับตาการพิจารณารับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าได้กำชับการดูแลภายในอาคารสภาเป็นหลัก ส่วนบริเวณภายนอกนั้นให้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลคอยดูแล ขอย้ำว่าต้องไม่ประมาท แต่ไม่ใช่กลัวจนมีปัญหา เพราะการชุมนุมก็ทำได้ตามกฎหมาย แต่ต้องชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และต้องไม่ไปคุกคามใคร ที่นี่เป็นสภา ใครมาก็ได้อยู่แล้ว ใครจะมาชุมนุมก็ทำได้ แต่ต้องชุมนุมโดยสงบ
    นายชวนยังกล่าวถึงการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับว่ามติเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ผู้ชุมนุมก็ดีหรือใครก็ดี อย่าคาดคั้นให้ลงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ขอให้ปล่อยเป็นการลงมติอิสระดีกว่า คนระดับนั้นก็คงไม่กลับกลอก ให้เขาตัดสินใจด้วยตัวเอง ใช้เหตุผลดีที่สุด ปัญหาตอนนี้คือเรื่องเวลาที่ยังไม่ได้ตกลง มีแต่เพียงว่าวุฒิสภาไม่อยากให้ลงมติตอนกลางคืน
    เมื่อถามว่าถ้าไม่ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์จะทำให้ร่างอื่นๆ ไม่ผ่านไปด้วยหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ทุกร่างถ้าไม่รับก็ตกไปเลย ไม่ใช่เฉพาะร่างไอลอว์ แต่ถ้ารับแล้วประเด็นคือ จะนำร่างใดเป็นหลักในการพิจารณา สมมุติว่ารับจะกี่ฉบับก็ตามต้องมีฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นหลักพิจารณา เขาคงไม่ตั้งคณะ กมธ.ปลีกย่อยแต่ละร่าง คงมี กมธ.ชุดเดียว
    นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยของรัฐสภาว่า ไม่มีมาตรการอะไรพิเศษ ไม่น่ากังวล เพราะเป็นความเห็นต่างในเรื่องต่างๆ เท่านั้น เชื่อว่าม็อบไม่มีความรุนแรง และเชื่อว่าการมากดดันเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงมติตามที่ตนเองต้องการเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย
    ขณะเดียวกันที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณากรณีนายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษาประธานคณะ กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นฟ้องประธานรัฐสภา ขอให้ศาลสั่งไม่ให้ประธานรัฐสภารับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับเข้าสู่การประชุม และเสนอให้จัดทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยศาลมองว่าเป็นการใช้อำนาจทางนิติบัญญัติ ไม่ใช่การใช้อำนาจทางการปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาล จึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้
    ทั้งนี้ ในช่วงเช้านายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้มายื่นหนังสือถึงนายชวนเพื่อสอบถามถึงการตรวจสอบรายชื่อผู้เข้าชื่อร่างธรรมนูญฉบับไอลอว์ ว่ามีการตรวจสอบตามกฎหมายหรือไม่ เพราะต้องใช้เวลากว่า 6 เดือน แต่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกลับดำเนินการได้รวดเร็ว ซึ่งนายสมบูรณ์ที่มารับหนังสือระบุว่า จะนำเรื่องนี้เสนอต่อประธานรัฐสภาให้ตรวจสอบและแจ้งกลับไปอีกครั้ง
'บิ๊กตู่' อารมณ์ดี
    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยก่อนการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ยิ้มทักทายสื่อมวลชนอย่างอารมณ์ดี ก่อนตอบคำถามถึงการรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมที่นัดชุมนุมหน้ารัฐสภาสั้นๆ ว่า "ต้องเรียบร้อย"
    พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังอีกครั้งถึงกำลังใจในการทำงาน ซึ่งมีกระแสข่าวว่าได้ปรารภกับคนใกล้ชิดว่าอยากลาออกวันละ 3 ครั้งว่า “ใคร ผมปรารภเมื่อไหร่” เมื่อถามว่าแสดงว่าไม่จริงใช่หรือไม่  พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “ทำไม มารู้ใจฉันได้อย่างไร วันนี้ไม่ต้องมาอ่านใจฉันหรอก มันเป็นเรื่องของใจฉัน  ก็ยังทำงานอยู่นี่ไง ทำงานอยู่นี่ ไม่มีคำว่าท้อแท้ แต่ก็ผอมลงหน่อยเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นโรคอะไรทั้งสิ้น  ยังแข็งแรงทั้งกายและใจ เพราะทำเพื่อคนอื่น และอย่างไรก็ต้องทำจนกว่าจะไม่ได้ทำก็เท่านั้นเอง”
    เมื่อถามว่า มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้ไม่สามารถทำงานต่อได้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ไม่รู้สิ” ก่อนหันไปแซวผู้สื่อข่าวและช่างภาพ พร้อมบอกว่า “ไม่มีอะไรหรอก อารมณ์ดี” ทั้งนี้เมื่อถามว่าตอนนี้อยากร้องเพลงอะไร พล.อ.ประยุทธ์นิ่งคิดสักครู่ก่อนกล่าวว่า “เพลงแผ่นดินของเรา พอแล้ว ไม่มีอะไรกังวล”
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงประเด็นการรับมือการชุมนุมว่า เจ้าหน้าที่เตรียมการไว้แล้ว โดยจะดูแลทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนกรณีจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์นั้น เป็นเรื่องของสมาชิก  ส.ส.และ ส.ว.  
เมื่อถามว่า ประเด็นนี้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีการหารือกันหรือไม่ พล.อ.ประวิตรระบุว่าก็ต้องคุยกันทั้งหมด ส่วนกรณีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรค พปชร.ระบุว่าจะไม่รับร่างไอลอว์นั้น  ใครพูดก็ต้องรับผิดชอบ
    พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวว่า ในวันที่ 17 พ.ย.มีกลุ่มผู้ชุมนุม 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มไทยภักดี ยื่นชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เวลา 09.00-14.00 น.ใช้ถนนสามเสนหน้ารัฐสภาเป็นสถานที่จัดการชุมนุม กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ยื่นชุมนุม  2 วัน คือวันที่ 17 และ 18 พ.ย. เวลา 09.00-22.00 น. และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มคณะราษฎร ยังไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ซึ่งการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย บช.น.จัดกำลังตามความเหมาะใช้ผลัดละ 9  กองร้อย
    “เรื่องม็อบชนม็อบ เจ้าหน้าที่เตรียมกำลังเพียงพอรักษาความความเรียบร้อย ส่วนการป้องกันมือที่สาม บช.น.กำลังคิดว่าการชุมนุมครั้งต่อไปจะทำจุดคัดกรองลงไปเสริมการปฏิบัติเพื่อตรวจค้นอาวุธ” พล.ต.ต.ปิยะระบุ
    เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมบอกจะกินหมูกระทะและย่างกุ้งระหว่างการชุมนุมผิดหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะตอบว่า ถ้ามีการเอาแก๊สเข้าไปก็ถือว่าผิดกฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และ พ.ร.บ.สาธารณสุข ห้ามประกอบอาหารและรับประทานอาหารที่สาธารณะบนทางเท้า การกินหมูกระทะถือว่าผิด ส่วนกรณีหากผู้ชุมนุมปิดรัฐสภาจะมีมาตรการนำตัว ส.ส.และ ส.ว.ออกมาหรือไม่ รอง ผบช.น.ตอบว่าได้หารือกัน  แต่ไม่น่าเป็นห่วง
ใช้กำลัง 18 กองร้อยดูแล
     แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงระบุว่า การดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณรอบจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเป็นหลัก โดยใช้กำลังทั้งหมด 18 กองร้อย แบ่งเป็นผลัดละ 9 กองร้อย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะระดมล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือเกียกกาย ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ โดยเป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่าในการจัดการจราจรทางน้ำ แต่ขอให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำดังกล่าว ขณะที่เจ้าของเรือผู้ให้เช่าอาจเข้าข่ายกระทำความผิดกฎหมายด้วย ส่วนที่ น.ส.อินทิรา เจริญปุระ  หรือทราย สั่งซื้อเรือเป็ดบุกรัฐสภานั้น ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะเรือดังกล่าวจะใช้ในคลองหรือพื้นที่ที่น้ำนิ่ง ไม่ใช่พื้นที่น้ำไหล
แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่กลุ่มราษฎรนัดกินหมูกระทะถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.จราจรทางบก รวมถึง พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และหากมีความร้อนสูงเกิดระเบิดหรือไฟไหม้ขึ้นมาก็จะอันตรายต่อผู้ร่วมชุมนุมเอง เพราะอุปกรณ์เหล่านั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อนั่งรับประทานข้างถนน
    มีรายงานว่า ในการประชุมมอร์นิงบรีฟกองทัพบกที่มี พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธาน ได้เน้นย้ำให้หน่วยทหารในพื้นที่ใกล้เคียงรัฐสภา เช่น กองพลปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน  (ปตอ.) กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน. 4 รอ.) กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.1 รอ.) เฝ้าติดตามระวังสถานการณ์ โดยพยายามดูแลไม่ให้ผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน ขณะที่ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ดำรงตำแหน่ง ส.ว.นั้นยังไม่มีการยืนยันว่าจะเข้าร่วมประชุมโหวตในวันที่ 18 พ.ย.หรือไม่ โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์มีกำหนดการเดินทางไปตรวจเยี่ยมกองทัพภาคที่ 3 และกองกำลังชายแดน จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอนในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้
    ทั้งนี้ คณะราษฎร 2563 ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงการนัดชุมนุมล้อมรัฐสภาตั้งแต่เวลา 15.00 น. วันที่ 17-18 พ.ย.ว่า "ประชาชนล้อมสภา หน้าล้อมเตา ด้วยข้าวด้วยแกงอ่อม ขอหมูกระทะ เตาถ่านพร้อม หมูพร้อม น้ำจิ้มพร้อม เสิร์ฟพร้อมกันหน้ารัฐสภา หนึ่งชุดทานได้ 2-3 คน ประกอบด้วย (ของสด 9 ขีด) หมูหมัก กุ้ง หมึก แฮม เบคอน สามชั้นสไลด์ ชุดผักสด น้ำจิ้มซีฟู้ดและสุกี้สูตรเด็ด สามารถรับชุดหมูกระทะได้วันที่ 17 พ.ย. ตั้งแต่ 16.00-21.30 น.หน้ารัฐสภา เพียงชุดละ 599 บาท จำกัด 30 ชุด"
    ส่วนเพจเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH) โพสต์เฟซบุ๊กว่า "รัฐสภาจะปิดประตูการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่ เราจะมีรัฐธรรมนูญใหม่จากประชาชนหรือไม่ 17 พ.ย.นี้อาจเป็นวันชี้ชะตาประเทศไทย  ใครใคร่เป็นทัพเรือมาทางเรือ ใครใคร่เป็นทัพบกมาทางบก และทัพอากาศใครบินได้บิน โปรดเตรียมตัวให้พร้อม 17 พ.ย.นี้ 15.00 น.ล้อมสภาจนกว่าจะลงมติ นี่คือพื้นที่ของราษฎร ใครใคร่กินหมูกระทะกิน! ใครใคร่ทำกิจกรรม ทำ! นี่คือการชุมนุมกดดันครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะทุกคนคือแกนนำ"
    ช่วงค่ำ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำคณะราษฎร 2563 โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "พรุ่งนี้ไปล้อมสภากัน อย่าให้ข้ารับใช้เผด็จการได้ออกจากสภา!"
    วันเดียวกันที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย "เครือข่าย People Go" ได้อ่านแถลงการณ์ "จากราษฎร์ดำเนินสู่ราษฎร์สภา ต้องรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" พร้อมเสนอให้ประชาชนส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็น กมธ.ในการพิจารณาด้วย โดยวันที่ 17-18 พ.ย. เครือข่าย People GO  จะร่วมกับภาคประชาชนอื่นๆ ชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเพื่อรอคอยจนกว่ารัฐสภาจะมีมติรับร่างประชาชน  
    ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทยภักดี ยืนยันว่าขอคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3  ฉบับ ทั้งของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และไอลอว์ โดยขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน พร้อมพี่น้ององค์กรเครือข่ายที่ได้ประสานงาน ในวันที่ 17 พ.ย. เวลา 09.00 น.ที่บริเวณหน้ารัฐสภา เกียกกาย ไม่ต้องกังวลว่าจะมีการปะทะของมวลชน เพราะอีกกลุ่มนัดหมายกันไว้ที่เวลา 15.00 น. แต่กิจกรรมของกลุ่มไทยภักดีทุกอย่างจะเสร็จก่อนเที่ยงแน่นอน และในเวลา 14.00 น.จะไปยื่นเรื่องดังกล่าวต่ออัยการสูงสุดเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้ระงับยับยั้งการกระทำดังกล่าว
อภิปรายในวันเดียว
มีรายงานจากรัฐสภาถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับในวันที่ 17-18 พ.ย.ว่า ที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ได้แก่ วิปฝ่ายรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับให้เสร็จภายในช่วงเย็นวันที่ 17 พ.ย. โดยไม่อยากให้เลยไปถึงช่วงค่ำ เพราะเกรงจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางออกจากรัฐสภาที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมล้อมอยู่ จากนั้นจะโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับในวันที่ 18 พ.ย. เวลา 09.30 น.โดยขานชื่อทีละคน คาดว่าใช้เวลา 4  ชั่วโมงจึงจะรู้ผลการลงมติ
สำหรับแนวโน้มการลงมตินั้น ขณะนี้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าที่ประชุมรัฐสภาจะลงมติรับหลักการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 1 เฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 และ 2 ของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเท่านั้นที่ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ขณะที่เสียงฝั่ง ส.ว.ที่ต้องมีเสียงสนับสนุน 84 เสียงในการรับหลักการนั้น ล่าสุด ส.ว.ได้เช็กเสียงเมื่อเช้าวันที่ 16 พ.ย. ปรากฏว่ามีเสียง ส.ว.ถึง 100-150 เสียงทั้งสองร่างแล้ว แต่ก็มี ส.ว.บางส่วนที่ยืนยันในจุดยืนเดิม ลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 และ 2    
    ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 4 ฉบับที่เป็นการแก้ไขรายมาตรา มีแนวโน้มไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา เพราะมีเพียงเสียงจากฝ่ายค้านเท่านั้น ขณะที่เสียงจาก ส.ส.ฝั่งรัฐบาลและ ส.ว.จะลงมติงดออกเสียงและไม่รับหลักการ ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์นั้นมีแนวโน้มสูงที่จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.ไม่เอาด้วย เพราะเห็นพ้องต้องกันว่าไม่ได้มีข้อยกเว้นเรื่องการห้ามแก้หมวด 1 และ 2 รวมถึงยังมีเนื้อหาที่สร้างความไม่สบายใจ อาทิ การให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต และการให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกชุดพ้นจากตำแหน่ง อาจมีผลทำให้เป็นการนิรโทษกรรมคดีทุจริตในทางปฏิบัติ
    ขณะที่ที่ทำการพรรค พปชร.มีการประชุมพรรคเพื่อกำหนดท่าทีการประชุม โดย น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.โฆษกพรรค แถลงภายหลังการประชุมว่า มติพรรคพลังยืนยันตามมติวิปรัฐบาล คือ รับหลักการในร่างที่ 1 ที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและคณะเป็นผู้เสนอ และร่างที่ 2 ของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลและคณะเป็นผู้เสนอ ส่วนร่างที่ 3-6 งดออกเสียง เพราะเนื้อหาครอบคลุมเหมือนกับร่างที่ 1 และ 2 แล้ว สำหรับร่างที่ 7 ของกลุ่มไอลอว์นั้นจะขอฟังจากสมาชิกทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน, ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว.ก่อนตัดสินใจในการลงมติอีกครั้ง
ส่วนนายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย แถลงประกาศจุดยืนว่า ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทยจำนวน 5 คนจะลงมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายรัฐบาล  ฝ่ายค้าน และกลุ่มไอลอว์เสนอ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 มาจากการทำประชามติ ดังนั้นหากจะแก้ไขก็ควรทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน
ฝ่ายค้านหนุนทั้ง 7 ฉบับ
ด้านนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะหัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้านในสภา แถลงหลังประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ฝ่ายค้านมีฉันทานุมัติไปในทางเดียวกัน จะขอรวมญัตติร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์เข้าร่วมด้วยในการพิจารณาต่อที่ประชุมร่วมสภา และจะสนับสนุนทั้ง  7 ญัตติ จากนี้จะให้แต่ละพรรคไปหารือที่ประชุมพรรคเพื่อกำหนดเป็นมติ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ที่ถูกมองว่าอาจเลยเถิดไปถึงการนิรโทษกรรมให้นายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับประเทศ ว่าเป็นประเด็นเก่าที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหยิบยกมาใช้นานแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตรา 256 (8) ได้ระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วเรื่องอำนาจของสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ  ไม่มีใครไปยกเลิกกฎหมายทั้งปวง มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดสุญญากาศ การที่บอกว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมเป็นการใส่สีตีความและเป็นเท็จทั้งสิ้น
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงจุดยืนพรรคว่า จะรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ และจะเสนอให้เอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับหลักในชั้นของคณะ กมธ.เพราะเป็นร่างแก้ไขที่มีเนื้อหาครอบคลุมมากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับสิ่งที่ต้องการ
    "ขอส่งสารไปถึง ส.ส. หากไม่ทำหน้าที่เพื่อพิทักษ์สิทธิเสรีภาพก็อย่าเรียกตัวเองว่าเป็นผู้แทนราษฎร ส่วน ส.ว.ถือเป็นโอกาสสำคัญของพวกท่านในการส่งสัญญาณไปยังประชาชน เพื่อแสดงสปิริตทางการเมืองร่วมกันหาทางออกให้ประเทศไทยต่อไป และขอให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนชื่อการส่งไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงความจริงใจในการบรรเทาสถานการณ์" นายพิธากล่าว
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ตอนหนึ่งว่า "สถานการณ์การเมืองวันที่ 17-18 พ.ย. รัฐสภาจะลงมติญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งอาจมีเหตุให้ปะทะกัน แล้วนำไปสู่การอ้างเข้ามาทำรัฐประหาร หรือหากสมาชิกรัฐสภาถูกล้อมขังไว้ในรัฐสภา การยึดอำนาจยังนำไปใช้เป็นสาเหตุได้อยู่ดี และในสถานการณ์นี้การยึดอำนาจไม่ง่าย เพราะอาจยึดได้ แต่อยู่ยาก"
    "วันพรุ่งนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้ารัฐสภาถูกปิดล้อมอาการน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ดังนั้น 2 วันนี้จะเป็นสถานการณ์นับถอยหลังทางการเมืองได้อยู่ เพราะทั้งสองฝ่ายพร้อมจะมีเรื่องกันได้” นายจตุพรกล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"