ตั้งศูนย์แก้ฝุ่นพิษ คาดมกราหนักสุด


เพิ่มเพื่อน    


    ตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รับมือพีเอ็ม 2.5 กำหนด 12 มาตรการ ทั้งการสื่อสารประชาสัมพันธ์ การแก้ปัญหาไฟป่า ลักลอบเผา พยากรณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 3 วันเพื่อแจ้งเตือนประชาชน ระบุ 18-19 พ.ย. ฝั่งธนบุรี สมุทรสาคร นนทบุรี ค่าฝุ่นส่อพุ่ง คาดมกราคมพีกสุด
    เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) จัดตั้งโดยคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะประธาน ศกพ. แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบในการทบทวนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และเห็นชอบกำหนด 12 มาตรการเฉพาะกิจการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 พร้อมทั้งเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งต่อมาได้มีคำสั่งจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อเป็นศูนย์ในการบูรณาการประสานงานรวบรวมข้อมูลจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ในรูปแบบ One Voice One Team และกำลังจะนำเสนอที่ประชุม ครม.เพื่อรับทราบ
    นายอรรถพลกล่าวว่า ศกพ.มีแนวทางการดำเนินงานตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ดังนี้ 1.การสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 2.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ภายคณะกรรมการคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 3.การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า 4.สร้างเครือข่าย อาสาสมัคร และจิตอาสา เป็นกลไกหลักเข้าถึงพื้นที่ ทั้งสื่อสาร ติดตามเฝ้าระวัง และดับไฟ 5.เร่งขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า ภายใต้ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 6.เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม 
    7.การพยากรณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 3 วัน เพื่อแจ้งเตือนประชาชน 8.ประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการรายงานปริมาณฝุ่นละอองเชิงพื้นที่ 9.พัฒนาระบบคาดการณ์ และระบบสนับสนุนการตัดสินใจ รวมถึงการพัฒนาและใช้งานแอปพลิเคชัน บัญชาการการดับไฟป่า 10.บริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยใช้แอปพลิเคชันลงทะเบียนจัดการเชื้อเพลิง 11.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลป่าไม้ และลดการเผาป่า ผ่านการจัดที่ดินทำกิน และ 12.เจรจาสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งระดับอาเซียน ระดับทวิภาคี และระดับพื้นที่ชายแดน
    นายอรรถพลกล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวโน้มทรงตัวมาตั้งแต่เริ่มการตรวจวัด โดยสถานีริมถนนดินแดง เริ่มการตรวจวัดมานานที่สุดตั้งแต่ปี 2554 ทั้งนี้ ก่อนหน้าปี 2554 คพ.ตรวจวัดฝุ่นละอองโดยใช้ PM 10 เป็นเกณฑ์คุณภาพอากาศ ซึ่งเมื่อพิจารณาสถานการณ์รายปีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะพบว่าแนวโน้มในช่วงปี 2560-2563 ไม่แตกต่างกันมากนัก จากการติดตามตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยสถานีตรวจวัดของ คพ. พบว่า ปริมาณ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ปี 2563 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-11 พฤศจิกายน 2563 ตรวจวัดได้อยู่ในช่วง 2-102 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐาน 50 มคก./ลบม.) เกินมาตรฐาน 32 วัน โดยค่าสูงสุดตรวจวัดได้ในเดือนมกราคม เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า ปริมาณ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ปี 2562 ตรวจวัดได้อยู่ในช่วง 4-104 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐาน 35 วัน
    ประธาน ศกพ.กล่าวว่า สาเหตุของ PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร การศึกษาแหล่งกำเนิด PM 2.5 มีหลายงานวิจัย ซึ่งหากดูเฉพาะกรุงเทพมหานคร โดยสถาบัน AIT พบว่า มาจากการขนส่งทางถนน ถึง 72.5% อุตสาหกรรม 17% การเผาในที่โล่ง 5% แต่ได้มีการศึกษาในเชิงพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดย JGSEE พบว่า ปริมาณ PM 2.5 มาจากการขนส่งทางถนน 51% อุตสาหกรรม 21% การเผาในที่โล่ง 6%
    ค่า PM 2.5 สำหรับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ภาคเหนือ ปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือเกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้ง สาเหตุหลักเกิดจากลักษณะภูมิประเทศและสภาพอุตุนิยมวิทยาของภาคเหนือที่เป็นแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง และในช่วงหน้าแล้งอากาศแห้ง ความกดอากาศสูง การยกตัวของอากาศเกิดได้น้อย ทำให้อากาศปิด ฝุ่นละอองไม่ฟุ้งกระจาย รวมทั้งการทำกิจกรรมในพื้นที่ เช่น พื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เกิดการเผาจากการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ทำกิน จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้วยความสูงและความลาดชันของพื้นที่ ทำให้การเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและกำจัด เศษวัสดุทางการเกษตรจำเป็นต้องใช้วิธีเผา การเผาในพื้นที่ป่าเพื่อล่าสัตว์และหาของป่า และการเผาในพื้นที่รอบป่าและลามเข้าสู่ป่าเกิดเป็นไฟป่า นอกจากนี้พื้นที่เกษตรมีการเพิ่มขึ้นของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเกษตรกรจะเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรเช่นเดียวกับเกษตรในพื้นที่ป่า และหมอกควันข้ามแดน จากภาพถ่ายดาวเทียมพบจุดความร้อนและหมอกควันหนาแน่นในอนุภูมิภาคแม่โขง
    ด้านนายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ โฆษกกรมควบคุมมลพิษ แถลงว่า สภาพอากาศในวันที่ 16 พ.ย. อยู่ในระดับดี ถึงดีมาก โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออก แต่สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า เริ่มมีบางพื้นที่ที่ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน 58 มคก./ลบ.ม. ริมถนนคลองทวีวัฒนา 60 มคก./ลบ.ม. ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 8 เขตหนองแขม 57 มคก./ลบ.ม. ริมถนนเอกชัย เขตบางบอน 51 มคก./ลบ.ม. ต.มหาชัย อ.เมือง สมุทรสาคร 67 มคก./ลบ.ม. และ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน สมุทรสาคร 56 มคก./ลบ.ม. 
    "ส่วนสภาพอากาศในวันพรุ่งนี้ กรมควบคุมมลพิษคาดว่าความเข้มข้นของฝุ่นจะมีแนวโน้มลดลง เพราะไทยจะได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชันหว่ามก๋อ ที่จะอ่อนกำลังลงเป็นความกดอากาศต่ำ ทำให้อากาศไหลเวียนได้ดี แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ช่วงวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 จะเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่ที่น่าเป็นห่วง คือ ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเทพมหานคร หรือฝั่งธนบุรี รวมทั้งจังหวัดสมุทรสาคร นนทบุรี เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย"
    นายศิวัชกล่าวว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าวันที่ 17 พ.ย. จะมีฝนตกในพื้นที่ จึงช่วยลดปริมาณฝุ่นลงไปได้ แต่ 2-3 วันหลังจากนี้ไป ค่าฝุ่นอาจเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ลดทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งสามารถติดตามสภาพอากาศได้ทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"