ล้อมประชุมรัฐสภา! ม็อบ2ฝ่ายจับตาเวทีแก้ไขรธน.17พ.ย./หึ่งควํ่าร่าง‘ไอลอว์’


เพิ่มเพื่อน    

 โฆษกรัฐบาลหวัง ปชช.ทุกกลุ่มร่วมหารือกันแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เชิญชวนนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้านอื่นนอกเหนือการเมือง โฆษกเพื่อไทยสวนกลับ เป็นข้ออ้างเบี่ยงเบนประเด็นผู้ชุมนุม พรรคร่วมรัฐบาลส่งสัญญาณรับร่างแก้ไขรธน.ฉบับรัฐบาล-ฝ่ายค้าน คว่ำร่างไอลอว์ ขณะที่ ส.ว.ขู่โดดร่มหากม็อบล้อมสภา ประสานเสียงเตือนรับร่างไอลอว์จะเกิดปัญหาเพิ่มความขัดแย้ง "ธนาธร" ดักคอรัฐบาลขนคนม็อบชนม็อบหวังรัฐประหาร จี้ ภท.-ปชป.โหวตแก้ รธน.ลดความโกรธผู้ชุมนุม แกนนำเยาวชนปลดแอกลั่น 17 พ.ย.นี้จัดหนักจัดเต็ม ปิดทุกทางเข้า-ออกรัฐสภา ปักหลักจนกว่าร่างแก้ไข รธน.ของ ปชช.จะได้รับการพิจารณา
    การประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ร่างในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ เป็นที่จับตาว่าสมาชิกรัฐสภาจะโหวตรับร่างฉบับใดบ้าง โดยทางด้านกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร 2563 และกลุ่มประชาชนปลดแอกประกาศปักหลักชุมนุมรอบรัฐสภาเพื่อกดดันให้รับร่างของประชาชน ขณะที่กลุ่มปกป้องสถาบันก็จะมาชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน
    เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 พ.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองว่า รัฐบาลไม่คิดปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง เพียงแต่อยากเห็นการชุมนุมเป็นไปในทางสร้างสรรค์ เคารพกฎหมาย และไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของไทย สิ่งที่รัฐบาลเป็นกังวลอย่างมากคือการสื่อสารในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีการเผยแพร่ข่าวปลอม หรือการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร (Fake News) และจากการตรวจสอบพบว่ามีปริมาณค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีการเสียดสีกลุ่มประชาชนผู้มีความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งจะยิ่งทำให้กลุ่มต่างๆ เกิดความขัดแย้ง การเข้าใจผิด และอาจเกิดปัญหาบานปลายได้
    "จึงอยากขอเชิญชวนกลุ่มผู้เห็นต่างทุกกลุ่มร่วมกันนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้านอื่นนอกเหนือจากประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะการนำเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในมาตรการหรือโครงการต่างๆ รัฐบาลยินดีและพร้อมรับฟังข้อเสนอ ข้อเรียกร้องที่สามารถนำมาเป็นแนวทางให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤติเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ หากแนวคิดใดที่เป็นข้อเสนอที่ดีและเหมาะสม รัฐบาลก็พร้อมนำมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม และพร้อมผลักดันเพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกคน"
    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ข้อเรียกร้องต่างๆ รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องดำเนินการด้วยกลไกของรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  ซึ่งน่าจะเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามระบบนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งรัฐบาลหวังให้มีแนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง และหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่โดยรวม
    ภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องในรูปแบบการประชุมทางไกลระหว่างวันที่ 12- 15 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ ต่อมาเมื่อวันอาทิตย์ เวลา 14.30 น. เพจไทยคู่ฟ้าได้เผยแพร่คำพูด พล.อ.ประยุทธ์ ที่กล่าวผ่านทางพอดแคสต์ ตอนหนึ่งว่า "ขอฝากทุกคนช่วยกันด้วย ขอให้ช่วยกันรักษาแกนหลักของชาติ ของประเทศของเรา คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักเคารพยิ่งของพวกเรา สิ่งเหล่านี้จะนำพาให้ประเทศเราปลอดภัย พ้นวิกฤติต่างๆ ได้โดยเร็ว"
รัฐบาลคว่ำร่างไอลอว์
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาจะมีการพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ ในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ว่ายังไม่สามารถตอบได้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอโดยประชาชน (ไอลอว์) จะผ่านในวาระแรกเลยหรือไม่ ซึ่งต้องรอดูในทิศทางในการโหวตก่อนว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน ส่วนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติจะมีคิวเข้าสู่สภาเมื่อไร ต้องขึ้นอยู่กับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นคนพิจารณา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพวกตน
    ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวก่อนการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นวันที่ 17-18 พ.ย.ว่า เบื้องต้น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจะลงมติรับหลักการญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกันคือ ให้แก้ไขมาตรา 256 และให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ส่วนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์นั้น มีความเห็นเป็น 2 แนวทางคือ ให้รอฟังคำชี้แจงของผู้เสนอก่อนว่าสามารถตอบคำถามประเด็นต่างๆ ได้หรือไม่ กับให้งดออกเสียง เพราะเห็นว่าเนื้อหามีปัญหาหลายอย่าง อาทิ เรื่ององค์กรอิสระ ส่วนกรณีที่กลุ่มราษฎรประกาศจะมาชุมนุมหน้ารัฐสภาในวันที่ 17 พ.ย.นั้น มีรายงานว่าการลงมติจะมีขึ้นในวันที่ 18 พ.ย. และมี ส.ว.บางคนมีแนวคิดว่า หากม็อบมาล้อมรัฐสภาจนเกิดความวุ่นวาย อาจตัดสินใจไม่เดินทางเข้ามาลงมติ
    นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพปชร. กล่าวถึงการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่ 17-18 พ.ย. ว่าการโหวตจะเกิดขึ้นในวันที่ 18 พ.ย. ซึ่งสมาชิกมีสิทธิ์ให้ความเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ เท่าที่ฟังเสียงสมาชิกนั้น ร่างที่ 1 และร่างที่ 2 น่าจะได้เสียงสนับสนุนเพียงพอ โดยเฉพาะเสียงของ ส.ว.ส่วนร่างที่เหลือ น่าจะได้เสียงสนับสนุนเห็นชอบไม่เพียงพอ ส่วนตัวมองว่าร่างที่ 3-6 นั้น ย้อนแย้งกับร่างที่ 1 ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ เพราะเมื่อเสนอว่าจะให้ ส.ส.ร.ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่กลับมาเสนอแก้ไขเป็นรายมาตราอีก จึงย้อนแย้งและขัดกัน ถ้ารับร่างที่ 1 ไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องรับร่างที่ 3-6 ทั้งนี้ ส่วนตัวยืนยันว่าจะโหวตรับหลักการเห็นชอบกับร่างที่ 1 และ 2 แน่นอน ส่วนร่างของไอลอว์เขียนให้แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ได้ ส่วนตัวตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ซึ่งห้ามไว้ตั้งแต่ชั้นทำญัตติจึงเหมือนญัตติมันต้องห้ามไปแล้ว
     "ต้องแยกเรื่องผู้ชุมนุมกับเรื่องที่จะใช้ดุลพินิจออกจากกัน การใช้ดุลพินิจต้องดูไปตามกฎหมายและความเหมาะสม" นายไพบูลย์ กล่าว
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลไม่ต้องกังวล เพราะพรรค ปชป.ยืนยันว่าพร้อมสนับสนุนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งร่างของพรรคร่วมรัฐบาลและของฝ่ายค้าน และจะลงมติเป็นไปในทิศทางเดียวกันตามที่มีการตกลงกันไว้ ส่วนร่างของไอลอว์ ขอให้เป็นหน้าที่ของวิปไปในการหารือกัน  
    ผู้สื่อข่าวถามกรณี ส.ส.พรรค พปชร.และ ส.ว.บางส่วนจะยื่นส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัด รธน.หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องนี้ยังต้องผ่านอีกหลายด่าน ทั้งประธานรัฐสภา ที่จะต้องพิจารณาว่าจะบรรจุญัตติเข้าสู่วาระ การจะตรวจสอบว่าขัดต่อ รธน.ยังสามารถทำได้ภายหลังการพิจารณาวาระ 3 ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพราะ รธน.เปิดช่องทางไว้แล้ว แต่ก็ถือเป็นสิทธิ์ของสมาชิกหากจะยื่นเรื่องก่อน ส่วนกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ระบุว่าการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ หากรอหลังวาระ 3 แล้วค่อยยื่นตีความจะเกิดความล่าช้า เป็นความเห็นของแต่ละบุคคล เพียงแต่ตนเห็นว่ายังมีช่องทางตามรัฐธรรมนูญ
ปชป.หวั่นมีอภินิหารซ้ำรอย
     นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าและประธาน ส.ส.พรรคปชป. กล่าวว่า ตนได้เชิญ ส.ส.ของพรรคประชุมวันจันทร์ที่ 16 พ.ย.นี้ เวลา 13.30 น. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง ที่จะมีการพิจารณากันในวันที่ 17 และ 18 พ.ย.นี้ ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่างนี้ รัฐสภาได้มีการอภิปรายไปแล้ว 6 ร่าง จึงจะไม่มีการอภิปรายอีก ส่วนการลงมติที่ประชุม ส.ส. ได้เคยประชุมและมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันแล้วว่าจะรับร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลที่ ส.ส.ปชป.ร่วมลงชื่อด้วย และร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีหลักการใกล้เคียงกัน สำหรับร่างของไอลอว์ ต้องรอฟังความคิดเห็นของ ส.ส.ว่าจะมีความคิดเห็นอย่างไร
    "การประชุมวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ไม่มีใครให้หลักประกันได้ว่าจะมีการลงมติหรือไม่ และผลจะออกมาอย่างไร เพราะอาจมีอภินิหารทางการเมืองทำให้เกิดเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนก็ได้เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ถ้าไม่มีอภินิหารอะไร ร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้านน่าจะผ่านไปได้ สถานการณ์ความขัดแย้งยังแผ่กระจายไปเกือบทุกหย่อมหญ้า ถือเป็นวาระสำคัญของบ้านเมืองที่ทุกฝ่ายต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ถ้าตัดสินใจผิดก็อาจทำให้ประเทศติดหล่ม จมปลักอยู่กับความขัดแย้งจนยากจะเยียวยา" นายองอาจกล่าว
    นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ปชป. โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กว่า สถานการณ์ในอดีตรุนแรงและร้ายแรงกว่าในปัจจุบัน ถึงขั้นจับอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐ ด้วยแนวคิดปฏิวัติพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาในขณะนี้จึงยังมีความหวังที่จะช่วยกันนำประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้โดยสันติวิธี ขอให้ใช้ขันติธรรม เมตตาธรรม และความยุติธรรม นำทางการแก้ปัญหาเป็นสำคัญ ก็จะมีความคืบหน้าและบรรลุผลตามที่คนไทยทุกคนคาดหวัง
    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องง่ายที่สุดที่จะทำให้ความเห็นต่างทางการเมืองถูกคลี่คลายไปได้ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลก็แสดงความไม่จริงใจมาหลายครั้ง แล้วครั้งนี้เป็นโอกาสสุดท้ายวัดความจริงใจของนายกฯ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ได้ อยู่ที่นายกฯ คนเดียว แม้นายกฯ จะบอกว่าอยู่ที่สภา แต่ถ้านายกฯ ได้แถลงข่าวสักครั้งหนึ่งว่าจริงใจ เต็มใจที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่า ส.ส.พปชร.ที่ไปยื่นตีความก็จะถอนชื่อทั้งหมด รวมทั้ง ส.ว.ด้วย     
      น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีรัฐบาลที่เตรียมเชิญกลุ่มเห็นต่างเสนอไอเดียด้านเศรษฐกิจ ว่า เป็นเพียงข้ออ้างซื้อเวลาหวังผลในการลดแรงกดดัน และสร้างความชอบธรรม เพื่อให้ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล และปฏิบัติการไอโอนำไปเบี่ยงประเด็นจากสถานการณ์ชุมนุมเท่านั้น ที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้าน ผู้ชุมนุม และนักวิชาการ ได้เสนอทางออกมาโดยตลอด แต่รัฐบาลไม่เคยได้ยิน 6 ปีที่ผ่านมาคือบทพิสูจน์การบริหารประเทศที่ปราศจากการรับฟังเสียงของสังคมได้เป็นอย่างดี ขณะที่ ส.ส.และ ส.ว.หลายคนยังทำตัวเป็นปรปักษ์ต่อประชาชน ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ไร้ความสามารถและไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน ทางออกเดียวของประเทศในเวลานี้คือ การเสียสละลาออกของ พล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียว
         "ขอให้ประชาชนจับตาการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ว่ารัฐบาลจะคำนึงถึงความต้องการประชาชนทั้งประเทศอีกหรือไม่ หรือจะตีมึนดึงดันไม่แก้ไขในประเด็นที่ประชาชนเรียกร้อง ยิ่งทำตัวเองเป็นตัวปัญหามากกว่าเดิม พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลถนัดทำแต่สิ่งที่ย้อนแย้งในตัวเองเสมอ ทั้งกลับลำแก้รัฐธรรมนูญ ใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุม สวนทางกับปากที่สื่อสารกับประชาชน" น.ส.อรุณีกล่าว
     นายนคร มาฉิม สมาชิกพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคมิคสัญญีจากผู้ปกครองที่เป็นเผด็จการทรราช เพียงเพื่อรักษาระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ ศักดินาล้าหลัง ที่เหล่านายทุน ขุนศึก ศักดินา อำมาตย์ สมคบคิดกันสมประโยชน์กันเสวยสุข ร่ำรวย ทรัพย์สินเงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ไม่กี่ตระกูล ระบอบเผด็จการทรราชที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำรัฐบาล ได้ร่วมมือกับเครือข่ายสร้างความแตกแยก ความเกลียดชังให้คนไทยด้วยกัน รัฐบาลเผด็จการซ่อนรูปนี้อีกไม่นาน ประเทศไทยของเราจะเกิดมิคสัญญี จะเป็นรัฐที่ล้มเหลวอย่างแน่แท้
ซัดร่างไอลอว์ก่อปัญหาเพิ่ม
    นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า วันที่ 17-18 พ.ย. ที่จะมีการพิจารณาและลงมติร่างการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญในรัฐสภา จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของประเทศ แต่ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี รัฐบาล และองคาพยพทั้งหมดเปลี่ยนจุดยืนไปมาสร้างความสับสนให้กับสังคม ยิ่งไปกว่านั้น การผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับแ ละเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหนทางนี้จะเป็นทางออกของประเทศมากกว่าการตั้งคณะกรรมการคณะไหนทั้งสิ้น แม้แต่การตั้งคณะกรรมการปรองดองก็ตาม
    ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า จุดยืนของตนเห็นชอบกับร่างที่ 1, 2 แก้มาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร. และร่างที่ 4 คือการแก้รายประเด็นในการตัดอำนาจการเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ส่วนร่างไอลอว์จะเป็นปัญหาในหลายประเด็นด้วยกัน ถ้ามีผลบังคับใช้จะยกเลิก ส.ว.ชุดปัจจุบันทันที และไปเลือกใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ใช้เวลา 2-3 เดือน ระหว่างที่ไม่มี ส.ว.ชุดใหม่ รัฐสภาองค์ประกอบก็จะไม่ครบ การพิจารณาร่างกฎหมายทำไม่ได้ และเมื่อได้ ส.ว.ชุดใหม่เข้ามา ต้องใช้เวลาทำกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายการตรวจเงินแผ่นดินไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน โดยสรุปบ้านเมืองก็จะไม่มีกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ 5-6 เดือน รวมทั้งยังมีประเด็นอื่นๆ การเซตซีโรองค์กรต่างๆ ควรจะเกิดขึ้นหลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการร่างจาก ส.ส.ร.และประกาศใช้ การที่รับหลักการเข้ามาแล้วจะไปแปรญัตติแก้ไขในวาระที่ 2 อาจจะเป็นปัญหาขึ้นมา ดังนั้นตนจึงไม่ปลงใจที่จะเห็นด้วยได้
    พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม  ส.ว. กล่าวว่า ร่างไอลอว์ที่เสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตนไม่เห็นด้วย รัฐธรรมนูญ 60 มีทั้งดีและไม่ดี ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ดีอย่างไรควรแก้แบบรายมาตรา ไม่ควรไปยกเลิกทั้งหมดแล้วร่างขึ้นมาใหม่ โดยที่เราไม่รู้ว่าร่างใหม่แล้วทิศทางมันจะเป็นอย่างไร อีกทั้งรัฐสภาไม่มีอำนาจในการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญให้มีผลเป็นการยกเลิกและไปร่างใหม่ ซึ่งเป็นไปตามคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญ 2555 ที่วินิจฉัยกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในทำนองเดียวกันว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจดำเนินการ
    "ร่างฉบับไอลอว์มันยิ่งไปกันใหญ่ มันจะเกิดสภาพปัญหาต่อไปในอนาคตได้ มันคงยุ่งยากมากมาย ส่วนข้อเสนอที่ให้ยกเลิก องค์กรอิสระและ พ.ร.ป.ว่าด้วยรัฐธรรมนูญมันอาจจะมีช่องว่างเกิดวิกฤติได้ จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเพิ่มขึ้นมาได้ ส่วนการยกเลิกมาตรา 279 เกี่ยวกับประกาศคำสั่ง คสช. อาจจะเกิดปัญหาทางกฎหมายในอนาคตได้เช่นกัน แทนที่จะแก้แล้วลดปัญหาความขัดแย้ง แต่จะอาจจะกลายเป็นเพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้นไปหรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล" พล.อ.สมเจตน์กล่าว
    นายสมชาย แสวงการ ส.ว. โพสต์เฟซบุ๊กว่า ตนจะโหวตไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียงในญัตติตั้ง ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ แต่จะโหวตให้แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราบางญัตติ
    นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) ได้อ้างรายชื่อประชาชนจำนวน 100,732 รายชื่อ ส่งให้รัฐสภา เมื่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับรายชื่อจากตัวแทนไอลอว์มาดำเนินการตรวจสอบ พบว่าผู้ร่วมลงชื่อจริงมีเพียง 98,824 คนเท่านั้น สมาคมจึงจะเดินทางไปยื่นคำร้องเพื่อขอตรวจสอบหลักฐานการยืนยันรายชื่อของผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายว่าครบ 50,000 รายชื่อหรือไม่ มีผู้ใดลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารหรือไม่ เพื่อที่จะได้เร่งรัดให้รัฐสภาแจ้งความดำเนินคดีเอากับผู้ริเริ่มการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อประธานรัฐสภาในวันจันทร์ที่ 16 พ.ย.2563 เวลา 10.00 น. ณ  อาคารรัฐสภา     
ตร.จ่อเอาผิดม็อบ 3 นิ้ว
    พล.ต.ต.ปิยะ  ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการชุมนุมของกลุ่มม็อบเฟสต์,  กลุ่มนักเรียนเลว และกลุ่มผู้หญิงปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ได้แบ่งการกระทำความผิดออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.การทำร้ายร่ายกายเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ถูกด้ามธงตีศีรษะ 1 นาย มีอาการปวดบวม และอีกรายถูกของแข็งกระแทกที่ใบหน้า ริมฝีปากแตก ใบหน้ามีรอยฟกช้ำ ซึ่งเข้าข่ายข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติงานตามหน้าที่, การร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 215 โดยตำรวจทั้ง 2 นายแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สน.สำราญราษฎร์ 2.การนำผ้าไปคลุมและปีนขึ้นไปบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน และ พ.ร.บ.ความสะอาด และ 3.กรณีผู้จัดการชุมนุมฝ่าฝืน เงื่อนไขที่เจ้าพนักงานได้แจ้งไว้ และความผิดอื่นๆ เช่น การกีดขวางทางจราจร, พ.ร.บ.ความสะอาด
    "ขณะนี้ตำรวจอยู่ระหว่างพิสูจน์ทราบตัวผู้กระทำผิด เบื้องต้นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะมีส่วนในการรับผิดชอบด้วย เพราะเป็นหน้าที่ต้องควบคุมจัดการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และปราศจากเหตุร้ายใดๆ" พล.ต.ต.ปิยะกล่าว
    รอง ผบช.น.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือผู้ชุมนุมที่กลุ่มราษฎรประกาศล้อมสภาในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมกำลังไว้รักษาความสงบเรียบร้อยจำนวน 12 กองร้อย เช่นเดียวกันกับดูแลรักษาความเรียบร้อยกลุ่มไทยภักดีที่ประกาศให้ออกมาคัดค้านพวกสมคบต่างชาติคิดทำลายสถาบันและเปลี่ยนโครงสร้างประเทศ ที่นัดหมายกันที่หน้ารัฐสภา เวลา 09.00 น. วันที่ 17 พ.ย.นี้ สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะรัฐสภาเป็นพื้นที่ไม่กว้างมากนัก สามารถรักษาเส้นทางเข้า-ออกได้ไม่ยาก และทางรัฐสภาเองยังไม่ได้ประสานขอกำลังตำรวจมา เจ้าหน้าที่ได้มีการประเมินสถานการณ์ เตรียมกำลังให้พร้อมอยู่ตลอด
    ขณะที่เพจเยาวชนปลดแอก -Free YOUTH และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม-United Front of Thammasat and Demonstratio โพสต์เฟซบุ๊กในเวลาไล่เลี่ยกันว่า หลังจากถูกดอง ถูกยื้อมากว่า 1 เดือน! ในที่สุดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็ได้เข้าสู่สภาแล้ว! 17 พ.ย.นี้ รวมพลังปักหลักชุมนุมใหญ่ราษฎรล้อมสภา! ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ซึ่งวันนั้นจะเป็นวันเดียวกับวันที่เริ่มพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง รวมไปถึงร่างจากภาคประชาชน ซึ่งไม่ปิดกั้นการแก้หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 บทพระมหากษัตริย์ ที่นำไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้กลับมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญพร้อมกัน รัฐสภาเกียกกาย ตั้งแต่ 15.00 น. ยาวไปจนกว่าขี้ข้าเผด็จการจะยอมลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อนำกษัตริย์กลับลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
ม็อบจัดเต็มล้อมสภาทุกทาง
    ด้าน น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ แกนนำเยาวชนปลดแอก กล่าวถึงการนัดชุมนุมของกลุ่มราษฎร ที่หน้าอาคารรัฐสภาวันที่ 17 พ.ย.นี้ ว่า เป็นการนัดชุมนุมเพื่อติดตามการพิจารณารับหลักการร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภา โดยจะเป็นการปักหลักจนกว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่เสนอโดยไอลอว์ได้รับการพิจารณา ใม่ใช่ถูกตีตกเหมือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันย้ำจุดยืนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำได้ทุกมาตรา ส่วนจะมีการยกระดับการชุมนุมหากหรือไม่ หากร่างของไอลอว์ขอให้รอติดตามจากทางเพจเยาวชนปลดแอกและกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ยืนยันว่าจะมีแอคชั่นจากผู้ชุมนุมอย่างแน่นอน
    "การชุมนุมครั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมจะไปดักทุกทางเข้า-ออกของรัฐสภา ทั้งทางเรือ ทางบก ทางอากาศ เพราะเมื่อวันที่ 24 ก.ย. จะเห็นว่า ส.ว.ใช้เส้นทางอื่นในการเดินทางออกจากสภา ไม่มาพูดคุยกับประชาชน ดังนั้นครั้งนี้เราจึงจะไปดักทุกช่องทาง เพื่อดูว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป บอกได้คำเดียวว่าจัดหนักจัดเต็มแน่นอน ทั้งนี้ เราไม่ต้องการไปคุกคามใคร เราไปอย่างสันติ ไปตามหลักการ เราก็อยากเห็นเหมือนกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น"
    น.ส.จุฑาทิพย์กล่าวถึงกรณีที่จะมีกลุ่มไทยภักดีมาชุมนุมในพื้นที่เดียวกันด้วยว่า กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายประชาธิปไตยไม่ใช่ฝ่ายที่จะไปปะทะแน่นอน ยังยึดมั่นในหลักของสันติ อีกกลุ่มมาชุมนุมคนละช่วงเวลา น่าจะไม่มีปัญหา แต่หากชุมนุมพร้อมกันก็จะอยู่ในพื้นที่ของตนเอง ไม่มีความรุนแรงเกิดจากฝั่งของตนเองแน่นอน
    ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมแผ่วลงว่า ตนมองว่าไม่ใช่ม็อบ แต่เป็นเทศกาลมหกรรมรื่นเริงและสังสรรค์ ที่ทุกคนมาปล่อยของเพื่อร่วมกันพูดคุย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิต่างๆ ถือเป็นการกระทำสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ที่น่าชื่นชม  ส่วนการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 17 พ.ย. เกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ม็อบชนม็อบหรือไม่นั้น ไม่น่ากังวล แต่ที่น่ากังวลคือเรื่องของการแก้ รธน.มากกว่า เพราะเชื่อว่าสุดท้ายไม่มีการแก้ไขจะทำให้ความโกรธของผู้ชุมนุมสูงขึ้น และจะทำให้สถานการณ์น่ากังวลมากขึ้น ดังนั้นขอร้องพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ดำเนินการตามที่ก่อนหน้านี้หาเสียงไว้ด้วย ส่วนที่จะมีการขนคนมาปะทะ ตนมองว่าเป็นความพยายามรัฐบาลในการสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการรัฐประหาร แต่ถ้ามีรัฐประหารครั้งนี้ เราเชื่อว่าเหตุการณ์จะจบลงแบบไม่เหมือนเดิม
    ส่วนกรณีที่ ม.จ.จุลเจิม ยุคล โพสต์เฟซบุ๊กเสนอให้ทุบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น ตนไม่ได้อ่านโพสต์ดังกล่าว และไม่ขอแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าใครติดตามการเมืองก็จะพบว่า อนุสาวรีย์ดังกล่าวถูกผูกผ้ามาหลายรอบ และเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็ไม่ใช่ครั้งแรก และเชื่อว่าไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน
    ทั้งนี้ การชุมนุมของกลุ่มม็อบเฟสต์เมื่อวันเสาร์ มีมวลชนได้ขึ้นไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อนำผ้าสีขาวที่ได้เขียนข้อความต่างๆ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย จากนั้นได้ปีนขึ้นไปพันรอบฐานทรงกลมของอนุสาวรีย์ฯ โดย ม.จ.จุลเจิม ยุคล ได้แสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ว่า “ถ้าปล่อยให้เล่นกันสนุก ไร้ค่า ทุบทิ้งเถอะ ไม่มีประโยชน์ เกะกะทางสัญจร”
    นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า...ถ้าจะเอาตรรกะของคุณจุลเจิมที่ว่าอะไรไม่มีประโยชน์ไร้ค่าก็ต้องทุบทิ้งนี่ ระวังเข้าตัวนะครับ
    นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง "#คัดค้านแก้รัฐธรรมนูญ" ระบุว่า นายธนาธร ออกมาขู่ประชาชนว่าถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ อย่าหวังความสงบสุข วัดได้จากที่นายธนาธรเดินทางไปจังหวัดไหน ก็ได้รับการต้อนรับอย่างที่เห็น คุณก็น่าจะรู้นะว่าใครไม่สงบสุขกันแน่ ร่วมคัดค้านแก้รัฐธรรมนูญ เจอกัน 17 พ.ย. เวลา 09.00 น. ที่หน้ารัฐสภา.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"