บ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
หลังจากสยามเปิดรับแนวคิดและศิลปวัฒนธรรมจากชาติตะวันตก ปรับใช้ผสมผสานกับวิถีตะวันออก จนเกิดเป็นสถาปัตยกรรมของวัดวาอาราม เรือนขุนนาง อาคารบ้านเรือนสไตล์ฝรั่งสวยเด่นเป็นสง่าบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยที่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หลายสถานที่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของบ้านเราในปัจจุบัน
ไม่นานมานี้ “เคทีซี” หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ผู้ดำเนินชมรม “ KTC PR Press Club “ จัดทริปสื่อมวลชน ”ยลศิลป์สถาน งานช่างฝรั่งผสมไทยในแดนสยาม” ภายใต้คอนเซปต์ปี 2563 “เมื่อประจิมบรรจบบูรพา ผสมศาสตร์ ผสานศิลป์ in Bangkok “บรรยากาศการเรียนรู้เต็มไปด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยมีอาจารย์นัท จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม ร่วมเป็นวิทยากรนำชมแต่ละสถานที่อันทรงคุณค่า
วัดราชผาติการาม โดดเด่นที่รูปทรงจีนผสมญวน
เริ่มที่วัดราชผาติการาม ตั้งอยู่ถนนราชวิถี เชิงสะพานกรุงธน ตัวพระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมตามแบบพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผสมผสานกับศิลปะญวน โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายให้ชาวญวนที่อยู่บริเวณนี้เป็นช่างสร้างขึ้น เด่นที่รูปทรงจีนผสมญวน หลังคาทำหน้าบันด้วยเครื่องก่อ ปั้นปูนเป็นลวดลายสัญลักษณ์มงคลของจีน ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสีสันงดงาม ไม่มีช่อฟ้าใบระกา นาคสะดุ้ง และหางหงส์
“ หน้าบันมีลายแจกันดอกโบตั๋น ราชินีของดอกไม้ สัญลักษณ์ความรุ่งเรือง ส่วนลวดลายค้างคาว สัญลักษณ์แสดงความมั่นคง รูปทรงปีกค้างคาวคล้ายหมวกของขุนนาง ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสีสันงดงาม ให้สังเกตใบเสมาของวัดอยู่บนผนังอุโบสถ ไม่อยู่บนลานวัดเหมือนวัดอื่นๆ นอกจากวัดราชผาติการาม ยังพบที่วัดมหาธาตุ วัดชนะสงคราม “ อาจารย์นัท ชี้ชวนยลงานพุทธศิลป์ ก่อนพาเข้าภายในพระอุโบสถ และกราบสักการะพระเชียงแสนเวียงจันทน์ หรือ ”หลวงพ่อสุก” เพื่อความเป็นสิริมงคล
งดงามจิตรกรรมฝาผนัง”พระมหาชนก” ผสานศิลปะไทยและตะวันตก วัดราชผาติการาม
ปกติพระอุโบสถไม่ได้เปิดให้คนภายนอกได้ชม นอกจากมีกิจกรรมในวันสำคัญทางพุทธศาสนา โอกาสนี้ พระครูศรีปริยัติกิจ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม เล่าประวัติวัดแห่งนี้ว่า เดิมชื่อวัดส้มเกลี้ยง เป็นวัดโบราณ สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ต่อมาวัดร้าง สมัยรัชกาลที่ 3 จึงมีพระประสงค์สร้างวัดใหม่แทนวัดเดิม โปรดเกล้าฯ ให้รัชกาลที่ 4สร้างพระอารามใหม่ ทรงทำการก่ออาคารครั้งแรกด้วยพระองค์เอง วัดสร้างเสร็จสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อรัชกาลที่ 8 พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชผาติการาม” แปลว่า วัดที่กษัตริย์ทรงทำผาติกรรม สื่อถึงการทำใหม่และทำให้เจริญยิ่งขึ้น ส่วนหลวงพ่อสุก พระประธานพุทธลักษณะคล้ายหลวงพ่อเสริม วัดปทุมวนาราม และหลวงพ่อใส วัดโพธิ์ชัย โบราณสถานสำคัญของวัด คือ พระอุโบสถและพระเจดีย์
เราได้ชมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพระมหาชนกทรงคุณค่า ผสมผสานระหว่างจิตรกรรมไทยกับเทคนิคแอร์บรัชสมัยใหม่ ความงดงามเบื้องหน้าผลจากการบูรณะวัดครั้งใหญ่รอบ 100 ปี โดยในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พร้อมโปรดเกล้าฯ ให้เขียนภาพพระมหาชนก ด้วยทรงมีพระราชศรัทธาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 12 แสดงพระธรรมเรื่องมหาชนกชาดก แล้วเกิดสนพระราชหฤทัยมาก นำมาสู่พระราชนิพนธ์”พระมหาชนก” ที่คนไทยและต่างชาติรู้จักกัน นอกจากวัดสวยแล้ว มีสตอรี่มากมาย ไม่ไปคือพลาด
เยี่ยมชมความสวยงามของห้องต่างๆ ภายในบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ
จากนั้นข้ามถนนไปเยือนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ(นพ ไกฤกษ์) มหาดเล็กประจำห้องพระบรรทมในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นผู้ถวายการรับใช้ใกล้ชิด ได้ตามเสด็จประพาสยุโรป และจดบันทึกเหตุการณ์ในห้องพระบรรทมก่อนจะเสด็จสวรรคต ถือเป็นต้นตระกูลไก ฤกษ์ บ้านฝรั่งหลังนี้อายุมากกว่า 100 ปี รัชกาลที่ 5 พระราชทานที่ดินปลายถนนราชวิถีให้ปลูกบ้าน และเสด็จฯ ขึ้นบ้านใหม่ให้เองเพื่อเป็นสิริมงคล
ตัวบ้านขนาดใหญ่โดดเด่นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบวิคตอเรียนโกธิค ช่างก่อสร้างชุดเดียวกับที่สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภออกแบบวางแปลนเองทั้งหมด ใช้เวลา 6 ปีแล้วเสร็จ แต่ละห้องสวยงาม ผนังห้องตกแต่งพิเศษด้วยภาพเขียนสีปูนแห้ง หรือเฟรสโก้ ลวดลายดอกไม้ยังตราตรึงใจ รวมถึงงานไม้อันประณีตวิจิตรที่ตกแต่งตามจุดต่างๆ ของห้อง อาจารย์นัท พาชื่นชมแต่ละห้อง อธิบายถึงบานประตูที่ผสานสถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ ทั้งยังให้เกร็ดความรู้บางส่วนของอาคารออกแบบเป็นรูปทรงหอคอยแบบยุโรป บ้านโบราณนี้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และอาคารอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักตรวจบัญชีกองทัพบก หน้าบ้านประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ควรค่าการเข้าชมไม่แพ้กัน
มุมหนึ่งบริเวณชั้นสองของบ้านอาจารย์ฝรั่ง พร้อมชมประติมากรรม ศ.ศิลป์ พีระศรี
จากนั้นเดินไปสัมผัสความงามบ้านอาจารย์ฝรั่ง อยู่ในละแวกเดียวกัน จัดเป็น 1 ใน 3 ของเรือนบริวารของบ้านพระยาบุรษรัตนราชพัลลภ เป็นบ้านสีเหลืองสไตล์ไทยผสมฝรั่งที่ช่างปั้นชาวอิตาเลียน ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และครอบครัว พำนักอยู่นานกว่า 8 ปี ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ บอกด้วยว่า ช่วงที่อาจารย์ศิลป์อยู่บ้านหลังนี้เป็นเวลาที่ทำงานสร้างสรรค์พระบรมราชานุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถือเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาศิลปวัฒนธรรมตะวันตกในไทย
ภายในบ้านอาจารย์ฝรั่งเราได้ชมภาพถ่ายครอบครัว และภาพอาจารย์ศิลป์ในอิริยาบถต่างๆ รวมถึงภาพผลงานที่ฝากไว้บนแผ่นดินไทย เช่น ประติมากรรมนูนสูงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประติมากรรมพระเจ้าตากสินวงเวียนใหญ่ ส่วนชั้นบนบ้านเปิดพื้นที่จัดนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยหมุนเวียนสร้างความสุนทรีย์ ตอนนี้โชว์งานสีน้ำจากดอกไม้ชื่อ”Little Flower” ฝีมือศิลปินต้องการ ส่วนหนึ่งของเรือนอาจารย์ฝรั่งยังเปิดเป็นร้าน Craftsman บริการอาหารและเครื่องดื่มด้วย
'ตึกยาว' อาคารเรียนที่ยาวที่สุดในไทย ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์การศึกษา แหล่งเรียนรู้พัฒนาการศึกษาไทย
การย้อนเวลาสัมผัสงานช่างฝรั่งผสมไทยมาปิดท้ายที่พิพิธภัณฑ์การศึกษาโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่อาคารสวนกุหลาบ หรือ’ตึกยาว’ที่เด็กสวนฯ เรียกกันติดปาก ใครออกแบบตึกยาวสุดสายตานี้ ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่อาคารสูง 2 ชั้น ทำซุ้มโค้ง ทิวเสา ประดับปูนปั้น เป็นสง่าให้บ้านเมืองด้วยแบบสถาปัตยกรรมยุโรปนีโอคลาสสิค ถือเป็นอาคารเรียนตัวอย่างที่ยาวที่สุดในประเทศไทยถึง 200 เมตร สร้างขึ้นปลายสมัยรัชกาลที่ 5
ปีหน้าตึกยาวครบ 110 ปี ที่พิพิธภัณฑ์ได้เรียนรู้พัฒนาการการศึกษาไทย เพราะสวนกุหลาบเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่ ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นให้ข้าราชบริพาร ข้าราชการ และประชาชนส่งลูกหลานมาเล่าเรียนตามหลักสูตรตามพระราชดำริยกระดับการศึกษาชาติให้ทัดเทียมสากล จัดสอบครั้งแรกก็ที่นี่ โปรดเกล้าฯ ให้สลักชื่อนักเรียนที่สอบผ่านไว้บนหินอ่อน ครูไทย ครูฝรั่งต้องเขียนตำราให้เหนือกว่าความรู้ทั่วไป สมัยนั้น รร.ใช้ตำราฝรั่งส่วนใหญ่ นักเรียนทุนเรียนหลวงคนแรกเป็นศิษย์สวนกุหลาบ
ตึกยาวสวนกุหลาบ นอกจากทรงคุณค่าด้านสถาปัตยกรรม ยังอัดแน่นด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์
คนสร้างตึก ตึกสร้างคน คนสร้างชาติ ทำเนียบศิษย์เก่าสวนฯ จึงมีทั้งหมอ สสส. รัฐมนตรี ทหาร ทูต ศิลปิน จนถึงบุคคลสำคัญของโลกที่ยูเนสโกยกย่อง ทั้งหมดนี้รวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ แบ่งเป็นห้องๆ ให้ชมกัน จะเห็นได้ว่า ชีวิตตึกยาวอยู่ที่เรื่องราว ไม่ใช่เพียงสถาปัตยกรรม ทุกสถานที่ที่ไปพร้อมให้ทุกคนมาเรียนรู้ ภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่หลอมรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสำนึกตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน