จีนยินดีกับไบเดน: สัญญาณเกมใหม่เริ่มแล้ว


เพิ่มเพื่อน    

 

            ขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ กระทรวงการต่างประเทศจีนเพิ่งประกาศว่าได้ส่งสารแสดงความยินดีไปยังโจ  ไบเดน ในฐานะ "ว่าที่ประธานาธิบดี" ของสหรัฐอเมริกาแล้ว

            โดยบอกว่ารัฐบาลจีน "เคารพในการตัดสินใจ" ของประชาชนคนอเมริกันในการเลือกไบเดนเป็นผู้นำคนใหม่

            เท่ากับสี จิ้นผิงของจีนตัดสินใจแล้วว่า ไม่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์จะดิ้นเพียงใดเพื่อที่จะให้มีการนับคะแนนใหม่ หรือฟ้องศาลให้เปลี่ยนคะแนนก็คงไม่มีผลแล้ว

            ข่าวจากปักกิ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่การนับคะแนนล่าสุดของรัฐแอริโซนาและจอร์เจียเป็นของไบเดน ทำให้ได้ไปอีก 27 คะแนน Electoral College ดันให้คะแนนสะสมของไบเดนไปอยู่ที่ 306 ขณะที่ทรัมป์ยังอยู่ที่ 232 เกือบจะไม่มีใครนอกจากทรัมป์และคนรอบข้างจำนวนหนึ่งที่ไม่เชื่อว่าไบเดนคือประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ

            การที่จีนยอมรับไบเดนเป็นผู้นำคนใหม่ เท่ากับปักกิ่งเตรียมพร้อมที่จะต้องรับกับการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์กับอเมริกาแล้ว

            สี จิ้นผิงรู้ว่าท่าทีของไบเดนต่อจีนจะไม่ลดระดับของการเผชิญหน้ากับจีน เพียงแต่น้ำเสียงและจังหวะจะโคนจะเปลี่ยนไปเท่านั้น ส่วนเนื้อหาสาระนั้นอเมริกาจะเดินหน้ากดดันจีนต่อไปอย่างแน่นอน

            ไบเดนเริ่มเดินหน้านโยบายของเขาต่อเอเชีย ด้วยการยกหูไปทักทายกับผู้นำญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย

            ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ ที่ยุคของทรัมป์ได้ทำให้ความใกล้ชิดนั้นเกิดปัญหาของความไม่แน่ใจ เพราะทรัมป์พยายามให้ประเทศเหล่านี้ควักกระเป๋าออกเงินในการดูแลรักษาฐานทัพสหรัฐฯ และทหารอเมริกันในประเทศเหล่านั้น

            ไบเดนต้องการจะยื่นมือกลับไปหาเพื่อนเก่าในเอเชียเหล่านี้ เพื่อสานสัมพันธ์สร้างเครือข่ายสกัดอิทธิพลของจีน

            สไตล์ของไบเดนจะต่างกับทรัมป์ตรงที่จะลดการใช้ทวิตเตอร์เพื่อดำเนินนโยบายของตน

            ไบเดนจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาต่อรองและกดดันจีนอย่างเป็นระบบ

            ไบเดนจะไม่ใช้ความโฉ่งฉ่าง แต่จะใช้วิธีการที่นิ่งแต่หนักแน่น

            ไม่ต้องสงสัยว่าไบเดนจะตอกย้ำนโยบายของ "เสรีภาพแห่งการเดินเรือ" ในทะเลจีนใต้ ไม่ยอมให้จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำแถบนั้นแต่เพียงผู้เดียว

            ผมเชื่อว่ารัฐบาลของไบเดนจะให้ความสำคัญต่ออาเซียนมากขึ้น เพราะเห็นความสำคัญของกลุ่ม  10 ประเทศนี้ในสมการของภูมิรัฐศาสตร์

            หากจำได้ ทรัมป์ไม่ยอมมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว

            ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์ทันทีว่าทรัมป์ลดระดับความสนใจอาเซียนแล้ว

            แม้ว่าภายหลังคนของทรัมป์จะพยายามเน้นว่าอเมริกาไม่ได้ทิ้งอาเซียน ยังคงให้ความสำคัญเหมือนเดิม แต่ในภาคปฏิบัติก็เกิดความชัดเจนแล้วว่าทรัมป์สนใจจะเป็นข่าวกับประเทศที่ทำให้เขามีโอกาสแสดงความโดดเด่นมากกว่า

            ทรัมป์เลือกที่จะไปประชุมสุดยอดกับคิม จองอึนแห่งเกาหลีเหนือเพราะสามารถสร้างพาดหัวข่าวได้

            ทรัมป์เล่นเกมกับสี จิ้นผิงกับวลาดิเมียร์ ปูติน เพราะสร้างภาพว่าสามารถจับมือกับผู้นำของสามประเทศนี้ได้ ขณะที่อดีตผู้นำสหรัฐฯ คนก่อนๆ ไม่ทำหรือทำไม่ได้

            ดังนั้นไทยและอาเซียนจะต้องปรับแนวทางการสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ภายใต้ไบเดน เพื่อสามารถถ่วงดุลอำนาจกับจีนให้เหมาะสมกว่าเดิม

            อาเซียนจะต้องบอกกล่าวกับไบเดนให้ได้รับทราบถึงปัญหาที่มองจากภูมิภาคนี้ และความคาดหวังของคนแถบนี้ต่อสหรัฐอเมริกาในฐานะพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

            กับเกาหลีเหนือ ไบเดนคงจะใช้วิธีการเจรจาผ่านระดับทำงานมากกว่าการนัดเจอกับคิม จองอึน

            หรือไม่ก็อาจจะมีการรื้อฟื้นการเจรจา 6 ฝ่ายประเด็นช่องแคบเกาหลี

            สหรัฐฯ, จีน, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ที่เคยเป็นกลุ่มประเทศที่พยายามหาทางออกร่วมกันคงจะนัดหมายกลับมาพูดคุยกันอีกรอบ

            คิม จองอึนจะยอมกลับมาร่วมโต๊ะเจรจาหรือไม่ ย่อมอยู่ที่ว่าเขามองว่าเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากการกลับไปสู่สูตรการต่อรองเก่าหรือไม่

            สี จิ้นผิงแสดงความยินดีกับไบเดน...ข่าวต่อไปต้องรอจากปูตินและคิม

            คลื่นในทะเลจีนใต้อาจจะลดความรุนแรงลง แต่ไม่ได้แปลว่าความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกันจะลดน้อยลงไป

            อยู่ที่ลีลาและเนื้อหาของไบเดนจะทำให้สี จิ้นผิงพร้อมจะนั่งลงโขก "หมากล้อม" ด้วยกันหรือไม่.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"