ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต-จำคุก 10 โจรใต้ ก่อเหตุวางระเบิดในเทศบาลเมืองปัตตานี 6 จุดปี 2559 จนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บกว่า 20 คน ทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก "รอง มทภ.4" แจงนำผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน 105 คนไปอยู่พื้นที่ อ.สุคิริน เหตุทั้งหมดไม่เกี่ยวกลุ่มก่อความไม่สงบ แค่คนไทยหนีความรุนแรงไปอยู่มาเลย์
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย นำโดย พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย พล.ต.ต.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี (ผบก.ภ.จว.ปัตตานี) และนายพงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี(รอง ผวจ.ปัตตานี) ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังศาลชั้นต้นปัตตานี พิพากษา 10 ผู้ต้องหามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 คดี ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ปัตตานี โดยมีครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เข้าร่วมรับฟังที่บริเวณทางเข้ามัสยิดกลางปัตตานี ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดที่เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดจากทั้งหมด 6 คดี
พ.อ.ปราโมทย์กล่าวว่า ตามที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายมะซัน หรือฮากิบ สาและ กับพวกรวม 10 คน ในความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร ก่อให้เกิดระเบิด ความผิดต่อชีวิตทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน จากคดีเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้มนครปฐม หน้าตลาดโต้รุ่ง, ระเบิดร้าน JP เฟอร์นิเจอร์, ระเบิดเรือประมง 2 ลำ, ระเบิดหน้าร้านศรีปุตรีข้างมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี และขยายผลตรวจยึดอาวุธปืนพกและอุปกรณ์ประกอบระเบิดหลายรายการ รวม 6 คดี เหตุเกิดในพื้นที่เทศบาลเมืองปัตตานี ในห้วงเดือนมิถุนายน- ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา
พ.อ.ปราโมทย์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 ศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 10 คน โดยศาลสั่งประหารชีวิต 6 คน คือ นายอิบรอเฮง ยูโซ๊ะ, นายอัมรีย์ ลือเย๊าะ, นายสันติ จันทรกุล, นายอายุบ เปาะลี, นายอิสมาแอ ตุยง และนายนิรอนิง นิเดร์ และศาลสั่งจำคุกตลอดชีวิต 3 คนคือ นายมะซัน สาและ, นายอับดุลเลาะ หะยีอูมาร์ และนายรูสรัน แวหะยี เนื่องจากจำเลยทั้ง 3 คน ให้การที่เป็นประโยชน์แก่การพิพากษาคดี ศาลจึงลดโทษ จากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต ส่วนนายฮามิด เจะมะ ศาลสั่งจำคุก 39 ปี 12 เดือน
โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า พฤติกรรมที่ปรากฏของจำเลยทั้ง 10 คน ได้ร่วมกันก่อเหตุถึง 6 คดี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ได้รับบาดเจ็บกว่า 20 ราย และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยในห้วงที่ผ่านมา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ให้การช่วยเหลือเยียวยาแก่ครอบครัวของผู้สูญเสียดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ที่กระทำความผิด ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการดูแลจากกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังของการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงแต่อย่างใด โดยทำเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเท่านั้น จึงขอให้ช่วยกันดูแลบุตรหลาน หรือบุคคลในครอบครัวอย่างใกล้ชิด
"สำหรับผลคำพิพากษาตัดสินคดีขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ซึ่งได้พิจารณาตามพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุ และพยานแวดล้อม ที่ทำให้ศาลเชื่อว่าจำเลยทั้ง 10 คนได้ร่วมกันกระทำความผิดจริง จึงมีคำสั่งพิพากษาลงโทษดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้ง 10 คนยังมีสิทธิในการยื่นขออุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายได้กำหนดไว้" โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ากล่าว
ขณะที่ พล.ต.ต.ปิยะวัฒน์กล่าวว่า การดำเนินคดีเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เริ่มจากการหาพยานหลักฐานนำไปสู่การพิพากษาของศาล โดยได้พิพากษา 6 คดี มี 10 คนที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย อั้งยี่ซ่องโจร การหาพยานหลักฐานที่มีการบูรณาการร่วมสามฝ่ายครั้งนี้ ศาลเชื่อว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดจริง ศาลจึงสั่งตัดสิน
พ.อ.หาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 กล่าวเสริมว่า เรามีผู้ต้องสงสัย 30 คน ออกหมายจับตั้งแต่ปี 2559 และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม 2560 เราสามารถจับคนร้ายได้ 15 คน ศาลตัดสินยกฟ้อง 5 คน เราปล่อยไปแล้ว ส่วน 10 คนนี้ศาลสั่งประหารชีวิต 9 คน แต่ 3 คนได้ให้การเป็นประโยชน์ ศาลจึงลดโทษ
นางพยอม รักบุตร แม่ของ จ.ส.ต.อนุรักษ์ รักบุตร ผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดข้างมัสยิดกลางปัตตานี ปี 2559 กล่าวว่า มีลูกชายคนเดียว มาเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งวันนี้สามารถจับคนร้ายได้ ก็คิดว่าดี เหตุการณ์จะได้ลดลง ไม่มีผู้สูญเสียอีก
อย่างไรก็ดี ในส่วนญาติของหนึ่งในผู้ต้องหา 10 คนที่ศาลตัดสินพิพากษา กล่าวว่า เคารพกระบวนการยุติธรรม แต่ยืนยันว่าลูกชายไม่ใช่คนร้าย เขาเป็นชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ ก็ขอสู้ต่อไปเพื่อขอความเป็นธรรมให้ลูกชาย
วันเดียวกัน พล.ต.วิชาญ สุขสง รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงกรณี พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 มีแนวคิดจะพาผู้ที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน 105 คน ที่กลับจากมาเลเซียเมื่อหลายเดือนก่อน ไปอยู่ที่ ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ว่าที่ตรงนั้นมีพื้นที่ว่างที่กองทัพขอใช้พื้นที่จากโครงการนิคมแล้วประมาณกว่า 700 ไร่ เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน 105 คน ซึ่งมี 23 ครอบครัว และเป็นคนโสด 12 คน เข้าไปอยู่อาศัย ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ไม่ใช่กลุ่มคนที่สร้างปัญหา แต่เมื่อ 30 ปีก่อนเขามีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ เกิดความหวาดระแวง จึงเข้าไปอยู่ในประเทศมาเลเซีย โดยส่วนใหญ่อายุ 70 ปีแล้ว ไม่ใช่พวกที่ก่อเหตุอยู่ในช่วงนี้
"เขาเป็นคนไทย เราต้องดูแลเขา แม่ทัพภาค 4 ก็นำมาให้สัญชาติ ให้บัตรประชาชน เพราะเขาคือคนไทย เราทำเพื่อมนุษยธรรม เมื่อก่อนกลุ่ม จคม. เป็นคนมาเลย์ เรายังดูแลเขาได้ แต่นี้เขาเป็นคนไทย เราก็ต้องดูแลถึงแม้เขาไม่ได้เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสถานการณ์ แต่เขาก็เป็นคนไทย ขอยืนยันว่ากลุ่ม 105 คนที่เราจะพาเขาไปอยู่ที่ใกล้ๆ หมู่บ้าน บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ไม่ใช่คนร้าย และไม่ใช่กลุ่มคนที่สร้างปัญหา" พล.ต.วิชาญกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา มีชาวบ้านกว่า 500 คน จาก 3 หมู่บ้าน ใน ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ได้รวมตัวกันมาที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ ค่ายจุฬาภรณ์ที่ 12 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว มีการแสดงความคิดเห็นไม่พอใจที่จะให้คนในโครงการพาคนกลับบ้านเข้ามาอาศัยด้วย หลังจาก พล.ท.ปิยวัฒน์ มีแนวทางจะใช้พื้นที่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 หมู่ที่ 13 บ้านรักษ์ธรรม หมู่ที่ 10 บ้านลีลานนท์ และหมู่ที่ 6 เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |