'สุวพันธุ์'บินกล่อมม็อบ เคลียร์ปมบ้านตุลาการ


เพิ่มเพื่อน    

    "สุวพันธุ์" บินไปเชียงใหม่นัดคุยเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 6 พ.ค.นี้ เชื่อจบเร็ว  แต่ลงมือทำเป็น 3 ระยะ กฎหมายปกติแก้ไขได้ ส่วน "วิษณุ" ยันไม่ใช้ ม.44 คำสั่ง คสช.ต้องสร้างสรรค์ ไม่เอามาทุบตึกรื้อบ้านทำลายทรัพย์สินทางราชการ ขณะที่เครือข่ายต้านป่าแหว่งเปิดแนวทางตกลงเป็นเรื่องๆ ไป
    นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานแก้ปัญหาบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ว่าจะลงพื้นที่วันที่ 6 พ.ค. พยายามให้ได้ข้อยุติ พูดคุยภาคประชาชนเป็นหลัก เพราะทราบว่าในพื้นที่มีถึง 17 เครือข่ายที่รวมกันอยู่ 
    "ให้ผู้ตรวจราชการประสานในพื้นที่และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ติดต่อกลุ่มที่จะมาพูดคุยกับผม การดำเนินการตรงนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญภาคประชาชน ส่วนรายละเอียดมีหลายเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน"
    นายสุวพันธุ์กล่าวว่า รัฐบาลต้องการรับฟังข้อเสนอแนะของกลุ่มที่คัดค้าน ที่ผ่านมาได้รับฟังมาบ้างแล้ว รวมถึงประชาชนต่างๆ ที่แสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียที่มีความเห็นที่หลากหลาย ดังนั้นการลงพื้นที่จะเป็นการพูดคุยในภาคปฏิบัติว่าเราจะสามารถทำอะไรได้ก่อนและหลัง เราควรทำอย่างไรในระยะที่ 1, ระยะที่ 2 และ 3 ทางออกควรจะเป็นอย่างไร โดยบางเรื่องอาจได้ข้อสรุปเลย บางประเด็นอาจต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมา เวลานี้จึงไม่สามารถบอกได้ว่าหลังวันที่ 6 พ.ค.จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
    ผู้สื่อข่าวถามว่า กำหนดระยะเวลาหาข้อยุติหรือไม่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ตอบว่า ให้เร็วที่สุด เราอยากให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด นโยบายของนายกฯ ต้องการให้ปัญหาทุกอย่างได้รับการแก้ไข นายกฯ เป็นห่วงเรื่องนี้มาก จึงอยากให้แก้ไขโดยเร็วที่สุด
    ถามว่าเรื่องนี้มีกระแสการคัดค้านประชาชนในพื้นที่ และกระแสสังคมกดดันอยู่ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาของความเห็นที่ไม่ตรงกันเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว แต่ถ้าทุกฝ่ายเห็นว่าเราต้องยืนอยู่บนหลักความจริงและความถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม คิดว่าน่าจะมีทางออกที่จะเกิดขึ้นได้ รัฐบาลพร้อมเปิดกว้างพูดคุย  และเท่าที่ทราบ กลุ่มที่คัดค้านอยากพูดคุยด้วย 
    ส่วนรายละเอียดต้องมาพูดจาร่วมกัน เช่น ถ้าเขาต้องการให้รื้อทั้งหมด ต้องมาพิจารณาร่วมกันทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ และประเด็นการพูดคุยไม่สามารถตอบได้ว่าจะจบได้วันนั้นหรือไม่ เพราะบางประเด็นอาจมีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด แต่ส่วนตัวยังมองว่าเรื่องนี้น่าจะจบรวดเร็วได้ ถ้าทุกฝ่ายยอมรับในหนทางที่เห็นตรงกัน
    ซักว่าสามารถกันเป็นพื้นที่แนวเขตอุทยานได้หรือไม่ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า เป็นไปได้ แต่การทำให้เป็นไปได้จะเป็นอย่างไร ใช้กฎหมายข้อไหน ทำได้มากน้อยแค่ไหนใช้เวลาเท่าไหร่ ต้องดูว่าประชาชนเขาต้องการหรือไม่ จะเป็นประโยชน์หรือไม่ ถ้าทุกฝ่ายยอมรับตรงนี้ ต้องหาทางทำให้ได้
    ส่วนการใช้มาตรา 44 นั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ บอกว่า ทุกเรื่องถ้าสามารถแก้ได้ด้วยกฎหมายปกติจะเป็นข้อดี เราต้องตระหนักอย่างหนึ่งว่า ถ้าวันหน้าไม่มีมาตรา 44 จะทำอย่างไร และนโยบายของหัวหน้า คสช.ชัดเจนว่าจะใช้มาตรา 44 เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ถ้าเรื่องไหนสามารถหาทางออกด้วยเส้นทางปกติได้ให้ไปเส้นทางนั้น
    รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่า ณ เวลานี้กฎหมายปกติน่าจะแก้ปัญหาได้ การใช้มาตรา 44 อาจจะเห็นผลปุ๊บปั๊บ แต่ไม่รู้ผลกระทบที่ตามมาจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ถ้าเราใช้กฎหมายปกติ ซึ่งมันเคยถูกใช้มาแล้ว ก็น่าจะดีมีประโยชน์มากกว่า ความจริงทางออกมีหลายทาง รอดูกันไป
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนายสุวพันธุ์เป็นการส่วนตัว แต่ในขั้นตอนนี้ยังไม่มีเรื่องที่ต้องหารือทางกฎหมาย ยกเว้นไปตรวจพบว่าต้องมีการตอบในเชิงกฎหมาย อาจจะมาหารือในภายหลัง โดยการมอบหมายนายสุวพันธุ์ถือเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ไปดูแลทั้งหมด ไปฐานะส่วนกลาง เพราะในพื้นที่มีกองทัพภาค 3 และฝ่ายความมั่นคงดูแลอยู่แล้ว โดยหลังจากลงพื้นที่แล้วจะนำจิ๊กซอว์มาต่อกันเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ส่วนการตัดสินใจขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ถูกต้อง จากนั้นจึงเสนอนายกฯ ต่อไป
    "ผมไม่ได้รู้สึกกังวลอะไร เชื่อว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นอยู่บนพื้นฐานของความสุจริตใจ ไม่ได้มีอะไรที่น่าเป็นห่วง ไม่มีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีสัญญาณว่ามีความไม่สงบหรือการเมืองเข้ามาแทรกแซงแต่อย่างใด ไม่ว่าเป็นระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและไม่ยากนัก"
    นายวิษณุย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่พบอะไรที่จะชักจูงหรือนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้รัฐบาลต้องเป็นผู้แก้ไขปัญหา แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจของทั้ง 3 ฝ่าย คือ ตุลาการ ประชาชน และฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม โดยต้องใช้ข้อมูลด้านวิชาการ และเชิงความต้องการ
    เขาบอกว่า ข้อตกลงเดิมที่มีมาในสมัยรัฐบาลก่อนๆ ที่ผ่านมากว่า 10 ปี คือต้องการให้ศาลมีที่อยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน โดยมีการอนุมัติตั้งแต่รัฐบาลนี้ยังไม่เข้ามา จนกระทั่งมีการก่อสร้างในขณะนี้ ดังนั้นจึงขอให้เห็นใจศาลด้วย การพูดจาให้กระทบกระเทือนศาลไม่ได้ และต้องปล่อยให้เป็นไปตามการดำเนินการของรัฐบาล
    ส่วนแนวโน้มการใช้มาตรา 44  นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบว่าต้องใช้มาตรา 44 ในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ แต่มองว่าคงไม่ถึงขั้นนั้น เพราะคำสั่ง คสช.จะต้องใช้ในทางสร้างสรรค์ ต้องไม่ใช้ในการทุบตึกและรื้อบ้าน ทำลายทรัพย์สินทางราชการ ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ก่อน เพราะตนไม่ได้รับมอบหมายโดยตรง เป็นเพียงผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่พัฒนาภาคเหนือ และส่งที่ปรึกษาไปดูเท่านั้น เพื่อให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น
    เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ทำประชามติ รองนายกฯ แจงว่า การทำประชามติถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ต้องตั้งเวทีและตั้งประเด็นเพื่อเข้าคูหากาบัตร จึงไม่จำเป็นต้องถึงขั้นนั้น แต่สามารถทำประชาพิจารณ์ อาจทำได้เนื่องจากเป็นการทำในวงจำกัด
    นายบัณรส บัวคลี่ โฆษกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เปิดเผยว่า ช่วงเช้าวันที่ 2 พ.ค. ได้รับการติดต่อพูดคุยประสานงานจากทีมงานของนายสุวพันธุ์  เพื่อกำหนดนัดหมายพูดคุยเจรจาหาทางออกกรณีโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ร่วมกับเครือข่ายที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 6 พ.ค. เบื้องต้นทางเครือข่ายได้แจ้งไปแล้วว่า ในการเจรจาดังกล่าวนั้น ขอไม่ให้มีการกลับไปเริ่มต้นที่การตั้งกรรมการหาทางออกขึ้นมาใหม่ แต่ขอว่าเรื่องใดที่สามารถตกลงกันได้ และเรื่องใดที่มีความเห็นพ้องตรงกัน 
    เขายกตัวอย่างเช่น ความจำเป็นต้องฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่โดยเร็ว หรือศาลอาจจะไม่ประสงค์จะใช้พื้นที่แล้ว ซึ่งจะมีการหาพื้นที่ใหม่ และงบประมาณใหม่ให้  เป็นต้น ให้มีการประกาศออกไปก่อน ส่วนเรื่องใดที่ยังติดขัด เช่นการรื้อหรือไม่รื้อนั้น ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมาเพื่อศึกษา ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การแก้ไขปัญหาเกิดความติดขัด และทำให้ประชาชนที่รอคอยคำตอบในเรื่องนี้เกิดความรู้สึกเบาใจขึ้น ซึ่งทางคณะทำงานเครือข่ายจะมีการประชุมหารือและจัดเตรียมวาระสำหรับการเจรจาในครั้งนี้โดยเร็ว 
    สำหรับการแสดงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อกรณีปัญหานี้นั้น โฆษกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพแสดงความเห็นว่า เชื่อว่านายกฯ อาจจะไม่สามารถพูดอะไรมากได้ แต่เชื่อว่าน่าจะได้รับทราบข้อมูลต่างๆ ประกอบการพิจารณาตัดสินใจแล้ว เพียงแต่ว่าการจะตัดสินใจบางอย่างติดขัดข้อกฎหมาย จึงกลัวว่าจะมีปัญหาตามมา
    "ในภาพรวมถือว่าการตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาไม่ได้ล่าช้า เพราะอย่างน้อยมีการนัดหมายเจรจากัน และมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ยังเป็นเพียงแค่ขั้นตอนของการเจรจาเท่านั้น ในส่วนของการรณรงค์เรียกร้องยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลอดสัปดาห์นี้ จะเป็นการรณรงค์ด้วยกิจกรรม เขียวไปทั้งเมือง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงออกด้วยสัญลักษณ์ริบบิ้นหรือผ้าสีเขียวที่จะมีการติดไปทั่วทั้งเมืองเชียงใหม่" นายบัณรสกล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ภายหลังจากเมื่อวันที่ 1 พ.ค. เพจเฟซบุ๊ก “ไทยคู่ฟ้า” ขอความเห็นปัญหาเรื่องบ้านพักตุลาการจากประชาชนในโซเชียลมีเดีย ปรากฏว่าในช่วงค่ำของวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น  เพจ “ไทยคู่ฟ้า” ได้โพสต์อีกครั้ง เพื่อขอบคุณทุกความเห็นว่า 
    “เพจไทยคู่ฟ้า ขอขอบพระคุณทุกความเห็นของพี่น้องประชาชน ต่อกรณีปัญหาบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ ซึ่งนับว่าเป็นตัวอย่างของการมีส่วนร่วมในการบริหารงานของภาครัฐได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม มั่นใจได้ว่ารัฐบาลจะพิจารณาและตัดสินใจด้วยความรอบคอบ เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงข้อกฎหมาย หลักนิติธรรม และธรรมาภิบาล เช่น การมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ เพื่อให้ปัญหาคลี่คลายลงด้วยความราบรื่น”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"