จับตาวาระรัฐธรรมนูญ ทางเลือก “ประยุทธ์” ยื้อเวลา-ปิดเกม


เพิ่มเพื่อน    

 

       หากดูเงื่อนไข “นอกสภาฯ” จากการเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมของกลุ่มราษฎร และเครือข่ายในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา คงไม่สามารถกดดันให้ 3 ข้อเรียกร้อง ในการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ปฏิบัติได้ทันที

                ตอกย้ำด้วยการประเมินของสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ที่ระบุว่า จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมลดลงทุกที แต่ก็ยอมรับว่ากลุ่มคนเหล่านั้นกลับไปต่อสู้ในโซเชียลมีเดีย 

                แต่ก็ใช่ว่าการชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎร” จะไร้พลัง ในทางตรงกันข้ามส่งผลให้แรงกระเพื่อมให้ฝ่ายรัฐต้องขยับตัว รับฟังข้อเรียกร้อง และประกาศแนวทางสมานฉันท์ ปรองดอง และประนีประนอม

                ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อเป็นยุทธศาสตร์ดึงข้อใดข้อหนึ่งเป็นตัวประกัน แต่เป้าหมายทางการเมืองที่ต้องการแข่งขันในสนามเลือกตั้งอย่าง “แฟร์เกม” ด้วยการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญที่มีกติกาอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งปฏิเสธได้ยากว่าอานิสงส์จากการเคลื่อนไหวครั้งนี้ตกสู่พรรคการเมืองที่มีฐานคะแนนนิยมจากกลุ่มที่ออกมาชุมนุม

                กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์แสดงท่าทีต่อสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่ชัดเจนนัก แต่อย่างน้อยก็ยังมี “ไพ่” อีกหลายใบที่จะเลือกเล่น ทำให้ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถูกวิเคราะห์ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาแบบตีสองหน้า และปรับไปตามสถานการณ์ ที่ไม่มีใครฟันธงได้ชัดว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต

ทางหนึ่งประกาศแก้รัฐธรรมนูญให้เสร็จทั้ง 3 วาระ ภายในเดือน ธ.ค.2563 แต่อีกทางขยิบตาให้ลูกหาบไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญล้มกระดานแก้กติกาประเทศ จึงไม่อาจฟันธงได้ว่าเกมแก้รัฐธรรมนูญจะไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่

เพราะต้องหักด่านสำคัญอีกหลายขั้นตอน หากผ่านการลงมติรับหลักการ ก็ต้องเจอการแปรญัตติและลงมติวาระ 2-3 ที่ไม่รู้จะถูกเล่นแร่แปรธาตุเหลือเนื้อหาตรงตามต้นฉบับเดิมมากน้อยเพียงใด และขั้นตอนสำคัญต้องฝ่าด่านประชามติ ประชาชนจะให้ฉันทานุมัติยอมรับรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

                ทั้งนี้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี พูดได้น่าสนใจว่า โดยเห็นว่าการลาออกของนายกรัฐมนตรี หรือการประกาศยุบสภาฯ ไม่ใช่ทางออก เพราะการเลือกตั้งอาจต้องใช้กติกาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอยู่ แต่ช่วงเวลาที่สำคัญและ พล.อ.ประยุทธ์ควรออกแรงในการผลักดันเรื่องนี้ ก็เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะประสบความสำเร็จ และพูดคุยในสภาฯ โดยนำ “สถาบัน” ออกมาจากความขัดแย้ง        

                “ถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยากให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับผ่าน ท่านทำให้ผ่านได้ง่ายนิดเดียว บอกในสภา 7 ฉบับเป็นทางออกของประเทศที่จะมาพูดคุยกัน แล้วให้ไปแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ เปิดเวทีพูดคุยกัน ถ้าไม่ทำอย่างนี้ บ้านเมืองจะขัดแย้ง เราจะบริหารประเทศไม่ได้ เป็นข้อเสนอ วันจันทร์ วันอังคาร ที่จะเป็นโอกาสไม่ให้มีการปิดทางนำไปสู่ความขัดแย้งหรือเป็นการซื้อเวลา แต่เป็นโอกาสที่จะใช้เวทีแก้ปัญหาด้วยเหตุและผล ถ้าทำได้ ปัญหาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาพูดด้วยเหตุและผลจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นช่องทางที่จะนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกันในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” นายอภิสิทธิ์กล่าว

โดยมองว่าปัญหายังมีทางออกคือ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือต้องให้รัฐสภามีฉันทามติว่าควรมีกติกาสากลที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ถ้ายังปล่อยให้มีการชุมนุมกันต่อไป วันหนึ่งก็จบที่การใช้ความรุนแรง 2.ต้องหาเวทีพื้นที่ในการเจรจากัน 3.ทางออกนี้สังคมไทยถนัดคือมั่วๆ กันไปในวังวนเดิม ซึ่งทางออกต้องดูวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ถ้า ส.ว.เลือกที่จะปฏิเสธแก้รัฐธรรมนูญ บอกได้เลยว่าเส้นทางการนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งแทบจะไม่เหลือแล้ว การจะทำให้คลี่คลายได้จะต้องมีการรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ

ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ได้เสนอบันได 3 ขั้น สู่ทางออกประเทศไทย บันไดขั้นที่ 1 ตั้งคณะกรรมการเพื่อการแสวงหาทางออกประเทศไทย โดยมีกฎหมายรองรับ มีการกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน เช่น ต้องจบภายใน 3-5 เดือน มีองค์ประกอบและมีส่วนร่วมที่หลากหลายที่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง และต้องมีผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะนักเรียน นิสิต นักศึกษาร่วมนั่งเป็นกรรมการ อาศัยกลไก กระบวนการยุติธรรมในช่วงเปลี่ยน เป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยต้องยุติการดำเนินคดีไว้ก่อน ปล่อยตัวผู้ชุมนุม ยกเลิกการตั้งข้อหาเพื่อกลั่นแกล้ง

บันไดขั้นที่ 2 แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการเร่งด่วนนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จึงจำเป็นต้องเร่งผ่านร่างแก้ไข รธน.ทั้งร่างที่เสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน พรรครัฐบาล และร่างของภาคประชาชนที่ผ่าน ILaw มาพิจารณาให้แล้วเสร็จ ทั้ง 3 วาระภายในต้นเดือนธันวาคม เร่งให้มีการเลือก ส.ส.ร.เพื่อให้เป็นตัวแทนประชาชนไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน

บันไดขั้นที่ 3 นายกฯ ประยุทธ์ต้องลาออกหลังสภาผ่านร่างแก้ไข รธน.ในต้นเดือนธันวาคม เพื่อเปิดทางให้สภาผู้แทนราษฎรได้เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยมีรัฐบาลใหม่ ทำหน้าที่สนับสนุนให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน ต่อจากนั้นต้องเร่งคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ ไม่เกินปลายปี 2564 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะนำไปสู่โอกาสในการออกแบบประเทศไทย

ส่วน นายคำนูณ สิทธิสมาน วุฒิสมาชิก เสนอว่าบ้านเมืองถึงเวลาที่ต้องคิดถึงการสลายความขัดแย้งเป็นรูปธรรมด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมทุกฝ่าย รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ตั้ง ส.ส.ร. และการลดอำนาจของ ส.ว. ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ไม่ใช่ว่าตนเองไม่เห็นด้วย แต่มองว่าในเมื่อจะมี ส.ส.ร.แล้ว ก็ควรให้ ส.ส.ร.เข้ามาดำเนินการแก้ไขในประเด็นอื่นๆ ซึ่งความคิดเห็นของตนเองในลักษณะนี้ถือเป็นส่วนน้อยในวุฒิสภา

ระหว่างนี้หลายฝ่ายพยายามหาทางออก ด้วยการถอดสลัก “ระเบิดเวลา” ที่ผูกติดมาตั้งแต่เริ่มใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 รวมไปถึง “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ที่พยายามแสวงหาทางออกของปัญหาให้ได้ข้อยุติ ด้วยการหารือตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ พูดคุยกับผู้มีประสบการณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดทำเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว

แม้จะถูกมองว่า “เชื่องช้า” และไม่ตอบสนองต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้า แถมยังถูกนักการเมืองในหน้าตักของ 3 ป.ออกมาขัดแข้งขัดขา 

 แต่ก็ถือว่ามีความคืบหน้าพอสมควร โดยการประชุมร่วมกัน 4 ฝ่ายที่ผ่านมา ได้หารือกันในเรื่องนี้ว่ารูปแบบที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอมา 2 รูปแบบนั้น อาจจะมีคณะกรรมการ 7 ฝ่าย โดยเบื้องต้นใครเข้าร่วมได้ก็ดำเนินการไปก่อน และจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาในสัปดาห์หน้า

"คิดว่าควรมีแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต บางเรื่องอาจจะป้องกันล่วงหน้าไม่ได้ เช่น ความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่บางเรื่องสามารถป้องกันล่วงหน้า เช่น ปัญหาที่อาจเกิดจากการกระทำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง"
             กระนั้น “ชวน” ก็ยอมรับว่า ที่ผ่านมาได้ศึกษาคณะกรรมการหลายชุดพบว่าทำงานดี แต่ไม่มีผล เพราะเชี่ยวชาญด้านทฤษฎี ทำให้ต้องเน้นภาคปฏิบัติด้วย หลายคนที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอชื่อมานั้นพบว่าหลายคนเคยทำงานด้านนี้มาแล้วหลายครั้ง ทำมาดี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจำเป็นต้องเอานักปฏิบัติมาร่วมด้วย

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีท่าทีที่จะถอยมากขึ้น โดยระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดงานสัมมนาและกล่าวปาฐกถา ในงานสัมมนา "ภาคธุรกิจไทย ในวิถียั่งยืน" เขาได้ระบุว่า

"ผมไม่อยากให้ต่างประเทศมองว่าเราเชื่อมั่นไม่ได้ เราต้องการให้เขาย้ายฐานการผลิตมาไทย แต่มีปัญหากันอยู่ทุกวัน เขาจะมาไหม นี่คือสิ่งที่ผมเป็นห่วง ผมไม่ได้ห่วงที่ตัวผมเรื่องตำแหน่งอะไรทั้งสิ้น แต่ผมห่วงฐานะประเทศไทยจะไปอยู่ตรงไหน และถ้าเขาไม่มา ย้ายฐานผลิตไปที่อื่นกันหมดจะทำอย่างไร เรื่องสิทธิประโยชน์ก็จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของเราว่าจะให้มากน้อยแค่ไหน มากเกินไปก็กลายเป็นเอื้อประโยชน์ ให้น้อยเกินไปเขาก็ไม่มา”

                ประกอบกับกระแสข่าวที่ลือกันเรื่อง “ทางลง“ จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีพักบ้านหลวงในวันที่ 2 ธ.ค.

ตอกย้ำด้วยคำสัมภาษณ์ของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีที่หาก พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่ง คณะรัฐมนตรีจะต้องพ้นไปหมดหรือไม่ โดยระบุว่า ถ้าพ้น คณะรัฐมนตรีก็ไปทั้งหมด โดยคณะรัฐมนตรีจะรักษาการอยู่ก่อน ส่วนตำแหน่งนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ยังรักษาการอยู่ก่อนได้ แต่อาจจะขอถอยไปเหมือนในอดีตที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากนายกฯ ก็ต้องรักษาการ แต่ท่านขอไม่รักษาการ จึงต้องเลือกนายกฯ ใหม่ โดยใช้รายชื่อแคนดิเดตที่มีอยู่

                นอกเสียจากมีมติเลือกบุคคลที่อยู่นอกบัญชีของพรรคการเมือง ที่ต้องใช้เสียง ส.ว.ด้วย ยืนยันว่านายกฯ ไม่เคยมาปรึกษากับตน และพูดกันครั้งแรกหรือครั้งสุดท้ายในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

                กลางสัปดาห์หน้าจึงถือเป็นห้วงเวลาที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเชื่อว่าจะเห็นแนวโน้มในการปลดล็อกปัญหาในขั้นตอนแรกไปได้ โดย พล.อ.ประยุทธ์มีทางเลือกหลายทาง ที่ต้องใช้บทเรียน และประวัติศาสตร์ในอดีตมาตัดสินใจเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ 

                โดยลดเงื่อนไขที่นำไปสู่วังวนความรุนแรง หรือเปิดทางให้อำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการปัญหา ล้างทฤษฎีทางการเมืองไทยที่ต้องจบด้วยการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า!!.

////////


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"