แก้ รธน.-ปลดล็อก วิกฤติการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

 คว่ำแก้ไข รธน.-สกัดตั้ง ส.ส.ร. ประชาชนจะลุกฮือ-ลงถนน

            ที่ประชุมร่วมรัฐสภาสัปดาห์นี้ซึ่งจะประชุมกันช่วง 17-18 พ.ย.เพื่อพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันเป็นการประชุมเพื่อลงมติ ให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระรับหลักการ ที่ค้างการลงมติมาจากการประชุมรัฐสภาสมัยที่ผ่านมา ซึ่งจะมีด้วยกันทั้งสิ้น 7 ร่าง รวมถึงร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชน ที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อกว่าหนึ่งแสนคนเพื่อเสนอร่างแก้ไข รธน.ที่เรียกกันว่าร่างไอลอว์

ทั้งนี้ ร่างแก้ไข รธน.ที่จะผ่านวาระแรกได้ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา คือ ส.ส.และ ส.ว.รวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ โดยเสียงเห็นชอบดังกล่าวต้องมีสมาชิกวุฒิสภาโหวตเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ปัจจุบันที่มี 250 คน คือไม่น้อยกว่า 84 เสียง

                จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw - อดีตสมาชิกวุฒิสภาปี 2543 ที่จะเป็นตัวแทนของไอลอว์ไปชี้แจงหลักการและเหตุผลการเสนอร่าง รธน.ฉบับดังกล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภา ประเมินสถานการณ์การโหวตแก้ไข รธน.ที่จะเกิดขึ้นช่วงกลางสัปดาห์นี้ โดยเริ่มต้นที่การกล่าวถึงหลักการและเหตุผลของร่าง รธน.ฉบับประชาชนว่า ร่างดังกล่าวมีเจตนาที่จะถอนรากถอนโคนอำนาจ คสช. เพราะเรามองว่าภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อดีต คสช.ที่ยังมีอำนาจอยู่ในรัฐบาลชุดนี้ยังถือครองอำนาจอยู่ โดยเฉพาะกับวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาและนำชื่อเสนอแต่งตั้งโดยอดีต คสช. จนเปิดโอกาสให้มีนายกฯ ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งหากไม่มี ส.ว.ชุดนี้ เชื่อว่าพลเอกประยุทธ์จะไม่ได้กลับมาเป็นนายกฯ แบบปัจจุบัน เห็นได้จากเสียง ส.ส.หลังเลือกตั้ง ที่หากไม่มี ส.ว. 250 คน ก็คงทำให้เสียง ส.ส.หลังเลือกตั้ง หลายพรรคการเมืองจะไปร่วมตั้งรัฐบาลกับฝ่ายค้านปัจจุบัน มากกว่าที่จะไปร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมืองปัจจุบัน ก็เป็นเครือข่ายคนของอดีต คสช.เดิมทั้งสิ้น

            โดยหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเป้าหมายระยะยาว ทำให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนที่ร่างโดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพื่อทำให้ไปถึงเป้าหมายนั้นต้องมีการแก้ไข รธน.ปัจจุบันก่อน แก้ไขเพื่อให้ได้ รธน.ที่เป็นประชาธิปไตย

            ...วิธีการจึงต้องแก้ไข คือให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง คือเป็น ส.ส.-ต้องเปลี่ยนองค์ประกอบ ส.ว.ปัจจุบัน ที่มาจาก คสช.ที่ให้เป็น ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดโดยประชาชน แบบสมัย รธน.ฉบับปี 2540 ต้องยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่ คสช.เป็นผู้กำหนด เพื่อให้อิสระกับทุกรัฐบาลจะมียุทธศาสตร์และแผนงานปฏิรูปของตัวเองตามที่ประชาชนเลือก-ต้องรีเซต องค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันทั้งหมด ที่มาจากโครงสร้างตามยุค คสช.ไม่ได้มาจากกระบวนตามประชาธิปไตย ซึ่งประเด็นข้อท้วงติงจากบางฝ่ายอย่างกรณีความเห็นของนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ที่ว่าจะเปิดช่องให้มีการนิรโทษกรรมคดีทุจริต รายละเอียดของเรื่องนี้สามารถไปพูดคุยแก้ไขได้ในชั้นกรรมาธิการร่วมของรัฐสภาได้ หลักการของประเด็นนี้คือ ไอลอว์ต้องการไม่ให้องค์กรอิสระอยู่ในการครอบงำของอดีต คสช. รวมถึงตุลาการศาล รธน. และกรรมการการเลือกตั้ง เราก็หวังว่าการแก้ไขในวาระ 2 จะไม่เกิดช่องว่าง จนทำให้คดีทุจริตได้รับผลพวงนิรโทษกรรมไปด้วย

            จอน-ไอลอว์ ย้ำว่า หลักการและเหตุผลของร่าง รธน.ฉบับประชาชนดังกล่าว คือมุ่งถอนส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยออกไป และมีลักษณะเนื้อหาครอบคลุมแต่ละส่วนมากกว่าของร่างแก้ไข รธน.ของพรรคการเมือง ร่างฉบับประชาชนเปิดกว้างมากกว่า และปลดล็อกการแก้ไข รธน. เป็นการทำให้ รธน.มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยเกือบทันทีหากมีการบังคับใช้

            หลักของเราจะมีข้อกำหนดเรื่องที่มาของสมาชิกสภาร่าง รธน.ที่แตกต่างจากร่างแก้ไข รธน.ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยกระบวนการเลือก ส.ส.ร.ร่างของประชาชน ไม่ได้เน้นการเลือกในระดับจังหวัด เพราะเกรงว่าหากเลือกระดับจังหวัดจะไม่ต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส.หรือ ส.ว. เพราะจะกลายเป็นคนที่ได้เข้ามาที่มีกลุ่มการเมือง ผู้มีบารมีในแต่ละจังหวัด ของเราให้เลือกตามผู้สมัครแต่ละกลุ่มรายประเด็นได้ เช่น กลุ่มบุคคลที่ต้องการเน้นเรื่องรัฐสวัสดิการ เขาสามารถเสนอรายชื่อกลุ่มคลายๆ ปาร์ตี้ลิสต์ แล้วประชาชนก็เลือก มันเหมือนระบบปาร์ตี้ลิสต์ แต่ไม่ได้ใช้พรรคการเมือง เปิดอิสระ เช่น กลุ่มต้องการสู้เรื่องสิทธิที่ดินป่าไม้-กลุ่มต้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ก็เสนอชื่อคนในสายนี้มาเป็นผู้สมัคร ส.ส.ร.ที่หากประชาชนเห็นด้วยเขาก็จะได้เลือกผู้สมัครในกลุ่มนี้เข้าไปเป็น ส.ส.ร. อันนี้คือโมเดลที่เรานำเสนอในร่างของเรา

            สำหรับการที่มีประชาชนมาร่วมลงชื่อในร่างดังกล่าวจำนวนมากภายในเวลาไม่นาน คงเกิดจากปัจจัย 2 ประการ คือ 1.เขาให้ความไว้วางใจเรา ที่อาจมากกว่าที่ให้ต่อพรรคการเมือง 2.มันเป็นร่างเดียวที่ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของได้ มันไม่ใช่ร่างของไอลอว์ ทุกคนเหมือนเป็นหุ้น เป็นเจ้าของร่วมกัน เป็นร่างแก้ไข รธน.ที่ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของได้ เพราะเขาไม่สามารถไปมีส่วนร่วมกับร่างของฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลได้ และร่างนี้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการ รธน.ประชาธิปไตยที่ต้องการให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด

                -จนถึงขณะนี้คิดว่าร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชนจะผ่านความเห็นชอบในวาระแรกขั้นรับหลักการหรือไม่?

            ผมคิดว่าก็มีโอกาส ผมไม่สามารถทำนายได้ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน เท่าที่เห็นขณะนี้ที่มี ส.ว.ออกมาคัดค้าน แต่เป็นไปได้ว่าพรรคพลังประชารัฐอาจจะยอมสนับสนุน ผมคิดว่า หลายคนคงเห็นว่าหากร่างของประชาชนดังกล่าว ถ้าที่ประชุมรัฐสภาไม่ยอมพิจารณาผ่านแต่แรกในวาระรับหลักการ มันไม่แก้ปัญหาวิกฤติของประเทศในปัจจุบันนี้

                "ร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชนฉบับนี้เป็นหนทางไปสู่การแก้ไขวิกฤติและเปิดให้มีการเจรจาได้ จุดยืนของเราคือหากมีการเห็นชอบร่างแก้ไข รธน.ฉบับนี้ จะทำให้เกิดพื้นที่ในการเจรจาได้"

            ...จุดยืนของไอลอว์มีอยู่เรื่องเดียวคือ ขอให้เราได้ รธน.ที่เป็นประชาธิปไตย แต่เราเห็นว่าข้อเรียกร้องของประชาชนที่ออกมาชุมนุมมากไปกว่านั้น เช่น มีเรื่องข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ซึ่งไอลอว์ไม่ได้มีจุดยืนเรื่องนี้ แต่เราเห็นว่า ถ้าร่างนี้ผ่านจะเป็นการเดินทางส่วนหนึ่งในการคลี่คลายเดดล็อกสถานการณ์ในปัจจุบันได้

                -ประเมินท่าทีของ ส.ว.ว่าจะเอาด้วยกับร่างของไอลอว์นี้หรือไม่?

            ผมคิดว่าจริงๆ ส.ว.ส่วนใหญ่จะไม่รับร่างของไอลอว์ คือเขาไม่ชอบ

                -เพราะไปเซตซีโรให้ ส.ว.ชุดปัจจุบันทั้งหมด 250 คน ต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ว.ทันที?

            ใช่ อันนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง เพราะก็เป็นร่างที่มีผลกระทบต่อตัว ส.ว.เอง แต่ขณะเดียวกัน ส.ว.ที่มาจาก คสช. ดังนั้นโอกาสที่ร่างจะผ่านความเห็นชอบในวาระแรกหรือไม่ ก็อยู่ที่การมองของอดีต คสช. และพรรคพลังประชารัฐ เขาจะมองร่างนี้อย่างไร

            ผมคิดว่าเป็นไปได้ว่าหากเขาจะส่งสัญญาณประนีประนอมกับคนรุ่นใหม่เขาน่าจะยอมให้ผ่าน แม้ฝ่ายอดีต คสช.จริงๆ ไม่ได้ชอบร่างนี้ แต่เขาอาจจะเห็นว่า การยอมให้ผ่านเปิดโอกาสให้คลี่คลายสถานการณ์เวลานี้ได้

ร่างไอลอว์สร้างทางลงให้บิ๊กตู่

                -มองยังไงกับการที่พลเอกประยุทธ์บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่าสนับสนุนการแก้ไข รธน. แต่ปรากฏว่าก็มี ส.ว.และ ส.ส.พลังประชารัฐจำนวนหนึ่งร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติจะให้รัฐสภาส่งคำร้องไปยังศาล รธน.วินิจฉัยว่าร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 ที่จะให้มีสภาร่าง รธน. อาจขัด รธน.ซึ่งมีร่างของไอลอว์รวมอยู่ด้วย?

            ผมคิดว่ามันเป็นการเล่นเกม มันก็น่าสนใจว่าเป็น ส.ว.เพียงบางส่วน และเป็น ส.ส.พลังประชารัฐเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ยื่นตรงนี้ ก็อาจแสดงถึงความเห็นที่ต่างกันเองในกลุ่ม ส.ว.และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล แต่ผมไม่ห่วงเรื่องนี้มากนัก เพราะว่าร่างที่ภาคประชาชนเสนอเข้าไป ไม่ได้หมายถึงว่าทุกอย่างจะออกมาแล้วต้องเป็นไปตามร่างของภาคประชาชนทุกประการ เราก็รู้อยู่แล้วว่า พอผ่านวาระแรกก็สามารถไปแก้ไขให้เหมาะสมได้ในชั้นกรรมาธิการและวาระสองที่พิจารณารายมาตรา เพียงแต่ว่าหากร่างที่ผ่านในชั้นกรรมาธิการ แล้วจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาวาระสองและสาม หากไม่เป็นประชาธิปไตย อันนั้นจะเป็นปัญหา เช่น จะไม่สามารถแก้ปัญหาการเรียกร้องการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดในปัจจุบันได้

            หากดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน หากพลเอกประยุทธ์ไม่ลาออกจากตำแหน่ง เป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขสถานการณ์ในเวลานี้ได้ นายกฯ ต้องลาออกตอนใดตอนหนึ่งถึงจะแก้ไขสถานการณ์ได้ ถ้าในกระบวนการแก้ไข รธน. ทำให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งต้องเป็น ส.ส. มันก็เป็นวิธีลงจากตำแหน่งที่ทำให้พลเอกประยุทธ์ไม่เสียศักดิ์ศรีในการหาทางลง    เพราะการเรียกร้องให้ลาออก นายกฯ ก็ไม่ยอม แต่หากให้อยู่ต่อไปในระยะยาว เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะไปสู่ประชาธิปไตยโดยที่พลเอกประยุทธ์ยังคงเป็นนายกฯ อยู่

            ถ้ามีการแก้ไข รธน.ในประเด็นตามร่างของประชาชนหนึ่งแสนกว่าคนมาลงชื่อ ที่ให้นายกฯ มาจาก ส.ส.ก็จะเป็นทางลงที่สวยของนายกฯ เป็นการคลี่คลายวิกฤติของสถานการณ์ในปัจจุบัน เพราะผมมองว่าทางลงของสถานการณ์ในปัจจุบันมันยาก อย่างถ้าจะเกิดรัฐประหาร มันเกิดยากในยุคปัจจุบันเช่นเศรษฐกิจจะพัง และวงทหารเองก็คงไม่เป็นเอกภาพที่จะมาทำรัฐประหาร และในพลังประชารัฐเขาก็อยากแก้ไข รธน.เพียงแต่จะแก้ตรงไหน ผมจึงคิดว่าร่างของประชาชนก็ยังมีโอกาสจะผ่านพอสมควร

            ถามย้ำว่า ยังเชื่อว่าจะมี ส.ว. 84 คน โหวตเห็นชอบด้วยกับการตั้งสภาร่าง รธน.หรือไม่ จอน-ผอ.ไอลอว์ ประเมินว่า เขาก็ยังสามารถผ่านวาระแรกทั้ง 3 ร่างได้โดยก็ยังสามารถส่งคำร้องไปยังศาล รธน.ได้ โดยส่วนหนึ่งผมก็ยังเชื่อว่าต้องดูการส่งสัญญาณจากอดีต คสช.อย่างพลเอกประยุทธ์และผู้มีอำนาจในรัฐบาลส่งสัญญาณไปยัง ส.ว.ปัจจุบันอย่างไร หากส่งสัญญาณให้ผ่าน ส.ว.ก็คงผ่าน เพียงแต่ตอนนี้ยังมีการเล่นแง่กันอยู่

หากตีตก-ขวางตั้ง ส.ส.ร.ประชาชนจะลุกฮือ

                -หากสมมุติร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 ที่ให้ตั้งสภาร่าง รธน.ไม่ผ่านวาระแรกเพราะมี ส.ว. โหวตไม่ถึง 84 เสียง จะเกิดอะไรขึ้นในทางการเมือง?

            คนจะลงถนนมากกว่าที่ผ่านมา ผมเชื่ออย่างนั้น ผมคิดว่าประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย ไม่ได้มีแค่คนที่ออกมาร่วมชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา เพราะมีเยอะและมีทั่วประเทศ

            "หากสุดท้ายรัฐสภาไม่ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเกิดปฏิกิริยาค่อนข้างรุนแรงจากประชาชน จะมีประชาชนไปร่วมชุมนุมทางการเมืองกันอีกจำนวนมาก"

            ...สำหรับท่าทีของนายกรัฐมนตรีที่ตอนหลังออกมาประกาศสนับสนุนการแก้ไข รธน. เรื่องนี้ผมมองว่าก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า หากไม่มีการเรียกร้องจากประชาชนในช่วงที่ผ่านมา เขาก็คงไม่ยอมแก้ไข รธน.  เพราะเขาไม่ตั้งใจอยากจะแก้ไข รธน.แต่แรกอยู่แล้ว เขาตั้งใจให้ รธน.ฉบับนี้คงอยู่ในระยะยาว เขาตั้งใจจะเป็นรัฐบาลจากผลพวง รธน.นี้สองสมัย เห็นได้จากการออกแบบ รธน. แต่พอมาถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนไม่พอใจ รธน.มีเยอะมากและแสดงออกผ่านการชุมนุม ซึ่งถ้ามีคนออกมาไม่มากเหมือนยุค คสช.เขาก็ไม่ยอมแก้ รธน.แน่นอน แต่พอมาตอนนี้ที่นัดแต่ละครั้งคนมากันเป็นหมื่น ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่พอใจ รธน. เขาต้องการเห็นการแก้ไข การเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น ต้องถือว่าประชาชนได้สร้างอำนาจต่อรองขึ้นมามาก เพราะการที่ประชาชนแสนกว่าคนมาร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขในเวลาแค่หนึ่งเดือนกว่า แสดงให้เห็นถึงกระแสน้ำที่มันแรงมาก ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ก็มองตรงนี้แม้แต่กับพรรคพลังประชารัฐ

            -ประเมินว่าร่างแก้ไข รธน.รายมาตรา เช่นของฝ่ายค้านที่เสนอให้แก้ 272 ปิดสวิตช์อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ หรือแก้มาตรา 279 เพื่อยกเลิกนิรโทษกรรม คสช.จะมีโอกาสผ่านวาระแรกหรือไม่?

            คิดว่าทุกร่างอาจจะผ่านในวาระแรกขั้นรับหลักการ ผมคิดว่าน่าจะเป็นแบบนั้น ก็คาดว่าทุกร่างจะผ่านวาระแรก มันเป็นการวัดความพร้อมของรัฐบาลที่จะเจรจากับประชาชนที่เรียกร้องการแก้ไข รธน. อย่างหากมีการแก้ไข รธน.มาตรา 256 แล้วสุดท้ายมีการไปเขียนในชั้นกรรมาธิการ ออกมาผ่านวาระสองและสาม ให้มี ส.ส.ร.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดโดยตรงจากประชาชน ก็มองว่าคนที่เขาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเขาก็คงยอมรับไม่ได้ นั่นคือการเผชิญหน้ากับประชาชน

            ถ้าหากว่าไม่มีการเห็นชอบร่างแก้ไข รธน.รายมาตรา มีการตีตกหมดเลย การชุมนุมประท้วงก็อาจขยายตัว แล้วมันอาจนำไปสู่การชุมนุมระยะยาวแบบสมัย 14 ตุลาคม 2516 หรือตอนพฤษภาปี 2535 ที่อาจเป็นการชุมนุมใหญ่เลย ก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาอีก จะแก้อย่างไร ผมคิดว่ารัฐบาลก็คงมองเห็นจุดนี้ ถ้าสถานการณ์ไปถึงขนาดนั้น มันจะทำให้การหาทางออกมันไม่สวย

            ผมก็ยังคิดว่าอาจจะมีการให้ผ่านวาระแรกไปทั้งหมดก่อน แล้วก็ค่อยไปคุยเจรจากันในวาระชั้นกรรมาธิการของสองสภา ที่จะเปิดโอกาสให้ประเด็นมันเข้าไปอยู่ในรัฐสภา หากไม่ผ่านวาระแรกทั้งหมดเลย หากเป็นแบบนี้หลังจากประชุมผ่านไปไม่กี่วัน คราวนี้ประชาชนลุกเลย ลุกทั้งประเทศ ผมคิดว่าแบบนั้น

                -เรื่องการแก้ไขหรือยกร่าง รธน. หากมีการตั้ง ส.ส.ร.เกิดขึ้นมา ในส่วนของหมวดหนึ่งกับหมวดสอง ที่เป็นหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ ที่ฝ่ายค้านก็ยังเห็นแตกต่างกัน จุดยืนของไอลอว์เป็นอย่างไร?

            จุดยืนเราคือเราต้องการ รธน.ที่เป็นของประชาชน เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะกำหนดว่า รธน.ของประชาชนควรจะเป็นอย่างไร

            การจะมาห้ามประชาชนว่าให้แก้ไขได้ตรงนี้ แต่อีกบางส่วนมาห้ามแตะ แบบนี้มันไม่มีเหตุผล ใครกำหนดแบบนั้น เท่ากับกำลังทำตัวใหญ่กับประชาชน เป็นการขัดกับหลักประชาธิปไตย เพราะในระบอบประชาธิปไตยประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นได้ทุกประการ

            สมมุติว่าหากกลัวว่าจะมีคนมาแตะต้องเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จุดยืนของไอลอว์คือเรื่องนี้พูดได้ แสดงความเห็นได้ แก้ รธน.ได้ถ้ามันเป็นจุดประสงค์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่อยากจะแก้ ก็ย่อมแก้ได้ มันอยู่ที่ระบอบประชาธิปไตย แต่เราเองไม่ได้มีจุดยืนตรงนี้ เพราะของไอลอว์ก็ไม่ได้เสนอให้แก้ไขหมวดหนึ่งหมวดสอง แต่เราเสนอให้มี ส.ส.ร. ให้มีการร่าง รธน.ที่เป็นของประชาชน แต่ร่าง รธน.ประชาชนจะมาแก้หมวดหนึ่งหมวดสองอย่างไรก็อยู่ที่กระบวนการประชาชนไทย ไม่ใช่เรื่องที่เราเองจะไปกำหนด คือขอให้มีการร่าง รธน.ที่เป็นของประชาชนโดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้ว ส.ส.ร.ก็ฟังเสียงประชาชนทั้งประเทศมาร่าง รธน.

                -การที่มี ส.ส.พลังประชารัฐร่วมกับ ส.ว.เข้าชื่อกันเสนอญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภาส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งหากศาล รธน.วินิจฉัยออกมาว่าการแก้ ม.256 โดยตั้งสภาร่าง รธน.ทำไม่ได้ หากจะทำต้องทำประชามติก่อน หากออกมาแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น?

            ก็จะเกิดวิกฤติการเมืองขึ้นมา เพราะขณะนี้ประชาชนค่อนประเทศต้องการเห็นร่าง รธน.ใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ผมคิดว่าหากให้มีการลงคะแนนเสียงถามประชาชนว่าต้องการเห็นการร่าง รธน.ใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่จะเอาด้วย

            ผมมองว่าหากมีการร่าง รธน.ฉบับใหม่ การทำให้ รธน.ฉบับที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั้งประเทศ ก็ต้องเป็น รธน.ที่มีการประนีประนอมกัน คือต้องไม่ใช่ว่าคนที่มีความเห็นทางหนึ่งได้หมดทุกอย่าง การยกร่าง รธน.ต้องคำนึงถึงความเห็นที่แตกต่างกันบางประเด็น แล้วหาทางออกที่สามารถรับกันได้ทั้งสองฝั่ง อย่างก็อาจมีบางประเด็นที่มีความเห็นไม่เหมือนกัน เช่นเรื่องศาสนาอาจจะเป็นเรื่องหนึ่ง เช่นอาจจะมีกลุ่มที่อาจบอกว่า ต้องการให้บัญญัติไว้ว่าให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ที่จะมีเรื่องนี้ให้เห็นเกือบทุกครั้งเวลามีการร่าง รธน. แต่ก็จะมีหลายกลุ่มไม่เห็นด้วย ก็ต้องมีการหาทางออกที่ดี

            ผมคิดว่าขณะนี้ที่เราเห็นคนเผชิญหน้า ก็เพราะไม่มีเวทีให้คนนั่งคุยกัน การร่าง รธน.จะเปิดเวที คือแทนที่คนจะออกมาชุมนุมบนท้องถนน แล้วยืนกันคนละฟากฝั่งกันแล้วก็มีการตะโกนใส่กัน หากมีการร่าง รธน.ก็จะเปิดเวทีให้คนมาคุยกันได้

            อย่างประเด็น สถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเชื่อลึกๆ ว่าหากได้มานั่งคุยร่วมกัน ฝ่ายเสื้อเหลือง อาจจะพบว่าฝ่ายที่เขาต้องการปฏิรูป เขาไม่ได้ต้องการจะ "ล้มเจ้า" หรือฝ่ายที่เห็นว่าควรจะปฏิรูป เขาจะเข้าใจถึงความศรัทธาของฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีการแก้ไข รธน. แล้วมีไปแตะถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะทำให้มีการหาทางออกที่ได้คุยกันในการหาทางออก

             ผมเชื่อว่าในระบอบประชาธิปไตยหลายอย่างสามารถแก้ไขปัญหาได้ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ แต่การทำก็ไม่ได้ว่าทำง่าย ก็เป็นบทบาทที่ยาก จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องทำให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด เพราะหาก ส.ส.ร.มาจากการแต่งตั้งจะไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน

                จอน-ไอลอว์ กล่าวอีกว่า การร่าง รธน.ฉบับใหม่ไม่ได้คิดว่าทุกอย่างจะราบรื่น เพราะการสร้าง รธน.ขึ้นมาใหม่มันเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่เราอยากจะให้เกิดตอนนี้คือ การกลับไปสู่สถานการณ์ก่อนที่คสช.จะเข้ามารัฐประหาร แต่จริงๆ อยากให้ดีกว่ายุคนั้นด้วยซ้ำไป ผมคิดว่าขณะนี้จะมีใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับข้อเสนอของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมการเมือง แต่เขาก็เปิดประเด็นใหม่มาหลายประเด็นที่น่าถกเถียง และจะเป็นพลังที่จะนำไปสู่การเมืองแบบใหม่

            ผมคิดว่าการโหวตร่าง รธน.ในช่วงสัปดาห์หน้านี้ จะเป็นวาระที่ดีในการส่งสัญญาณต่อประชาชนว่า รัฐสภามีความพร้อมที่จะเห็นมีการร่าง รธน.ฉบับใหม่และพร้อมที่จะฟังประชาชนทุกฝ่าย และจะเป็นทางออกของวิกฤติการเมืองที่น่าจะดีที่สุดในสถานการณ์นี้

                "แต่ถ้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่ผ่านความเห็นชอบการแก้ไข รธน. สถานการณ์ทางการเมืองจะเข้มข้นกว่าที่ผ่านมาอีกเยอะ ซึ่งก็น่าเป็นห่วงเหมือนกันว่าจะกลายเป็นการเผชิญหน้าที่แรงกว่าที่ผ่านมา เพราะถ้าผ่านวาระแรกก็จะทำให้มีการเปิดเวทีพูดคุย มีการหาทางออกที่ดีร่วมกันได้ ก็อยากให้ร่างผ่านวาระแรกก่อน โดยกุญแจที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาตอนนี้ที่ดีก็คือ การให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด"

                เราถามย้ำว่า หาก ส.ว.และพรรคร่วมรัฐบาลยอมให้มีการผ่านการแก้ไข 256 ให้มี ส.ส.ร. แต่เขาต่อรองว่า ส.ส.ร.ให้มาจากส่วนอื่นด้วย ไม่ได้มาจากเลือกตั้งทั้งหมด แบบนี้ยอมได้หรือไม่ จอน-ผู้ก่อตั้งไอลอว์ ตอบกลับมาอย่างหนักแน่นว่า เรื่องแบบนี้มันไม่ใช่เรื่องที่ไอลอว์จะยอมหรือไม่ยอม แต่เป็นเรื่องของประชาชนจะยอมหรือไม่ยอม แต่หากดูจากการชุมนุมและสิ่งที่แกนนำการชุมนุมพูด ก็พบว่าเขาต้องการให้ได้ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด คือหากไม่ได้ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มันก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ที่มันก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาสถานการณ์การเมืองได้ ถ้าไม่ได้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งทั้งหมด มันก็เหมือนบอกว่าคุณมี ส.ส.ร.ได้ แต่ทหารต้องมีส่วนในการกำหนดตัวคนเป็น ส.ส.ร.ด้วยส่วนหนึ่ง แบบนี้มันก็ไม่ได้ต่างจาก รธน.ฉบับปัจจุบัน ที่ให้มีการเลือกตั้งได้ ให้มีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่วุฒิสภาต้องมาจากการแต่งตั้งหมด มันเป็นแนวคิดแบบเดียวกัน คือไม่ยอมปล่อยให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง

                -คิดว่าประชุมรัฐสภาจะมีการเล่นเกมการเมืองหรือไม่ช่วงโหวตวาระแรก?

            อะไรก็เกิดขึ้นได้ โดยทุกอย่างที่จะออกมาคือการสะท้อนท่าทีของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน เช่นหากมี ส.ว.ออกมาเคลื่อนไหว ผมคิดว่าอันนั้นไม่ใช่ ส.ว.โดยปัจเจกบุคคล ผมคิดว่ามันสะท้อนใบสั่งต่อ ส.ว. หรือพรรคการเมืองต่างๆ จะออกมาเล่นอย่างไร มันก็สะท้อนใบสั่งของพรรคการเมืองนั้นๆ

             ทุกอย่างมันจะแสดงออกได้เพียงสองด้าน จะยอมเจรจากับประชาชนหรือจะไม่ยอมเจรจา มันคือคำถามแค่นี้ ถ้ารัฐสภาตีตกร่างแก้ไข รธน.ก็เท่ากับการส่งสัญญาณว่าผู้มีอำนาจไม่พร้อมจะประนีประนอมกับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ถ้ายอมก็คือการบอกว่ามาพูดคุยกันได้. 

                                                                โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

.....................................

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"