นโยบายต่างประเทศของโจ ไบเดน ต่อจีน


เพิ่มเพื่อน    

 นโยบายต่างประเทศของโจ ไบเดน ต่อจีน

 

                บทความนี้นำเสนอแนวนโยบายต่างประเทศของโจ ไบเดน (Joe Biden) ต่อจีน โดยอ้างอิงฐานข้อมูล คำพูดที่ไบเดนเคยกล่าวไว้พร้อมข้อวิพากษ์โดยสังเขปดังนี้

จีน มิตรหรือศัตรู... :

                ถ้ามองจากมุมสหรัฐที่เป็นชาติมหาอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ส่งผลต่อคนอเมริกันมากที่สุด ในช่วงหาเสียงไบเดนใช้คำว่าจีนเป็นคู่แข่งหลักทางยุทธศาสตร์ (main strategic competitor) คำนี้อาจตีความไม่มองจีนในแง่ลบเท่าทรัมป์ที่ประกาศชัดว่าคือ “ปรปักษ์” (enemy) หรืออาจตีความว่าเป็นการ “ใช้ศัพท์อีกคำ” เท่านั้น

                ไบเดนอาจไม่ใช้ถ้อยคำที่ฟังดูดุดันรุนแรง แต่นโยบายที่ทำจริงอาจหนักหน่วงไม่น้อยกว่าทรัมป์ กล่าวว่าจะใช้นโยบายที่ได้ผลยิ่งกว่าสมัยทรัมป์

                ถ้ามองผ่านทฤษฎีความสัมพันธ์ประเทศ รัฐบาลสหรัฐมักเลือกใช้แนวทางสัจนิยม (Realism) เป็นหลัก โลกนี้เป็นโลกแห่งการแข่งขันช่วงชิง ใครดีใครอยู่ ไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียม

                ในสมัยรัฐบาลโอบามาแสดงท่าทีเป็นมิตรกับสหรัฐ เกิดการประชุมสุดยอดผู้นำจีน-สหรัฐที่ลงเอยด้วยความหวานชื่น  ประกาศว่าจะไม่สร้างความขัดแย้งต่อกัน จะไว้ใจกัน ร่วมมือกัน แต่รัฐบาลโอบามานี่แหละที่เริ่มยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชีย (Pivot to Asia) หรือยุทธศาสตร์ปรับสมดุลเอเชียแปซิฟิก (rebalanced strategy in Asia-Pacific) ร้อยละ 60 ของกองเรือรบสหรัฐและเครื่องบินรบมารวมตัวกันที่เอเชียแปซิฟิก

                ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครตต่างใช้ยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน คำถามคือต่างกันอย่างไร (ซึ่งขึ้นกับนโยบายหาเสียง บริบทแต่ละช่วง) คำถามสำคัญกว่านั้นคือถ้าวิธีเดิมไม่ได้ผลต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร การที่จีนยังคงก้าวขึ้นมาเท่ากับว่าต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นกว่าเดิมใช่หรือไม่ รัฐบาลไบเดนต้องตอบโจทย์ข้อนี้เหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ

สัมพันธ์ผ่านหลายประเทศหลายประเด็น :

                นโยบายสำคัญๆ ที่สหรัฐมีต่อจีนหลายเรื่องไม่ใช่ประเด็นระหว่างสหรัฐกับจีนโดยตรง แต่สัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ เรื่องที่รัฐบาลสหรัฐให้ความสำคัญ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างบางประเด็น

            ประการแรก กรณีเกาหลีเหนือ

                ประเด็นเกาหลีเหนือ (คาบสมุทรเกาหลี) เป็นเรื่องเก่าแก่ตั้งแต่ยุคเริ่มสงครามเย็น ทหารอเมริกันรบกับทหารจีนอย่างหนักในสงครามเกาหลี รัฐบาลสหรัฐในสมัยนั้นคิดใช้ระเบิดนิวเคลียร์เพื่อหยุดกองทัพจีน (ไม่กี่ปีหลังใช้กับญี่ปุ่น)

                ปัจจุบันเป็นเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จุดยืนสุดท้ายของรัฐบาลทรัมป์คือเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์แต่ยังไม่สามารถบรรจุหัวรบบนขีปนาวุธข้ามทวีปที่ยิงไกลถึงอเมริกา

                เกาหลีเหนือเป็นประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐทุกชุดต้องรับมือเหมือนภาพยนตร์ที่ฉายเป็นรอบ ต้องชมเชยว่าโดยรวมแล้วรัฐบาลทรัมป์จัดการได้ดี เกิดภาพความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้นำ 2 ประเทศดังปรารถนา ส่วนฉากระหองระแหงเป็นเรื่องปกติช่วยให้มีรสชาติ (มีความขัดแย้งแต่สามารถคลี่คลายระงับไว้) มีหัวข้อใหม่ๆ ให้ดูไม่ซ้ำซากจำเจเกินไป ต่างฝ่ายได้ผลประโยชน์ที่คาดหวัง

            ประการที่ 2 กรณีไต้หวัน

                ไต้หวันเป็นประเด็นเก่าแก่กว่าเกาหลีเหนือ รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนฝ่ายชาตินิยม (ก๊กมินตั๋ง) ที่นำโดยเจียงไคเช็ก (Chiang Kai-shek) ให้อาวุธมากมายเพื่อรบกับคอมมิวนิสต์ เมื่อฝ่ายชาตินิยมถอยมาตั้งหลักที่ไต้หวัน รัฐบาลสหรัฐให้การปกป้องเรื่อยมา เป็นไพ่ใบหนึ่งใช้ต่อรองกับจีน

                กองทัพจีนที่พัฒนาก้าวขึ้นมากระทบไต้หวัน เป็นอีกเวทีที่กองทัพสหรัฐเผชิญหน้ากองทัพจีน มีข่าวให้เกิดภาพร้อนแรงได้ตามต้องการ เพียงแค่จีนซ้อมรบใกล้ไต้หวัน ติดตั้งขีปนาวุธรุ่นใหม่ สหรัฐส่งกองทัพเรือแล่นเข้าใกล้หรือแค่ส่งเครื่องบินรบ 2-3 ลำบินผ่านน่านฟ้าแถวนั้น ขึ้นกับว่ารัฐบาลจีนกับสหรัฐต้องการให้เกิดภาพเหล่านั้นหรือไม่

                ล่าสุด เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นาวิกโยธินสหรัฐเริ่มซ้อมรบกับกองทัพไต้หวัน 4 สัปดาห์ เป็นการกลับมาอีกครั้งหลังหายไป 41 ปี

                ในภาพที่กว้างขึ้น ประเด็นไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของกรณีทะเลจีนใต้และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน

            ประการที่ 3 อินโด-แปซิฟิก

                “รายงานยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific Strategy Report : IPSR) ของกระทรวงกลาโหม 2019 ชี้ว่าจีนคือปรปักษ์กำลังบั่นทอนเสถียรภาพภูมิภาค ขัดขวางการเดินเรือเสรี รายงานยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกใกล้เคียงกับยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียที่สหรัฐทุ่มพลังอำนาจและความสนใจสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เพิ่มเติมคือรวมอนุภูมิภาคอินเดียเข้ามา และเอ่ยจีนในฐานะปรปักษ์อย่างชัดเจน (ผิดกับสมัยโอบามาที่แสดงตัวเป็นมิตร แต่โอบามาคือรัฐบาลชุดแรกที่ส่งกองทัพใหญ่ไปรวมกันที่เอเชียแปซิฟิก)

                ยุทธศาสตร์นี้คือแผนจัดระเบียบภูมิภาคของสหรัฐที่ครอบคลุมทุกมิติ พยายามรักษาความเป็นเจ้า สหรัฐอาจไม่สูญเสียความเป็นเจ้าในย่านนี้แก่จีน เพราะนั่นคือการสูญเสียฐานะมหาอำนาจผู้เป็นเจ้าครองโลก

                รัฐบาลไบเดนคงสานต่อยุทธศาสตร์แม่บทเดิม เพียงแค่ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทล่าสุดหลังใช้มาแล้ว 4 ปี ไบเดนให้ความสำคัญกับการกระชับพันธมิตรสอดคล้องกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เป็นไปได้ว่าความแข็งกร้าวด้วยวาจาจะลดลง แต่จะปิดล้อมจีนมากหรือน้อยกว่าเดิมเป็นเรื่องต้องติดตาม

            ประการที่ 4 กรณีฮ่องกง

            ทั้งๆ ที่ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน เป็นเขตอธิปไตยจีนโดยแท้ ภายใต้การปกครองแบบ “1 ประเทศ 2 ระบบ” เป็นศูนย์กลางการเงินสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ใช้ระบบเศรษฐกิจเสรีที่นานาชาติยอมรับ แต่รัฐบาลทรัมป์เห็นว่าเป็นความชอบธรรมที่จะสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลจีนที่เรียกร้องปกครองตนเอง ยุยงส่งเสริมให้เกลียดชังรัฐบาล  เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนฝ่ายต่อต้านอย่างเปิดเผย ในขณะที่กล่าวห้ามต่างชาติแทรกแซงกิจการภายในของตน เตือนว่าจะตอบโต้อย่างรุนแรง

            การสร้างความแตกเป็นอีกพฤติกรรมของรัฐบาลสหรัฐที่มีมาเนิ่นนาน ใช้หลัก “แบ่งแยกแล้วปกครอง” (divide and rule หรือ divide and conquer) ยุยงส่งเสริมให้คนชาตินั้นแตกแยกกันเอง บั่นทอนให้ประเทศอ่อนแอก่อนแล้วค่อยยึดครอง

                ความจริงแล้วในโลกนี้มีอีกมากที่ละเมิดสิทธิมนุษย์ยิ่งกว่ากรณีฮ่องกง แต่รัฐบาลทรัมป์เลือกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะผูกกับนโยบายต้านจีน รัฐบาลชุดใหม่น่าจะแสดงท่าทีสนับสนุนผู้ประท้วงฮ่องกงต่อไป ทั้งนี้ขึ้นกับว่ารัฐบาลไบเดนต้องการหยิบยกขึ้นมาพูดมากแค่ไหน แรงกดดันจากการเมืองภายในอเมริกา รวมทั้งความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ชุมนุมฮ่องกง

            ประการที่ 5 กรณีอุยกูร์

                เมื่อพูดถึงอุยกูร์ (Uighur) จะเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน รัฐบาลสหรัฐในอดีตจะหยิบยกประเด็นนี้เมื่อต้องการพูดว่าจีนละเมิดสุทธิมนุษยชน ในสมัยทรัมป์ลดความสำคัญเพราะให้ความสำคัญกับ “ตัวเลข” การค้าการลงทุนมากกว่า

                ประธานาธิบดีคนใดที่อยากได้ชื่อว่าเป็นผู้รักประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชนจะเล่นงานจีนเรื่องอุยกูร์ อาจเป็นเหตุได้รับรางวัลโนเบล หรืออย่างน้อยได้บันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นพวกนักสิทธิมนุษยชน

                ไบเดนพูดว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชน ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) พวกอุยกูร์ ประเด็นสิทธิมนุษยชนจะกลับมาอีกครั้ง

                ประการที่ 6 ประเด็นสินค้าจีน

            ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนเป็นประเด็นสำคัญ  ไบเดนชี้ว่าเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติและเอ่ยเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้ายังจำได้เหตุผลหนึ่งที่ทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้าจีน ต่อต้านสินค้าจีนก็ด้วยคำว่าเพื่อ “ความมั่นคงแห่งชาติ”

                ในช่วงหาเสียงไบเดนประกาศชัดว่านโยบายขึ้นภาษีของทรัมป์ไม่ช่วยอะไร หนำซ้ำคือการทำให้ผู้บริโภคอเมริกันเป็นผู้จ่ายภาษีเหล่านั้น ต้องจับตาดูว่าไบเดนจะแก้ปัญหาการค้าการลงทุนกับจีนอย่างไร

                ไม่ว่ารัฐบาลไบเดนจะพูดอย่างไรที่จะทำต่อคือปิดล้อมจีนต่อไป ต่างกันเพียงแสดงตัวชัดหรือไม่ชัด ใช้ถ้อยคำรุนแรงแค่ไหน ใช้วิธีการอะไร ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่อย่างน้อยมีประเด็นสำหรับใช้หาเสียง (สังเกตกรณีขึ้นภาษีสินค้าจีนที่คนอเมริกันเป็นผู้ควักกระเป๋าจ่ายไม่ใช่จีน)  มีเหตุผลที่รัฐบาลต้องทุ่มใช้งบกลาโหมมหาศาลและกระทำการต่างๆ อีกมากมาย ต่อเวลาได้อีก 4 ปีแล้วค่อยว่ากันใหม่.

----------------------

ภาพ : โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดี

เครดิต : https://www.facebook.com/joebiden/photos/a.10150487089926104/10157528129206104/

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"