ฟันจริง พส.ไล่ออก! ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่นพ่วงหัวหน้าฝ่ายงาบเงินคนจน 4 พ.ค.เตรียมถกเรื่องละเมิดเรียกค่าเสียหาย ลั่นเป็นเรื่องทุจริตไม่ใช่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ “ผอ.สมุทรปราการ” หัวร้อนส่งเรื่องถึง “ประยุทธ์-ดีเอสไอ” ไล่เบี้ยอดีตปลัด พม. ชี้เป็นกระบวนการมิจฉาชีพ
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ว่าได้ดำเนินการทางวินัยกรณีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น โดยคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงได้สอบสวนเสร็จเมื่อวันที่ 27 เม.ย. และเตรียมเสนอคณะอนุกรรมการสามัญ (อ.ก.พ.) ประจำกระทรวงพิจารณาโทษไล่ออกจากราชการกับนางพวงพยอม จิตรคง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัด พส. และหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม สังกัดกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวม 2 คน ส่วนศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงได้เริ่มสอบสวนแล้ว คาดว่าจะสรุปรายงานสอบสวนเสนอพิจารณาโทษได้ภายในเดือน พ.ค.นี้
“อ.ก.พ.ประจำกระทรวงจะประชุมวันที่ 4 พ.ค.นี้ โดยมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม.เป็นประธาน จากนั้นจะตั้งคณะกรรมการสอบทางละเมิด เพื่อคำนวณความเสียหายที่ผู้ถูกกล่าวโทษต้องชดใช้ โดยอาจต้องใช้เวลาพิจารณา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” นางนภากล่าว
นางนภาแถลงอีกว่า สำหรับพฤติการณ์การทุจริตของนางพวงพยอมนั้น คือการปลอมแปลงเอกสาร และจ่ายเงินให้กลุ่มเป้าหมายไม่ครบ ซึ่งเป็นเรื่องทุจริตไม่ใช่การไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ส่วนเงินที่ทุจริตไปไหนหรือส่งให้ใครเป็นเงินทอนนั้น ผลสอบไม่ได้ชี้ชัด เพียงระบุถึงชาวบ้านได้เงินไม่ครบ คงต้องรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงชุดใหญ่ที่สอบระดับผู้บริหาร พม. ทั้งนี้ ทั้ง 2 รายได้ถูกพักราชการไปตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ไม่ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการใดๆ ตั้งแต่นั้น และโทษไล่ออกจากราชการก็ทำให้ไม่ได้รับอะไรเลย ส่วนพนักงานราชการอีก 2 คนของศูนย์ขอนแก่นที่ถูกสอบวินัยไม่ร้ายแรง ขณะนี้ผลสอบยังไม่แล้วเสร็จ
อธิบดี พส.แถลงอีกว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ส่งข้อมูลบุคคล ซึ่งถูกตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงให้ พส. 2 ครั้ง จำนวน 35 แห่ง มีผู้ถูกกล่าวหา 156 คน โดยใน 156 คน มีบุคคลที่อยู่ระหว่างดำเนินการทางวินัย 20 คน ส่วนบุคคลที่เหลือ 136 คน จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ พส.ได้ย้ายข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานในปีงบประมาณ 2560 ออกจากพื้นที่ตามข้อมูลที่ ป.ป.ท.จัดส่งให้ครั้งที่ 1 จำนวน 19 คนแล้ว และสั่งตรวจสอบข้อมูลที่ ป.ป.ท.จัดส่งให้เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เพื่อพิจารณาสั่งย้ายข้าราชการออกจากพื้นที่เพิ่มเติม
ส่วนกรณีนางฐณิฎฐา จันทนฤกษ์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.สมุทรปราการ ไปยื่นข้อมูลเปิดโปงการทุจริตเงินสงเคราะห์ให้นายกรัฐมนตรีนั้น นางนภากล่าวว่า ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล เท่าที่ทราบก็เป็นข้อมูลทั่วไป กว้างๆ คงอยากออกมาขยายความผ่านสื่อให้รับรู้และเรียกร้องความเป็นธรรม แต่จริงๆ แล้วก็มีช่องทางเสนอข้อมูลหรือข้อร้องเรียนผ่านกระทรวงและกรมได้อยู่แล้ว
โวใครผิดฟันไม่เลี้ยง
"อยากให้เชื่อมั่นตามที่ พล.อ.อนันตพรย้ำว่า ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ใครถูกก็ว่าไปตามถูก เพราะมีกระบวนการดำเนินการทางกฎหมายที่ชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ ป.ป.ท.พบการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดสิงห์บุรีสูงเกินราคากลางนั้น ได้สอบถามทางโทรศัพท์ไปยังผู้อำนวยการศูนย์สิงห์บุรี ซึ่งได้รับการชี้แจงว่าเป็นการเร่งรัดการจัดซื้อด้วยความจำเป็น โดยได้ให้รายงานถึงเหตุผลที่ต้องจัดซื้อราคาสูงกว่าราคากลาง และทำไมต้องจัดซื้อเร่งด่วน เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา" นางนภากล่าว
ก่อนหน้านี้ ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นางฐณิฎฐาได้ไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.เพื่อให้ลงโทษทั้งทางวินัยและอาญาอดีตปลัด พม.ที่ขณะนี้กำลังถูกตรวจสอบเรื่องทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง
โดยนางฐณิฎฐาระบุว่า การกระทำผิดของอดีตปลัด พม. ไม่ใช่เชิงทุจริตแบบทั่วไป แต่เป็นรูปแบบกระบวนการแก๊งมิจฉาชีพ เช่น กรณีหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีประชาชนที่มีสิทธิ์ได้รับเงิน 2,541 คน แต่ได้รับจัดสรรงบประมาณถึง 23 ล้านบาท และเมื่อโอนเงินและเบิกจ่ายเงินแล้ว ข้าราชการลาออกทันที ซึ่งถือเป็นคดีอาญา เช่นเดียวกับศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.เชียงใหม่ ที่โอนเงินไปให้กลุ่มเครือญาติ ซึ่งในศูนย์ดังกล่าวมีประชากรประมาณ 3 แสนคน แต่เบิกจ่ายเงินถึง 67 ล้านบาท
นางฐณิฎฐากล่าวอีกว่า หลักฐานที่นำมายื่นจะมีการสรุปข้อมูลงบประมาณที่มีการโอนลงไปในแต่ละพื้นที่ และเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรที่ต้องได้รับบริการ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ท.นั้น เริ่มจากปลายทาง จึงอยากให้เริ่มจากต้นทาง เพราะการกระทำลักษณะนี้เป็นลักษณะอาชญากร มีการยักยอกเงินแผ่นดิน ส่วนของ จ.สมุทรปราการที่ถูก ป.ป.ท.ตรวจสอบอยู่นั้น สมุทรปราการมีประชาชน 1.2 ล้านคน ต้องได้งบประมาณเฉลี่ย 7-8 ล้านบาท แต่ได้รับเพียง 7 แสนบาท รวมถึงมีบางประเด็นที่พบว่าผู้ใหญ่บ้านบางคนรับเงินนั้น เนื่องจากมีการแจ้งว่าผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้มีรายได้น้อย แต่เมื่อไปตรวจสอบแล้ว พบว่าบ้านมีฐานะ แต่ได้จ่ายเงินให้คนพิการในพื้นที่จริง ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นการบกพร่องทางเอกสาร ยืนยันว่าไม่อยากแทรกแซงการทำงานของ ป.ป.ท. และการตรวจสอบต่างๆ ได้รายงานผู้ว่าฯ จ.สมุทรปราการแล้วว่าเป็นอย่างไร ยินดีให้ ป.ป.ท.เข้ามาตรวจสอบ
“มีกระบวนการไปกล่าวว่าเขาโกงกันทั้งประเทศ เป็นกระบวนการที่เราฟังแล้วเราไม่อยากจะเปิดเผย คิดว่าการแก้ปัญหาต่างๆ ต้องระเบิดจากข้างใน ที่ดิฉันกล้าออกมาพูดในวันนี้ เพื่อเรียกร้องว่าข้าราชการของดิฉันมีหลายคนที่ดี และปฏิเสธการทำงานแบบนี้ และยอมรับว่าคนที่ปฏิเสธจะได้งบประมาณที่น้อยผิดปกติจนไม่สามารถทำงานได้ ถ้าสิ่งที่ดิฉันพูดเป็นเท็จ ขอให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงบ้าง” นางฐณิฎฐากล่าว
ต่อมานางฐณิฏฐาได้นำหลักฐานพร้อมหนังสือคำร้องยื่นต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอให้สอบสวนการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งของ พม. เป็นคดีพิเศษ โดยระบุในท่วงทำนองเดียวกับที่ไปยื่นหนังสือที่ศูนย์บริการประชาชน โดยเรียกร้องให้ดีเอสไอดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะการดำเนินคดีของ ป.ป.ท.ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้ดำเนินการกับเงินงบประมาณที่สูญเสียไป
“โครงการสงเคราะห์คนยากจนมีมานานกว่า 20 ปี เคยมีการทุจริตแล้วหายไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากอดีตปลัดกระทรวงถูกไล่ออกจากราชการ ก่อนกลับมาทุจริตอีกครั้ง เพราะคนที่ถูกไล่ออกได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่ศูนย์อื่นๆ พร้อมยื่นให้ดีเอสไอเป็นหลักฐาน” นางฐณิฏฐากล่าว
ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ กล่าวภายหลังรับคำร้องว่า จะตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นก่อนเสนอให้ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พิจารณาว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับสอบสวนเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่
โอนเข้าบัญชีโดยตรง
ด้าน น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2561 เป็นต้นไป ส่วนราชการในสังกัดของ พม.จะเริ่มจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ผู้มีสิทธิโดยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนผู้มีสิทธิเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีเพย์เมนต์ภาครัฐ)
สำหรับเงินสงเคราะห์ที่จะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีสิทธิ ประกอบด้วย เงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉินของสำนักงานปลัด พม., เงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง, ค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เพื่อป้องกันเอดส์, เงินทุนประกอบอาชีพ, ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับตัวชาวเขา, เงินอุดหนุนช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ของ พส., เงินช่วยเหลือสตรีหรือครอบครัวที่ประสบปัญหาทางสังคมของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, เงินอุดหนุนสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, เงินสงเคราะห์เด็กครอบครัวยากจน/ขาดแคลน/ฝากเลี้ยงตามบ้านของกรมกิจการเด็กและเยาวชน และเงินที่จ่ายให้แก่ผู้สูงอายุตามความจำเป็นของกรมกิจการผู้สูงอายุ
“การเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินแบบเดิมเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีสิทธิโดยตรง ถือเป็นมาตรการหนึ่งในการดูแลผู้ประสบปัญหาทางสังคมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดความโปร่งใส และลดความซ้ำซ้อน ซึ่งจะทำให้ผู้ประสบปัญหาทางสังคมได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และคาดว่าจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและบรรเทาความเดือดร้อนได้ในระดับหนึ่ง” น.ส.สุทธิรัตน์กล่าว
วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวก่อนเป็นประธานมอบรางวัลการประกวดแผนการจัดการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระดับอาชีวศึกษา และแนวทางการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร ว่า ป.ป.ช.ต้องการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับอาชีวศึกษา ในการทำแผนไม่ทนต่อการทุจริต โดยนำแผนที่นักศึกษาอาชีวะชนะการประกวดมาจัดทำเป็นแนวทางเพื่อกระจายไปยังสถานศึกษาอาชีวะทั่วประเทศ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการ ในการแทรกแนวทางการมีส่วนร่วมป้องกันการทุจริตในหลักสูตร นอกจากนี้ ยังต้องมีการประเมินด้วยว่าแผนดังกล่าวเป็นไปตามที่คาดหมายหรือไม่
พล.อ.บุณยวัจน์ยังกล่าวถึงมาตรการป้องกันและปราบปรามการให้และรับเงินแป๊ะเจี๊ยะโรงเรียน ว่า ป.ป.ช.ได้ออกมาตรการหรือแผนระยะสั้นไปแล้ว ส่วนแผนระยะยาวจะประชุมอนุกรรมการเพื่อจัดเตรียมแผนต่อไป โดยต้องการกำหนดมาตรการในโรงเรียนเพื่อป้องกัน ซึ่งทุกโรงเรียนต้องมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันความเหลื่อมล้ำ เพราะทุกคนล้วนต้องการให้ลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ ดังนั้นจึงต้องทำให้ทุกโรงเรียนมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งวันนี้คนไทยต่างตื่นตัวกับเรื่องดังกล่าวมาก หากมีการร้องเรียนเข้ามา ป.ป.ช.จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบทันที จึงอยากให้คนไทยเปลี่ยนค่านิยมใหม่ ต้องไม่มีการให้แป๊ะเจี๊ยะ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |