"ธรรมนัส" โต้เอื้อนายทุน แจงยิบประกาศ คปก.แก้จนให้เกษตรกร ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ กลั่นกรองอย่างดีจากนัก กม.ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง นายกฯ ยันกระบวนการทุกอย่างต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่ปล่อยให้โกงแน่
จากกรณีที่มีข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ได้ลงนามในประกาศ คปก.เรื่อง รายการกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ประกาศ กำหนดมาตรา 30 วรรค 5 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ส.ป.ก. (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 และ พ.ศ.2563 เพื่ออนุญาตให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อกิจการอื่นๆ ที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีความชัดเจน เกิดมีผลสัมฤทธิ์ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยลงนามในประกาศวันที่ 28 ต.ค.2563 มีผลบังคับใช้ทันที ทำให้เกิดประเด็นที่เป็นข้อกังขาว่าอาจจะเอื้อประโยชน์ให้นายทุน เพราะมีการอนุญาตให้ใช้ที่ ส.ป.ก.ในกิจการอื่น เช่น ปั๊มน้ำมัน อู่ซ่อมรถ ตลาด ร้านค้า ไปรษณีย์ ร้านอาหาร และกิจการแปรรูปผลิตผลเกษตรด้วยนั้น
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิายน ร.อ.ธรรมนัสชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า การออกประกาศ คปก.ฉบับดังกล่าว เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 ที่รัฐพึงกำหนดหลักเกณฑ์ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่และระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และสอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย (มาตรา 258 ค (1)) เนื่องจากที่ผ่านมา การพิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ ของ ส.ป.ก.จังหวัดต่างๆ เกิดความล่าช้า และเกิดการตีความไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เกิดความชะงักงันของผู้ประกอบการ ขาดความชัดเจนของแนวทางการพิจารณารายการกิจการตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สูญเสียโอกาสในการได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการ ทั้งทางด้านการตลาด การสาธิต การสร้างรายได้ การสร้างงาน การบริการขั้นพื้นฐานที่พึงเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่
ทั้งนี้ ประกาศ คปก. ลงวันที่ 28 ต.ค.63 จึงเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 19 ประกาศรายการกิจการ ซึ่งเป็นกิจการที่พิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินภายใต้กรอบของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ คือ ประกาศกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเป็นแนวทางการใช้ดุลยพินิจให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเท่านั้น ส่วนการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ ยังคงต้องอยู่ภายใต้ระเบียบ คปก. และข้อพิจารณาตามที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น ประกาศ คปก.ดังกล่าว จึงไม่ใช่ฐานทางกฎหมายที่จะนำไปสู่การเปิดช่อง หรือเอื้ออำนวยการให้มีการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ไปเพื่อกิจการอื่นที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายปฏิรูปที่ดิน
แก้จนให้เกษตรกร
“ประกาศฉบับนี้ผ่านการกลั่นกรองจากนักกฎหมายของ สปก. ผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อดีตเลขาธิการ สปก.หลายๆ ท่าน และประเด็นสำคัญคือ ประโยชน์สูงสุดคือพี่น้องเกษตรกร อาชีพเกษตรกรผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. เราควรดูแลพวกเขาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มิฉะนั้นพวกเขาก็ไม่สามารถหลุดจากกับดักแห่งความยากจนได้ การตลาดมีความสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ดังนั้นกิจการอื่นที่สนับสนุนอาชีพเกษตรกรจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการผลิต ซึ่งสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้คือสิ่งที่พี่น้องเกษตรกรเรียกร้อง เพราะต้องการให้มีตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานแปรรูปผลผลิตภาคการเกษตร ดังนั้นกิจการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร คำว่าโรงงานแปรรูป หรือโรงงานที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกรจึงมีกฎหมายรองรับ” ร.อ.ธรรมนัสระบุ
รมช.เกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า จากการไปประชุม ครม.สัญจรที่ภูเก็ต ได้รับรายงานจาก สปก. และรับฟังเสียงจากประชาชนผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.ว่า สภาพที่ดินส่วนใหญ่กลายเป็นชุมชนไปกว่า 89% มีโรงแรม 3-5 ดาวกว่า 300 แห่ง เป็นโฮมสเตย์ไม่น้อยกว่า 100 แห่ง ประชาชนในหลายๆ จังหวัดก็มีบริบทไม่ต่างกับภูเก็ต กระบี่ พังงา ฯลฯ ดังนั้นควรมีการแก้ไขระเบียบ คปก.เพื่อยึดคืนหลวงก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป โดยมิให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนดังกล่าว
ด้านนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. เปิดเผยว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ลงนามในประกาศเรื่อง การจัดที่ดินชุมชนในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ ให้มีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดที่ดินในเขตที่ดินชุมชนสำหรับกิจการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกร เพื่อประโยชน์ในการจัดการที่อยู่อาศัยหรือกิจการสาธารณูปโภค หรือกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อให้สอดคล้องและรองรับการพัฒนาของสังคมชนบทสู่สังคมเมือง
ทั้งนี้ได้จำกัดความ “ชุมชนในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” ว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีกลุ่มคนอาศัยอยู่เป็นกลุ่มก้อน ซึ่งมีทั้งเกษตรกรและไม่ใช่เกษตรกร โดยตั้งบ้านเรือนอยู่แล้ว และประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น ร้านค้า ร้านบริการ สถานที่ราชการ เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา พาณิชยกรรม เกษตรอุตสาหกรรม การคมนาคม การขนส่ง การท่องเที่ยว หรือการบริการสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งการเข้าใช้ประโยชน์ต้องได้รับอนุญาตจาก คปก. หากเข้าทำประโยชน์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ต้องทำสัญญา แล้วเก็บค่าตอบแทนหรือค่าเช่าตามที่ คปก.กำหนด
สำหรับประกาศฉบับนี้ลงนามเมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยก่อนหน้านี้ ร.อ.ได้ลงนามในประกาศ คปก. เมื่อวันที่ 28 ต.ค. เรื่องรายการกิจการที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้ข้อกังขาเกิดขึ้นเนื่องจากประกาศ คปก.ทั้ง 2 ฉบับนั้น ลงนามปลายเดือน ต.ค. แต่ไม่มีการเผยแพร่เอกสารให้ตรวจสอบได้ ต่อมา ร.อ.ธรรมนัสให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปประชุม ครม.สัญจร จังหวัดภูเก็ต เมื่อต้นเดือน พ.ย. โดยระบุว่าที่ดิน ส.ป.ก.จังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่มีทิวทัศน์สวยงามและผู้ครอบครองเปิดเป็นรีสอร์ต ร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยว จึงมีนโยบายเก็บค่าเช่าเข้ากองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งจะนำเงินที่ได้ไปพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในที่ดิน ส.ป.ก.ที่อื่นๆ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์ รวมทั้งใช้ส่งเสริมการประกอบอาชีพของเกษตรกรที่ด้อยโอกาสด้วย
"คปก.มีเจตนารมณ์ที่จะจัดระเบียบที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งบางพื้นที่มีชุมชนตั้งอยู่ตั้งแต่กรมป่าไม้มอบที่ดินให้ ส.ป.ก.แล้ว เมื่อติดขัดเพราะไม่มีระเบียบเรื่องกิจการที่เกี่ยวเนื่องชัดเจน ทำให้ดำเนินการยาก ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเอื้อกลุ่มทุน เพราะคำจำกัดความของ “ชุมชน” นั้นกำหนดชัดเจน จากนี้ไปจะกำหนดชุมชนในพื้นที่ ส.ป.ก.ที่มีอยู่เกือบ 10,000 แห่ง ซึ่งไม่ใช่ทุกที่ที่ผู้ครอบครองอย่างผิดวัตถุประสงค์จะได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด" เลขาธิการ สปก.ระบุ
โปร่งใสไม่ปล่อยโกง
ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เรื่องการจัดสรรที่ดินเพื่อให้ประชาชนมีที่ดินทำกินนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรี ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาได้สั่งการให้ ส.ป.ก.เร่งออกเอกสารสิทธิให้เกษตรกร และดำเนินการเรียกคืนที่ดินจากนายทุนเพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกร และเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สำหรับประเด็นความกังวลใจว่าประกาศการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ที่เพิ่งออกมานั้นจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนหรือไม่นั้น นายกฯ ได้กล่าวว่าจะไม่ปล่อยให้มีการทุจริตหรือฉวยโอกาสอย่างแน่นอน และจะติดตามทั้งเรื่องประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการให้สิทธิใช้ที่ดินอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนเข้าใจว่า สาระทั้งหมดของประกาศฉบับใหม่ยังคงยึดหลักประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร โดยต้องดูแลทั้งระบบ ให้ครบต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อให้เกษตรกรหลุดจากความยากจน ส่วนเนื้อหาที่ขยายให้ครอบคลุมกิจการที่เป็นการสนับสนุนและกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นไปตามข้อเรียกร้องของเกษตรกรที่อยากให้อุตสาหกรรมแปรรูปอยู่ใกล้แหล่งผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า อีกทั้งสอดคล้องกับสภาพพื้นที่จริงที่บางส่วนไม่สามารถนำมาทำการเกษตรได้ บางพื้นที่ก็เป็นแหล่งชุมชนไปแล้ว
นอกจากข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีที่ให้กระบวนการทุกอย่างเป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ ในประกาศ ส.ป.ก.ยังกำหนดไว้ชัดเจนว่า การพิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดิน ผู้มีอำนาจคือ คณะกรรมการที่ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค ผู้แทนภาคเอกชนและเกษตรกร โครงการที่เสนอขออนุมัติต้องแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และ ส.ป.ก.จะได้รับ รวมถึงต้องผ่านการทำประชาคมหมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลเสียก่อน ส่วนเรื่องการครอบครองที่ดินโดยผิดกฎหมายที่เป็นคดีความแล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม จึงไม่เกี่ยวกับประกาศฉบับนี้
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประกาศดังกล่าวได้เปลี่ยนมาให้ใช้ประโยชน์ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมหรือหอพัก ย้อนแย้งกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรหรือไม่ว่า เป็นเรื่องของกระทรวงเกษตรฯ ทาง ร.อ.ธรรมนัสดูแลอยู่แล้ว ขอให้เขาประชุมกันก่อน ยังไม่ตกผลึก เพราะต้องร่วมกันหลายกระทรวง และมีกระทรวงมหาดไทยด้วย
ขณะที่ นางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวทำให้สังคมเกิดคำถามว่าการให้ที่ ส.ป.ก.ตั้งโรงงานหรือเช่าพื้นที่ทำรีสอร์ตได้ ขัดกับเจตนารมณ์ในการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งต้องจัดสรรที่ดินเกษตรกรรมให้คนจน คนไร้ที่ดินทำกินหรือไม่ ส่วนการให้เช่าที่ดินไม่มีการกำหนดคุณสมบัติ หรือหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกว่าจะให้สิทธินายทุนหรือคนกลุ่มไหนเข้าไปใช้ประโยชน์ในแต่ละพื้นที่ จึงขอถามรัฐบาลว่าใครคือคนที่ได้ประโยชน์จากประกาศฉบับนี้
"การกระทำครั้งนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่จริงใจแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ยิ่งในวิกฤติทั้งจากโรคระบาดและการบริหารที่ผิดพลาดมาตลอด 6 ปี ที่ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่และเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขก่อน แต่การกระทำกลับสวนทาง เพราะยังเดินหน้าสร้างกลุ่มผลประโยชน์และต่างตอบแทนกันในหลายวาระ จนทำให้ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มนายทุนและเครือข่ายของรัฐบาลนี้ยิ่งทวีมีแต่ความมั่นคง แต่ที่จนลงคือประชาชน ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำจนขยายเพิ่มมากขึ้น" โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |