"บิ๊กป้อม" ยันรัฐบาลฟังเสียงผู้ชุมนุมอยู่แล้ว "โฆษก รบ." ขอม็อบเสนอความเห็นสร้างสรรค์แก้ ศก. อย่ามุ่งการเมืองเรื่องเดียว "ตำรวจ" ขนกำลัง 34 กองร้อยรับมือ 3 นิ้วชุมนุม 14 พ.ย.นี้ วอนเคารพกฎหมาย ยันไม่ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มนักเรียนเลว
ความเคลื่อนไหวการนัดชุมนุมในวันเสาร์ที่ 14 พ.ย.2563 ซึ่งจะจัดขึ้น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรก กลุ่มนักเรียนเลว บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ, กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้หญิงปลดแอก จัดงานที่บริเวณแยกคอกวัว และกลุ่มที่ 3 กลุ่มม็อบเฟสติวัล จัดกิจกรรมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หน้าร้านแมคโดนัลด์ โดยมีการโพสต์จดหมายเชิญคณะรัฐมนตรี (ครม.), สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมฟังการชุมนุมนั้น
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเชิญ ครม.ไปร่วมฟังการชุมนุม ก็คงต้องแล้วแต่ ครม.จะส่งตัวแทนไปหรือไม่ ส.ส.ก็เช่นเดียวกัน
"จะไปฟังเรื่องอะไร ก็ฟังอยู่แล้ว ผมส่งพวกคุณไปดูแล้วกัน”พล.อ.ประวิตรกล่าว
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า รัฐบาลอยากจะเชิญชวนประชาชนที่เห็นต่างช่วยเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในเรื่องเศรษฐกิจเข้ามา เพราะขณะนี้มีการออกมาชุมนุมกันมาก ก็อยากให้เสนอแนวคิดทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศผ่านวิกฤติเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่แค่แสดงความเห็นต่างทางการเมืองเท่านั้น
นายอนุชากล่าวว่า เรื่องนี้มีกลไกรัฐสภาดำเนินการอยู่ และในที่ประชุมอาเซียนประเทศต่างๆ หาวิถีก้าวข้ามแก้วิกฤติโควิดเป็นหลัก แต่ของไทยมีประเด็นการเมืองเข้ามาด้วย จึงคิดว่าถ้ามาพูดคุยกันตามระบบต่างๆ ที่มีเช่นในเวทีรัฐสภา ก็จะก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ นอกจากนี้ยังเห็นว่าในโลกออนไลน์มีการปล่อยข้อมูลเฟกนิวส์กันเยอะ หรือแม้แต่ในการชุมนุมต่างๆ ก็มีการพูดที่คำนึงถึงประเพณีที่ดีของไทย
"อยากให้มีการพูดคุยเพื่อก้าวข้ามผ่านวิกฤติด้วยการเจรจาหาทางออก ขอให้ผู้ชุมนุมแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะไปกระทบกับเศรษฐกิจและประชาชนจำนวนมากที่เขาพยายามประคองครอบครัวให้ผ่านพ้นวิกฤติช่วงนี้ไป" นายอนุชากล่าว
ถามว่า ช่องทางในการสื่อสารที่จะให้ผู้ชุมนุมเสนอความคิดเห็นอย่างไรบ้าง โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ทุกวันนี้สิ่งที่ผู้ชุมนุมพูดก็มีการเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชน ทุกหน่วยงานมีการวิเคราะห์ข่าวกันอยู่แล้ว ผู้ชุมนุมถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ถ้ามีข้อเรียกร้องอะไรนอกเหนือประเด็นการเมือง จะถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
"สำนักโฆษกฯ ยังมีแนวคิดเดินสายไปพบกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มนักเรียน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเกษตรกร เพื่อรับฟังความคิดเห็นมาช่วยเหลือประชาชนด้วย แต่การดำเนินการจะมีขึ้นหลังวันที่ 20 ธ.ค. เมื่อเลือกตั้ง อบจ.ผ่านไปแล้ว" โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าว
ขณะที่ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รอง ผบช.น.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงการเตรียมความพร้อมในการดูและรักษาความปลอดภัยการชุมนุมในวันที่ 14 พ.ย.
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า บช.น.ได้จัดผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ แบ่งออกเป็น 3 โซนใหญ่ๆ โซนที่ 1 ถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่บริเวณแยกพระบรมรูปทรงม้า, แยก จปร., แยกมัฆวานฯ ไปจนถึงแยกผ่านฟ้าฯ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณแยกคอกวัวและใกล้เคียง เป็นเขตพื้นที่ของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 เป็นหน้าที่ของ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รักษาการ ผบก.น.1, โซนที่ 2 เป็นพื้นที่สำคัญ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และบริเวณโดยรอบไปจนถึง ถนนราชดำเนินและสนามหลวง เป็นพื้นที่รับผิดชอบของ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 และยังมีอีก 1 ชุดในการแก้ไขปัญหากรณีมีผู้ชุมนุมออกนอกพื้นที่ที่ได้พูดคุยกันไว้ หรือจัดการชุมนุมในที่อื่น จะมีชุดเคลื่อนที่เร็วของ พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปะชัย รอง ผบช.น.ดูแลในภาพรวม
ส่วน พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า ในนามของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝากไปยังประชาชนหรือกลุ่มผู้ชุมนุมว่า การชุมนุมเป็นสิทธิ์ของทุกท่าน เพียงแต่ต้องมีการศึกษาข้อกฎหมายให้ดี มีสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทางกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น การแจ้งการชุมนุม การชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ ชุมนุมด้วยความสงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ในการดูแลความรักษาสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้น ทำตามกฎหมายทั้งกรอบนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์
ถามว่าจะต้องมีการวางสิ่งกีดขวางเพื่อป้องกันผู้ชุมนุมหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ชั้นต้นยังไม่มีการวางสิ่งกีดขวางในเส้นทางจราจร แต่มีบางจุดที่ต้องวางแนวของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเตือนกลุ่มผู้ชุมนุม เบื้องต้นใน 3 กลุ่มที่จะจัดกิจกรรม มีเพียงกลุ่มเดียว คือกลุ่มม็อบเฟสติวัล ที่แจ้งการชุมนุม ส่วนการจัดกิจกรรมของกลุ่มนักเรียนเลว เรายึดถือสิทธิเสรีภาพ ส่วนมาตรการดูแลเยาวชน ก็ต้องใช้ตาม ป.วิฯ เด็ก จะไม่ใช้มาตรการความรุนแรง
ซักว่าถ้าเกิดความวุ่นวายจะใช้น้ำฉีดใส่กลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนกฎหมาย และต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของผู้ชุมนุม ถ้าชุมนุมโดยปราศจากความรุนแรงก็ไม่มีอะไร แต่ถ้ามีการใช้ความรุนแรงเราก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเบื้องต้นใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด 34 กองร้อย
รอง ผบช.น.กล่าวว่า ในส่วนการดำเนินคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นแบ่งเป็น 2 คดีหลักๆ คดีแรก เป็นคดีที่ สน.สําราญราษฎร์ เป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ต้องหาหรือผู้ที่มีส่วนที่จะต้องดำเนินคดี 24 ราย ส่วนคดีที่ 2 จะเป็นคดีของ สน.ชนะสงคราม เป็น พ.ร.บ.ความสะอาด ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานเขตพระนครได้มาดำเนินการร้องทุกข์เรียบร้อยแล้ว ปรากฏตัวพิสูจน์ทราบประมาณ 3 คน คือคนที่นำกล่องไปรษณีย์มาในวันนั้น
"เอกสารภายในตู้ตอนนี้อยู่ระหว่างพิสูจน์ทราบคดี พ.ร.บ.ความสะอาด ของ สน.ชนะสงครามให้เสร็จสิ้น พยานหลักฐานต่างๆ ที่เป็นวัตถุจะถูกส่งไปยัง สน.สำราษราษฎร์ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบคดี ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะอีกส่วนหนึ่ง" รอง ผบช.น.กล่าว
ถามถึงกรณีสหภาพแรงงาน ขสมก.ไม่เห็นด้วยที่ตำรวจนำรถเมล์มาขวางการชุมนุมและจะฟ้องร้อง พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการหารือกับผู้แทน ขสมก.เรียบร้อยแล้ว จริงๆ แล้วการดำเนินการต่างๆ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเป็นพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด อย่างเช่นปี 51 มีการปิดสนามบิน มีการฟ้องเรียกค่าเสียหาย 522 ล้าน ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งหมดชดใช้ และอีกคดี การวางเพลิงเผาทรัพย์อาคารพาณิชย์แยกราชปรารภ ฟ้องทั้งหมด 13 ราย ศาลพิพากษาให้แกนนำ 3 รายชดใช้
"ฉะนั้น ขสมก.ไม่ต้องห่วง ไม่ว่า ขสมก.จะวิ่งหรือตำรวจนำมาใช้ในราชการ ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดมาทำให้เสียหาย ผู้กระทำต้องรับผิดชอบทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา เพราะการที่จะนำรถเมล์มาใช้ มีการประสานและหารือร่วมกันถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ" พล.ต.ต.ปิยะกล่าว
ถามถึงกรณีล้อมรถที่คาดว่าเป็นรถของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ตำรวจมีแนวทางดำเนินการอย่างไร พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า จะเป็นเรื่องเข้าใจผิดหรือไม่ แต่หลักการแล้วการที่จะไปล้อมรถในลักษณะนั้น ถ้ามีความเสียหายกับตัวรถก็ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ถ้ามีการใช้คำพูดด่าทอเข้าข่ายหมิ่นประมาท ถ้ามีการแจ้งความตำรวจก็ดำเนินการไปตามหน้าที่
วันเดียวกัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก เขต 1 จัดอบรมเสริมสร้างพลังแผ่นดินภูมิภาคพิษณุโลก ของการจัดอบรมเสริมสร้างพลังแผ่นดิน : ภูมิพิษณุโลก ให้แก่นักเรียนกว่า 3,000 คน ศึกษา มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์กับประเทศไทย เพื่อสร้างความรักความสามัคคีต่อผืนแผ่นดินไทย การสร้างการรับรู้และความตระหนัก และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |