"ชวน" เผยรูปแบบการตั้ง กก.สมานฉันท์ยังไม่สะเด็ดน้ำ อ้าแขนรับฝ่ายค้าน ยอมรับที่ผ่านมาทำดีแต่ไม่มีผล ต้องเน้นหานักปฏิบัติด้วย "จุรินทร์" ชี้ยื่นตีความร่าง รธน.ต้องทำหลังผ่านวาระ 3 แล้ว "อนุทิน" ย้ำ ภท.ตัดสินใจรอยกมือโหวตแก้ ม.256 พท.จับตาทฤษฎีสมคบคิด วงเสวนาเห็นพ้องหนุนโหวตรับร่าง รธน.ทั้ง 7 ฉบับ "มาร์ค" กระตุก "ประยุทธ์" ปลดล็อกกลางสภาคลี่คลายความขัดแย้ง "หญิงหน่อย" ชูบันได 3 ขั้นหาทางออก "ก้าวไกล" จี้สภากล้าหาญแก้วิกฤติ ระบุปล่อยม็อบล้อมสภาดีกว่าปล่อยไปล้อมที่อื่น
เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า จากการประชุมร่วมกัน 4 ฝ่ายที่ผ่านมา ได้หารือกันในเรื่องนี้ว่ารูปแบบที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอมา 2 รูปแบบนั้น เดิมเราเล็งผลว่าอยากได้คณะกรรมการ 7 ฝ่าย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าคิดว่าคงทำทีเดียวไม่ได้ จึงคิดว่าถ้ารวมได้กี่ฝ่ายก็ให้ดำเนินการไปก่อน ซึ่งได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบแล้ว เพื่อขอให้นำเรื่องนี้ไปพิจารณาในสัปดาห์หน้า ว่าคณะกรรมการที่ต้องมา 7 ฝ่าย ถ้าได้กี่ฝ่ายแล้วก็ต้องคุยกันว่าแต่ละฝ่ายควรมีกี่คน ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเข้ามาร่วม ส่วนตัวจะหารือว่าควรจะเชิญใครมาร่วมด้วย
"คิดว่าควรมีแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต บางเรื่องอาจจะป้องกันล่วงหน้าไม่ได้ เช่น ความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่บางเรื่องสามารถป้องกันล่วงหน้า เช่น ปัญหาที่อาจเกิดจากการกระทำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างกรณีปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรารู้ถึงต้นเหตุของปัญหา หรือความขัดแย้งที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติที่เป็นผลมาจากนโยบายและพฤติกรรมการกระทำของบางฝ่าย"
นายชวนกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ศึกษาคณะกรรมการหลายชุด พบว่าทำงานดีแต่ไม่มีผล เพราะเชี่ยวชาญด้านทฤษฎี ทำให้ต้องเน้นภาคปฏิบัติด้วย หลายคนที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอชื่อมานั้นพบว่าหลายคนเคยทำงานด้านนี้มาแล้วหลายครั้ง ทำมาดีแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจำเป็นต้องเอานักปฏิบัติมาร่วมด้วย
เมื่อถามถึงท่าทีของฝ่ายค้านที่ยังไม่เห็นด้วยกับรูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์ นายชวนกล่าวว่า ส่วนตัวบอกไปแล้วตรงๆ ว่าการเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหานั้นไม่เคยห้าม แม้ว่าจะเคยขับไล่นายกฯ เพราะตรงนี้เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความปรองดอง โดยไม่ต้องการให้ลดการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ส่วนการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมยังไม่ได้ทาบทามอย่างเป็นทางการ แต่มีหลายชื่อที่สถาบันพระปกเกล้า และ นพ.ประเวศ วะสี เสนอ เข้ามา มีหลายคนที่ชื่อตรงกัน เราคิดว่าควรมีคนในภาคปฏิบัติเข้ามาทำงานด้วย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ที่จะมีอดีตนายกฯ ร่วมแก้ปัญหาด้วยว่า ต้องสอบถามนายชวน ซึ่งเท่าที่ทราบท่านได้พูดคุยกับอดีตนายกฯ หลายคนเพื่อสอบถามความคิดเห็นของแต่ละคน ซึ่งคงกำลังพิจารณารูปแบบที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอ ส่วนการพูดคุยกับนายชวน เป็นการหารือเบื้องต้น ยังไม่มีการชวนให้เข้าร่วมเป็นกรรมการ ตนได้ให้ความเห็นไปแล้วว่าตัวกรรมการจะเอาทุกฝ่ายเข้าร่วมคงไม่ง่าย หากกรรมการจะมีส่วนแก้ปัญหาในปัจจุบันได้ ก็จำเป็นจะต้องพิจารณาข้อเรียกร้องให้ครบถ้วน และให้ความมั่นในว่ากลไกนี้จะสามารถส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือมีข้อสรุปในเชิงปฏิบัติได้ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะให้ผู้ชุมนุมมาร่วม หากบางเรื่องที่เขาเรียกร้องแล้วไม่ให้เขาแสดงความเห็น หรือเขาเห็นว่ากลไกนี้ทำงานแล้วไม่มีประโยชน์อะไร จึงเป็นภาระหนักของนายชวนว่าจะทำอย่างไร
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ตนรวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ต้องการเห็นคณะกรรมการสมานฉันท์เกิดขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นทางออกทางหนึ่งของประเทศที่เป็นรูปธรรมที่สุดเท่าที่คิดได้ในเวลานี้ และจะมีส่วนช่วยที่จะทำให้คนไทยทั้งประเทศได้เห็นว่ารัฐสภายังเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ไม่จำเป็นต้องหันไปหาระบบอื่น อันนี้คือหัวใจและเหตุผลสำคัญ และท่านประธานรัฐสภาก็เห็นด้วย ขณะนี้สถาบันพระปกเกล้าเสนอมา 2 รูปแบบ สำหรับ กก.สมานฉันท์ 7 ฝ่าย ไม่อยากให้กังวล และอยากให้ทุกฝ่ายเข้าร่วม เพราะว่าคณะกรรมการชุดนี้โดยเจตนารมณ์ที่ตนเสนอนั้น ไม่ใช่การลงมติในแต่ละประเด็นแล้วใช้เสียงข้างมากบังคับเสียงข้างน้อยให้ยอมตาม
"ปชป.-ภท."เดินหน้าโหวตแก้รธน.
"แต่เจตนารมณ์คือต้องการให้ทั้ง 7 ฝ่ายหรือ 8 ฝ่ายก็แล้วแต่ ไปแสวงหาความเห็นพ้อง แปลว่าไปแสวงหาความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ หรือที่เรียกว่าฉันทามติ ถ้ามี 7 ฝ่าย ก็แปลว่าต้อง 7:0 ไม่ใช่ 6:1 ไม่ใช่ 5:2 หรือ 4:3 ถ้าอย่างนั้นก็ไม่จำเป็นต้องทำ เพราะถือว่าไม่เห็นพ้อง ไม่เป็นฉันทามติหรือเอกฉันท์ เช่น สมมติว่าถกกันเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เห็นตรงกันแล้ว 7:0 ว่าจะต้องไปแก้ ห้ามโยกโย้ ควรจะดำเนินการโดยเร็วอย่างไร อะไรที่ถ้ายังเห็นไม่ตรงกันก็จับเข่าคุยกันต่อไป หรืออะไรที่สุดท้ายแล้วไม่ตรงกันจริงๆ ก็อาจจะขึ้นบัญชียกยอดไปให้คณะกรรมการชุดที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ระยะกลาง ระยะยาว ได้พิจารณาต่อไปอีกก็ได้"
นายจุรินทร์กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญที่จะมีการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ว่า พรรค ปชป.ชัดเจนแล้วว่าเราสนับสนุนร่างของพรรคร่วมรัฐบาลและร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน แล้วก็มีความเห็นว่าไม่ควรจะมีอุปสรรคอะไรที่จะมาทำให้การพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดต่อไปอีก รัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นั้น การทำ ประชามติจะต้องไปทำหลังจากผ่านที่ประชุมร่วมวาระที่ 3 แล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะทำ ก็ต้องไปทำตรงนั้น จะมาทำก่อนด้วยหลังด้วย ก็จะกลายเป็นถูกข้อหาว่าถ่วงเวลาแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่จำเป็น
ส่วนการตรวจสอบว่าร่างของรัฐบาลกับร่างของฝ่ายค้าน และอีก 2-3 ร่างที่ได้มีการยื่นเรื่องให้ประธานรัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายจุรินทร์กล่าวว่า โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 256 หรือมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระบุไว้ชัดอยู่แล้วว่าการตรวจสอบสามารถทำได้ แต่ให้ไปทำหลังจากผ่านวาระ 3 และก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเช่นกัน ซึ่งมีขั้นตอนกระบวนการ เวลาของมันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องมาทำเดี๋ยวนี้ แต่ก็เป็นสิทธิ์ ถ้าหากว่าใครจะยื่นไป แต่ก็อาจจะทำให้โดนข้อหาว่าตั้งใจจะถ่วงเวลาแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่โดยไม่จำเป็นได้เช่นกัน
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย? (ภท.)? กล่าวถึงท่าทีของ? ภท.ต่อการลงมติในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ หลังจากที่ ส.ว.และส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)? จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรค ภท.ก็ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราเสนอพร้อมกับรัฐบาลอยู่แล้ว แต่มาตรา 1 มาตรา 2 ไม่แตะ ส่วน มาตรา? 256? เอา สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ? (ส.ส.ร.)? เอา ซึ่งการมีส.ส.ร.นั้น คือการเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ ส.ว., ส.ส. ของ? พปชร. ยื่นศาลตีความเช่นนี้เป็นการเล่นเกมหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เราไม่พูดถึงคนอื่น พูดถึงพรรคเราคนเดียว ภท.ไม่เกี่ยว? ไม่ได้ไปลงชื่อด้วย ภท.รอโหวตอย่างเดียว ยืนยัน? ภท.แก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าใครจะศึกษาอะไรเราก็โหวตตามนี้ เราตัดสินใจไปเรียบร้อยแล้ว ?ส.ส.ของพรรคทุกคนแถลงยืนไว้หมดแล้ว ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน เพราะเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน ต้องเป็นของประชาชน ฟังเสียงประชาชน จะได้ไม่ต้องมีการตีความอะไรกันอีก
ถามว่า? ภท.จะลงมติไปในแนวทางเดียวกันหมดใช่หรือไม่? นายอนุทินกล่าวว่า "พรรคภูมิใจไทยเราม้วนหางไปพร้อมกัน เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปพร้อมกัน ทั้งนี้ ไม่ต้องแจ้งนายกฯ เพราะเราแถลงจุดยืนต่อหน้าสาธารณชน ต่อหน้าประชาชนไปแล้ว
นายสมบูรณ์? อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า หลังจากที่ครบกำหนดของการตรวจสอบรายชื่อประชาชนที่ลงชื่อสนับสนุนการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับกลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอวอล์) ล่าสุดมีจำนวนผู้ที่คัดค้านและถอนชื่อสนับสนุนจำนวน 783 รายชื่อ ทำให้มียอดคงเหลือจำนวน 98,041 ชื่อ ซึ่งครบเกณฑ์ที่เป็นเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่าด้วยการเข้าชื่อประชาชน เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ ทั้งนี้ ในกระบวนการจะเสนอให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา บรรจุญัตติไว้ในระเบียบวาระ และให้รัฐสภาพิจารณาในวันที่ 17 พ.ย.
ลงมติรวดเดียว 7 ฉบับ
นายสมบูรณ์กล่าวด้วยว่า สำหรับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 17 พ.ย. ลำดับแรกจะพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. เป็นประธาน กมธ.? จากนั้นจะให้ที่ประชุมได้พิจารณาเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยให้ตัวแทนผู้เสนอร่างแก้ไขที่แจ้งชื่อแล้ว ทั้งนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์ และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ นำเสนอ และให้สมาชิกรัฐสภาซักถาม จากนั้นจึงจะให้ลงมติ โดยเป็นการลงพร้อมกันกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เหลือ 6 ฉบับ ทั้งนี้ เพื่อประหยัดเวลา จะให้สมาชิกรัฐสภาลงมติรวดเดียว 7 ฉบับ กล่าวคือเมื่อขานชื่อสมาชิกรัฐสภาให้ลงมติ จะกระทำรอบเดียว
นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดว่า วิปพรรคเพื่อไทย (พท.) และวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะประชุมร่วมกันในวันจันทร์ที่ 16 พ.ย.นี้ เพื่อกำหนดแนวทางและพูดคุยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะโหวตอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ร่างของไอลอว์ก็ยังต้องคุยกันให้ชัดเจนว่าจะพิจารณากันอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่าทั้ง 6 ร่าง เรารับทั้ง 6 ร่างอยู่แล้ว ตั้งใจจะรับทั้งหมด เพียงแต่ต้องดูหลักการนิดหน่อยว่าตรงกับหลักการของเราหรือไม่
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีการประชุมรัฐสภา 17-18 พ.ย. จะถือเป็นบทพิสูจน์และทดสอบว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตลอดระเวลาเกือบ 7 ปี ของการอยู่ในอำนาจ ประชาชนเคลือบแคลงกังขาต่อความจริงใจในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ตลอดมา ประชาชนตั้งคำถามทฤษฎีสมคบคิด เป็นกลยุทธ์ในการเตะถ่วง ซื้อเวลาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ยาวนานออกไป รวมถึงการร่วมการลงชื่อและเสนอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคฝ่ายค้าน และเสนอโดยประชาชน ขัดรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ตั้ง ส.ว.มากับมือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ การบอกว่าเป็นเรื่องของสภา รัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง ประชาชนตัดสินได้ว่าทฤษฎีสมคบคิดยังคงดำรงอยู่หรือไม่ โอกาสสุดท้ายที่ พล.อ.ประยุทธ์จะแสดงความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยจะทำหน้าที่พี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด
ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาที่สาม จัดเวทีสาธารณะเสวนาทางวิชาการ "บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย" โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานก่อตั้งสถาบันสร้างไทย, นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และนายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานครป. ร่วมเสวนา
โดยนายพิชายกล่าวว่า จุดชี้ขาดอนาคตประเทศคือ ส.ว. ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อไปดูพื้นฐาน ส.ว.ทั้ง 250 คน ถือเป็นตัวแทนกลุ่มชนชั้นนำ ผู้มีอำนาจ ที่มีอภิสิทธิ์ชนอย่างสูง ไม่ใช่ตัวแทนประชาชน ซึ่งความคิดคือต้องรักษาอำนาจเดิมไว้ให้ยาวนานที่สุด ปกป้องวัฒนธรรมอุปถัมภ์ ปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ถ้าส.ว.ตัดสินใจที่จะยื้อหรือหยุดยั้งแก้รัฐธรรมนูญ อาจทำให้ความน่าเชื่อถือในสังคมลดทอนไปอีก เพราะถ้าทำเช่นนั้น อาจถูกมองว่า ต้องการทำเพื่อความต้องการตนเอง ไม่ได้มองความต้องการสังคม อาจทำให้สังคมขัดแย้งบานปลายยิ่งขึ้น ดังนั้นทุกสิ่งที่ ส.ว.จะกระทำ เป็นสิ่งที่จะถูกตัดสินในอนาคต
จี้"บิ๊กตู่"ผ่านร่างรธน.
ด้านนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพราะมีปัญหาทั้งความอ่อนแอในการปราบการทุจริตและความอ่อนแอในประชาธิปไตย โดยเฉพาะอำนาจ ส.ว.มากขึ้น จนกลายเป็นความขัดแย้งเสียเอง แต่ปัญหายังมีทางออกคือ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือต้องให้รัฐสภามีฉันทามติว่าควรมีกติกาสากลที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ถ้ายังปล่อยให้มีการชุมนุมกันต่อไป วันหนึ่งก็จบที่การใช้ความรุนแรง 2.ต้องหาเวทีพื้นที่ในการเจรจากัน 3.ทางออกนี้สังคมไทยถนัดคือมั่วๆ กันไปในวังวนเดิม ซึ่งทางออกต้องดูวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ถ้า ส.ว.เลือกที่จะปฏิเสธแก้รัฐธรรมนูญ บอกได้เลยว่าเส้นทางการนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งแทบจะไม่เหลือแล้ว การจะทำให้คลี่คลายได้จะต้องมีการรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ข้อห่วงใยเรื่องหมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าเรากังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปกระทบเรื่องเหล่านี้ ควรไปพูดคุยกันด้วยเหตุผลในรัฐสภา และกำหนดเป็นข้อตกลงว่ายังต้องคงไว้ซึ่งความเป็นรัฐเดี่ยวและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อเปิดพื้นที่ให้เอาเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนไปคุยกันได้อย่างมีเหตุมีผล เพื่อไม่ให้มีการใช้ถ้อยคำไปกระทบความรู้สึกต่อกัน ต้องยกเรื่องสถาบันออกมาก่อน
“ถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยากให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับผ่าน ท่านทำให้ผ่านได้ง่ายนิดเดียว บอกในสภา 7 ฉบับเป็นทางออกของประเทศที่จะมาพูดคุยกัน แล้วให้ไปแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ เปิดเวทีพูดคุยกัน ถ้าไม่ทำอย่างนี้ บ้านเมืองจะขัดแย้ง เราจะบริหารประเทศไม่ได้ เป็นข้อเสนอ วันจันทร์ วันอังคาร ที่จะเป็นโอกาส ไม่ให้มีการปิดทางนำไปสู่ความขัดแย้งหรือเป็นการซื้อเวลา แต่เป็นโอกาสที่จะใช้เวทีแก้ปัญหาด้วยเหตุและผล ถ้าทำได้ ปัญหาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาพูดด้วยเหตุและผลจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นช่องทางที่จะนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกันในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า 19 ปีที่ผ่านมาวิกฤติประเทศไม่ได้ซับซ้อน ขัดแย้งรุนแรงเท่าครั้งนี้ เราเสี่ยงไม่ได้ที่จะให้เกิดความสูญเสียหรือการใช้กำลัง หรือจะไปแบบมั่วๆ ไป สุดท้ายก็อาจลงท้ายด้วยการใช้อำนาจด้วยการรัฐประหาร การที่นายกฯ บอกว่ายังลาออกไม่ได้ และบอกว่าไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ก็เป็นความผิดมหันต์ที่นายกฯ ไม่เข้าใจ ท่านเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งมาจากการเขียนรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ จนเกิดปัญหาติดกับตัวเอง วันที่ 17-18 พ.ย. ยังไม่รู้จะโหวตอย่างไร รับอย่างไร แต่ได้ยินข่าวมาว่าจะรับเพียงบางร่าง ส่วนตัวเห็นด้วยกับนายอภิสิทธิ์ว่าต้องรับร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง แล้วค่อยไปแปรญัตติในสภาในวันดังกล่าว คงเป็นวันสุดท้ายในการพิสูจน์ความจริงใจของนายกฯ
คุณหญิงสุดารัตน์ได้เสนอบันได 3 ขั้น สู่ทางออกประเทศไทย บันไดขั้นที่ 1 ตั้งคณะกรรมการเพื่อการแสวงหาทางออกประเทศไทย โดยมีกฎหมายรองรับ มีการกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน เช่นต้องจบภายใน 3-5 เดือน มีองค์ประกอบและมีส่วนร่วมที่หลากหลายที่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง และต้องมีผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะนักเรียน นิสิตนักศึกษาร่วมนั่งเป็นกรรมการ อาศัยกลไก กระบวนการยุติธรรมในช่วงเปลี่ยน เป็นแนวทางในการดำเนินงาน นั่นคือเป็นเวทีและพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย ต้องยุติการดำเนินคดีไว้ก่อน ปล่อยตัวผู้ชุมนุม ยกเลิกการตั้งข้อหาเพื่อกลั่นแกล้ง ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อกัน จึงประมวลมติความเห็นจากการพูดคุยของคณะกรรมการฯ เพื่อนำข้อเสนอที่เห็นพ้องไปสู่การปฏิบัติจริง
จี้สภากล้าหาญแก้วิกฤติ
บันไดขั้นที่ 2 แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการเร่งด่วนนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จึงจำเป็นต้องเร่งผ่านร่างแก้ไข รธน.ทั้งร่างที่เสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน พรรครัฐบาล และร่างของภาคประชาชนที่ผ่าน ILaw มาพิจารณาให้แล้วเสร็จ ทั้ง 3 วาระภายในต้นเดือนธันวาคม เร่งให้มีการเลือก ส.ส.ร. เพื่อให้เป็นตัวแทนประชาชนไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน
บันไดขั้นที่ 3 นายกฯ ประยุทธ์ต้องลาออกหลังสภาผ่านร่างแก้ไข รธน.ในต้นเดือนธันวาคม เพื่อเปิดทางให้สภาผู้แทนราษฎรได้เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยมีรัฐบาลใหม่ ทำหน้าที่สนับสนุนให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน ต่อจากนั้นต้องเร่งคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ ไม่เกินปลายปี 2564 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะนำไปสู่โอกาสในการออกแบบประเทศไทย
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวว่า วันที่ 17-18 พ.ย. เป็น วันที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้พอสมควร ตนเองคิดทบทวนตลอดเวลานับตั้งแต่มาเป็น ส.ว. โดยเคยเสนอว่าบ้านเมืองถึงเวลาที่ต้องคิดถึงการสลายความขัดแย้งเป็นรูปธรรมด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมทุกฝ่าย รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ตั้ง ส.ส.ร. และการลดอำนาจของ ส.ว. ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ไม่ใช่ว่าตนเองไม่เห็นด้วย แต่มองว่าในเมื่อจะมี ส.ส.ร.แล้ว ก็ควรให้ ส.ส.ร.เข้ามาดำเนินการแก้ไขในประเด็นอื่นๆ ซึ่งความคิดเห็นของตนเองในลักษณะนี้ ถือเป็นส่วนน้อยในวุฒิสภา
"ผมเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่เคยกำหนดให้มีการให้เปิดให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ ยกเว้นรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่มีการแก้ไขเพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร. เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้นมาแล้ว การแก้ไขมาตรา 256 จะต้องถูกทำประชามติโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว จึงไม่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" นายคำนูณกล่าว
นายณัชปกร นามเมือง ในฐานะแกนนำกลุ่มไอลอว์ กล่าวว่า หลักการของไอลอว์คือ ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่าง ร่วมรื้อ คือรื้อบรรดากลไกสืบทอดอำนาจ คสช. ร่วมสร้าง คือสร้างหนทางประชาธิปไตย โดยมี ส.ส.ร. ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากนี้เรายังเสนอให้ยกเลิกช่องทางนายกฯ คนนอก ยกเลิกแผนปฏิรูป แผนยุทธศาสตร์ชาติ ยกเลิกบทที่ว่าด้วยการนิรโทษกรรมคสช. และแก้ไขที่มา ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง แก้ไขให้นายกฯต้องเป็น ส.ส. แก้ไของค์กรอิสระ ให้ยึดโยงกับประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญให้แก้ง่าย และแก้ไขเพิ่มหมวดที่มาจาก ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้ง
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากข้อเสนอ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลให้มีการโหวตร่างรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ ช่วงเวลาที่ไม่ใช่เวลากลางคืน เพราะเกรงว่าจะมีผู้มาชุมนุมที่รัฐสภา สะท้อนว่าอาจมีร่างใดร่างหนึ่งจะไม่ผ่านในสภาแน่นอน รวมทั้งประธานสภาฯ ถามตัวแทน ครม. รับรองความปลอดภัยได้หรือไม่ คงพอจะสะท้อนว่าหลายฝ่ายในสภา ในรัฐบาล ไม่เข้าใจสถานการณ์เป็นจริง การชุมนุมหรือความคับข้องใจคืออะไรกันแน่ ยังคงคิดว่าคนไม่กี่คนบงการ ชี้นิ้วว่าจะเอาอย่างไรได้ น่าเป็นห่วงว่ากลไกสภาที่จะแก้วิกฤติการเมือง อาจจะทำอะไรช้าเกินไป สายเกินไป น้อยเกินไป นำไปสู่สถานการณ์ไม่ควรเกิดขึ้น
"การไปบอกว่า ส.ส.ร.ห้ามแก้ไขหมวด 1-2 ไม่อยากให้กังวลว่า จะมีใครไปเสนอให้แก้ไขอะไรเกินเลย ขอให้เชื่อว่าจะมีการหาจุดสมดุลได้ แต่การไปปิดกั้น อาจทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้รับการยอมรับ เช่นเดียวกับ ส.ส.ร. ควรมีการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด เป็นสิ่งที่ชอบธรรมที่สุด และสภาต้องยอมรับว่าประเด็นไปไกลกว่ารัฐธรรมนูญแล้ว เราจะปิดหูปิดตา ไม่ฟัง จะปล่อยให้สายเกินไปหรือ ส.ว.จะพูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะ สำหรับข้อถกเถียงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น สภาควรสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คุยอย่างมีวุฒิภาวะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ไม่ให้สถานการณ์นำไปสู่ความรุนแรง ถ้าเราไม่ตระหนักเรื่องนี้ จะสายเกินไป ช้าเกินไป วันนี้เริ่มเห็นสัญญาณ คนที่อยู่นอกสภาให้ความสำคัญกับสภามากขึ้นเรื่อยๆ การที่เขาไม่สนใจสภา สิ่งนี้เป็นสิ่งอันตราย ถ้าสภาไม่มีความกล้าหาญ อยากบอกสมาชิก ส.ว.และ ส.ส.รัฐบาล อย่ากลัวผู้ชุมนุมมาล้อมสภา ให้เขามาล้อมสภา ดีกว่าไปล้อมที่อื่น ถ้าเขาบอกว่าไม่เห็นสภาสำคัญ สิ่งนั้นอันตรายมากกว่า" นายชัยธวัชกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |