ความหวัง พลังใจ สู่สุขภาพจิตที่ดี ป้องกันฆ่าตัวตาย


เพิ่มเพื่อน    

 

         กรมสุขภาพจิตจับมือ สสส.และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมวันสุขภาพจิตโลกประจำปี 2563 ชูความสำคัญของการร่วมมือด้านสุขภาพจิต พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนสร้างความหวังและพลังใจ

                เมื่อเร็วๆ นี้ กรมสุขภาพจิตจัดกิจกรรมวันสุขภาพจิตโลกประจำปี 2563 (World Mental Health Day 2020) เน้นการพัฒนานวัตกรรมและความร่วมมือของภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพจิต เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตของประเทศไทย พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของความหวังและพลังใจ ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้ด้วยสุขภาพจิตที่ดี

                ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งต่อสภาพวิถีชีวิต สภาวะเศรษฐกิจ และส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนไทยไม่มากก็น้อย การที่จะฟื้นฟูสถานการณ์ในครั้งนี้ ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพจิตนั้น ด้วยการสร้างความหวัง การสร้างแรงใจเพื่อให้กลายเป็นพลัง จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งตรงกับหัวใจการทำงานของรัฐที่มีเป้าหมายลดความทุกข์และสร้างความสุขให้พี่น้องประชาชนไทยได้ อีกทั้งการผลักดันและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสร้างสุขภาพจิตของคนไทยให้ดีขึ้น จะเป็นโอกาสที่สำคัญที่จะนำมาใช้ดูแลช่วยเหลือผู้ที่กำลังได้รับผลกระทบ หรือมีภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เป็นแนวทางที่จะช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิต ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติได้

                โลกนี้หยุดการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงต้องไม่มีการสูญเสียหรือให้มีความสูญเสียน้อยที่สุด กรมสุขภาพจิตมีหน้าที่ยุติการสูญเสียให้ได้ด้วยการผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย เราจะได้เดินหน้าไปด้วยกัน

                พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2535 ที่องค์การอนามัยโลก WHO ได้กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก หรือ World Mental Health Day เป็นต้นมานั้น วัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต รวมถึงการร่วมมือเพื่อป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางด้านจิตใจ โดยเฉพาะปัญหาการฆ่าตัวตายซึ่งเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตและจิตเวชสำคัญอันทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกก่อนวัยอันควร ซึ่งแต่ละปีการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก                           

                กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินงานด้านการรณรงค์ สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของประชาชนให้มีความเข้มแข็งทางจิตใจ ความยืดหยุ่น และมีความเข้มแข็งของครอบครัว เช่น โครงการบ้านพลังใจ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นความร่วมมือสำคัญในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างพลังใจในครอบครัวให้เข้มแข็งและฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้ รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมและความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในอนาคต

                โดยกิจกรรมวันสุขภาพจิตโลกประจำปี 2563 ในครั้งนี้ประกอบด้วย การสาธิตขั้นตอนการปฏิบัติงานทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย และ HOPE Task Force พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิตและกองบังคับการปราบปราม เสวนา “บ้านพลังใจ เพราะบ้านเป็นพลังของใจ” ปิดท้ายด้วยการทอล์กด้านสุขภาพจิต ในช่วง ME Talk : ม้านั่งสีขาวกับเรื่องราวของฉัน ตอน ความหวังและพลัง ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

                กิจกรรมในวันดังกล่าวได้รับความร่วมมือที่ดียิ่งจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กองบังคับการปราบปราม, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพจิตทั้งภาครัฐและเอกชน เยาวชน นิสิตนักศึกษา ผู้ปฏิบัติงานด้านสังคม รวมทั้งสิ้นกว่า 150 คน นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตจะนำสาระความรู้ที่ได้รับจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิไปเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล เพื่อขยายประโยชน์จากการจัดงานสู่ประชาชนให้กว้างขวางขึ้นด้วย.

 

 

 

บ้าน-พลัง-ใจ

                เพราะพวกเราอยากเห็นคนไทยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิต ไม่เพียงเข้าใจว่าสุขภาพที่ดีสร้างอย่างไร แต่สามารถช่วยตนเองและคนรอบข้างได้มีสุขภาพจิตที่ดีด้วย ปีนี้เน้น 2 พลังสำคัญที่จะช่วยให้คนไทยฝ่าฟันวิกฤติไปได้ 

                ความหวัง (Hope) ทำให้เราสามารถเดินไปข้างหน้าโดยมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ต่างๆ เป็นแรงผลักดันและเป็นแรงบันดาลใจให้เราทุกคนใช้ชีวิตต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

                พลังใจ (Resilience) ทำให้เราลุกขึ้นยืนได้เมื่อเราล้มลง ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาหรืออุปสรรคที่เข้ามาในชีวิต มีจิตใจที่ยืดหยุ่น ปรับตัวได้ดี ฟื้นฟูสภาพอารมณ์และจิตใจได้อย่างรวดเร็ว ไม่จมจ่อมอยู่กับความทุกข์ การมีทั้งสองสิ่งนี้จะทำให้คนในสังคมไทยสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ และสร้างโอกาสจากวิกฤติที่ต้องเจอได้ด้วยสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุข

“บ้านพลังใจ”

                เสวนาหัวข้อ “บ้านพลังใจ” แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น รพ.ราชนครินทร์, ชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนควบคุมปัจจัยเสี่ยทางสุขภาพ สสส., สมยศ เกียรติอร่ามกุล สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, นที เอกวิจิตร (อุ๋ย บุดดาเบลส), ครอบครัวศรีชัยญา ปาฏิหาริย์พลังใจจากแม่ฟื้นฟูลูกชายที่เคยประสบอุบัติเหตุจนกระทบความสามารถในด้านการสื่อสาร, คุณโฟล์ท ถิรพุทธ์, คุณแม่นงนุช ศรีชัยญา, คุณพ่อวราวุธ ศรีชัยญา, คุณธนภรณ์ ศรีชัยญา วิทยากร และอภิญา ฉายจันทร์ทิพย์ ผู้ประกาศไทยพีบีเอส เป็นพิธีกรดำเนินรายการ

                ทุกชีวิตล้วนมีคุณค่า ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย เป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย รับข้อมูลจากประชาชนที่มีสัญญาณว่ามีบุคคลจะฆ่าตัวตาย หรือคนใกล้ชิดบ่งบอก ขณะนี้รายการบ้านพลังใจ กรมสุขภาพจิต สสส. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ผลิตรายการ 26 ตอน นำออกอากาศครั้งแรกวันที่ 18 เม.ย.63 เป็นต้นมา

                ชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนควบคุมปัจจัยเสี่ยทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ในช่วงเวลาวิกฤติของคนไทย สสส.ใช้จุดแข็งในการตอบสนองสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ด้วยการพูดคุยกับกรมสุขภาพจิตนำเสนอความรู้ในรูปแบบที่น่าสนใจ เพื่อไม่ให้คนไทยอยู่กับความคลุมเครือของข้อมูลที่หลั่งไหลมามากมาย รู้จักมองโลกในแง่ดี การมีความหวังในชีวิตเมื่อล้มแล้วลุกขึ้นได้ เชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านอย่างมีความสุขแม้สถานการณ์โควิดเข้ามาเยือนประเทศไทย กลไกการขับเคลื่อนเพื่อปรับตัวอย่างรวดเร็วนี้ใช้เวลาเพียง 4 วัน ผลักดันและขับเคลื่อนให้เป็นจริง

                รายการบ้านพลังใจเป็นกลไกขับเคลื่อนเป็นจุดประสานพลัง วิธีคิดเชิงบวกที่ สสส.ให้ความสำคัญอย่างแน่วแน่ในการพัฒนาให้มีชีวิต สร้างการมีส่วนร่วมจัดการปัญหาเชิงบวกให้ได้ เรื่องของภัยพิบัติยังมีอีกนอกเหนือจากโควิด-19

                แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น รพ.ราชนครินทร์ กล่าวว่า บ้านพลังใจตอนแรกนำเสนอรู้อยู่บ้าน การกักตัวอยู่บ้านทุกคนย่อมเจอทั้งปัญหาและโอกาส แต่เดิมคนเราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บ้านกันทั้งครอบครัว ในเมื่อสถานการณ์บังคับให้คนมาอยู่รวมกัน การสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นจุดแข็งของคนเอเชีย มีความรักและผูกพันของคนในครอบครัวสูง แต่เพราะสภาพเศรษฐกิจมีความจำเป็นที่คนต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้ ทำอย่างไรให้บ้านมีความสุข วันหนึ่งโควิดก็ต้องไป แต่ยังมีโรคอื่นๆ หรือสถานการณ์อื่นตามมา เป็นเรื่องที่ทุกคนในครอบครัวต้องปรับตัว  เราต้องสร้างสิ่งหนึ่งที่จะตอบโจทย์สังคมก้าวข้ามผ่านจุดวิกฤติ ครอบครัวต้องมีพลัง มีคำตอบอยู่ในรายการบ้านพลังใจ

                การสร้างพลังล้มแล้วลุกขึ้นมาได้ เป็นการล้มที่รุนแรงเหมือนกับโควิดมาแล้วเราก็หนีไม่ได้ เมื่อมาแล้วก็ต้องขยับตัวให้ลุกขึ้นด้วยพลัง ใช้วัคซีนครอบครัวสร้างพลังที่ยืดหยุ่น พลังความร่วมมือ การที่คนเราล้ม 8 ครั้งก็ต้องลุกขึ้นมาให้ได้ทั้ง 8 ครั้ง มองให้เห็นทางออกของปัญหา มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้ได้ พ่อต้องเริ่มบทบาทหน้าที่ ครอบครัวต้องมีความยืดหยุ่นให้เป็น คนในบ้านต้องพร้อมที่จะเป็นมิตรไม่ตำหนิหรือโทษกันเอง ถ้ามีหลักการนี้แล้วจะล้มกี่ครั้งก็ลุกขึ้นมาใหม่ได้

                สมยศ เกียรติอร่ามกุล สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า เป็นจังหวะที่สื่อสร้างสรรค์ปรับผังรายการใหม่ นับเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ที่รายการบ้านพลังใจใช้กระบวนการผลิตรายการเพียง 15 วันเท่านั้น ทั้งๆ ที่รายการทั่วไปใช้เวลาผลิต 3 เดือนเพื่อนำออกอากาศ ในช่วงโควิด New Normal ชีวิตปกติวิถีใหม่ก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ เราอยากสร้างวัฒนธรรมใหม่เราจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ท่ามกลางสถานการณ์โควิดระบาดทั่วโลกได้อย่างไร ผลกระทบของโควิดที่มีต่อสังคม คนในบ้าน หลายคนประสบปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ถูกbully มีความท้อแท้ใจ อยากฆ่าตัวตาย มีความร่วมมือกันระหว่างกรมสุขภาพจิต สสส. บ้านพลังใจ นำเสนอเรื่องความรักของคนเพศเดียวกัน 2 ตอน ความรักของครอบครัว ลูกเป็นผู้ต้องหาฆ่าคนตาย เมื่อออกจากคุกมาแล้ว พ่อแม่ให้พลังลูกในการดำเนินชีวิต

                การนำเสนอด้วยการเล่าเรื่องจากแม่นงนุช ศรีชัยญา เมื่อแม่พาโฟล์ทไปทำบัตรคนพิการ แม่ต้องยืนอยู่หลังลูกชาย แม่เลี้ยงลูกมาแทนที่จะให้เขาประสบความสำเร็จ แต่ตอนนี้เขากลับกลายเป็นคนพิการ แต่เมื่อแม่เห็นโฟล์ทมีรอยยิ้มเมื่อได้รับบัตรคนพิการแล้ว แม่มีความหวัง มีพลังของคนในบ้านที่จะส่งต่อ รู้สึกว่าชีวิตนี้มีความหวังมากยิ่งขึ้น แม้เรตติ้งรายการจะสู้รายการละคร Game Show ไม่ได้ แต่ในรายการนี้ให้แง่คิดเมื่อคนเราล้มลงแล้วก็ต้องลุกขึ้นมา ผลตอบรับจากรายการเป็นที่น่าพอใจมาก

                นที เอกวิจิตร (อุ๋ย บุดดาเบลส) ในฐานะพิธีกรดำเนินรายการ ด้วยความสนใจเรื่องจิตวิทยาอยู่แล้ว มีความสนใจเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจ การที่เราบอกว่ายังมีคนที่เขาลำบากกว่าเราเยอะมาก โดยเฉพาะหมอนำเสนอในมุมมองทางการแพทย์ เป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง มี Subtitle ที่ทำให้ชาวต่างชาติดูการนำเสนอผ่านสารคดีเล่าเรื่องอย่างง่ายๆ ได้อย่างเข้าใจ แพทย์ไทยที่ทำงานในต่างประเทศรักษาโควิดเป็นมุมมองอีกด้านหนึ่งมองเห็นข้อดีข้อเสียต่างๆ

                “ครอบครัวศรีชัยญาเป็นครอบครัวที่น่ารักมาก ใช้เวลาในครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิด ทำให้โฟล์ทฟื้นตัวได้รวดเร็วมาก ครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้มีพลังมากยิ่งขึ้น” ความรัก ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเป็นสิ่งที่มีค่ามากในชีวิตมนุษย์ เพื่อจะก้าวเดินต่อไปข้างหน้าและผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้ คนรวยเป็นพันล้านร้องไห้อยากฆ่าตัวตาย เพราะความสัมพันธ์ภายในครอบครัวไม่ดี เมื่อเจอวิกฤติจะต้องมีแรง support จากครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมาก

                คุณแม่นงนุช ศรีชัยญา เล่าว่า เป็นเวลา 5 ปีมาแล้วที่โฟล์ท ถิรพุทธ์  ศรีชัยญา ขี่มอเตอร์ไซค์แล้วแล้วล้มต้องผ่าสมองซีกซ้าย ไม่สามารถสื่อสารได้ ต้องฟื้นฟูร่างกายเริ่มต้นใหม่ ต้องใช้ความเพียรพยายามในการเรียนรู้ ขึ้นทะเบียนคนพิการ ทั้งพ่อแม่ น้องสาวทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยให้กำลังใจเพื่อจะฟื้นฟูตัวเอง ฝึกฝนการพูด การใช้เสียง น้องสาวช่วยป้อนในเรื่องอาหารการกิน เนื่องจากมืออีกข้างหนึ่งของโฟล์ทไม่สามารถขยับได้ ฝึกการเข้าสังคมใหม่ เพราะไม่รู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ

                ทุกคนในบ้านคือดวงใจ ต่างต้องช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ เมื่อเห็นว่าแม่เหนื่อยแล้วก็ต้องผลัดกันเพื่อช่วยเหลือกันด้วย น้องสาวเข้ามาผลัดกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างเห็นรอยยิ้มก็พร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุ แม่ก็คงจะเป็นย่าไปแล้ว แต่ตอนนี้เท่ากับว่าเขากลับมาเป็นเด็กอยู่กับเราตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ทุกวันนี้เขาอยากขี่รถมอเตอร์ไซค์อีก แต่ความรู้สึกของแม่ก็กลัวว่าเขาจะเกิดอุบัติเหตุซ้ำสองอีก เขาจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างไร ดังนั้นเราจะต้อง control เขาให้อยู่ในช่วง Safety Zone มากที่สุด สอนให้เขาไปซื้ออาหารใน KFC ด้วยตัวเอง ไม่มีใครรู้ว่าเขาพูดไม่ได้ สอนให้เขาต่อคิวอย่างไร ถ้าทำอะไรผิดพลาดก็ให้ยกมือไหว้ขอโทษ

                คุณพ่อวราวุธ ศรีชัยญา กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือซ่อนน้ำตาไม่ให้ใครที่บ้านเห็น อย่างที่เรียกว่าใจร้าวทำอย่างไรให้ทุกคนในบ้านมีกำลังใจพร้อมที่จะทำให้โฟล์ทกลับมาปกติเหมือนเดิมหรือเกือบปกติโดยเร็วที่สุด เพราะในช่วงแรกหลังจากประสบอุบัติเหตุแล้วนอนอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่สามารถสื่อสารได้ ต้องเริ่มต้นใหม่ว่า ใช่ ไม่ใช่ เหมือนกับการสอนเด็กให้มีพัฒนาการทางสมอง 

                ธนภรณ์ ศรีชัยญา กล่าวว่า ถ้าดูจากร่างกายภายนอกไม่มีใครรู้ว่าพี่ชายพิการ เพราะดูเหมือนคนปกติ เมื่อออกนอกบ้านเราต้องใช้เขาสื่อสาร ทำให้คนอื่นรู้ด้วยว่าเขาไม่เหมือนคนปกติ ต้องช่วยให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตัวเองต่อไปได้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนในบ้านต้องใช้ทั้งพลังกาย พลังใจ จูงมือพี่ชายขึ้นมา แล้วเดินไปข้างหน้าพร้อมๆ กันจริงๆ.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"